นวัตกรรมภาครัฐหรือ Government Technology (GovTech) ที่เข้ามายกระดับบริการภาครัฐในปัจจุบันมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับการเติบโตของประเทศ มีประโยชน์ทั้งในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความโปรงใส่ ยกระดับเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สามารถดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพด้วยการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล และที่สำคัญก็คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบัน GovTech ยังเป็นหนึ่งในเทรนด์มาแรงที่ภาคเอกชนหรือสตาร์ทอัพหันมาสนใจลงทุนมากยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลให้หลาย ประเทศประกาศที่จะใช้ GovTech เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนประเทศอย่างจริงจัง
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับ GovTech มาอย่างยาวนานโดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาที่นวัตกรรมภาครัฐพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีหลากหลายบริการที่คนไทยหันมาใช้งานกันอย่างคล่องมือ ไม่เว้นแม้แต่ปู่ย่าตายายที่เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีผ่านสมาร์ทโฟนกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายบริการที่หลายคนอาจไม่รู้ว่านั่นเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงอาสามาเล่าถึงเบื้องหลังนวัตกรรมภาครัฐในหลากหลายรูปแบบที่จะปรับเปลี่ยนชีวิตคนไทยผ่านซีรีย์ “GovTech Next Move”
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เล่าว่านวัตกรรมภาครัฐ หรือ Govtech ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยจะเห็นว่าในหลายประเทศเริ่มประสบความสำเร็จจากการนำ GovTech มาเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ หรือเอสโตเนีย ที่พัฒนาบริการภาครัฐ จนทำให้เกิดประโยชน์และได้รับการยอมรับ สามารถนำพาประเทศให้เข้าสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม”
ด้านคุณอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เผยว่า การทำงานของภาครัฐปัจจุบันต้องเน้นตอบโจทย์เทคโนโลยีที่ประชาชนใช้บริการอยู่เป็นประจำ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้คนที่ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งอยู่บนสมาร์ทโฟน ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ภาครัฐจะต้องปรับตัวจากการทำงานบนกระดาษมาให้บริการผ่านมือถือซึ่งประชาชนมีความเคยชินมากที่สุด สิ่งนี้จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาระบบงานของภาครัฐให้ไปสู่ระบบดิจิทัล
6 เป้าหมายพัฒนานวัตกรรมภาครัฐเปลี่ยนชีวิตคนไทย
ประเทศไทยมีการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐเพื่อเปลี่ยนชีวิตคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 6 เป้าหมาย ได้แก่
- ลดขั้นตอนเพิ่มความเร็ว นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับบริการภาครัฐ
- เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ให้ง่ายกว่าเดิม นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต
- เข้าถึงข้อมูลสุขภาพบนมือถือ นวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต
- เชื่อมต่อข้อมูลเข้าถึงชุมชน นวัตกรรมที่เน้นจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งเรื่องน้ำ อากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ
- โปร่งใส ตรวจสอบได้ นวัตกรรมภาครัฐที่นำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการ
- จัดสรรพื้นที่ ใช้เทคโนโลยีสร้างความสมดุลย์ นวัตกรรมด้านการกระจายตัวในระดับพื้นที่ (Decentralization)
บริการหนึ่งที่ไม่พูดถึงคงจะไม่ได้ และเรียกว่าเป็นต้นแบบของนวัตกรรมภาครัฐก็คือ “แพลทฟอร์มยื่นภาษีออนไลน์” ของกรมสรรพากรซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วย “ลดขั้นตอน เพิ่มความเร็ว” ในการให้บริการ เนื่องจากแต่ละปีมีผู้ยื่นแบบแสดงรายการกับกรมสรรพากรมากกว่า 30 ล้านฉบับ ปัจจุบันมีแนวโน้มผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปีล่าสุดมีจำนวนมากถึงร้อยละ 85 โดยกรมสรรพากรตั้งเป้าพัฒนานวัตกรรมขององค์กรไปสู่การเป็น Seamless Tax Eco System หรือ ระบบนิเวศด้านภาษีที่ไร้รอยต่อต่อไป
นับจากนี้ความลำบากในการรอคิวรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐจะไม่มีอีกต่อไปกับระบบ “เวชระเบียนออนไลน์” ตอบโจทย์เรื่อง “นวัตกรรมที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลสุขภาพบนมือถือ” เป็นบริการที่สามารถเข้าใช้บริการผ่านเว็บไซต์รวมถึงแอปพลิเคชัน “Rama App” ที่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้ง่ายขึ้น ทำนัดหมาย ชำระเงิน ส่งไฟล์เอกสารรับรองสิทธิ ตรวจสอบสถานการณ์รับยา แผนที่จุดให้บริการและข่าวสารต่างๆ ได้จากสมาร์ทโฟน เรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่มีสตาร์ทอัพด้าน Health Tech และ Med Tech ประมาณ 20 รายมาต่อบริการกัน
Thaiwater อีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่เป็นนวัตกรรมภาครัฐด้าน “นวัตกรรมที่ช่วยเชื่อมต่อข้อมูลเข้าถึงชุมชน” เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้บริหารจัดการน้ำ ผสานเอาระบบ GMMS ทำแผนที่ 3 มิติได้ในระยะเวลาอันสั้นไปจนถึงรถ MMS ที่สแกนภาพจริงในพื้นที่มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างรวดเร็ว นวัตกรรมนี้เป็นประโยชน์ทั้งในช่วงเวลาปกติ และเมื่อเกิดวิกฤติน้ำท่วมหรือภัยแล้ง มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานเตือนภัยเพื่อแจ้งเตือนประชาชน และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันแอปพลิเคชัน Thaiwater เป็นที่รู้จักมากขึ้น ล่าสุดมีผู้ติดตามมากกว่า 3 แสนคนแล้ว
อีกหนึ่งนวัตกรรมภาครัฐที่เข้ามา “เปลี่ยนไลฟ์สไตล์คนไทยให้ง่ายกว่าเดิม” คือ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แพลตฟอร์มดิจิทัลหลักของประเทศ (Thailand Open Digital Platform) ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมของธนาคารกรุงไทยที่เป็นเสมือนต้นแบบธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ผ่านการเรียนรู้ก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ จนกลายเป็นแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่มีเสถียรภาพอย่างในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าธนาคารกรุงไทยไม่ได้หยุดแค่นั้น แต่ยังมีแนวคิดต่อยอดนวัตกรรมภาครัฐด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI มาร่วมพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนต่อไป
นอกจากนวัตกรรมภาครัฐเหล่านี้แล้วซีรีย์ GovTech Next Move ยังเล่าถึงเบื้องหลังนวัตกรรมอื่นที่ต้องติดตามกันต่อไปด้วยไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่ “ช่วยเพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้” อย่างการพัฒนาระบบให้บริการยืนยันตัวที่เรียกว่า National Digital ID หรือ NDID ระบบการยืนยันตัวตนที่รองรับด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับประชาชน รวมถึง “นวัตกรรมที่ช่วยจัดสรรพื้นที่ ใช้เทคโนโลยีสร้างความสมดุลย์” อย่างโครงการ City lab ที่จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่นำร่องของการพัฒนาเมืองโดยใช้นวัตกรรมเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองต้นแบบด้านนวัตกรรมต่อไป ซึ่งเรื่องราวเบื้องหลังนวัตกรรมภาครัฐที่เป็นเทคโนโลยีฝีมือคนไทยเหล่านี้เป็นอย่างไรสามารถติดตามกันต่อได้ที่ https://bit.ly/GovTechNextmove