ไทยเป็นตลาดสำคัญ? ทำไม Huawei หันมาให้ความสนใจกับตลาดการศึกษา ปั้นเครือข่าย ICT ในรั้ว ม.

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

อย่างที่รู้กันว่า Huawei (หัวเว่ย) เป็นอีกแบรนด์ที่ลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณจำนวนไม่น้อย (จากข้อมูลในปี 2016 ระบุว่า Huawei ใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นงบประมาณด้านการทำวิจัยและพัฒนา) ซึ่งมาถึงตอนนี้ Huawei กำลังขยายโอกาสในตลาดเอเชียแปซิฟิกพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมที่เรียกว่า Smart Education

1

“ในแต่ละปี Huawei ลงทุนด้าน R&D ไม่น้อยกว่า 10% ของรายได้รวม ส่วนหนึ่งคือการวิจัยและพัฒนาที่ถูกนำมาต่อยอดเพื่ออุตสาหกรรมการศึกษา จนสร้างรายได้จากโซลูชั่นการศึกษาในตลาดเอเชียแปซิฟิกได้ราว 20% ของรายได้ ขณะที่ตลาดเอเชียและยุโรปถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีโอกาสในมุมมองของ Huawei จากการทำตลาดการศึกษาโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยและอาชีวะ กลุ่มมัธยม และกลุ่มสถาบันหรือศูนย์วิจัย ซึ่งภาคการศึกษาในประเทศไทยโดยเฉพาะศูนย์พัฒนา-วิจัยก็ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญของ Huawei เมื่อเทียบกับประเทศอื่นระดับโลกเพราะมีอัตราการเติบโตทั้งการใช้งานและการลงทุน” นายเดวี่ ชู รองประธานฝ่ายการตลาดและการขาย กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยเริ่มมีการพัฒนาด้านไอซีทีอย่างแพร่หลายแล้ว แต่ยังพบปัญหาด้านการพัฒนาบุคลากรด้วย ทำให้ Huawei ต้องการนำเสนอโซลูชั่นเพื่อเสริมความแข็งแกร่งพร้อมกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในประเทศไทยซึ่งควรเริ่มต้นและดำเนินการอย่างรวดเร็ว จากตัวอย่างในประเทศจีนซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2009 โดยเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยนำร่อง 20 แห่ง เพื่อวางรากฐานและขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศรวมถึงระดับมัธยมศึกษาด้วย เชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้เช่นกันแต่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีระบบที่ดี

นายเอิร์นเนส จาง ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เทคโนโลยีสารสนเทศได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อการศึกษาแบบเดิมๆ เพราะปัจจุบันเป็นยุคไร้พรมแดนทั้งเวลาและสถานที่ Cloud , Big Data และ Internet of Things ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในภาคการศึกษา ทำให้เกิดความหลากหลาย การจัดการ และคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น Huawei จึงมีแนวคิดการศึกษาที่เชื่อมโยงเป็นการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา แบ่งปันทรัพยากรด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพและโอกาสด้านการศึกษาผ่าน Smart Education ด้วยกลยุทธ์ Platform + Ecosystem เน้นโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศและร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลก โดยปัจจุบัน Huawei ให้บริการโซลูชั่นแก่มหาวิทยาลัย 600 แห่งใน 70 ประเทศ

สำหรับประเทศไทย Huawei ยังได้เปิด OpenLab (โอเพ่นแล็บ) อย่างเป็นทางการในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Smart City Startup ซึ่ง OpenLab ดังกล่าวสามารถฝึกอบรมบุคลากรได้กว่า 800 คนต่อครั้ง และมอบประกาศนียบัตรวิชาชีพแก่บุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศราว 500 คนต่อปี ซึ่งในปี 2018 Huawei ยังเตรียมสร้าง OpenLab อีกแห่งในอินเดีย ทั้งยังมีโครงการ Seeds for the future ในระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก และมีนักศึกษาไทยเข้าร่วมกว่า 20,000 คน

2

โดยล่าสุด Huawei ได้ขยายความร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อพัฒนาการศึกษาในระดับเอเชียแปซิฟิกยุคใหม่โดยจัดการประชุมด้านการศึกษา Huawei Asia Pacific Education Summit 2017 เป็นครั้งแรกในไทย พร้อมเปิดตัว SDN-based 100G Converged Campus Network ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายไอซีทีสำหรับสถานศึกษาที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกในโลก

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า SDN & Cloud Computing Center ถือเป็นก้าวแรกของวงการการศึกษาไทยที่ยกเครื่องระบบโครงสร้างด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในรั้วมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนและการทำงานของมหาวิทยาลัยในอนาคต ประกอบไปด้วย 100G Based Campus Core Network ระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถส่งถ่ายข้อมูลที่ความเร็ว 100 กิกะบิตต่อวินาที SDN (Software-defined network) for Campus and Data Center Convergence คือระบบเครือข่ายที่รวมความเป็น Data Center เข้ากับ Campus Network เพื่อผู้ดูแลเครือข่ายสามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น Educational Cloud Data Center in Container ศูนย์ข้อมูลจัดเก็บแบบบูรณาการในตู้คอนเทนเนอร์ที่เคลื่อนที่ได้ การทำงานมีเสถียรภาพและปลอดภัยสูง เริ่มใช้งานได้รวดเร็ว ย้ายตำแหน่งได้ง่าย ประหยัดพลังงานและมีค่าใช้จ่ายต่ำ WiFi coverage with whole campus Free Mobility เครือข่าย WiFi ที่เชื่อมต่อได้ถึงระดับกิกะบิตต่อวินาทีครอบคลุมทั่วมหาวิทยาลัยถึง 3,000 จุด ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของสจล. ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนของไทยไปสู่ยุค Education 4.0 ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัลที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา ตลอดจนการทำงานของคณาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล.

 


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน