ถือเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่มาแรง และโตเร็วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้ สำหรับ “Grab Holdings Inc.” หรือ “Grab” (แกร็บ โฮลดิ้งส์ อิงค์) ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เข้ามาร่วมลงทุนในทุกครั้งที่เปิดระดมทุน
โดยตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2562 จะสามารถระดมเงินทุนได้รวม 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีเป้าหมายใหญ่อยู่ที่การเป็นแพลตฟอร์ม “Super App” ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“Softbank” พันธมิตรคู่ใจ! ร่วมลงทุน 1.46 พันล้านเหรียญ
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “Grab” ได้รับเงินลงทุนมูลค่า 1.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากกองทุน Softbank Vision Fund หรือ SVF (ซอฟต์แบงก์ วิชัน ฟันด์) ที่เป็นพันธมิตรและร่วมมือทางธุรกิจกับ Grab อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557
การเพิ่มทุนจาก Softbank Vision Fund ครั้งนี้ ช่วยให้ Grab มีเงินทุนจากการระดมทุนซีรีย์เอช รวมเป็นมูลค่าทั้งหมดกว่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนรายอื่นๆในรอบเดียวกันนี้ ได้แก่ โตโยต้ามอเตอร์คอร์ปอเรชั่น, กองทุนออพเพ่นไฮเมอร์ (Oppenheimer Funds), กลุ่มฮุนไดมอเตอร์, บุ๊กกิ้งโฮลดิงส์, บริษัท ไมโครซอฟท์, ผิงอันแคปิตอล และยามาฮ่ามอเตอร์
“เรารู้สึกยินดีอย่างเป็นอย่างยิ่งที่ Softbank และ Vision Fund ซึ่งเป็นผู้ลงทุนเชิงกลยุทธ์ของเรามาอย่างยาวนานยังคงให้การสนับสนุน Grab อย่างต่อเนื่อง การลงทุนในครั้งนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของเราในการพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะ Super App อันดับ 1 ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
ในอนาคต เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายล้านคน ด้วยการมอบโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นผ่านแพลตฟอร์มของเรา รวมถึงมอบทางเลือกและความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้ของเรามากขึ้น” คุณแอนโธนี ตัน ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Grab ให้สัมภาษณถึงความร่วมมือกับ Softbank Vision Fund
ทางด้าน คุณเดวิด เทเวนอน หุ้นส่วนที่ปรึกษาด้านการลงทุนของ Softbank กล่าวว่า “เราได้ทำงานร่วมกับแกร็บมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยนับเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีผู้ใช้งานเป็นผู้ขับเคลื่อน
การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถค้นหาโอกาสใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น ทั้งในด้านการบริการเดินทางแบบ On Demand บริการการจัดส่งพัสดุและอาหาร รวมถึงบริการทางการเงินต่างๆ ไปพร้อมกับขยายการเจริญเติบโตแพลตฟอร์มแบบออฟไลน์สู่ออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
“Collaboration” กลยุทธ์ต่อจิ๊กซอว์ “Grab Platform” เป็น Super App แห่งอาเซียน
กลยุทธ์สำคัญที่ขับเคลื่อนให้ “Grab” ก้าวขึ้นเป็น “Super App” ที่มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน และสร้าง Business Ecosystem ของการเป็น Super App ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคได้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น ภายใต้กลยุทธ์ “Open Platform” ด้วยการทำ “Collaboration” กับพันธมิตรธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ
นอกจาก “Softbank Vision Fund” ที่เป็นพาร์ทเนอร์หลักแล้ว “Grab” ยังได้ขยายความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมระดับโลก เช่น โตโยต้า, ฮุนได, ไมโครซอฟท์ และมาสเตอร์การ์ด
อีกทั้ง ได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค อาทิ เซ็นทรัลกรุ๊ป และธนาคารกสิกรไทยในประเทศไทย, โอโว่ ธนาคารบีทีเอ็น และธนาคารแมนดิในประเทศอินโดนิเซีย, ธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ของสิงคโปร์ รวมถึงเอสเอ็มอินเวสเมนต์ของฟิลิปปินส์ โมคาของเวียดนาม และธนาคารเมย์แบงค์ของมาเลเซีย
เมื่อปี 2561 เปิดตัวบริการใหม่ ประกอบด้วย
– แอปพลิเคชัน “ดูหนังออนไลน์” ที่ร่วมมือกับ HOOQ
– บริการดูแลสุขภาพออนไลน์ซึ่งร่วมมือกับผิงอันกู้ดด็อกเตอร์ (Ping An Good Doctor)
– ประกันภัยซึ่งร่วมมือกับจงอันอินเตอร์แนชั่นแนล (ZhongAn International)
– บริการจองโรงแรมออนไลน์ซึ่งร่วมมือกับบุกกิ้งโฮลดิงส์ (Booking Holdings)
