ก่อนหน้านี้ใครๆ ก็เชื่อว่าธุรกิจเพลงจะกลายเป็นธุรกิจที่ล่มสลาย อันเนื่องมาจากการ Disruption ของเทคโนโลยีทำให้เพลงสามารถฟังผ่านออนไลน์ได้ในราคาแสนถูก ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเพลงอย่าง “อัลบั้มเพลง” ไม่สามารถขายได้ ตอกย้ำความคิดดังกล่าวด้วยรูปแบบการนำเสนอเพลงในรูปแบบ “เพลงเดียวก็ดังได้” ผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง YouTube
ยิ่งไปกว่านั้นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ยังหันหลังให้กับธุรกิจเพลง ด้วยการให้ความสำคัญกับธุรกิจขายสินค้าผ่านรายการทีวี ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่าธุรกิจเพลงในรูปแบบขนาดใหญ่ตายลงไปจากตลาดอย่างสิ้นเชิง แล้วก่อให้เกิดรูปแบบศิลปินชั่วข้ามคืนเต็มตลาด ซึ่งในความเป็นจริง GMM Grammy ยังคงเป็นค่ายเพลงขนาดใหญ่รายเดียวที่ยังยืนหยัดด้วยความเชื่อที่ว่า ธุรกิจเพลงไม่เคยตายไปจากตลาด
นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ GMM Music บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า สิ่งที่ GMM กำลังเผชิญอยู่คือการถูกเทคโนโลยี Disruption การต้านกระแสด้วยแนวคิดเดิมไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ดังนั้น GMM จึงต้องคิดในแบบดิจิทัล ตอนนี้สามารถบอกได้ว่า GMM ก้าวผ่านวิกฤติ Disruption มาเรียบร้อยแล้ว และต่อจากนี้คือก้าวต่อไปของการเติบโตอย่างยั่งยืน
GMM Music โชว์การเติบโตก้าวผ่าน Disruption
จุดที่ชี้ให้เห็นว่า GMM ก้าวข้ามผ่านวิกฤติ Disruption คือการสร้างรายได้เติบโตแบบสวนกระแสเศรษฐกิจ โดยในปีที่ผ่านมา (2019) สามารถสร้างรายได้รวมสูงถึง 4,014 ล้านบาท มากที่สุดในรอบ 10 ปี คิดเป็นกำไรอยู่ที่ 472 ล้านบาทหรือมีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ที่ 13.2% ซึ่งเป็นผลมาจาก 3 ธุรกิจหลักที่มีอัตราเติบโตสูงสุดทั้งธุรกิจ Digital Music ที่มีอัตราเติบโตสูงถึง 31% และมียอดรายรับทะลุ 1 พันล้านบาทเป็นครั้งแรก (รายรับ 1,123 ล้านบาท)
ธุรกิจ Showbiz มีอัตราเติบโตขึ้น 36% และถือเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจเพลง โดยมียอดรายรับอยู่ที่ 524 ล้านบาท และธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ ที่มีอัตราเติบโตขึ้น 25% โดยมียอดรายรับที่ 313 ล้านบาทสูงที่สุดตั้งแต่ได้ทำการบริหารจัดการลิขสิทธิ์
ขณะที่สัดส่วนธุรกิจของ GMM Music ที่สร้างรายได้มีทั้งสิ้น 6 ธุรกิจ ประกอบไปด้วย ธุรกิจ Sponsorship & Artist Management คิดเป็นสัดส่วน 35% มีรายได้อยู่ที่ 1,408 ล้านบาท, ธุรกิจ Digital Music คิดเป็นสัดส่วน 28% มีรายได้อยู่ที่ 1,123 ล้านบาท, ธุรกิจ Showbiz คิดเป็นสัดส่วน 13% มีรายได้อยู่ที่ 524 ล้านบาท, ธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ คิดเป็นสัดส่วน 8% มีรายได้อยู่ที่ 313 ล้านบาท, ธุรกิจ Trading คิดเป็นสัดส่วน 7% มีรายได้อยู่ที่ 301 ล้านบาท และธุรกิจอื่นๆ คิดเป็นส่ดส่วน 9% มีรายได้อยู่ที่ 345 ล้านบาท
