อย่างที่ทราบกันดีว่า Grab เป็นผู้ให้บริการด้านการเรียกรถ (Ride Hailing) และบริการส่งอาหาร (Food Delivery) นอกจากนี้ยังมีบริการส่งสินค้า-เอกสาร ซึ่งแต่ละบริการสามารถเรียกใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น Grab ได้โดยมีการค่าใช้จ่าย และค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถเลือกได้ว่าจะชำระแบบเงินสดหรือตัดผ่านบัญชีที่มีการผูกไว้กับแอปฯ
โดยในปีนี้มีการสำรวจพบว่า มีการใช้งาน Grab ทุกบริการตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงตุลาคมมีการเรียกใช้งานถึง 120 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นยอดที่ทำให้เห็นว่ามีการใช้ Grab เป็นจำนวนมาก และ Pain Point อย่างหนึ่งที่พบมากตามมาโดยเฉพาะการชำระแบบเงินสด คือการทอนเงินที่หลายครั้งที่ลูกค้าใช้แบงค์ใหญ่อย่าง 1,000 บาท ซื้อสินค้าไม่กี่ 100 บาท หรือกรณีที่ต้องทอนเป็นเหรียญ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกสบายทั้งกับผู้ใช้บริการและผู้ขับ
แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Grab Financial Group) กลุ่มธุรกิจด้านการเงินของ Grab เปิดตัวบริการ GrabPay Wallet บริการด้าน e-Wallet ที่ช่วยให้ทุกการใช้จ่ายไม่ต้องใช้เงินสด ลดปัญหาเรื่องเงินทอน โดย GrabPay Wallet ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการช่วยให้ Grab กลายเป็น Super App ในประเทศไทยที่มีแพลตฟอร์มการชำระเงินอย่างครบวงจร ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
ด้าน คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ชี้ว่า GrabPay Wallet จะเป็นบริการที่ช่วยเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลในประเทศไทยได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน 93% ของการใช้จ่ายภายในประเทศยังเป็นรูปแบบเงินสด ขณะที่การใช้บัตรเครดิตต่อคนยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด GrabPay Wallet จึงสนับสนุนให้ร้านค้าลดการพึ่งพาเงินสด
ในช่วงแรกของการเปิดตัว GrabPay Wallet จะสามารถใช้จ่ายได้ทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ผ่าน QR Code เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างไร้รอยต่อ ไม่เพียงแต่ผู้ใช้ Grab เท่านั้นที่ได้รับความสะดวกสบายและสิทธิประโยชน์มากมาย แต่ร้านค้าที่ร่วมกับ Grab ยังมีโอกาสเพิ่มยอดขาย ขยายฐานลูกค้าและเสริมประสิทธิภาพทางธุรกิจ
คุณวรฉัตรยังเผยว่า ประเทศไทยมีการใช้งาน Cashless เพียง 7% เท่านั้น แต่มีการใช้ Cashless ผ่านบริการ Grab ถึง 31% รองจากสิงคโปร์และเวียดนาม และจากการเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ใช้บริการ Grab ถึง 40% ที่หันมาใช้จ่ายผ่านแอปฯ นอกจากนี้การใช้จ่ายแบบ Cashless ยังช่วยให้ผู้ใช้งานใช้จ่ายมากขึ้นถึง 60% ส่งผลให้ GrabPay Wallet เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวซึ่งมาจากบริการหลักทั้ง 3 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่ง (Ride Hailing), อาหาร (Food) และการส่งพัสดุ-เอกสาร (Delivery)
สำหรับ GrabPay Wallet จะเปิดให้บริการทั้ง 4 รูปแบบด้วยกัน ทั้งในรูปแบบ In-Store Payment หรือการชำระเงินที่ร้านค้าพันธมิตรอย่าง Major Cineplex, After You, KOI Thé, Boots, Lawson Station 108, Fuji, Miniso, Sukishi, Kyo Roll En, Seoul Grill และ Sukiya โดยการสแกน QR code ซึ่งถือเป็นบริการพื้นฐานของ e-Wallet โดยทุกครั้งที่ใช้จ่ายผ่าน GrabPay Wallet จะได้รับ Cashback ทันที 20%
รูปแบบ Mobile Topup หรือการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ใช้สามารถเติมเงินโทรศัพท์มือถือผ่านทางแอปฯ ของ Grab ทำให้การเชื่อมต่อในยุคดิจิทัลเป็นไปได้อย่างสะดวก โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรด้านโทรคมนาคมต่างๆ, รูปแบบ Subscription หรือการสมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษ ช่วยให้ผู้ที่ใช้งาน Grab เป็นประจำสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 50% เมื่อลงทะเบียนเข้าใช้งานกลุ่มบริการต่างๆ เช่น GrabPackage All-access Pass, GrabPackage Ride Pass, GrabPackage Food Pass และ GrabPackage GrabExpress Pass
และรูปแบบ Dealbook แหล่งรวมดีลส่วนลดและสิทธิพิเศษจากพาร์ทเนอร์ร้านค้าของ Grab ไม่ว่าจะเป็นอาหาร บันเทิงและท่องเที่ยว เช่น ผู้ใช้งานสามารถซื้อเซ็ตตั๋วชมภาพยนตร์พร้อมป๊อปคอร์นราคาพิเศษจาก Major Cineplex และชานมไข่มุกจาก KOI Thé ในราคาพิเศษ ซึ่ง GrabPay Wallet จะทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านการเงินอย่าง KBank
คุณวรฉัตรยังชี้ว่า นี่เป้นเพียงจุดเริ่มต้นของ GrabPay Wallet เพราะในอนาคต Grab Financial Group มีแผนที่จะเปิดตัวอีก 2 บริการทั้ง GrabFinance และ GrabInsurance โดย GrabFinance จะเป็นบริการด้านสินเชื่อภายในแอปฯ แก่พาร์ทเนอร์ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อยู่บนแพลตฟอร์มของ Grab โดยใช้การตรวจสอบจากรูปแบบการให้บริการที่ผ่านมา ส่วน GrabInsurance จะการประกันรายย่อยสำหรับคนขับแกร็บ โดยทั้ง 2 บริการมีแผนที่จะขยายการให้บริการสู่ผู้ใช้งานทั่วไป โดยอยู่ในแผนระยะยาวที่วางไว้
เพื่อฉลองการเปิดตัว GrabPay Wallet จึงได้จัดโปรโมชันสุดพิเศษเพื่อขอบคุณผู้ใช้บริการที่สนับสนุน Grab มาโดยตลอด โดยของขวัญสุดพิเศษทั้ง GrabRewards ที่จะได้รับคะแนนรีวอร์ดส 3 เท่าสำหรับทุกการใช้บริการ เมื่อเลือกชำระเงินด้วย GrabPay Wallet และการชำระเงินกับร้านค้า (In-store Payment) จะได้รับเงินแคชแบ็กสูงสุด 20% เมื่อใช้จ่ายผ่าน GrabPay Wallet ด้วย QR Code ในร้านค้าที่ร่วมรายการ
เรียกว่านี่คือการก้าวสู่ Super App ที่ให้บริการเบ็ดเสร็จจบในแอปเดียว ทั้งซื้อ ทั้งจ่าย และในอนาคตที่จะมีบริการด้านการเงินเข้ามาเสริม ไม่แน่ว่าหากบริการการขนส่ง (Ride Hailing) สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย บริการสำหรับการท่องเที่ยวอาจจะเกิดขึ้นตามมา รวมถึงบริการอื่นๆ ที่จะเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงบริการต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน