ทุกวันนี้การเสาะแสวงหาอาหารอร่อยๆ ไม่ว่าจากร้านชื่อดังในศูนย์การค้า ตามย่าน Hang out หรือร้านเล็กๆ ที่อยู่บนถนนเล็กๆ หรือตามตรอกซอกซอย กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ไปแล้ว นี่จึงทำให้ “ธุรกิจร้านอาหาร” ตั้งแต่ร้านหรู ไปจนถึงร้านข้างทาง และร้าน Food Truck ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้มีมูลค่าสูงถึงกว่า 400,000 ล้านบาท โดย 140,000 ล้านบาท เป็น Chain Restaurant และกว่า 200,000 ล้านบาทเป็น Non-chain Restaurant ซึ่งรวมถึงร้านอาหารข้างทาง (Street Food)
เป็นเวลา 20 ปีแล้วที่ “Greyhound Café” และในเวลาต่อมาเปิด “Another Hound Café” เชนร้านอาหารที่ต่อยอดมาจากธุรกิจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ “Greyhound” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ถือกำเนิดขึ้นโดย “คุณภาณุ อิงคะวัต” นักสร้างสรรค์ และอดีตครีเอทีฟมือทอง ได้โลดแล่นอยู่ในธุรกิจร้านอาหารเมืองไทย และสยายปีกไปตลาดต่างแดน ผ่านโมเดลแฟรนไชส์ในหลายประเทศ และเข้าไปลงทุนเองที่อังกฤษ
ถึงแม้ “Greyhound Café” และ “Another Hound Café” ไม่ได้ขยายสาขาแบบ Aggressive เหมือนอย่างเชนร้านอาหารอื่นที่รุกเปิดสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ด้วยจุดแข็งใน Brand Essence นั่นคือ การนำ Creativity มาผสมผสานในการนำเสนอทั้งเมนูอาหาร บริการ การตกแต่ง-บรรยากาศภายในร้าน ไปจนถึงการสื่อสาร ทำให้ทั้งสองแบรนด์มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น
อย่างไรก็ตามผ่านไป 20 ปี กลุ่มลูกค้าย่อมโตขึ้นไปตามกาลเวลา ขณะเดียวกันด้วยความที่ Greyhound Café และ Another Hound Café เน้นขยายสาขาในศูนย์การค้าเป็นหลัก แม้จะมี Traffic หมุนเวียนตลอด แต่ในอีกมุมหนึ่งกลายเป็น “ข้อจำกัด” ด้านช่วงเวลาการให้บริการแก่ผู้บริโภคบางกลุ่มเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เอง “Greyhound Café” ได้สร้างแบรนด์น้องใหม่ “กิน+เฮ” (KIN HEY) โดยได้แรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมอาหารการกิน “Street Food” หรือ “ร้านอาหารข้างทาง” ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน มาพัฒนาเป็นคอนเซ็ปต์ “Thai Street Food with Modern Twists” เพื่อเจาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน
พร้อมทั้งวาง Roadmap แบรนด์น้องใหม่นี้ จากสาขาแรกเปิดที่โซน Groove ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด เตรียมขยายอีก 2 – 3 สาขาในปี 2562 รูปแบบ Stand Alone ตามย่านธุรกิจที่เป็นศูนย์รวมมนุษย์เงินเดือนแหล่งใหญ่ เช่น สยาม สีลม อโศก ก่อนจะขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศ ดังเช่นแบรนด์พี่ “Greyhound Café” ทำสำเร็จมาแล้ว !!
