เมื่อพูดถึง “IKEA” เชื่อว่าหลายคนนึกถึงเชนค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่มีสโตร์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่รอบนอกเมือง ซึ่ง Store format ใหญ่ ทำให้สามารถนำเสนอความครบวงจร พร้อมด้วยโชว์รูมการตกแต่งบ้าน/ห้อง และมีต้นทุนที่ดินต่ำกว่าในเมือง เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนกลับมายังต้นทุนธุรกิจที่จะมีผลต่อการกำหนดราคาขายที่เข้าถึงง่ายให้กับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาไมกี่ปีมานี้ “IKEA” เดินหน้ารุกขยายสาขาขนาดเล็กลงในหลากหลายฟอร์แมต ทั้ง City Store เปิดย่านใจกลางเมือง, รูปแบบ Order Point ที่มีขนาดย่อม รวมไปถึงสาขาชั่วคราวอย่าง Pop-up Store
อย่างตลาดประเทศไทย IKEA เข้ามาทำตลาดถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 14 แล้ว โดยเปิดสาขาแรก IKEA บางนา ด้วยสโตร์ขนาดใหญ่ ต่อมาเปิดอีกหนึ่งสาขาใหญ่ IKEA บางใหญ่ (สำหรับสาขาภูเก็ต เดิมทีสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์สั่งซื้อและรับสินค้า ต่อมาได้ปรับให้เป็นสาขาที่ลูกค้ามาซื้อสินค้ากลับไปได้เลย) จนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2023 IKEA ประเทศไทย ได้เปิดตัวอีกหนึ่งฟอร์แมตสำคัญคือ “City-Centre Store” แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสาขาลำดับที่ 4 ของ IKEA ในไทย
ขณะที่ล่าสุด IKEA จับมือ บริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CPFC) ในเครือซีพี เป็นพันธมิตรหลักโครงการฟิวเจอร์ คอนวีเนียนซ์ สโตร์ หรือร้านสะดวกซื้อแห่งอนาคต ภายใต้แบรนด์ “ไลฟ์ เอ็กซ์เพรส” (Life Xpress) ในพื้นที่แม็คโคร หางดง เชียงใหม่ เพื่อเปิดตัวสาขาใหม่ “IKEA เชียงใหม่” ที่มาพร้อมกับ Store format ใหม่ “Order Point” ซึ่งมีขนาดสาขาย่อมกว่ารูปแบบ City Store
ทำความรู้จัก “IKEA เชียงใหม่”
ปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายของ IKEA ประกอบด้วย IKEA Store รูปแบบสาขาขนาดใหญ่, IKEA City Store สาขาในเมือง, IKEA Pop-up Store ร้านชั่วคราว, IKEA.com ช่องทางออนไลน์ และล่าสุดเปิดตัว IKEA Order Point ในไทย นำร่องสาขาแรกที่เชียงใหม่
“IKEA เชียงใหม่ ถือเป็นสาขาแรกของ IKEA ประเทศไทยที่ออกนอกกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขยายธุรกิจด้วยรูปแบบสโตร์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของคนไทยในแต่ละภูมิภาค
ไฮไลต์ของ “IKEA เชียงใหม่” ประกอบด้วย
– IKEA เชียงใหม่ เป็นพันธมิตรหลักของโครงการฟิวเจอร์ คอนวีเนียนซ์ สโตร์ “Life Xpress” ตั้งอยู่ในแม็คโคร หางดง เชียงใหม่
– เป็นฟอร์แมต “Order Point” (IKEA Chiang Mai Order Point) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภคให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยนำเสนอภายใต้แนวคิด “เล็ก แต่ครบทุกอย่าง” (Small, But Everything) ออกแบบและจัดวางพื้นที่กะทัดรัด ขนาด 708 ตารางเมตร
– เป็น Low-cost store ใช้งบลงทุน 15 ล้านบาท เนื่องจากต้องการเน้นความคุ้มค่าด้านต้นทุนสาขา และต้องการรักษาแนวคิดการเป็นร้านค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อให้ยังคงนำเสนอสินค้าในราคาย่อมเยาแก่ลูกค้า
– ภายในสโตร์มีสินค้ากว่า 300 รายการที่สามารถซื้อกลับได้ทันที
– เป็นสาขาที่เน้นนำเสนอโซลูชันการจัดเก็บพื้นที่ภายในบ้าน และห้องต่างๆ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว พร้อมด้วยบริการที่ปรึกษาและวางแผนการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญ
– บริการ Click & Collect ให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของ IKEA และมารับสินค้าที่สาขานี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
– มุม Swedish Bites ที่พร้อมเสิร์ฟขนมและของว่างสไตล์สวีเดน อาทิ ไอศกรีม เค้ก ฮอทดอก และเยลลี่ตัก รวมถึงอาหาร
สวีดิชจานโปรดที่สามารถอร่อยต่อได้ที่บ้านอย่าง มีทบอล เนื้อปลาแซลมอน และมันฝรั่งบดแช่แข็ง
– IKEA เชียงใหม่จะเป็นสาขานำร่องของ IKEA ในไทยที่เป็น “Cashless store” หรือสาขาไร้เงินสด ตอบรับเทรนด์พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยเปลี่ยนไปเป็น cashless มากขึ้น จากนั้นในเดือนเมษายน จะปรับสาขาบางนา, บางใหญ่เป็น Cashless store เช่นกัน และทยอยปรับสาขาสุขุมวิท
– เปิดให้บริการวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.00 น.
เดินหน้า Partnership เล็งขยายความร่วมมือ “กลุ่มซีพี”
นอกจากเปิด IKEA เชียงใหม่รูปแบบ Order Point แล้ว คุณลีโอนี่ ฮอสกิ้น ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม ได้กล่าวว่าทาง IKEA ประเทศไทยยังมี plan ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ทั้ง “กลุ่มซีพี” และ “ดีแคทลอน” (Decathlon) เพื่อเดินหน้าขยายสาขาครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในรูปแบบขนาดเล็กอย่าง Order Point
“ไอเดียเราอยากมีสโตร์ใหญ่ๆ ไว้ก่อน ปัจจุบันมี IKEA บางนา และบางใหญ่ ความสามารถรองรับเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ขณะที่ปัจจุบันเราโฟกัสสาขาเล็กลง อย่างรูปแบบ Order Point ที่เชียงใหม่ แต่ถ้าต่อไปสาขาเชียงใหม่ได้การตอบรับที่ดีจากลูกค้า อาจมีการขยับขยายสาขาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
เรามี plan ร่วมมือกับทางซีพี เพราะคอนเซ็ปต์ IKEA Order Point ในไทย เราได้สร้างความร่วมมือกับทางซีพี และเราอยากมีคอนเซ็ปต์นี้กับทางดีแคทลอนต่อไป เพราะเรามองว่ากลุ่มลูกค้าดีแคทลอนเป็นกลุ่มลูกค้าเดียวกับ IKEA
เราอยากพัฒนาสโตร์คอนเซ็ปต์นี้ครบทุกภูมิภาคของไทย จากปัจจุบันมีที่เชียงใหม่แล้ว เปิดอยู่ในพื้นที่แม็คโคร หางดง เป็นเสมือนการทดลองตลาด ดูการตอบรับจากลูกค้า ถ้าประสบความสำเร็จ อาจขยับขยายสาขาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และอาจเปิดสาขาใหม่ทุก 6 เดือนก็เป็นไปได้ ดังนั้นการขยายสาขาใหม่รูปแบบ Order Point ขึ้นอยู่กับการตอบรับของตลาด” คุณลีโอนี่ ฮอสกิ้น ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม เล่าถึงการขยายสาขาในอนาคต ด้วยกลยุทธ์ Partnership
สำหรับโลเคชันที่ IKEA ประเทศไทยสนใจขยายสาขา จะเน้นตลาดนอกกรุงเทพฯ – ปริมณฑล เช่น นครราชสีมา เพราะหลังจากไปจัดกิจกรรม road tour แล้วพบว่าชาวโคราชอยากให้ IKEA ไปเปิดสาขาที่นั่น และหาดใหญ่ ซึ่งการเปิดสาขาของ IKEA พิจารณาศักยภาพของทำเล จำนวนครัวเรือน และรายได้ครัวเรือน
3 เหตุผล IKEA ลุยเปิดสาขาไซส์เล็ก
ปัจจัยที่ IKEA ตัดสินใจเปิดสาขารูปแบบ Order Point ซึ่งเป็นไซส์เล็กสำหรับเชนค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านระดับโลกจากสวีเดนรายนี้ มาจาก
1. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภค: การเปิดสาขาไซส์เล็ก เพิ่มโอกาสให้ IKEA เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้มาลอง ได้สัมผัสสินค้า ประกอบกับการขนาดไซส์เล็กลง ทำให้ง่ายต่อการขยายสาขา
2. ต่อจิ๊กซอว์บริการ Omnichannel: Business model ของ IKEA ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเปิดสาขาขนาดใหญ่เท่านั้น ยังได้ขยาย Store format หลากหลาย เพื่อสอดคล้องกับตลาด และโลเคชัน ควบคู่กับการพัฒนาช่องทางออนไลน์ IKEA.com เพื่อเชื่อมต่อทั้งช่องทางสาขาออฟไลน์ทุก store format กับแพลตฟอร์มออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ “Omnnichannel” พร้อมทั้งพัฒนาระบบการจัดส่งและบริการทั่วประเทศ เพื่อความสะดวกสบายยิ่งขึ้น
3. Low-cost Store สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ: การเปิดสโตร์ขนาดเล็ก ตอบโจทย์ด้านต้นทุนต่ำกว่าสโตร์ขนาดใหญ่ และสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในทุกวันนี้
“การขยายสาขาของ IKEA ใน 3 -5 ปีนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม ต้องดูว่าระยะอันใกล้นี้ เศรษฐกิจจะยังฟื้นตัวไหม นั่นคือเหตุผลที่เราโฟกัสการเปิด Low-cost store ต้นทุนต่ำ” คุณลีโอนี่ กล่าวเพิ่มเติม
ปรับลดราคากว่า 1,000 ชิ้น 25 – 30%
นอกจากการเปิดสาขารูปแบบใหม่แล้ว จากความสำเร็จของแคมเปญ New Lower Price ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี ล่าสุด IKEA ประเทศไทย สายต่อแนวคิด “คุ้มค่ากว่า ในราคาที่ลดลง” (More Value, Less Spend) ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2024 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการ่วมช่วยลูกค้าให้ผ่านช่วงเวลาที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจ และทำมาอย่างต่อเนื่อง
โดยปรับลดราคาสินค้ากว่า 1,000 ชิ้น เฉลี่ย 25 – 30% เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจาก IKEA ที่ตอบโจทย์ทั้งความคุ้มค่ากับราคา และคุณภาพ
“จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของลูกค้า IKEA ได้นำเสนอราคาพิเศษสำหรับสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งรักษามาตรฐานคุณภาพระดับสากลที่มาพร้อมกับการรับประกันที่น่าเชื่อถือ โดยทุกผลิตภัณฑ์ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ใช้งานได้จริง มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และมีความคุ้มค่าระยะยาว เพื่อให้มั่นใจในความคุ้มค่า”
ชูแนวคิด Sustainable Living
นอกจากนี้ IKEA ประเทศไทย ยังมุ่งมั่นให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ “Sustainable Living” เพื่อช่วยให้ลูกค้าเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับบุคคลและชุมชน ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ โดยเน้น 3 ด้านหลัก
– การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดี (Healthy and Sustainable Living): สร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนสนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ด้วยข้อเสนอที่ครอบคลุม คุ้มค่า และเข้าถึงได้
– การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการหมุนเวียน (Climate Nature and Circularity): ดำเนินงานอย่างเต็มที่และรวดเร็ว เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการดำเนินงานทางสิ่งแวดล้อมต่อสังคมและพัฒนาการให้บริการแบบหมุนเวียน เช่น การใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่อิเกีย บางนา และแผนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการจัดส่งสินค้าในอนาคต
– ความเท่าเทียมและการดูแล่ (Fair and Caring): เดินหน้าสร้างการตระหนักรู้ด้านความยั่งยืน และการยอมรับในความแตกต่าง รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับทั้งองค์กร ห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสังคมโดยรวม
