เปิด 10 ไฮไลท์ของ “อิชิตัน กรีน แฟคทอรี” โรงงานกรีนระบบออโต้ฯ 24 ชั่วโมง แต่ใช้คนแค่ 300 บนพื้นที่กว่า 70 ไร่ พร้อมรีโอเพนนิ่ง “ตันแลนด์” ดินแดนแห่งความสมดุล

  • 10
  •  
  •  
  •  
  •  

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตที่ไม่อาจมองข้าม แม้ว่าตอนนี้ประชาคมโลก กว่า 200 ประเทศ ได้ให้คำมั่นในความตกลงปารีส COP 28 ที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ระบุว่า ตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสถือเป็น ‘จุดเปลี่ยนหลัก’ ที่หากโลกของเรามีอุณหภูมิสูงกว่านี้ ธรรมชาติจะอยู่ในสภาพเกินรับไหวจนไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้อีก และหากวิกฤตนี้เดินทางไปถึงจุด “Point of No Return” ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก

 

จึงเป็นความท้าทายการอยู่รอดที่ทุกคนต้องเผชิญไปพร้อมๆ กัน และต้องการความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยลงอย่างรู้คุณค่า เมื่อขยะคือหนึ่งในสาเหตุหลักของวิกฤตสิ่งแวดล้อม  6 องค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ อิชิตัน กรุ๊ป, เอสซีจี แพคเกจจิ้ง, นิว อาไรวา (แบรนด์ QUALY), เฟลเทค แมนูแฟคเจอริ่ง, อาร์ทีดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ และทิฟฟานี เดคคอร์ จึงรวมพลังด้วยความมุ่งมั่นในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมเปลี่ยนขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณค่าสูง ผ่านการ รีโอเพนนิ่ง “ศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ ดินแดนแห่งความสมดุล” ที่มีแนวคิด “ผลิตอย่างรับผิดชอบ บริโภคอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภคหันมาสนใจปัญหาและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเป็น ศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ แล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานในการผลิตสินค้าเครื่องดื่มในเครือ อิชิตัน กรุ๊ป อีกด้วย แต่ความพิเศษของโรงงานแห่งนี้คือการนำนวัตกรรมต่างๆ ทั้งเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย รวมไปถึงยังเป็นโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก่อนที่เทรนด์ ESG จะบูมในเมืองไทยเสียอีก ดังนั้น เราลองมาดูว่า โรงงานที่ได้ชื่อว่า มีกำลังการผลิตสูงทีสุ่ดในประเทศไทยอย่าง “อิชิตัน กรีน แฟคทอรี” แห่งนี้น่าสนใจอย่างไรบ้าง

ไฮไลท์ความน่าสนใจของ “อิชิตัน กรีน แฟคทอรี”  

  1. เปิดโรงงานเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 แต่กำหนดเดิมคือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 ต้องเลื่อนเปิด 1 ปีจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ของประเทศ
  2. สำหรับ “ตันแลนด์” เปิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555
  3. “อิชิตัน กรีน แฟคทอรี” มีพื้นที่รวม 76 ไร่ มีพื้นที่เฉพาะในการผลิตมากกว่า 30,000 ตารางเมตร
  4. สำหรับ “ตันแลนด์” มีพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร
  5. ได้รับการออกแบบให้ทุกขั้นตอน ทำด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ดำเนินการแบบอัตโนมัติแทบจะในทุกๆ ขั้นตอน ดังนั้น จึงทำให้ใช้คนทำงานจำนวนประมาณ 300 คนในการควบคุมเครื่องจักรเท่านั้น ทำให้ควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  6. เป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศไทย โดยทุกๆ 1 วินาที ผลิตสินค้าได้ถึง 30 ชิ้น รวมการผลิตคิดเป็น 1,000 ล้านชิ้นต่อปี (ทั้งส่งจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ) และดำเนินการผลิต 24 ชั่วโมง
  7. มีระบบการอัตโนมัติ (Intelligent Auto Warehouse) ที่แม่นยำ ตั้งแต่ต้นสายการผลิต จนถึงสโตร์เก็บสินค้าปลายทาง หรือให้เห็นภาพชัดคือ ตั้งแต่ขั้นตอนการต้มชา จนถึงแพ็คบรรจุลังขนส่ง One stop service ในแบบโรงงาน
  8. มีวัตถุดิบให้เลือกมากกว่า 200 รายการ พร้อมห้อง R&D ให้ทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้ถึง 80%
  9. ผลิตเครื่องดื่มประเภทบรรจุเย็นได้แทบทุกชนิด ตั้งแต่ชา กาแฟ น้ำผลไม้ นม ฯลฯ
  10. โรงงานที่ลดการใช้พลาสติกได้ถึง 5% ซึ่งนอกจากจะช่วยลดขยะที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตด้วย

สรุป 3 จุดแข็งของโรงงาน “อิชิตัน กรีน แฟคทอรี”  

  1. Best Technology เทคโนโลยีที่ดีที่สุด
  2. Quality Control & Cost Optimization การควบคุมคุณภาพและต้นทุนที่ดีที่สุด
  3. ICHITAN Experience ประสบการณ์ที่ “อิชิตัน” เชี่ยวชาญที่สุด

 

ความน่าสนใจของ “ศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ ดินแดนแห่งความสมดุล”

ในส่วนของ “ศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์” นั้น ยังได้ทำการรีโอเพนนิ่งใหม่อีกครั้ง โดยผสมผสานเทคโนโลยี AR  – Immersive เข้าไปด้วย โดยมีการบอกเล่าที่มาของโรงงานอิชิตัน กรีนฯ ตั้งแต่การตัดสินใจปิดโรงงาน และ “คุณตัน” ตัดสินใจนอนเฝ้าโรงงาน ซึ่งยังมีภาพ Immersive แสดงการนอนของคุณตัน โชว์ที่นี่อีกด้วย หรือเรื่องราวของการที่ “คุณตัน” ยืนยันเป็นคนสุดท้ายที่จะออกจากโรงงาน ในฐานะกัปตันผู้ขับเคลื่อนองค์กร

 

 

นอกจากนี้ ยังมีเรืองราวการปลูกฝัง เรื่องของของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความสำคัญของการที่ใบชา สร้างคน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวเขาเผ่าอาข่าอีกด้วย

 

สำหรับ “ตันแลนด์นั้นแบ่งเป็น 3 โซนดังนี้

  1. Transformer นำเสนอเรื่องเล่าผ่านใบชาตั้งแต่การเกิดชาบนโลกเมื่อ 5,000 ปีก่อน สู่วิวัฒนาการเทคโนโลยีการผลิตชาพร้อมดื่ม จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ชาในประเทศไทย โดยผู้ที่บุกเบิกให้ชาได้รับการยอมรับ ได้แก่ “คุณตัน” หรือ “ตัน อิชิตัน”
  2. Leaves To Life ทุกการเปิดฝาอิชิตันคือ รอยยิ้มของชุมชน อิชิตันสนับสนุนให้เกษตรกชาวอาข่า มีอาชีพที่มั่นคง มีมาตรฐานชีวิตที่ดี เปลี่ยนชีวิตจากครั้งหนึ่งเคยปลูกฝิ่นเป็นแหล่งผู้ผลิตยาเสพติด ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
  3. Recircle บอกเล่าการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยี AR เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้เยี่ยมชม เห็นถึงความตั้งใจของอิชิตัน กรีน แฟคทอรี่ ในการผลิตอย่างรับผิดชอบ และเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมมือในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด และอยู่อย่ารักกันไม่ทำร้ายกัน

 

ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หลังจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยปี 2554 ผมเข้าใจถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง ตั้งแต่วันแรกของการสร้างโรงงานอิชิตันกรีนแฟคทอรี่ ผมจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราได้ลงทุนในเครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัย ระบบบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อที่คงคุณค่าสารอาหารได้ดีกว่าแบบดั้งเดิม และใช้พลาสติกน้อยกว่าในอดีตมาก จากเดิม 26 กรัมต่อขวด ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 17.5 กรัมต่อขวด เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ เรายังนำนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ทั้งขวด ฝาปิด ฉลาก และลัง เพื่อให้พร้อมสำหรับนำกลับเข้าสู่ Circular Economy  สินค้ากลุ่มแรกที่เป็นบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100% คือ อิชิตันกรีนที 500 มล. และชิซึโอกะกรีนที 440 มล. และในเดือนกรกฎาคมนี้ เราจะใช้ rPET (พลาสติกรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่) 30% ทดแทนพลาสติกใหม่ในผลิตภัณฑ์อิชิตันกรีนที 500 มล. ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ 175 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  เพื่อแสดงความตั้งใจในการผลิตอย่างรับผิดชอบและนำเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนแก่ผู้บริโภค สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นองค์กรกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ที่อิชิตันกำหนดไว้”

 

นอกจากนี้ กับการรีโอเพนนิ่ง “ศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์” บอกเล่าเส้นทางชีวิตใหม่ของขยะจากหลุมฝังกลบสู่ผลิตภัณฑ์คุณค่าสูง เพราะอิชิตันเชื่อว่า โลกนี้ไม่มีขยะ ถ้าเราช่วยกันบริโภคอย่างรับผิดชอบ โดยได้องค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง, นิว อาไรวา (แบรนด์ QUALY), เฟลเทค แมนูแฟคเจอริ่ง, อาร์ทีดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ และทิฟฟานี เดคคอร์ มาช่วยกันรวมพลังนำนวัตกรรมที่ก้าวหน้าจากความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มาอัพไซคิ่งเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า พร้อมจัดแสดงภายในศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์”

คุณกาญจนา อารักษ์วทนะ, Fiber Packaging Marketing Director จาก SCGP หนึ่งในพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของอิชิตัน กล่าวว่า “SCGP ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน ที่มุ่งมั่นวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งมอบโซลูชันบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความสะดวกปลอดภัย ช่วยยืดอายุสินค้า สามารถรีไซเคิลหรือ ย่อยสลายได้ และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยเราใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิตตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือการพัฒนาวัตถุดิบ เส้นใยและสารเติมแต่ง “กลางน้ำ” คือการพัฒนาวัสดุกระดาษและพลาสติก และ “ปลายน้ำ” คือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า เพื่อจุดประกายการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า ผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG ด้วยวิธีง่ายๆ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก เริ่มได้วันนี้ที่ตัวเรา”

 

ด้านคุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ และผู้ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ (QUALY) จากนิว อาไรวา ที่มีแนวคิดเรื่องความยั่งยืนตรงกันและเคยร่วมงานกับอิชิตัน นำขวดที่เสียจากกระบวนการผลิตมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ Qualy มาแล้ว กล่าวความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “Qualy คือแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของใช้ในชีวิตประจำวันที่ออกแบบเพื่อโลกที่ยั่งยืน เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าไปจนถึงการลดมลภาวะจากกระบวนการต่างๆ ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด Circular Design เพื่อให้ทุกคนมีความสุขไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ Qualy ส่งออกแล้วกว่า 50 ประเทศ ได้รับรางวัลด้านการออกแบบมากมายทั้งในและต่างประเทศ การได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ นับเป็นโอกาสดีที่ได้เผยแพร่แนวคิดรักษ์โลกสไตล์สร้างสรรค์แบบที่ Qualy ทำ ไปสู่เยาวชนและผู้ที่จะมาเข้าชมที่นี่อีกจำนวนมาก ได้เห็นว่ามีหลายแนวทางที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนไปด้วยกันได้”

 