แผนบันได 3 ขั้นสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนคือการสร้างให้ศิลปินมีรายได้ครบวงจร ตั้งแต่การมีเพลง การสร้างชื่อเสียง ไปจนถึงการขึ้นคอนเสิร์ต ทั้งนี้ความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการวางยุทธศาสตร์ “บันได 3 ขั้น” โดยบันไดทุกขั้นจะมีเรื่องหลัก 3 เรื่อง โดยบันไดขั้นที่ 1 จะเน้น Restructure – Refocus – Restabilize ขณะที่บันไดขั้นที่ 2 จะเน้น Build – Invest – Aggregate และบันไดขั้นที่ 3 จะเน้น Infrastructure – Recurring – Sustainable
สำหรับบันไดขั้นที่ 1 ประกอบไปด้วย Restructure หรือ การปรับโครงสร้าง ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปรับฐานธุรกิจ ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างความเชี่ยวชาญเดิมและความเชี่ยวชาญใหม่ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด
Refocus หรือ การมุ่งทำสิ่งเดียวกัน เป็นการจัดระบบให้ทีมงานขับเคลื่อนองค์กรโดยมุ่งไปที่สิ่งเดียว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อไม่ให้ธุรกิจเดินทางคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายที่วางไว้, Restabilize หรือ การสร้างเสถียรภาพของรายได้ ในการปรับโครงสร้างองค์กรจำเป็นต้องมีเสถียรภาพทางด้านรายได้และกำไรที่เติบโต การบริหารธุรกิจเดิมให้เติบโตและการหาแหล่งรายได้ใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ นั่นจึงทำให้ได้เห็นการเติบโตของธุรกิจ Digital Music, ธุรกิจ Showbiz และธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์
7 ยุทธศาสตร์ 5 ปี สร้าง Full Album
นายภาวิตยังชี้ว่า ปัจจุบัน GMM Music พร้อมที่จะก้าวสู่บันไดขั้นที่ 2 หลังประสบความสำเร็จจากบันไดขั้นแรกด้วยยอดรายได้เติบโต โดยบันไดขั้นที่ 2 จะเน้นในการสร้างใหม่เพิ่มขึ้น การลงทุนและการรวบรวม (Build – Invest – Aggregate) และจะมีทั้งสิ้น 7 ยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า (2020 – 2025) ซึ่งประกอบไปด้วย
ยุทธศาสตร์ New Content Strategy & New Artist Development ที่จะเน้นการทำให้อุตสาหกรรมเพลงกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยจะเน้น 2 เรื่องหลักทั้ง New Content Strategy หรือการสร้างแนวเพลงใหม่ครบทุกหมวดหมู่ครอบคลุมทุก Segment และจะนำรูปแบบการทำเพลงแบบ Full Album ทั้งในรูปแบบ Mega Album และ Digital Album ซึ่งการทำ Full Album จะรวมไปถึงศิลปินทุกค่ายทั้งตลาด
ที่สำคัญนอกจากจะผลิต Full Album ในทุกแนวเพลงทั้ง POP, Rock, ลูกทุ่ง และ Indie แล้ว จะมีการเพิ่ม Segment ย่อยอย่าง Original Sound Track ที่จะทำเพลงให้กับละครและภาพยนตร์ทั้งตลาด และ New Artist Development เป็นการสร้างศิลปินใหม่ โดย GMM Music จะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท เพื่อ Recruit & Develop และออก Album ให้กับศิลปินรุ่นใหม่ นอกจากนี้ GMM Music ยังมีแผนร่วมมือกับบริษัทระดับโลกเพื่อยกระดับศิลปินรุ่นใหม่ในระดับสากล
งานแสดงหัวใจสำคัญของธุรกิจเพลง
ยุทธศาสตร์ Showbiz Expansion ธุรกิจ Showbiz ถือเป็นธุรกิจที่สำคัญ โดยแบ่งการขยายออกเป็น 4 รูปแบบทั้ง การขยายธุรกิจ Music Festival ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ยุทธศาสตร์ ทุกภาค ทั่วประเทศ การขยายธุรกิจ Solo Concert ครอบคลุมทั้งศิลปินปัจจุบันที่มีความพร้อม ศิลปินหน้าใหม่ที่ต้องการโอกาสสร้างชื่อเสียงและศิลปินกลุ่ม Retro ที่มียังคงมีแฟนคลับติดตามอย่างเหนียวแน่น