จาก “อิซากายะ – โพจังมาชา” ร้านอาหารข้างทางญี่ปุ่น-เกาหลี สู่ปฏิบัติการยกระดับ “สตรีทฟู้ดไทย”
“Street Food” หรือ “ร้านอาหารข้างทาง” หนึ่งในวัฒนธรรมอาหารการกินที่พบเจอได้ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย ใครไปญี่ปุ่น จะเห็น “ร้านกินดื่ม” หรือที่เรียกว่า “Isakaya” (อิซากายะ) เต็มไปด้วยพนักงานออฟฟิศ นั่งจิบเบียร์คุยกัน พร้อมกับแกล้มปิ้งย่างเสียบไม้
และถ้าไปเกาหลีใต้ หรือใคนที่เป็นคอซีรีย์เกาหลี จะเห็นหนุ่มสาวพนักงานออฟฟิศ นั่งดื่มโซจู และแกล้มอาหารเกาหลีดั้งเดิมในร้านเต้นท์แดง หรือเรียกว่า “Pojangmacha” (โพจังมาชา)
กลับมาที่ “ไทย” ถ้าจะกล่าวว่าเป็นดินแดนของ “Street Food” ก็ว่าได้ และถือเป็นตู้กับข้าวของคนไทยที่อาศัยในเมือง ตั้งแต่มื้อเช้า – กลางวัน – เย็น ไปจนถึงมื้อสังสรรค์ หรือระบายความเครียดหลังเลิกงานมากันเป็นกลุ่ม นั่งในร้านจิ้มจุ่ม หม้อไฟ, ร้านส้มตำ, ร้านหมูกระทะ, ร้านข้าวต้ม
จากวัฒนธรรม Street Food ของไทย บวกกับศักยภาพของผู้บริโภคกลุ่ม “มนุษย์เงินเดือน” หนึ่งในประชากรกลุ่มใหญ่ของไทย ทำให้กลุ่ม “Greyhound Café” ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้เครือ “บมจ. มัดแมน” (Mudman) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ “บมจ. ทรัพย์ศรีไทย” สร้างแบรนด์ใหม่ชื่อ “กิน+เฮ” (KIN HEY) ด้วย 3 เหตุผลหลัก คือ
1. เพื่อเติมเต็ม Brand Portfolio เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น โดยแบรนด์ใหม่วางกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นคนอายุ 22 – 45 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยเริ่มทำงาน จนถึงระดับบริหาร โดยเจาะเข้าไปในโอกาสการบริโภค “มื้อกลางวัน” และ “หลังเลิกงาน” พร้อมทั้งนำเสนอด้วยคอนเซ็ปต์ “Thai Street Food with Modern Twist”
แตกต่างจากแบรนด์พี่ “Greyhound Café” ที่นำเสนอภายใต้แนวคิด “Basic with creative twists” ขณะที่ “Another Hound Café” นำเสนอด้วยแนวคิด “Italian with Asian twist” เมนูอาหารอิตาเลียน ผสานกับความเป็นไทย และเอเชีย
2. ด้วยความที่แบรนด์ “Greyhound Café” เปิดให้บริการปีนี้เป็นปีที่ 20 มีฐานแฟนคลับที่โตมากับแบรนด์นี้ที่วันนี้เป็นวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นต้องสร้างแบรนด์ใหม่ที่มา “เชื่อมต่อ” กับผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ในระดับราคาที่ถูกกว่าแบรนด์พี่ โดยเฉลี่ย “Another Hound Café” ราคาต่อคนอยู่ที่ 550 บาท / “Greyhound Café 450 บาทต่อคน / “กิน+เฮ” 350 บาทต่อคน
3. เพื่อขยายสาขาในโลเกชั่นที่แบรนด์ Greyhound Café และ Another Hound Café ไม่สามารถไปได้ เช่น การพัฒนาฟอร์แมต “Stand Alone” เปิดให้บริการช่วงเวลาที่ยาวขึ้นกว่าการอยู่ในศูนย์การค้า
คุณชาคริยา อริยะสถิตย์มั่น, Marketing Division Manager จากกิน+เฮ ในเครือ Greyhound Café เล่าที่มาของการพัฒนาแบรนด์ใหม่ว่า ปัจจุบัน Greyhound Café มี 14 สาขา และ Another Hound Café มี 3 สาขา ซึ่งบริษัทอยากขยายธุรกิจร้านอาหารให้เร็วขึ้น โดยขยายทั้งฐานลูกค้ากว้างขึ้น และไปในสถานที่ที่ Greyhound Café และ Another Hound Café ไม่เคยไป โดยตั้งใจให้แบรนด์ใหม่จับกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ช่วงวัยเริ่มทำงาน ถึงระดับบริหาร เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และทำให้เป็นร้านอาหารที่รองรับได้ทั้งมื้อกลางวัน และมื้อเย็นหลังเลิกงาน
