“เซ็นทรัลพัฒนา – เซ็นทรัลรีเทล – กลุ่มเซ็นทรัล” เครือเดียวกัน แต่สร้างศูนย์การค้าให้แตกต่างกันอย่างไร ?

  • 417
  •  
  •  
  •  
  •  

ธุรกิจศูนย์การค้า (Shopping Center) ในเครือเซ็นทรัล ประกอบด้วย 3 บริษัทที่พัฒนาคือ เซ็นทรัลพัฒนา” (Central Pattana)เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” (Central Retail Corporation) และ กลุ่มเซ็นทรัล” (Central Group)

แม้จะอยู่ในเครือเดียวกัน แต่ทั้ง 3 องค์กร มียุทธศาสตร์การพัฒนา โครงการศูนย์การค้า รูปแบบที่หลากหลาย ภายใต์แบรนด์, คอนเซ็ปต์, การออกแบบ และโลเคชั่นที่แตกต่างกันชัดเจน

MarketingOops! ชวนมาดูยุทธศาสตร์การพัฒนาศูนย์การค้าของทั้ง 3 บริษัทในเครือเซ็นทรัลว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างไร ?!?

Central Shopping Center Projects

 

เซ็นทรัลพัฒนาสร้าง “Retail-Led Mixed-Use Development” ทุกภูมิภาคทั่วไทย

ยุทธศาสตร์และเป้าหมายการพัฒนาโครงการของ เซ็นทรัลพัฒนา” (Central Pattana) คือ ผนึกกำลังทุกองค์ประกอบของเซ็นทรัลพัฒนา ทั้งศูนย์การค้า, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม สร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบ “Retail-Led Mixed-Use Development” เพื่อสร้างมูลค่าที่ดิน, ทำให้เกิดการใช้ที่ดินให้ได้ประโยชน์สูงสุด, แต่ละองค์ประกอบหนุนซึ่งกันและกัน เกิด traffic หมุนเวียนภายในโครงการ และเมื่อ diversify ธุรกิจ ทำให้มีรายได้ ทั้งจากการขายกรรมสิทธิ์ และรายได้ที่เข้ามาต่อเนื่อง (Recurring Income)

ตั้งเป้าภายใน 5 ปีนี้ (2565 – 2569) บริษัทฯ จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ อยู่ในมากกว่า 30 จังหวัด ซึ่งจะทำให้จำนวนโครงการทั้งหมด (รวมปัจจุบันและอนาคต) ประกอบด้วย

ศูนย์การค้า 50 แห่ง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

คอมมูนิตี้มอลล์ 16 แห่ง (อยู่ระหว่างการศึกษาการขยาย)

โครงการที่พักอาศัย 68 แห่ง

อาคารสำนักงาน 13 แห่ง

โรงแรม 37 แห่ง

WestVille
โครงการ Central WestVille

โดยมากกว่า 50% ของโครงการทั้งหมดจะเป็นรูปแบบมิกซ์ยูสที่มีมากกว่า 1 ธุรกิจ และมีศูนย์การค้าเป็นหัวใจสำคัญ

นั่นหมายความว่า ใน 1 โครงการของเซ็นทรัลพัฒนา จะมี ศูนย์การค้า เป็นธุรกิจหลัก ผสานเข้ากับองค์ประกอบอื่นที่เหมาะสมกับโลเคชั่น, ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย, พฤติกรรม หรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนในย่านนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน, โรงแรม หรือที่อยู่อาศัย

ที่ผ่านมาโครงการศูนย์การค้าของ เซ็นทรัลพัฒนา โฟกัสการลงทุนสร้างโครงการขนาดใหญ่ ขนาดพื้นที่ใช้สอย (Gross Floor Area) ตั้งแต่กว่า 70,000 ตารางเมตร เช่น เซ็นทรัล มารีนา ไปจนถึงกว่า 800,000 ตารางเมตร เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งอยู่ในจังหวัดใหญ่ หรือเมืองหลักที่เป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่, เมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต, ชลบุรี ซึ่งชลบุรี เป็นจังหวัดที่มีศูนย์การค้าเซ็นทรัลมากถึง 4 โครงการ (เซ็นทรัล มารีนา, เซ็นทรัล พัทยา, เซ็นทรัล ชลบุรี และล่าสุดเซ็นทรัล ศรีราชา

Central RAMA 2
เซ็นทรัล พระราม 2 โฉมใหม่

ยกตัวอย่างการวางแผนสร้างศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยรอบเซ็นทรัลพัฒนาได้กำหนดเอาไว้ใน 3 วงแหวนยุทธศาสตร์ (3 Strategic Ring) ครอบคลุมทุกทิศของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วย

