เปิดใจ “เอกชัย เอื้อครองธรรม” แห่ง GMM Bravo กับเบื้องหลัง “เคว้ง” Netflix Original ไทยเรื่องแรก

  • 424
  •  
  •  
  •  
  •  

GMM Grammy-Bravo Studio-Netflix
คุณเอกชัย เอื้อครองธรรม ครีเอเตอร์ และกรรมการผู้จัดการ Bravo Studios ในเครือ GMM Grammy

“คนดูไม่ได้สนใจว่าคอนเทนต์มาจากไหน แต่สนใจว่ามีคอนเทนต์ดีที่สุดหรือเปล่า…”

นั่นคือคำกล่าวของ “Ted Sarandos” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายคอนเทนต์ของ Netflix เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ ตอกย้ำได้ว่าหัวใจสำคัญที่จะ “ตรึงคนดู” ให้ใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์ม “Netflix” นานสุด คือ “คอนเทนต์”

ทุกปียักษ์ใหญ่ Online Streaming รายนี้ ใช้งบลงทุนมหาศาลกับด้านคอนเทนต์ โดยเฉพาะ “Netflix Original” อย่างเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 12,000 – 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ !!! มากกว่างบประมาณสร้างคอนเทนต์ของสตูดิโอภาพยนตร์ค่ายใหญ่ และสถานีโทรทัศน์ช่องดังหลายช่องก็ว่าได้

ภายใต้งบทุ่มทุนสร้างดังกล่าว จะผลิตคอนเทนต์ในหลายประเภท ตั้งแต่ซีรีย์, ภาพยนตร์, แอนิเมชั่น รายการวาไรตี้ ไปจนถึงสารคดี โดยใช้โมเดลผนึกกำลังกับ “Local Partnership” ที่เป็นบริษัทผู้ผลิต ครีเอทีฟ ทีมงาน และนักแสดงในแต่ละประเทศ

เวลานี้ Strategic Market ของยักษ์สตรีมมิ่งรายนี้ต้องการบุกหนัก คือ “ภูมิภาคเอเชีย” โดย “ประเทศไทย” คือ หนึ่งในเป้าหมายสำคัญ ทั้งการสร้างฐานผู้ชม และการพัฒนาคอนเทนต์กับพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภายในงาน “See What’s Next : Asia” ได้เปิดตัวผลงานใหม่ที่เป็น “Netflix Original” จากภูมิภาคเอเชีย 17 เรื่องจากญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย ไทย และเกาหลีใต้

สำหรับประเทศไทย มี Netflix Original Series สองเรื่องแรก คือ “เคว้ง” (The Stranded) เป็นความร่วมมือกับ GMM Grammy และ “อุบัติกาฬ” (Shimmers)

MarketingOops! ชวนมาเปิดเบื้องหลังการสร้าง Netflix Original Series “เคว้ง” กับ “คุณเอกชัย เอื้อครองธรรม ครีเอเตอร์ และกรรมการผู้จัดการ บราโว่ สตูดิโอ ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” (GMM Grammy) ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างซีรีย์นี้ และถอดวิธีคิดในการสร้าง Original Content ของยักษ์สตรีมมิ่งรายนี้

Netflix
Netflix ออนไลน์สตรีมมิ่งที่ทำให้ผู้คนรับชมคอนเทนต์ความบันเทิงผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้หลากหลาย (Photo Credit : sitthiphong / Shutterstock.com)

 

โอกาสพา “คอนเทนต์ไทย” โกอินเตอร์ พร้อม 3 เหตุผลเลือก “แกรมมี่” เป็นผู้ผลิต

 

ซีรีย์เรื่อง “เคว้ง” เป็นเรื่องราวของ “คราม” ชายหนุ่มวัย 18 ปีผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิในหมู่เกาะแห่งทะเลอันดามัน พร้อมด้วยเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนชื่อดังอีก 36 คน

หลังเกิดเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัวบนเกาะและความช่วยเหลือยังมาไม่ถึง ครามต้องลุกขึ้นเป็นผู้นำเพื่อช่วยเหลือตัวเองและเพื่อนให้รอดจากสถานการณ์ครั้งนี้

“เคว้ง” เป็นผลงานการกำกับของ “โสภณ ศักดาพิศิษฎ์” (ผู้กำกับลัดดาแลนด์) และผลิตโดย “Bravo Studios” และ “H2L Media Group” โดยมีเอกชัย เอื้อครองธรรม, แกรี่ เลวินสัน, สตีเวน ซิมส์, บิลลี่ ไฮน์ และ คริสเตียน เดอร์โซส์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง

