กว่า 7 ทศวรรษของการดำเนินธุรกิจ “IKEA” ให้บริการในรูปแบบขายปลีก ที่ให้ลูกค้านำกลับไปประกอบเอง (DIY : Do It Yourself) มาโดยตลอด แต่แล้วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เชนค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านยักษ์ใหญ่ของโลกรายนี้ ได้ปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่ ทั้งการเปิดสาขารูปแบบใหม่ ขนาดเล็กลง ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เพื่อเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
รวมถึงเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสร้างความสะดวกให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ตอบความต้องการวิถีชีวิตเร่งรีบของคนในยุคนี้ ที่ในบางครั้งไม่มีเวลาขับรถออกไปนอกเมือง เพื่อดูเฟอร์นิเจอร์ – ของตกแต่งบ้าน
และเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า ได้เปิดให้บริการเช่าเฟอร์นิเจอร์ แก่ลูกค้าองค์กร (B2B) โดยเริ่มทดลองที่ IKEA สวิสเซอร์แลนด์ และสวีเดน
ขณะที่ล่าสุด “บริการให้เช่าเฟอร์นิเจอร์” ไม่เพียงแต่รองรับความต้องการลูกค้าองค์กรเท่านั้น “IKEA” มีแผนขยายบริการดังกล่าว ไปยังกลุ่มลูกค้าทั่วไปอีกด้วย (B2C) โดยตั้งเป้าเปิดบริการให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ใน 30 ประเทศ ภายในปี 2020 จากปัจจุบันเริ่มทดลองแล้วในบางประเทศ
อย่างที่ “IKEA เนเธอร์แลนด์” นำเสนอกลุ่มเฟอร์นิเจอร์เช่า เช่น เตียงนอน โต๊ะ-เก้าอี้ นักเรียน คิดค่าเช่าเป็นรายเดือน อยู่ที่ 30 ยูโร หรือราว 33.68 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,073 – 1,074 บาท) !!!
3 เหตุผลทำไม “IKEA” ถึงทำโมเดล “ให้เช่าเฟอร์นิเจอร์”
จากขายปลีก ขยายมาให้บริการ “เช่าเฟอร์นิเจอร์” เพื่อ 3 จุดประสงค์ใหญ่ คือ
1. ตอบโจทย์ Business Purpose 3 ประการของ “IKEA” คือ ราคาเข้าถึงได้ / สะดวกสบายกว่า / มีส่วนร่วมในการดูแลโลก และประหยัดการใช้ทรัพยากรโลก ตอบรับแนวโน้ม “Circular Economy” เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
คำจำกัดความของ “Circular Economy” คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการบริหารจัดการ และลดของเสียที่เกิดการผลิต การบริโภค และการใช้ กลับเข้าสู่กระบวนการที่สามารถนำกลับมาสร้างคุณค่าได้อีก เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากการบริโภค-ใช้สิ่งของต่างๆ และทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนดังกล่าว ประกอบด้วยหลายแนวทาง เช่น Reuse, Refurbishing, Recycling และ Upcycling เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“IKEA” ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาสินค้าทั้งหมด มาจากวัสดุทดแทน และวัสดุรีไซเคิล ภายในปี 2030 และแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้องสามารถนำกลับมาซ่อมแซมได้, ใช้ซ้ำได้ และนำไปแปรรูป เพื่อได้วัสดุใหม่กลับมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ โดยเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา “IKEA” ได้สั่งซื้ออะไหล่สำรอง 1 ล้านชิ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับนโยบายดังกล่าว
2. ตอบโจทย์ Consumer Demand กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ทุกวันนี้ใช้วิธี “เช่า” ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ตั้งแต่เครื่องดนตรี ไปจนถึงรถยนต์ มากกว่าจะ “ซื้อ”
เพราะไม่อยากครอบครองเป็นเจ้าของ เพื่อลดภาระด้านค่าใช้จ่าย และการดูแล อีกทั้งเมื่อรู้สึกอยากเปลี่ยน ก็สามารถส่งคืนผู้ให้เช่า และเปลี่ยนแบบ-เปลี่ยนรุ่น-เปลี่ยนสไตล์ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องว่าจะเอาไปทิ้งตรงไหน หรือเอาไปไว้ที่ใด
3. ตอบโจทย์ Consumer Insight ผู้บริโภคอยากมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรโลก
Jesper Brodin ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IKEA Group ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า “เรามองเห็นความต้องการของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนบ้านบ่อยขึ้น แต่ไม่อยากซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ทุกครั้งที่เขาย้ายที่อยู่”
ขณะเดียวกันจากผลสำรวจของ IKEA ยังพบ Consumer Insight ว่า เวลานี้ผู้บริโภคตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย 90% ของผู้บริโภค พร้อมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรของโลก แต่พวกเขายังไม่รู้วิธีการว่าจะทำอย่างไร
“ผู้บริโภคสามารถมีบ้านที่อบอุ่น และในเวลาเดียวกันก็มีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมได้”
วางแผนขยายสาขา “ขนาดกลาง” ตามเมืองใหญ่ – ต่อไปอาจได้เห็น “IKEA” เปิด 24 ชั่วโมง
นับตั้งแต่ Jesper Brodin เข้ามานั่งในตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ของ IKEA Group ตั้งแต่ปี 2017 ได้ทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตรูปแบบใหม่ ได้พยายาม “เข้าไปหาลูกค้า” มากกว่า “รอให้ลูกค้าเดินมาหา” ด้วยการเข้าไปอยู่ในทุก Touch Point ของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด และไม่ยึดติดกับโมเดลการขายแบบเดิมๆ ที่หาโลเกชันเปิดสโตร์ขนาดใหญ่ตามชานเมือง แล้วทำ Catalog เพื่อสื่อสารไปยังสมาชิก และรอให้เข้ามาช้อปที่สาขา
Jesper Brodin ได้เน้นย้ำแผนการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของ “IKEA” เพิ่มเติมว่า ต้องการให้ “IKEA” ตอบสนองด้านความสะดวกสบายแก่ลูกค้าได้มากกว่านี้ ด้วยการเปิดสาขาให้บริการรูปแบบ 24 ชั่วโมง ซึ่งตามแผนภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเปิดใน 30 เมืองที่เป็น Strategic Market ของบริษัท
สำหรับการเปิดสาขาใหม่ ล่าสุด IKEA เพิ่งเปิดสาขาที่ Greenwich ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอน และเตรียมขยายสาขาในใจกลางกรุงปารีส และมอสโก
Juvencio Maeztu ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน IKEA Group ขยายความเพิ่มเติมว่า “ต่อไปในอนาคตจะเห็นสาขา IKEA ฟอร์แมตขนาดกลางตามมหานครใหญ่ของประเทศต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในนิวยอร์ก, ลอนดอน, ปารีส, เบอร์ลิน, มาดริด, บาร์เซโลนา, โตเกียว, เซี่ยงไฮ้, มุมไบ
เพราะเล็งเห็นว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ผู้คนจำนวนมากจะอาศัยอยู่ในเมือง และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล พร้อมทั้งหันไปใช้สินค้า-บริการแบบ Sharing กันมากขึ้น”
นอกจากนี้ หลังจาก IKEA เข้าซื้อกิจการ “TaskRabbit” เมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกา ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกลางเชื่อมต่อระหว่าง Freelancer งานเกี่ยวกับการอยู่อาศัย ตั้งแต่การออกแบบ, ตกแต่ง, ซ่อมแซม-ดูแลบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ กับผู้บริโภค ที่ต้องการว่าจ้างคนทำงานด้านนี้ ล่าสุดมีแผนจะรุกขยายธุรกิจ “TaskRabbit” มากขึ้น
Juvencio Maeztu เผยอีกว่า “IKEA ยังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ หรือเป็นพาร์ทเนอร์ กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัย”
จากแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจดังกล่าว ทำให้เห็นถึงการปรับตัวของยักษ์ใหญ่ “IKEA” ถ้าจะรักษาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สั่งสมเรื่องราวประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 70 ปี และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านระดับโลกได้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และปรับตัว ให้สอดคล้องกับบริบทของโลก และสังคม
Source : Reuters