Grab แอปฯ ให้บริการด้านการขนส่งส่วนบุคคล จับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในการเป็นพันธมิตรเมืองอัจฉริยะ (Smart City Alliance) โดย Grab เตรียมนำร่องโครงการ Mobility as a Service (MaaS) ผ่านรูปแบบวางแผนการเดินทาง (Trip Planner) ซึ่งจะเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะเข้ากับแอพพลิเคชั่นเป็นเจ้าแรกในไทย โดยที่ผู้ใช้งานสามารถใช้บริการการเดินทางแบบออนดีมานด์ ร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกและง่ายดาย
Travel on Demand
ใครที่เคยคิดว่าปิดเทอมแล้วรถจะหายติด บอกเลยว่าปัจจุบันเห็นจะไม่จริง ซ้ำร้ายช่วงปิดเทอมยังอาจจะติดหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะปริมาณรถยนต์ที่ออกใหม่มีมากขึ้น โดยในมี 2018 ที่ผ่านมามีจำนวนยอดขายรถยนต์ทั้งตลาดมากกว่า 1 ล้านคัน นั่นหมายถึงรถจำนวนเหล่านี้กำลังวิ่งอยู่ในถนนของประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นเฉพาะยอดจองรถยนต์ในงาน Motor Show 2019 มีวี่แววจะแตะที่ระดับ 20,000 คัน ซึ่งถือว่าเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา
แม้หลายคนจะมองว่าปัญหาจราาจรในปัจจุบัน ไม่ใช่ปัญหาเพราะมี “Grab” แอปพลิเคชั่นด้านการเดินทาง แต่ส่วนใหญ่ Grab จะเป็นรถรับจ้างเป็นหลัก ขณะที่คนอีกจำนวนมากยังต้องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ นั่นจึงทำให้ Grab ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในการเป็นพันธมิตรเมืองอัจฉริยะ (Smart City Alliance)
ด้าน มนรวี อำพลพิทยานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ แกร็บ ประเทศไทย ชี้ว่าในฐานะที่ Grab เป็นผู้นำด้านซูเปอร์แอปฯ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงพร้อมที่จะให้ความร่วมมือต่อการผลักดันเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ซึ่งการขนส่งและจราจรถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อทำให้เกิดการเดินทางที่เชื่อมโยงสะดวกและปลอดภัย
โดย Grab ยังมีแผนในการศึกษาและพัฒนา “Mobility as a Service (MaaS)” ซึ่งเป็นแนวคิดระบบคมนาคมขนส่งผ่านฟีเจอร์ วางแผนการเดินทาง (Trip Planner) โดยเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะของประเทศ ช่วยให้สามารถเดินทางได้แบบออนดีมานด์ในแอพพลิเคชั่น หลังจากที่ได้เปิดตัวในกรุงจาการ์ต้าไปเป็นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับฟีเจอร์ดังกล่าวจะผสานข้อมูลการเดินทางจากบริการของแกร็บ รวมถึงบริการรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และรถประจำทาง เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการเดินทางให้มีความคล่องตัว เข้าถึงง่าย มีราคาเหมาะสมสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยลดการใช้รถส่วนตัวและบรรเทาปัญหารถติดและมลพิษในประเทศไทย อีกทั้งยังถือเป็นการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศอีกทางหนึ่ง