เหตุผลสำคัญที่ “Netflix” จับมือกับ “GMM Grammy” มาจาก 3 เหตุผลหลัก คือ

1. ยุทธศาสตร์ธุรกิจสอดคล้องกัน นั่นคือ กลุ่ม GMM Grammy เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์บันเทิงรายใหญ่ของเมืองไทย โดยฐานคนดูหลัก (Main Target Audience) ของสื่อ และคอนเทนต์ในเครือ GMM เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกว่า Young Adults และกลุ่มผู้ใหญ่ที่หัวใจยังหนุ่มสาว หรือ Young at heart จึงมีความเชี่ยวชาญในการผลิตคอนเทนต์ ตรงใจผู้ชมกลุ่มนี้

ในขณะที่ “Netflix” ปัจจุบันทำตลาด 190 ประเทศทั่วโลก มีฐานผู้ชม 139 ล้านคน แม้กลุ่มผู้ชมจะกว้าง ครอบคลุมทุกเพศ ทุกช่วงวัยก็ตาม แต่หนึ่งในกลุ่มผู้ชมที่ “Netflix” มองว่าเป็น Target Audience ที่มีความสำคัญในการขยายฐานการรับชม Online Streaming ให้เติบโตมากขึ้น คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น Young Adults เนื่องจากเป็นกลุ่มเปิดรับประสบการณ์ใหม่ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา และใช้เทคโนโลยี

2. เป็นพันธมิตรธุรกิจระยะยาว ก่อนที่จะผนึกกำลังสร้างซีรีย์เคว้ง ทั้ง “Netflix” และ “กลุ่ม GMM Grammy” เป็นพันธมิตรธุรกิจกันมาก่อน โดยทาง “Netflix” ได้ทำสัญญาทั้งรูปแบบ “Pre-buy” คือการซื้อล่วงหน้าก่อนคอนเทนต์นั้นๆ ออกฉาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซีรีย์จาก “Bravo Studios” และรูปแบบ “License Deal” คือ ซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่หลากหลายประเภทของบริษัทในเครือ GMM Grammy ที่ออกอากาศแล้วทั้งของ Bravo Studio, ช่อง One31, ช่อง GMM 25, GDH รวมกว่า 700 ชั่วโมงไปฉายบนแพลตฟอร์ม Netflix

และจากความสัมพันธ์ดังกล่าว จึงได้ต่อยอดไปสู่การให้เป็นผู้ผลิต Netflix Original Series ไทยเรื่องแรก

“ตอนที่ “Netflix” ซื้อคอนเทนต์เราแบบ Pre-buy เขามีความตั้งใจทำ Netflix Original ประเทศไทย จึงเป็นสเต็ปที่สองของการทำงานร่วมกัน” คุณเอกชัย เล่าถึงที่มาของความร่วมมือ

Netflix
Photo Credit : Netflix

3. ศักยภาพความพร้อมของ GMM Grammy ที่มีประสบการณ์การผลิตคอนเทนต์บันเทิงกว่า 30 ปี และประเทศไทย ที่มีทั้ง Hardware เช่น สถานที่ถ่ายทำ, อุปกรณ์-เทคโนโลยีการถ่ายทำ และ Software ทั้งผู้กำกับมากฝีมือ ทีมงานผู้ผลิตส่วนต่างๆ และนักแสดง

“คุณไพบูลย์ (คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ GMM Grammy) พูดกับผมว่า เวลาเราทำงานกับ Netflix เราต้องรวม The Best of Thailand คือ เอาคนเก่งที่สุดมาทำงานร่วมกัน เพราะครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้คนทั่วโลกได้เห็นคอนเทนต์ ฝีมือคนไทย

เพราะฉะนั้น “เคว้ง” เป็นซีรีย์ไทยเรื่องแรกที่เป็น Netflix Original ที่ GMM Grammy ภูมิใจ และตื่นเต้นมากที่ได้มีโอกาสทำ ด้วยสองเหตุผล คือ 1. เป็นโอกาสในการพาคอนเทนต์ฝีมือคนไทย ไปสู่ทั่วโลก (Bringing Thai Content to The World) เพราะ “Netflix” เป็นแพลตฟอร์มแข็งแรงที่สุด เนื่องด้วยมี 190 ประเทศ และมีสมาชิก 139 ล้านคน จึงเข้าถึงผู้ชมได้ทั่วโลก

2. เนื่องจาก Netflix Original มีของแต่ละประเทศ เช่น สเปน เม็กซิโก อินเดีย โดยแต่ละประเทศจะผลิตคอนเทนนต์ที่มีความคมชัดของความเป็น Local แต่ความเป็นท้องถิ่นนั้น ก็มีความเป็น Global นั่นคือ สร้างขึ้นเพื่อคนทั่วโลก ไม่ใช่ผลิตขึ้นเฉพาะการรับชมในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น นี่จึงเป็นความท้าทายสำหรับคนทำคอนเทนต์เช่นกัน เนื่องจาก Netflix เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้มีคอนเทนต์หลายรูปแบบ จากหลายประเทศ

ดังนั้น Netflix จึงเปรียบเหมือนเป็นฟู้ดคอร์ท สิ่งที่คนทำคอนเทนต์จะขายนั้น ถูกปากคนดูทั่วโลกไหม นี่เป็นความท้าทาย แม้วันนี้คอนเทนต์ไทย บนเวทีระดับโลก อาจยังไม่เทียบเท่าอเมริกา หรือเกาหลี แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าคอนเทนต์ไทย เริ่มมีจุดยืน มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นการที่เรามีพาร์ทเนอร์ระดับโลก เราต้องทำให้ดีที่สุด สร้างสรรค์คอนเทนต์ให้มีความแปลกใหม่ เพื่อทำให้คอนเทนต์ ฝีมือคนไทย สามารถไปสู่สายตาชาวโลกได้อย่างจริงจัง และเคียงบ่าเคียงไหล่กับคอนเทนต์ชาติอื่นๆ บนเวทีระดับโลก”

GMM Grammy_Bravo Studios_คุณเอกชัย เอื้อครองธรรม

 

ถอดวิธีคิด – กระบวนการผลิต “Netflix Original Series” ให้ปัง และดังทั่วโลก!!

 

ใครที่เป็นสมาชิก “Netflix” เชื่อว่าส่วนใหญ่ยอมรับใน “คุณภาพ” ของคอนเทนต์ที่เป็นกลุ่ม Netflix Originals ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ตาม ที่ทุ่มทุนสร้างมหาศาล ทั้งงบลงทุน ผู้กำกับ คนเขียนบท ทีมงานเบื้องหลังส่วนต่างๆ และทีมนักแสดง

เมื่อบวกกับกลยุทธ์การตลาด สื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้คนอยากดู ทำให้หลายเรื่องกลายเป็นกระแส Talk of the town ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่กลายเป็นกระแสระดับโลก หรือในระดับภูมิภาค

คุณเอกชัย เล่าเบื้องหลังว่า ต้นฉบับไอเดียเรื่องเคว้ง มาจากบริษัท “H2L Media Group” เป็นบริษัทสร้างไอเดียการทำซีรีย์ และภาพยนตร์เรื่องต่างๆ อยู่ที่ลอสแองเจลิส และ “Netflix” ชอบไอเดียเรื่องนี้ จึงมาคุยกับ GMM Grammy ว่าสนใจไหม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแค่ไอเดีย จากนั้นเราตั้งทีมเขียนบทขึ้นมา ประกอบด้วยคนไทย 4 คน และคนจาก H2L Media 4 คน มาทำงานร่วมกัน

GMM Grammy x Netflix_The Stranded
ผู้บริหาร Netflix และ Bravo Studio ในเครือ GMM Grammy เปิดตัวซีรีย์เรื่องเคว้ง

“เหตุผลที่ใช้ทีมงาน 2 ประเทศ เพราะ “H2L Media Group” เป็นเจ้าของไอเดียเริ่มต้น เขาอยากมีส่วนร่วม ในขณะที่ “Netflix” อยากให้ตัวละครในซีรีย์นี้ มีกลิ่นอายความเป็นไทย ถือเป็น Culture Exchange ที่น่าสนใจ โดยระบบ Netflix คือ เปิด Writer Room ที่คนเขียนบท ทั้งของไทยที่เราหามาเอง หนึ่งในนั้นคือ จิม-โสภณ และอีก 3 คนเป็นคนที่เคยเขียนบทให้ผมมาแล้ว ส่วนอีก 4 คน มาจาก H2L Media ซึ่งตอนแรก 2 ทีมคิดไม่เหมือนกัน แต่พอทำงานร่วมกันได้สักพัก เป็นการรวมพลังกันที่ลงตัว ร่วมกันแบ่งปัน องค์ความรู้ และไอเดียของแต่ละฝ่าย”

