GC เปิดเวที Sustainable รวมพลคน GEN S ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกเดือด

  • 2K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญและยังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก ที่สำคัญยังช่วยสร้าง การเติบโตได้อย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก (GHG) ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน นั่นจึงทำให้เกิดงาน GC Sustainable Living Symposium 2023 ที่จัดขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

โดยในงานได้มีพันธมิตรของ GC จากหลายธุรกิจ ที่มานำเสนอมุมมองและวิธีการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เป็นต้นแบบของธุรกิจอื่นๆ และนำไปใช้ได้จริง

 

 

Act Now เริ่มแล้วการทำธุรกิจร่วมกับสิ่งแวดล้อม

โดยในเวที Act Now ได้พูดถึงธุรกิจที่ดำเนินการในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่ คุณอชิต โจชิ CEOSuntory Pepsico ที่วางแผนเรื่องสิ่งแวดล้อมไว้ทั้งหมด 3 ด้าน ประกอบไปด้วยเรื่องน้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของธุรกิจ เรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการตั้งเป้าหมายในการใช้น้ำ 1.4 ลิตรเพื่อผลิตเครื่องดื่มให้ได้ 1 ลิตร ขณะที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกจะเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล โดยวางแผนไว้ในปี 2025 ต้องสามารถใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลได้ 15% และในปี 2030 จะมีสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกจากรีไซเคิลถึง 60%

ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และจะสามารถเข้าสู่ Net Zero ได้ในปี 2050

 

 

ขณะที่ คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วย ธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS ระบุว่า มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มจากต้นน้ำที่มีการคัดเลือก Supplier ที่ดำเนินการในด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนใน Cell Site แต่ละพื้นที่โดยดำเนินการแล้วกว่า 10,000 จุด รวมถึงการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ช่วงเวลาและพื้นที่ที่มีความต้องการใช้คลื่นความถี่สูงสุด ซึ่งช่วยให้สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และโครงการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste) และการเปลี่ยนมาใช้ระบบ e-Billing เพื่อลดการใช้กระดาษ

ด้าน ดร.คาโรลา ริชเตอร์ ประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีน BASF บริษัทด้านเคมีภัณฑ์ ต้องยอมรับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมหาศาล นั่นจึงทำให้BASF เริ่มกระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนลงตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยน เทคโนโลยีการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถลดลงได้ 45% และจะลดเพิ่มอีก 25% ภายในปี 2030 และจะเข้าสู่ Net Zero ในปี 2050

ส่วน ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร GC มีแผนที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตซึ่งจะช่วยให้ สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็สามารถลดคาร์บอนลงได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านพลังงาน ที่จะเข้ามาทดแทนการใช้พลังงานในรูปแบบเดิมที่มีการปล่อยคาร์บอน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจใหม่ๆ ที่ GC ดำเนินการจะมีแผนการลดการปล่อยคาร์บอนลงเป็นหลัก

 

Accelerate Now เครื่องมือขับเคลื่อนสู่ธุรกิจสีเขียว

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเครื่องมือ รวมไปถึงการสนับสนุนต่างๆ ที่จะช่วยเร่งให้ภาคธุรกิจสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงได้อย่างรวดเร็ว โดย คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุว่าเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนจะถูกพูดถึงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่จะเข้าไปช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของชุมชน รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ที่จะจูงใจให้ภาคการผลิตขนาดใหญ่เข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่การลดคาร์บอน และการสนับสนุนภาคการเงินให้เข้าถึงธุรกิจ SME

 

 

ในส่วนของภาครัฐยังเตรียมพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน รวมไปถึงอีกหลายโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน ทั้งในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนและการปลูกป่าเพื่อนำไปขายคาร์บอนเครดิต ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ด้านสถาบันการเงินอย่าง SCB โดย คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกมีผลต่อ GDP โลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยข้อมูลพบว่าหากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.2 องศา GDP ของโลกจะหดตัวลดลงถึง 18% ขณะที่จะส่งผลกระทบต่อ GDP ของไทยลดลงถึง 44% โดย SCB มีแผนปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ลูกค้าและพันธมิตรสามารถเข้าสู่ Net Zero ได้ในปี 2050 โดยเป็นสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมจำนวนวงเงิน 1 แสนล้านบาท

ขณะที่ คุณเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มองว่าโลกมีประชากรครบ 8 พันล้านคนแล้ว กฎระเบียบต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกจะเป็นตัวเร่งให้ทุกอุตสาหกรรมและทุกธุรกิจต้องดำเนินการแผนการลดการปล่อยคาร์บอน อย่างเช่น กฎหมาย CBAM ในยุโรปที่สินค้าใดมีการปล่อยคาร์บอนมากจะต้องถูกปรับ จึงทำให้เกิดการตั้งCarbon Institute เพื่อเป็นสถาบันที่ช่วยให้ความรู้ในเรื่องของคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์ม FTIX ที่จะเป็นตลาดในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของแต่ละอุตสาหกรรม

ส่วนทาง คุณอิษฎา หิรัญวิวัฒน์กุล กรรมการและผู้จัดการอาวุโส Boston Consulting Group (BCG) มองว่า เทคโนโลยีมีเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างมากในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มเทคโนโลยีประกอบไปด้วย AI ที่นอกจากจะช่วยวัดการปล่อยคาร์บอนแล้ว ยังช่วยวิเคราะห์ได้ว่าการปล่อยคาร์บอนเกิดจากกิจกรรมใด นอกจากนี้ Hydrogen เป็นอีกหนึ่งพลังงานที่หลายอุตสาหกรรมนำไปใช้ในการผลิต CCUS หรือคือเทคโนโลยีในกระบวนการดักจับคาร์บอนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อในภาคอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนในอากาศซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา

 

Change Now เปลี่ยนเพื่อปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม

สำหรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน โดย คุณดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR อธิบายว่า OR มีการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้าง ecosystem การลดการปล่อยคาร์บอนให้สมบูรณ์  รวมถึงการมองหาการลงทุนที่เก่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่ธุรกิจที่มีอยู่ก็จะยังคงดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการพัฒนาระบบต่างเพื่อให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่าในปัจจุบัน

ฝั่ง มล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มองว่า คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ที่ผ่านมาการบุกรุกป่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันมีแนวคิดในการให้ค่าตอบแทนสำหรับการดูแลป่า ซึ่งจะช่วยให้ชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลป่าและสามารถสร้างรายได้ โดยทางโครงการฯ มองว่าการอนุรักษ์ไว้จะช่วยยังคงระบบนิเวศเดิมไว้ได้ ขณะที่การปลูกป่าใหม่อาจไม่ได้ระบบนิเวศเดิม และต้องใช้ระยะเวลานานกว่าระบบนิเวศจะกลับมาฟื้นฟู

ด้าน คุณเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Wave BCG เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและการปลูกข้าวเป็นสิ่งสำคัญ แต่ข้าวไม่ใช่พืชน้ำการที่ข้าวอยู่ในน้ำนานๆ จะทำให้เกิดข้าวเน่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมีเทนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นั่นจึงทำให้มีการนำความรู้สู่ชาวนาในการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง โดยใช้ระยะเวลา 14 วันอยู่ในน้ำและอีก 14 วันไม่ต้องใช้น้ำ ที่สำคัญยังสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึง 10% และยังเป็นกรรมวิธีในการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวในรูปแบบ Low Carbon Rice

 

 

ขณะที่ฝั่งตัวแทนประชาชนอย่าง คุณเชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและผู้ก่อตั้งโครงการ Little Big Green ก็มองว่า ทุกคนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เพื่อช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทั้งในเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในส่วนของการเดินทางควรจะมีการวางแผน ไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือการเลือกใช้รถสาธารณะ และการคัดแยกขยะเพื่อนำขยะต่างๆ กลับไปรีไซเคิล ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมง่ายๆ ที่ทุกคนก็สามารถเปลี่ยนและทำได้ทันที

ทางด้าน คุณรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) บอกว่า ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนได้ ผ่านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่ง Carbon Credit จะต้องเกิดจากการปลูกป่า ในขณะที่ธุรกิจที่ต้องการลดการใช้คาร์บอน สามารถซื้อขายในรูปแบบของCarbon Neutral ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบสามารถช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนและช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงได้

 

กินดี อยู่ดี ช่วยชีวิต ช่วยโลก

เพราะการกินเป็นสำคัญในชีวิตประจำวัน แต่การกินก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง คุณสาโรจน์ พุทธธรรมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย กลุ่มลูกค้าแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม GC มองว่า บรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญของอาหาร แต่บรรจุภัณฑ์ก็ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกวันนี้ GC ได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เช่น พลาสติกที่ผลิตจากอ้อยหรือไบโอพลาสติก ขณะที่ของกินบางอย่างไม่สามารถใช้ไบโอพลาสติกได้อย่างเครื่องดื่ม ก็จะเป็นการนำพลาสติกมารีไซเคิล รวมไปถึงการพัฒนาพลาสติกที่จะเข้ามาทดแทนบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้

 

 

ฝั่ง คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผุ้จัดการใหญ่ ดอยคำ มองว่า หนึ่งในสิ่งที่ดอยคำช่วยสิ่งแวดล้อมคือโครงการ แกะ ล้าง เก็บ โดยเป็นโครงการที่ให้ผู้บริโภคนำกล่อง UHT ทุกขนาดและบรรจุภัณฑ์ของดอยคำ นำมาแกะล้างทำความสะอาด จากนั้นนำมาส่งมอบซึ่ง 1 กล่องจะมีมูลค่าเท่ากับ 1 บาทใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อสินค้าจากหน่วยคำ โดยกล่องที่ได้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปสร้างเป็นพาเลทเพื่อลดต้นทุนการซื้อพาเลท สามารถช่วยหยุดการตัดต้นไม้เพื่อมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์นับเป็นพันไร่

ขณะที่ คุณวิชิต อะนะเทพ กรรมการผู้จัดการ Pattaya Food Group ผู้ผลิตแบรนด์ นอติลุส คิดว่า การปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลันอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่จะใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไปควบคู่กับการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจปล่อยคาร์บอนออกไปจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะทำให้ทราบว่ากิจกรรมใดมีการปล่อยคาร์บอนออกไปมากน้อยเพียงใด ก็จะมีการใส่กิจกรรมเพื่อลดการปล่อย คาร์บอนลงไป

และ Influencer ด้านอาหารอย่าง คุณชลรัศมี งาทวีสุข ที่มาแนะนำว่า การทานอาหารที่ดีควรเลือกทานอาหารในพื้นที่หรือในฤดูกาล เพราะหากต้องทานอาหารในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะช่วยให้ลดการขนส่งนั่นหมายถึงลดการใช้พลังงาน และยังเป็นการส่งเสริมความยั่งยืนของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งเทรนด์อาหารของโลกจะเริ่มใช้วัตถุดิบจากในพื้นที่

 

 

แนวคิดของคน GEN S  ทั้งหมดที่เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ชี้ให้เห็นว่า เรื่องสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน เป็นเรื่องที่เราทุกคน ทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาและส่งต่อโลกที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป


  • 2K
  •  
  •  
  •  
  •