“เราทำ Consumer Insight ศึกษาว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ ในช่วงมื้อกลางวัน และหลังเลิกงาน เขานิยมรับประทานอะไร และใช้ชีวิตอย่างไร เราพบว่าถ้าเป็นมื้อกลางวัน เขาต้องการเมนู “อาหารจานเดียว” ที่ตอบโจทย์ความเร็ว และรับประทานง่าย เช่น ก๋วยเตี๋ยว แต่หลังเลิกงาน เขาต้องการอาหารล้อมวงกินกัน และดื่มเบียร์ไปด้วย
ในที่สุดจึงตกผลึกเป็น “Street Food” ที่คนไทยคุ้นเคยทั้งในช่วงมื้อกลางวัน และอาหารที่คนไทยนิยมไปรับประทานกันหลังเลิกงาน เช่น หมูกระทะ จิ้มจุ่ม ข้าวต้ม มาพัฒนาต่อยอด พร้อมทั้งออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ภายในร้านที่นำความเป็นไทยทั้ง Traditional ผสมผสานกับ Modern เพื่อนำเสนอให้สนุกขึ้น และยกระดับ Street Food ของไทยในบรรยากาศสบาย มีแอร์เย็น สะอาด มีที่จอดรถสะดวก ราคาจับต้องได้ โดยไม่มี Service Charge ซึ่งจะเป็นอีกข้อหนึ่งที่จะดึงคนทำงานมาใช้บริการ เพื่อตอบโจทย์คนทำงานออฟฟิศได้ทั้งมื้อกลางวัน และมื้อเย็น
เรามองว่าคู่แข่งในตลาดที่เป็น Thai Street Food with Modern อาจยังไม่มี แต่ในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ทุกร้านเป็นเหมือนคู่แข่งเรา ขึ้นอยู่กับวันนั้น ผู้บริโภคอยากรับประทานอะไร ถ้าเป็นมื้อกลางวัน ใน 1 อาทิตย์คนทำงานออฟฟิศอาจไปใช้บริการฟู้ดคอร์ท หรือร้าน Street Food ขณะที่บางวันอยากสบายๆ ก็มาใช้บริการที่กิน+เฮ และเมื่อตกเย็น บางวันอาจไม่ได้อยากไปเที่ยวกับเพื่อนแบบผับบาร์ ก็มาใช้บริการที่ร้านเรา
เพราะฉะนั้น “กิน+เฮ” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภค โดยเราต้องทำให้รสชาติอาหาร การใส่ความคิดสร้างสรรค์ บรรยากาศในร้าน และการให้บริการเป็นที่ถูกใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เพื่อผู้บริโภคจะได้ตัดสินใจเลือกเรา”
เล็งขยายสาขานอกศูนย์การค้า – เตรียมโกอินเตอร์
หลังจากเปิดแห่งแรกที่โซน Groove เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นสาขาต้นแบบสำหรับใช้ขยายสาขาต่อไปในอนาคต แผนในปี 2562 เตรียมขยายสาขา “กิน+เฮ” ประมาณ 2 – 3 สาขาในรูปแบบ Stand Alone ในทำเลย่านคนออฟฟิศ เช่น สยาม, สีลม, อโศก และหลังจากนั้นถึงจะขยายไปต่างประเทศ เช่นเดียวกับแบรนด์พี่ “Greyhound Café”
“โซน Groove เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นพื้นที่สำหรับ Hang out โดยเฉพาะ และอยู่ใกล้ออฟฟิศ ติดรถไฟฟ้า การเดินทางสะดวก เราจึงเลือกเปิดสาขาแรกที่นี่ แต่ปีหน้า เราเลือกขยายสาขารูปแบบ Stand Alone เนื่องจากคอนเซ็ปต์ และโปรดักต์ของ “กิน+เฮ” ตอบโจทย์กลุ่มคนทำงานทั้งในช่วงมื้อกลางวัน ไปจนถึงเที่ยงคืน ขณะที่ศูนย์การค้าส่วนใหญ่ปิด 21.30 – 22.00 น. มีบางแห่ง เช่น โซน Groove ที่เปิดถึงดึก
ดังนั้นการเปิดสาขาในศูนย์การค้า ทำให้เราเสียโอกาสการขายในช่วงกลางคืน และเราไม่อยากให้แบรนด์นี้จำกัดอยู่เฉพาะในศูนย์การค้า ต่อไปจึงเลือกเปิดสาขารูปแบบ Stand Alone ที่ทำให้เปิดให้บริการได้ถึงเที่ยงคืน – ตีหนึ่ง เมื่อเปิดนานขึ้น จะช่วยเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นตามมา” คุณชาคริยา สรุปทิ้งท้ายถึงแผนธุรกิจแบรนด์ “กิน+เฮ” ในอนาคต
การทำธุรกิจร้านอาหารยุคนี้ ท่ามกลางการแข่งขันสูง และมีตัวเลือกมากมาย หัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการ จึงอยู่ที่การนำเสนอ “ประสบการณ์” ครบทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ Unique Selling Point ที่แตกต่างจากรายอื่น อาหารรสชาติดี มีคุณภาพ มีมาตรฐาน การให้บริการประทับใจ การตกแต่งและบรรยากาศภายในร้านที่สอดคล้องกับจุดขายของแบรนด์