Ring 1: ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เป็นโซน CBD (Central Business District) ของกรุงเทพฯ โดยมีจุดศูนย์กลางคือ เซ็นทรัลเวิลด์” (Central World) และย่าน CBD ใหม่อย่างเซ็นทรัล พระราม 9”

Central World
Central World

Ring 2: เป็น Prime Location ในทิศต่างๆ ของกรุงเทพฯ ครอบคลุมทุกทิศทั่วกรุงเทพฯ โดยแต่ละโซนของกรุงเทพฯ จะมีศูนย์การค้าหลักขนาดใหญ่ ที่มีพลังแม่เหล็กดึงดูดผู้คนในโซนนั้นๆ มหาศาล

กรุงเทพฯ โซนเหนือ มีเซ็นทรัล ลาดพร้าว

กรุงเทพฯ โซนตะวันตก มีเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า

กรุงเทพฯ โซนตะวันตกเฉียงใต้ มีเซ็นทรัล พระราม 2

กรุงเทพฯ โซนตะวันออก และฝั่งใต้ มีเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัล บางนา

Central RAMA2
เซ็นทรัล พระราม 2

Ring 3: กรุงเทพฯ รอบนอก และปริมณฑล เพื่อตอบรับการเติบโตของเมืองที่ขยายรอบนอกมากขึ้น เช่น

เซ็นทรัล เวสต์เกต และเมกา บางนา ซึ่งเมกา บางนา เป็นศูนย์การค้าในเครือสยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ (SF) ที่เซ็นทรัลพัฒนาเข้าถือหุ้น 96.24% โดยทั้ง 2 โครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับ Super Regional Mall ที่ตอบโจทย์ทั้งคนในโซนนั้นๆ แล้ว และจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ

เซ็นทรัล มหาชัย, เซ็นทรัล ศาลายา, เซ็นทรัล วิลเลจ ที่เป็น Luxury Outlet Mall

นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่ เซ็นทรัล เวสต์วิลล์” (Central WestVille) เจาะทำเลราชพฤกษ์เชื่อมตรงสู่ Bangkok CBD กำหนดเปิด ไตรมาส 4/ปี 2566 

Central-WestVille
Central WestVille กำหนดเปิด ไตรมาส 4/2566

ปัจจุบันไม่เพียงแต่จังหวัดใหญ่เท่านั้นเซ็นทรัลพัฒนาได้ขยายการลงทุนสร้างศูนย์การค้าทุกภูมิภาคทั่วไทย เพื่อเข้าไปยังเมืองเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น เซ็นทรัล อยุธยา, เซ็นทรัล จันทบุรี

ภาคเหนือ เช่น เซ็นทรัล เชียงใหม่, เซ็นทรัล เชียงราย, เซ็นทรัล ลำปาง,​ เซ็นทรัล พิษณุโลก

ภาคกลาง เช่น เซ็นทรัล อยุธยา

ภาคตะวันออก เช่น เซ็นทรัล ชลบุรี, เซ็นทรัล ศรีราชา, เซ็นทรัล ระยอง, เซ็นทรัล จันทบุรี ที่เตรียมเปิด 26 พฤษภาคมนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เซ็นทรัล ขอนแก่น, เซ็นทรัล โคราช, เซ็นทรัล อุดร, เซ็นทรัล อุบล

ภาคใต้ เช่น เซ็นทรัล ภูเก็ต, เซ็นทรัล นครศรี, เซ็นทรัล สมุย, เซ็นทรัล หาดใหญ่

Central Chantaburi
เซ็นทรัล จันทบุรี กำหนดเปิด 26 พฤษภาคมนี้

นอกจากโครงการรูปแบบ Retail-Led Mixed-Use Development ขนาดใหญ่แล้ว เซ็นทรัลพัฒนายังได้เติมเต็มจิ๊กซอว์ “Community Mall” หรือ ศูนย์การค้าชุมชน (โครงการ Community Mall ไม่รวมอยู่ในเป้าหมายศูนย์การค้า 50 แห่งภายใน 5 ปีข้างหน้า) ด้วยการเข้าซื้อกิจการสยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ (SF) เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจศูนย์การค้า ทั้งขนาดใหญ่ Super Regional Mall อย่างเมกาบางนา, ผนึกพันธมิตร IKEA และเดินหน้าขยายธุรกิจ Community Mall ที่เข้าถึงย่านชุมชนมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาโครงการทั้งบนทำเล CBD ของกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