ผู้อำนวยการสร้าง “เคว้ง” เล่าเพิ่มเติมว่า “ระบบและวิธีการทำงานของ “Netflix” สำหรับซีรีย์ 1 เรื่อง ผู้ผลิตต้องคิดพล็อต หรือ เส้นเรื่อง และคาแรกเตอร์ตัวละครต่างๆ เตรียมไว้สำหรับผลิตและออกฉายไม่ต่ำกว่า 4 – 5 ซีซั่น เปรียบเสมือนการสร้างจักรวาลของเนื้อเรื่องขึ้นมา 1 จักรวาล ที่ประกอบด้วยดาวดวงต่างๆ โดยดาวแต่ละดวง คือ ซีซั่นต่างๆ

ด้วยวิธีคิดแบบนี้ จะทำให้ซีรีย์ 1 เรื่องสามารถผลิตได้แบบ Multiple Season นั่นคือได้มากกว่า 1 ซีซั่นขึ้นไป ดังนั้นเมื่อซีซั่นแรก ออกฉายและได้การตอบรับดี จะผลิตซีซั่น 2 ได้ต่อเนื่อง โดยยังคงอยู่ภายใต้เส้นเรื่องเดียวกัน และวิธีการทำซีรีย์ของ Netflix ใน 1 ซีซั่น มีประมาณ 7 – 8 ตอน ต้องถ่ายจนจบ แล้วขึ้นวิดีโอทั้ง 7 – 8 ตอน ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่แตกต่างจากการผลิตซีรีย์ของไทย”

นอกจากนี้ ระบบการทำงานของ “Netflix” ยังได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต และการประสานงานส่วนต่างๆ เช่น เทคโนโลยีระบบ Accounting และ Production, ระบบการส่งงาน หรือแม้แต่คนที่ทำงานอยู่ในระบบ Netflix Original จะมีฝึกอบรมผ่านออนไลน์

“ใน Netflix มีระบบ Accounting ออนไลน์ เราสามารถตรวจสอบได้ว่าเราใช้งบประมาณการสร้างถึงเท่าไรแล้ว เหมือนกับการผลิตภาพยนตร์ในอุตสาหกรรม Hollywood ทำให้เราได้มีโอกาสสร้างสรรค์คอนเทนต์มาตรฐานระดับ Hollywood

เวลาผมทำงานให้ “Netflix” ไม่ได้คิดว่าทำซีรีย์ แต่คิดว่าเป็นเหมือนการทำภาพยนตร์ยาว 1 เรื่อง และ Netflix Original Series เขาคาดหวังคุณภาพคอนเทนต์แบบภาพยนตร์ เขาไม่ได้คิดว่าเป็นการทำละคร หรือซีรีย์ เพราะต้องการคุณภาพระดับภาพยนตร์ในทุกกระบวนการ”

The Stranded เคว้ง

 

คัดเลือก “นักแสดง” ไม่จำเป็นต้องเป็นเบอร์ใหญ่ทั้งหมด แต่ต้องเฟ้นหาคนที่แสดงดีที่สุด!!

 

สำหรับ “นักแสดง” เรื่องเคว้ง ขนทัพนักแสดงชื่อดัง ทั้งรุ่นใหญ่ และรุ่นใหม่ นำโดย นก-สินจัย เปล่งพานิช, ตั้ว-ศรัณยู และ เปิ้ล-หัทยา วงษ์กระจ่าง, เมฆ-หัฒศนัย (วินัย) ไกรบุตร, มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล, โอบ-โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ และนักแสดงหน้าใหม่อีกมากมาย

“นักแสดง เราเป็นคนออดิชั่นเอง แต่ทั้งสองฝ่ายต้อง Approve ร่วมกัน ซึ่งเวลาส่งรายชื่อ ผม่ไม่บอกว่าใครดัง ใครไม่ดัง เพราะฉะนั้นถ้าดูรายชื่อนักแสดงในซีรีย์เรื่องนี้ มีทั้งคนดัง และคนที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก โดยทาง Netflix บอกว่าไม่ต้องเอาดาราดังมาเล่นทั้งหมด แต่ให้เอาคนที่ Casting ดีที่สุดสำหรับบทนั้นๆ มาเล่น”

GMM Grammy_Bravo Studios คุณเอกชัย เอื้อครองธรรม

 

ยกระดับคอนเทนต์ไทยให้เป็น “Thai Content for The World”

 

นอกจากรับหน้าที่ดูแลโปรเจค “เคว้ง” แล้ว ขณะเดียวกันผลงานซีรีย์ “BANGKOK รัก STORIES ตอน ไม่เดียงสา” และ “BANGKOK รัก STORIES ตอน อ้าวเฮ้ย” ที่ออกอากาศผ่านช่อง GMM 25 และทางออนไลน์เมื่อปีที่แล้ว ได้นำไปฉายบนแพลตฟอร์ม “Netflix” เช่นกัน

นอกจากนี้ในปี 2562 ตลอดทั้งปี Bravo Studio ผลิตซีรีย์ทั้งหมด 8 เรื่อง โดยครึ่งปีแรกเปิดตัว 4 เรื่อง โดยทั้ง 4 เรื่องนี้จะมีฉายบน “Netflix” ด้วยเช่นกัน ได้แก่

– BANGKOK รัก STORIES ตอน สิ่งของ เรื่องราวของผู้หญิงที่เป็นโรคหลายบุคลิก อาศัยอยู่ในย่านรัชดา โคจรมาพบกับช่างซ่อม ที่อยากจะซ่อมทั้งชีวิตมนุษย์ และสิ่งของ

– BANGKOK รัก STORIES ตอน เรื่องที่ขอจากฟ้า เป็นเรื่องราวระหว่างหมอดูตาบอด อยู่ในย่านเยาวราช กับนักการตลาดดิจิทัลสาว ที่ไม่เชื่อเรื่องโชคชะตา แต่แล้ววันหนึ่งพรหมลิขิตพาให้ทั้ง 2 คนมาเจอกัน แต่ความรักของทั้งคู่กลับต้องดวงชนกัน

Bangkok Rak Stories
BANGKOK รัก STORIES ตอน สิ่งของ

– นางสาวก้นครัว เป็นซีรีย์นำเสนอเรื่องราวอาหารไทยเต็มรูปแบบ ทั้งวิวัฒนาการอาหารไทย และเมนูอาหารไทยที่จะพาไปย้อนถึงที่มาจุดเริ่มต้นของหลายเมนูอาหาร

– เรื่องเพื่อนรักบัดดี้ เรื่องราวของผู้ชาย 6 คน 6 อาชีพ ที่มาอยู่ด้วยกันในบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งกลางย่านสาทร โดยเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากซีรีย์ชื่อดังของอเมริกา Friends และเป็นซีรีย์เรื่องแรกของ Bravo Studio ที่ผลิตขึ้นเพื่อเจาะกลุ่ม Young Adults โดยเฉพาะ

Miss Culinary
ซีรีย์นางสาวก้นครัว นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารไทย

“คอนเทนต์ที่ผลิตโดย Bravo Studios จะมีความเป็น Locally Specific แต่ขณะเดียวกันก็มี Universal Resonance นั่นคือ มีความคมชัดในความเป็นไทย ไม่ว่าจะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในไทย การใช้ชีวิตของคนไทย หรือเอกลักษณ์ความเป็นไทย และต้องเป็นคอนเทนต์ที่มีความกังวานไปได้ทั่วโลก

เช่น การนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งกรุงเทพฯ มีความคมชัดในส่วน Local ที่ไม่มีใครเหมือน และมีพลังส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันต้องมีเนื้อเรื่องที่จะเล่าให้เกิดความกังวานระดับสากลได้ เช่น ความรู้สึกของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความโหยหา ความเหงา ความฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องไปให้ถึงจุดนั้นๆ ให้ได้ สิ่งเหล่านี้คือ Universal Resonance ไม่ว่าคนชาติไหนก็มีความรู้สึกเหล่านี้ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นเรายังคงพัฒนาให้คอนเทนต์ความบันเทิงของไทย ไม่ว่าจะเป็นซีรีย์ ภาพยนตร์ หรือเพลง มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย และมีเนื้อหาที่สามารถก้องกังวานไปได้ทั่วโลก” คุณเอกชัย สรุปทิ้งท้ายถึงความมุ่งมั่นของทั้ง “Bravo Studios” และเครือ “GMM Grammy” ในการยกระดับคอนเทนต์ฝีมือคนไทย

Bangkok Buddies
ซีรีย์เรื่องเพื่อนรักบัดดี้ เจาะกลุ่ม Young Adults

  • 424
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