ตั้งเป้าปี ’62 ระดมเงินทุนให้ได้ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Grab Holding Inc. ประกาศแผนการขยายธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาค และคาดว่าจะระดมเงินทุนได้รวมถึง 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากที่ได้ Softbank Vision Fund และผู้ลงทุนเชิงกลยุทธ์รายสำคัญ ได้ลงทุนไปกว่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในการระดมทุนรอบซีรีย์เอชไปก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ Grab จะดำเนินการลงทุนในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยลงทุนหรือซื้อกิจการอย่างน้อย 6 ครั้งทั่วภูมิภาคภายในปีนี้
คุณแอนโธนี ตัน กล่าวว่า “ผมได้พบกับมาซาโยชิ ซัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเขารับปากพร้อมสนับสนุนการขยายธุรกิจของเราอย่างเต็มที่
การสนับสนุนจากผู้ลงทุนเชิงกลยุทธ์อย่าง Softbank จะช่วยให้บริการต่างๆ ของเราในปีนี้ เติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งบริการทางการเงิน การเดินทาง และการจัดส่งอาหาร
หากพิจารณาจากอัตราการเติบโตของเราในปัจจุบัน คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ธุรกิจเราจะเติบโตกว่าคู่แข่งในอินโดนีเซียและในภูมิภาคถึง 4 เท่า
โดยในขณะที่เราพัฒนาธุรกิจไปสู่การเป็นผู้นำด้านซูเปอร์แอพสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรายังเล็งเห็นโอกาสที่สำคัญๆ อีกมากมายในการขยายธุรกิจและนำเสนอบริการสำหรับลูกค้า พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่ และคู่ค้าของเราทั่วทั้งภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง”
คุณหมิง มา ประธานบริษัท Grab ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจว่า ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับโอกาสของเราในการขยายบริการด้านต่าง ๆ เช่น บริการดูแลสุขภาพและบริการทางการเงิน
“เราได้เตรียมความพร้อมที่จะลงทุนหรือซื้อกิจการอย่างน้อย 6 ครั้ง และระดมเงินทุนให้ได้รวมทั้งสิ้น 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นปีนี้
และนอกเหนือจากตลาดอื่นๆ ที่มีความสำคัญในภูมิภาคแล้ว Grab ยังเตรียมนำเงินทุนที่ได้รับมาลงทุนในอินโดนีเซียเป็นหลัก เพื่อคงความเป็นผู้นำด้านบริการรถโดยสารแบบออนดีมานด์ และเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตมากกว่าคู่แข่งหลักถึง 4 เท่า”
“อินโดนีเซีย” ตลาดยุทธศาสตร์ที่ Grab ต้องการล้ม “GO JEK”
นอกจากนี้ Grab ยังวางแผนที่จะนำเงินทุนที่ได้รับในครั้งนี้มาลงทุนใน “อินโดนีเซีย” เป็นหลัก ซึ่งเป็นตลาดที่ Grab เป็นผู้นำในด้านบริการรถโดยสารแบบ On Demand โดยคิดเป็นร้อยละ 60 ของตลาดรถโดยสารแบบขับเคลื่อนสองล้อ และร้อยละ 70 ของตลาดรถโดยสารแบบขับเคลื่อนสี่ล้อ
ธุรกิจของ Grab ในอินโดนีเซียมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปี 2561 “Grab” จะใช้เงินทุนใหม่นี้ในการกระตุ้นการขยายธุรกิจของ “Grab Food” และ “Grab Express” รวมถึงการเปิดตัวบริการใหม่ๆ ในประเทศ
ขณะเดียวกัน ต้องการมีส่วนผลักดันตลาดธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ผ่านความร่วมมือกับโอโว่ (OVO) และโทโกพีเดีย (Tokopedia)
สำหรับบริการ Grab Food มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในอินโดนีเซีย โดยให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 178 เมืองจากเดิมเพียง 13 เมืองเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณบริการการจัดส่งเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าในปี 2561
ล่าสุดในเดือนมกราคม 2562 นี้ “Grab Food” กลายเป็นผู้ให้บริการจัดส่งอาหารรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย จากผลสำรวจของคานทาร์ (Kantar) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจวิจัยด้านการตลาดที่ได้ระบุว่า แกร็บเป็นบริการจัดส่งอาหารที่ผู้ตอบแบบสอบถามใช้บริการบ่อยที่สุด และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ในเดือนเมษายนปี 2561
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในอินโดนีเซีย ถือเป็นความท้าทายของ Grab ไม่น้อย เพราะต้องเจอกับ “GO JEK” เจ้าถิ่น On Demand Platform ที่ถือกำเนิดขึ้นในอินโดนีเซีย และทุกวันนี้เป็นแพลตฟอร์มให้บริการ On Demand Platform อันดับ 1 ของอินโดนีเซีย ทั้งยังเป็นผู้ให้บริการ Digital Payment รายใหญ่ในอินโดนีเซีย
ปัจจุบันมี 19 บริการ ตั้งแต่ขนส่ง รับส่งอาหาร ร้านค้า บริการนวด บริการทำความสะอาดบ้าน โลจิสติกส์ บริการ e-Money ลอยัลตี้โปรแกรม ฯลฯ และเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายแรกในอินโดนีเซีย และอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เหตุผลสำคัญที่ “อินโดนีเซีย” เป็นตลาดยุทธศาสตร์ของ “Grab” เพราะด้วยความที่อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน ถือเป็นอันดับ 4 ของโลก ทั้งยังเป็นประเทศที่มีการใช้งานสมาร์ทโฟนสูง อีกทั้งคนในอินโดนีเซีย เจอกับ Pain Point ด้านการเดินทางจากปัญหารถติด
นี่จึงทำให้บริการ Ride Hailing และ Food Delivery ในอินโดนีเซียขยายตัวอย่างรวดเร็ว