Central Westgate
เซ็นทรัล เวสต์เกต บางใหญ่ เป็น Super Regional Mall
Mega Bangna
เมกาบางนา เป็น Super Regional Mall

 

เซ็นทรัล รีเทลรุกสร้างศูนย์การค้าในเมืองรองจังหวัดเล็ก

กลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น”​ (Central Retail Corporation : CRC) ประกอบด้วย 4 กลุ่มหลักคือ

กลุ่มธุรกิจฮาร์ดไลน์ เช่น ไทวัสดุ, บีแอนด์บี โฮม (BnB Home) หรือเดิมคือ บ้านแอนด์บียอนด์ (Baan&Beyond), เพาเวอร์บาย, ออฟฟิศเมท​, บีทูเอส, เมพ (meb) และเหงียนคิม เป็นร้านจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในเวียดนาม

กลุ่มธุรกิจฟู้ด ซูเปอร์มาร์เก็ตไฮเปอร์มาร์เก็ตร้านสะดวกซื้อ ภายใต้แบรนด์ท็อปส์,​ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, แฟมิลี่มาร์ท, ไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! ในเวียดนาม, ซูเปอร์มาร์เก็ต go! ในเวียดนาม และท็อปส์ มาร์เก็ต เวียดนาม

กลุ่มแฟชั่น เชนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน, ห้างสรรพสินค้ารีนาเซนเต ในอิตาลี, ซูเปอร์สปอร์ต และร้านแฟชั่นของ CMG

กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ เป็นกลุ่มธุรกิจพัฒนาศูนย์การค้า ปัจจุบันมี 3 แบรนด์คือโรบินสัน ไลฟ์สไตล์” (Robinson Lifestyle), “ท็อปส์ พลาซ่า” (Tops Plaza) ในไทย และ ศูนย์การค้า-ไฮเปอร์มาร์เก็ต “GO!” ซึ่งเป็นแบรนด์ค้าปลีกในเวียดนาม เพื่อทยอยปรับภาพลักษณ์และเปลี่ยนจากแบรนด์บิ๊กซีในเวียดนาม เป็น GO!

ปัจจุบันแบรนด์ GO! เซ็นทรัล เวียดนาม ได้ต่อยอดพัฒนาเป็นโมเดลมินิ โก “go!” เป็นเชนซูเปอร์มาร์เก็ต ขนาด 2,500 – 3,500 ตารางเมตร เน้นขยายในจังหวัดรองของเวียดนาม, ทำเลใกล้ชุมชน, ย่านที่พักอาศัยในเขตชนบทของเวียดนาม

GO!
ไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! ในเวียดนาม
ซูเปอร์มาร์เก็ต mini go! ในเวียดนาม

ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล ได้เร่ิมแนะนำแบรนด์ “go!” ในไทยแล้ว แต่ปรับเป็น “go! WOW” เชนร้านวาไรตี้ สโตร์ อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทในเครือซีอาร์ซี ไทวัสดุและเปิด “go!Power” ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาคุ้มค่า ภายใต้การบริหารของเพาเวอร์บาย

go! WOW

go!Power

ดังนั้น การสร้างศูนย์การค้าของ เซ็นทรัล รีเทล ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาณาจักรศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลทั้งหมด ในการเข้าถึงโลเคชั่นได้ครอบคลุม ตั้งแต่ระดับประเทศ จนถึงระดับชุมชน และยังเป็นการเพิ่ม Physical Store สำหรับร้านค้าในเครือเซ็นทรัล รีเทลเช่าพื้นที่เปิดร้าน เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงลูกค้า รวมถึงร้านค้าและบริการของบุคคลภายนอก ซึ่งจะสร้าง Recurring Income ให้กับบริษัทในระยะยาว

ยุทธศาสตร์การสร้างศูนย์การค้าของ เซ็นทรัล รีเทล ในไทย ปัจจุบันยังโฟกัสจังหวัดรอง, อำเภอใหญ่ของเมืองเศรษฐกิจ และจังหวัดเล็ก หรือเมืองขนาดเล็ก ปัจจุบันศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล รีเทลที่เปิดให้บริการแล้วมี 2 แบรนด์คือ

1. ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ มี 24 สาขา ( ธันวาคม 2564) เน้นเปิดสาขาในโลเคชั่นเมืองรอง และในอำเภอใหญ่ของเมืองเศรษฐกิจ

โดยในบางจังหวัดเมืองรอง มีเฉพาะโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ไปเปิด ขณะที่บางจังหวัดที่เป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จะมีทั้งศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนา ที่เปิดใน Strategic Location ของจังหวัดนั้นๆ ขณะเดียวกันก็มีศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์เปิดในโลเคชั่นรอง

ยกตัวอย่าง จังหวัดชลบุรีเป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของไทย และภาคตะวันออก นอกจากเซ็นทรัลพัฒนา สร้าง 4 ศูนย์การค้าแล้ว ทางด้าน เซ็นทรัล รีเทลได้เปิดทั้ง ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์2 ศูนย์ฯ คือ ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ชลบุรี (อมตะนคร) และ ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ บ่อวิน

นอกจากนี้ในชลบุรี ยังมีอีกสองห้างสรรพสินค้าโรบินสันคือ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาศูนย์การค้าแปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา กับ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน  สาขาศูนย์การค้าเซ็นทรัล ชลบุรี

Robinson Lifestyle Bowin
โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ บ่อวิน

อย่างการเปิด ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ บ่อวิน เพิ่มอีก 1 สาขาจากที่มี 3 สาขาแล้วเนื่องจากมองว่า

ชลบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีประชากรและรายได้สูงเป็นอันดับต้นๆของประเทศ 

เป็นแหล่งรวมนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก และมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ย่านนิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน ยังประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็กใหญ่ รวม 8 แห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด, นิคมอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์น, นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร, นิคมชลบุรี (บ่อวิน)

มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยพื้นที่ในรัศมี 30 กิโลเมตรของบ่อวิน มีประชากรตามทะเบียนฯ ที่อาศัยในพื้นที่อีกกว่า 180,000 คน และมีประชากรแฝงที่มีรายได้มั่นคงอีกราว 108,000 คน ซึ่งทำงานอยู่ใน 1,410 โรงงาน

มีโรงเรียนระดับประถมมัธยม ขนาดใหญ่อีก 36 โรงเรียน

ล่าสุดเซ็นทรัล รีเทล เตรียมยกระดับศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ อาทิ การเพิ่มร้านค้าและแบรนด์ใหม่, การปรับโฉมให้มีความโลคอลยิ่งขึ้น และการต่อยอดศูนย์การค้าในทำเลศักยภาพ ให้เป็นรูปแบบมิกซ์ยูส โดยร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ ในการสร้างคอนโดควบคู่กับศูนย์การค้า เพื่อดึงทราฟฟิก และมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น

Robinson Lifestyle Bowin
โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ บ่อวิน

2. ท็อปส์ พลาซ่า ปัจจุบันมี 5 สาขา ( ธันวาคม 2564) เป็นศูนย์การค้าเปิดในจังหวัดเล็ก เช่น พิจิตร,​สิงห์บุรี, เมืองพล ขอนแก่น เพื่อเป็นศูนย์กลางตอบโจทย์ความต้องการที่ครบวงจรของคนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยเฉพาะ

โดยมีแม่เหล็กหลักคือ ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ และร้านค้าในเครือเซ็นทรัล รีเทล, ร้านอาหารและคาเฟ่ของ CRG ในกลุ่มเซ็นทรัล และร้านค้าแบรนด์พันธมิตรมาเช่าเปิดสาขา เช่น เพาเวอร์บาย, เคเอฟซี, มิสเตอร์โดนัท, เอ็มเค สุกี้

Tops Plaza
ท็อปส์ พลาซ่า

ส่วนในประเทศเวียดนาม เดินหน้ารุกกลุ่มธุรกิจฟู้ด ศูนย์การค้า และแพลตฟอร์ม Omnichannel หลังยอดขายผ่านแพลตฟอร์มในไตรมาสแรกของปี 2565 เติบโตแบบดับเบิ้ล อยู่ที่ 88% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งยังดันแอปพลิเคชัน GO! ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในแอปช้อปปิ้งยอดนิยมในเวียดนาม

พร้อมเร่งเครื่องขยายสาขาออฟไลน์ใหม่ๆ ตลอดทั้งปี ประกอบด้วย ศูนย์การค้า GO! และไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! สาขาซูเปอร์มาร์เก็ต mini go! และท็อปส์ 12 สาขา และร้านค้าน็อนฟู้ดอื่นๆ รวมอีก 70 สาขา โดยมุ่งเป้าสร้างฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ครอบคลุมทั้งตลาดกลางและล่าง ตอบรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเวียดนาม ที่คาดการณ์ว่า GDP ปี 2565 จะโตแตะ 6%

CRC ECOSYSTEM_2022
ผลประกอบการเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่นไตรมาส 1/2565 และเสริมศักยภาพ CRC Ecosystem

 

กลุ่มเซ็นทรัลออกแบบศูนย์การค้าคอนเซ็ปต์ใหม่ที่แตกต่าง

กลุ่มเซ็นทรัลเป็นบริษัทแม่ของเครือเซ็นทรัล ก่อตั้งและบริหารโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ ในองค์กรมีฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นหนึ่งใน Business Unit ทำหน้าที่บริหาร และพัฒนาโครงการ ทั้งบนที่ดินเก่าของเซ็นทรัล และที่ดินใหม่ที่มีศักยภาพสูง

ปัจจุบันธุรกิจที่บริหารโดยฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กลุ่มเซ็นทรัลประกอบด้วย

1. ไชน่าเวิลด์ วังบูรพา (China World Wangburapha)

2. หัวหมาก ทาวน์เซ็นเตอร์ (Huamark Town Center)

3. มาร์เก็ตเพลส วงศ์สว่าง (Market Place Wongsawang)

4. บ้านสีลม (Baan Silom)

5. จิวเวลรี่เทรด เซ็นเตอร์ (Jewelry Trade Center)

6. ท็อปส์ มาร์เก็ตเพลส อุดมสุข (Tops Marketplace Udomsuk)

7. ปอร์โต เดอ ภูเก็ต (Porto de Phuket)

8. แพลตฟอร์ม วงเวียนใหญ่ (Platform Wongwianyai)

9. จริงใจ มาร์เก็ต เชียงใหม่ (JingJai Farmer’s Market Chiang Mai)

10. เซ็นทรัล สีลม ทาวเวอร์ (Central Silom Tower)

11. วงศ์อมาตย์ บีช วิลเลจ (Wongamat Beach Village)

แม้การพัฒนาโครงการใหม่ จะไม่ได้รุกลงทุนเหมือนทางเซ็นทรัลพัฒนาและเซ็นทรัล รีเทลก็ตาม แต่ กลุ่มเซ็นทรัลยังคงเดินทางพัฒนาโครงการใหม่ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 – 3 ปีต่อ 1 โครงการ

Central Group-Porto de Phuket
โครงการ ปอร์โต เดอ ภูเก็ต (Porto de Phuket)

อย่างโครงการล่าสุด วงศ์อมาตย์ บีช วิลเลจมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่ดินเก่าของเซ็นทรัล เตรียมเปิดเฟสแรกในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ต่อด้วยเฟสสองในปี 2566

ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการของกลุ่มเซ็นทรัล ประกอบด้วย

เน้นลงทุนในจังหวัดใหญ่ และพัฒนาโครงการในโลเคชั่นท่ีมีศักยภาพ

ทุกโครงการต้องมีกำไร โดยกำไรในที่นี้มีสองส่วน คือ กำไร ทั้งส่วนเจ้าของคือ กลุ่มเซ็นทรัล และกำไรของร้านค้า

รูปแบบ การออกแบบ และคอนเซ็ปต์โครงการของกลุ่มเซ็นทรัล ไม่มีกรอบกำหนดตายตัว เช่น ไม่จำเป็นที่ Facade ต้องคงเอกลักษณ์เหมือนกันทุกโครงการ เพราะให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องพัฒนาให้เหมาะสม และสอดคล้องกับโลเคชั่น เพื่อสร้างความแปลกใหม่ แตกต่างจากศูนย์การค้าอื่น และนำเสนอประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค

ทำให้พอร์ตโฟลิโอศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล มีความหลากลาย ขณะเดียวกันยังกลมกลืนไปกับพื้นที่ หรือทำเลที่ตั้งอยู่

Central Group-Wongamat Beach Village
โครงการ วงศ์อมาตย์ บีช วิลเลจ

ไม่ว่าเซ็นทรัลพัฒนา, เซ็นทรัล รีเทล และกลุ่มเซ็นทรัล จะมียุทธศาสตร์ธุรกิจแตกต่างกันอย่างไร แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการพัฒนาศูนย์การค้า คือ การเป็น “Center of Life” หรือศูนย์กลางชีวิตของทุกคนที่จะเข้าไปอยู่ในโลเคชั่นต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่อยู่ในใจกลางเมืองใหญ่ จังหวัดใหญ่ จังหวัดรอง ไปจนถึงระดับอำเภอ และระดับชุมชน

 


  • 417
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