ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว การจัดสรรคลื่นความถี่รอบล่าสุดได้กลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรงในวงการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลของประเทศไทย คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด เปรียบเสมือน “เส้นเลือดใหญ่” ที่หล่อเลี้ยงการสื่อสารในยุคดิจิทัล การจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของตัวเลข แต่เป็นการกำหนดทิศทางและอนาคตของอุตสาหกรรม
จุดเริ่มต้นของเรื่องราว เมื่อสัมปทานคลื่นความถี่ของ NT กำลังจะสิ้นสุดลง ทำให้มีคลื่นความถี่จำนวนมากที่พร้อมเปิดประมูล แต่นั่นก้ทำให้ NT อาจมีศักยภาพในการให้บริการได้ไม่ดีพอ จึงเป็นที่มาของการขอใช้คลื่นความถี่ 3500 MHz ในช่วงที่ยังไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ แต่ปัจจุบันคลื่น 3500 MHZ ถูกใช้ในการส่งสัญญาณดาวเทียมเพื่อออกอากาศทีวีดิจิทัล ซึ่งเป้นผลพวงมาจากปัญหาการออกอากาศของทีวีดิจิทัล
ปฐมบทสิ้นสุดสัมปทานของ NT
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT หนึ่งในผู้เล่นหลักในวงการโทรคมนาคมไทย แม้จะมีสภาพเป็นหน่วยงานรัฐแต่ก็เป้นรูปแบบรัฐวิสาหกิจที่ต้องดำเนินกิจการเหมือนเอกชน ซึ่งสัมปทานคลื่นความถี่ที่ NT มีอยู่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 3 สิงหาคม 2568 นี้ โดยประกอบไปด้วย
- คลื่นความถี่ 850 MHz จำนวน 30 MHz (2×15 MHz)
- คลื่นความถี่ 1500 MHz จำนวน 90 MHz
- คลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 30 MHz (2×15 MHz)
- คลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 70 MHz
ซึ่งคลื่นความถี่ที่หมดสัมปทานเหล่านี้จะต้องส่งคืนให้ กสทช.เพื่อนำไปจัดสรรและประมูลใหม่ โดยที่ NT เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ 5G การที่คลื่นความถี่เหล่านี้ถูกเรียกคืนทำให้ลดทอนศักยภาพการให้บริการ 5G ของ NT อย่างชัดเจน แต่เพื่อให้ NT ยังคงสามารถให้บริการ 5G ได้อย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวความคิดในการขอใช้คลื่นความถี่ 3500 MHz ที่สามารถยังคงศักยภาพการให้บริการ 5G ได้
ส่งผลให้มีความพยายามในการเจรจา ด้วยการเสนอขอใช้คลื่น 3500 MHz จำนวน 300 MHz ฟรีเป็นการชั่วคราวในช่วงที่ยังไม่มีการจัดสรรใหม่ โดยให้เหตุผลว่า หากต้องคืนคลื่นความถี่ทั้งหมดตามกำหนด จะส่งผลให้ NT ขาดโครงสร้างพื้นฐานหลักในการทำธุรกิจจากการให้บริการโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงความจำเป็นในการพัฒนาโครงข่าย 5G และการรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาด
เตรียมความพร้อมสู่การจัดสรรคลื่น
ทำให้ในเวลาต่อมา กสทช.ผู้ที่มีหน้าที่ในการกำกับกิจการโทรคมนาคม เตรียมเปิดเวทีประมูลคลื่นความถี่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมจากทั่วประเทศมารวมตัวกันด้วยความหวังที่จะคว้าคลื่นความถี่ที่ต้องการไปครอบครองเพื่อใช้ในธุรกิจ และนำไปสู่การที่ กสทช.ประกาศแผนการจัดสรรคลื่นความถี่รอบใหม่ โดยมีคลื่นความถี่ที่ได้รับคืนมาหลากหลายย่านมาประมูล และยังเป็นการรองรับการเติบโตของเทคโนโลยี 5G รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยี 6G ที่จะเกิดขึ้น