คุณเฉลิมชัย พัวพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ จากเฟลเทค แมนูแฟคเจอริ่ง, ผู้นำด้านการพัฒนาแผ่น Acoustic และพรมแผ่นภายใต้แบรนด์ Acoupanel จากการนำขวดที่ใช้แล้วผ่านกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยนวัตกรรมขั้นสูงที่ได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐาน ISO 14025 Environmental Labels and Declarations ซึ่งพิจารณาจาก Life Cycle Analysis โดย Global Green Tag ของประเทศ Australia ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติในการลดเสียงก้อง เหมาะกับการเป็นวัสดุตกแต่งในอาคารสำนักงานต่างๆ กล่าวถึงความร่วมมือกับอิชิตันว่า “ยินดีและเป็นเกียรติ ที่ผลิตภัณฑ์ของเฟลเทคได้เป็นส่วนหนึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนรุ่นใหม่ ตรงกับความมุ่งมั่นของเฟลเทคที่มีแนวคิดในการพัฒนาสินค้า โดยใช้วัสดุที่ผ่านกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ มาเป็นส่วนประกอบหลักมากถึง 40-80% และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ด้วยการออกแบบให้มีความสวยงาม ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม”

 

ดร.วันทิพย์ ชวาลีมาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ จากอาร์ทีดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่มีแนวคิดหลักในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและมีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของโลก จึงมีผลิตภัณฑ์ในหมวดความยั่งยืนหลากหลาย อาทิ ผ้า Zeclo เป็นผ้าย่อยสลายเองได้, ผ้า Upcycling เป็นต้น กล่าวว่า “ภาวะโลกร้อนเป็นความท้าทายระดับโลกที่พวกเราต้องรับมือด้วยการนำนวัตกรรมและความรับผิดชอบมาใช้ในการต่อสู้ ทุกๆการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนของเรา คือการลงทุนในอนาคตที่สดใสของโลก ในฐานะที่ บ. อาร์ทีดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ จำกัด เป็นผู้ผลิตผ้าที่เน้นนวัตกรรมและความยั่งยืนของไทย เรามีความภาคภูมิใจที่เป็นพันธมิตรกับศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ เพื่อสร้างความตระหนักในสังคมในวงกว้างและขับเคลื่อนให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อลดโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจสนับสนุนให้คนไทยเลือกผลิตภัณฑ์ ที่ไม่เพียงแค่สวยงาม แต่ยังคำนึงถึงความยั่งยืนของโลกของเรา เพื่ออนาคตที่สดใสของลูกหลานเราในภายภาคหน้า”

 

ปิดท้ายด้วย คุณวิกรานต์ ตั้งศิริพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ จากทิฟฟานี เดดคอร์ ผู้นำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิต-ติดตั้ง หินสังเคราะห์ ประเภท ACRYLIC SOLID SURFACE รายเดียวในประเทศไทย ในนาม แบรนด์ SOLITAIRE Solid Surface กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “เราเห็นถึงความสำคัญในการใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่าสูงสุด โดยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโครงการที่นำวัสดุเหลือใช้นำกลับมา Recycle เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นำกากกาแฟ, กากใบชา หรือเศษหินสังเคราะห์ที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตนำมาประยุกต์ใช้กับหินสังเคราะห์ SOLITAIRE  Solid Surface  จึงเกิดเป็นหินสังเคราะห์รุ่น Re-Series (Recycle-Series) แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่นำกลับมาหมุนเวียนใช้ได้ไม่รู้จบ เพื่อช่วยลดปัญหาการย่อยสลายยากที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก”

ความร่วมมือของ 6 องค์กรในครั้งนี้ เพื่อตั้งใจที่จะแสดงเจตน์จำนงในการนำนวัตกรรมที่ก้าวหน้า มาแสดงความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ ด้วยการเปลี่ยนขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณค่าสูง เพื่อบอกว่า “เราทุกคนมีส่วนร่วมในการเพิ่มอุณหภูมิโลกผ่านการบริโภคทรัพยากรโลก การสู้กับ Climate Change จึงเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคน ที่ต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจกัน แก้ไขปัญหาในแบบที่ตัวเองทำได้ เพื่อความอยู่รอดของคนรุ่นต่อไป”


  • 10
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!