การขยายธุรกิจ Theme Concert ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับ Creator ใหม่ๆ จากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย การขยายธุรกิจสู่การเป็น Promoter ในการจัด International Showbiz ในประเทศไทย ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่มีทีมการตลาดที่โฟกัสเฉพาะธุรกิจ Showbiz ประสานงานกับทีม MarCom ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Social Media และเข้าใจ Community Insight ในทุก Social Platform
สนับสนุนศิลปินทำธุรกิจ พร้อมรวบรวมทุกค่ายเพลง
ยุทธศาสตร์ Artist Product เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับศิลปิน ซึ่งศิลปินสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวองในรูปแบบเจ้าของธุรกิจ โดย GMM Grammy จะเป็นผู้ลงทุนให้ ที่สำคัญยุทธศาสตร์เป็นสิทธิ์เฉพาะของศิลปินที่อยู่ภายใต้สังกัด GMM Grammy เท่านั้น ที่ผ่านมาได้ทำการทดลองออกสินค้าของศิลปินไปแล้ว 1 สินค้าและประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม และปีนี้ตั้งเป้าออกสินค้าใหม่อีก 4SKUs คาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายแตะ 9 หลักได้ภายใน 2 ปี
ยุทธศาสตร์ Industry Aggregation โดยเป็นที่ทราบกันว่า GMM Grammy เป็นค่ายเพลงใหญ่เพียงค่ายเดียวที่ยังคงดำเนินธุรกิจด้านเพลง โดย GMM Grammy จะเดินหน้ารวบรวมพันธมิตรในวงการเพลงเพื่อสร้างประโยชน์ทางรายได้จากทุกช่องทางการค้าร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ช่องทาง Digital Platform, Karaoke Platform หรือการสร้างโปรเจกต์ร่วมกันก็ได้
ปัจจุบัน GMM Music ได้รวบรวมค่ายเพลงเกือบทุกค่ายไว้แล้ว โดยอยู่ในธุรกิจของการทำ MP3 เพียงเท่านั้น ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเน้นการจับมือกับทุกค่ายเพลงเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันและยังสามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้นให้กับค่ายเพลงทุกค่าย
เข้าถึงสื่อ เข้าซื้อกิจการที่มีโอกาสเติบโต
ยุทธศาสตร์ Media Partnership แม้ว่าในเครือ GMM Grammy จะมีสื่ออยู่ในมือ แต่เพื่อให้ธุรกิจเพลงสามารถเข้าถึงกลุ่มคนทุกกลุ่ม ในปีนี้ GMM Music จึงได้ร่วมมือกับสื่อชั้นนำทั่วประเทศแบบครบวงจร รวมถึง Platform รายใหญ่เพื่อการขยายฐานการเข้าถึงและการรับรู้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะสื่อ TV, สื่อ Radio, สื่อ Outdoor และสื่อโรงภาพยนตร์ (Cinema)
ยุทธศาสตร์ M&A หรือ Mergers & Acquisitions เป็นแผนยุทธศาสตร์การเข้าซื้อกิจการที่สามารถสร้างโอกาสในการเกิด Leap Growth เพื่อการเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดทางธุรกิจ โดยบริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเข้าซื้อภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ ทั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้าซื้อกิจการในธุรกิจกลุ่มได้ แต่คาดว่า GMM Music จะเล็งธุรกิจกลุ่ม Showbiz และ Event
DATA Driven หัวใจสำคัญของทุกยุทธสาสตร์