ที่สำคัญในการเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 และ 26 GHz ครั้งที่ 2 ทาง สภาองค์กรของผู้บริโภค คัดค้านการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว โดยมองว่าอาจนำไปสู่การผูกขาด เนื่องจากผู้ให้บริการปัจจุบันเหลือเพียง 2 รายใหญ่ รวมถึงยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการดูแลผู้บริโภคที่ใช่บริการของ NT หลังหมดสัมปทาน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้เสนอให้ กสทช. จัดทำแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่ชัดเจน โดยเฉพาะคลื่นความถี่ 3500 MHz ที่อาจกระทบโครงข่ายของทีวีดิจิทัลที่จะส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากต้องประสบปัญหา “จอดำ”
คลื่น 3500 MHz เจ้าปัญหาสู่ความขัดแย้ง
คลื่นความถี่ 3500 MHz ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ถึงขนาดที่มีการรวมตัวของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใหญ่ นำโดย คุณสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเทศไทย พร้อมด้วย คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จาก GMM Grammy, คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ จากช่อง One 31, คุณวัชร วัชรพล จากช่อง ไทยรัฐทีวี, คุณชาคริต ดิเรกวัฒนชัย จากช่อง 3, คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ จากช่อง Nation TV, คุณนงลักษณ์ งามโรจน์ จากช่อง 8 และคุณศิริ บุญพิทักษ์เกศ จากช่อง Amarin TV
ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมองว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากความล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์สู่ระบบภาคพื้นดิน (DVBT) ของ กสทช. โดยปัจจุบันผู้บริโภคที่รับชมทีวีดิจิทัลผ่านระบบภาคพื้นดินมีจำนวนที่น้อยมาก ซึ่ง 70% ของผู้ชมทีวีดิจิทัลรับชมผ่านระบบจานดาวเทียมในระบบ C Band ที่ใช้คลื่นความถี่ 3500 MHz การนำคลื่นความถี่ 3500 MHz ออกมาประมูลจะส่งผลกะทบต่อผู้ชมทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ของประเทศ
ไม่เพียงเท่านี้จากการหาข้อมูลของสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเทศไทย พบว่า คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมยังมีเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่จำเป็นต้องประมูลพร้อมกันหลายคลื่นความถี่ กสทช.จึงไม่ควรนำคลื่นความถี่ 3500 MHz มาประมูลและยังคงให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวจนกว่าจะหมดอายุสัญญาทีวีดิจิทัลในช่วงเมษายน 2572
ด้านคุณสุภาพอธิบายว่า “คลื่นความถี่ 3500 MHz มันเป็นเหมือนท่อออกซิเจนที่ช่วยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยังอยู่รอดได้ เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงธุรกิจของเรา การนำคลื่นความถี่ 3500 MHz คืนไปก็เท่ากับดึงสายออกซิเจนจากคนป่วยที่ใกล้ตาย และยังเป็นการตัดแขนตัดขาของเรา”
ขณะที่คุณไพบูลย์เสริมว่า “เราได้ยื่นเรื่องต่อ กสทช.แล้วถึงความจำเป็นของผู้ประกอบการธุรกิจทีวีดิจิทัล ก็อยู่ที่ กสทช.จะพิจารณา แต่หากยังคงเดินหน้าประมูลคลื่นความถี่ 3500 MHz ต่อ ก็มีความจำเป็นต้องให้อำนาจศาลปกครองเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้”
เรียกว่าคลื่นความถี่ 3500 MHz กลายเป็นจุดสำคัญของการจัดสรรคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ในขณะที่การเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเจรจายังคงดำเนินต่อไป อนาคตของคลื่นความถี่ 3500 MHz ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ทั้งการที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยังคงเรียกร้องระงับการจัดสรรคลื่นความถี่ 3500 MHz ในขณะที่ NT ก็ยืนยันที่จะเดินหน้าตามแผน กสทช.เพื่อหาทางนำคลื่นความถี่ 3500 MHz มาให้บริการ