ยุทธศาสตร์ Data Creativity ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด เพราะการปรับเปลี่ยน GMM Music ในปัจจุบันล้วนแต่เกิดขึ้นมาจากการวิเคราะห์ DATA ที่มี เช่น DATA จะชี้ว่าศิลปินคนไหนที่ไรับความนิยมจนพร้อมที่จะนำไปสู่การทำ Full Album หรือ DATA จะบอกว่าศิลปินคนไหนเหมาะหรือควรขายสินค้าอะไร นอกจากนี้ DATA ยังช่วยวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงการขาย Full Album ในรูปแบบ Fixical หรือแผ่น CD
นายภาวิตเห็นว่า เพลงในรูปแบบ Fixical ยังไม่ตายและจะไม่มีวันตาย เพราะหากดูธุรกิจในโลกจะเห็นว่า ไม่มี Fixical ธุรกิจไหนตายจริงๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ แผ่นเสียงทุกวันนี้ก็ยังสามารถหาซื้อได้ แต่สัดส่วนการขายคือสิ่งที่ GMM Music ต้อง Balance ให้ได้ ซึ่ง DATA จะช่วยให้การหาสัดส่วนการขายเพลงแบบ Fixical ได้อย่างเหมาะสมที่สุด
ไม่เพียงเท่านี้ในแง่ของธุรกิจ Showbiz ก็มีการใช้ DATA เข้ามาร่วมด้วย เช่น การสร้างรูปแบบ Concert ที่น่าจะช่วยให้สามารถขายบัตรได้หมด ปัจจุบัน GMM Grammy ยังคงพัฒนาเรื่องของการทำ DATA อย่างต่อเนื่อง โดยมีทีม Data Scientist ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเพลงโดยเฉพาะ รวมไปถึงการใช้ DATA Center ของ GMM Grammy เองเพื่อรอรับปริมาณ DATA ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคน
เพราะ DATA สามารถสร้างสรรค์ผลงานมากกว่าแค่การทำสถิติ เนื่องจาก DATA ช่วยให้สามารถเข้าใจและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงต่อการตัดสินใจซื้อของแฟนคลับ รวมถึงเรื่องพฤติกรรมของแฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปินมากกว่า 1 คนหรือ Brand สินค้าและ Media ที่แฟนคลับศิลปินชื่นชอบ จึงทำให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดการซื้อขายทั้งระบบการค้า
COVID-19 ยังไม่กระทบงาน Concert
อดสงสัยไม่ได้ถึงสถานการณ์ COVID-19 ต่อการจัดงาน Concert โดยนายภาวิตย้ำว่า GMM Music ยังไม่มีผลกรทบใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากงานคอนเสิร์ตใหญ่มีการวางแผนมายาวนาน ที่สำคัญงานคอนเสิร์ตใหญ่เหล่านั้นจัดขึ้นช่วงครึ่งปีหลังแทบทั้งสิ้น และถือเป็นโชคดีที่งานคอนเสิร์ตก่อนหน้านี้มีการจัดงานก่อนจะเกิดวิกฤติ COVID-19 ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ
ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณการขอคืนบัตรคอนเสิร์ต ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ซื้อบัตรยังมั่นใจว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้ แต่หากมียอดการขอคืนบัตรจำนวนมากก็จะกลับมาพิจารณาถึงความเหมาะสม แต่เน้นย้ำว่าไม่มียกเลิกการจัดงาน ทั้งนี้ GMM Music ได้ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย โดยจะมีการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งก่อนเริ่มงานและหลังสิ้นสุดงาน จัดเตรียมจุดติดตั้งน้ำยาล้างมือ แจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้ที่มีหน้ากากอนามัย และติดตั้งเครื่อง Thermoscan
ในทางตรงข้ามวิกฤต COVID-19 กลับทำให้ธุรกิจ Digital Music เติบโตขึ้น โดยมียอดวิวเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ไม่น้อยกว่า 10%