ในวันที่ Bank ต้อง “ลุก” ขึ้น “รุก” เศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยต้องเดินเกมอย่างไร

  • 40
  •  
  •  
  •  
  •  

700

ถือเป็นยุค Transform ของจริง เพราะช่วงนี้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายแวดวง รวมถึง สายการเงินการธนาคาร ซึ่งมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ เอื้อต่อการใช้บริการและมอบประโยชน์แก่ผู้บริโภคได้มากกว่าที่เคยเป็นมา เรื่องนี้ทำให้ คุณปรีดี ดาวฉาย ประธาน สมาคมธนาคารไทย ออกมาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของไทย โดยมีมุมมองที่น่าสนใจและ Marketing Oops! สรุปมาแล้ว เพื่อให้คุณได้อัพเดทไปพร้อมกัน!

“ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวกลางทางการเงิน เป็นหน่วยสำคัญทางธุรกิจ จากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์ได้จาก GPD ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ 2.78% ส่วนปี 2560 อยู่ที่ 3.90% เพราะมีการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ” ประธาน สมาคมธนาคารไทย เริ่มต้นด้วยการอธิบายภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย

 

“ความคาดหวัง” และ “ความเสี่ยง” ของเศรษฐกิจไทย ปี 2561

ประธาน สมาคมธนาคารไทย ยังได้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกว่า ปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น การก่อสร้างต่อเนื่อง หรือ รถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมถึงการผ่านกฎหมาย EEC และความชัดเจนในประเด็นการเลือกตั้งซึ่งช่วยกระตุ้น FDI จากต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจำเป็นต้องระมัดระวังความเสี่ยงหลายประการที่จะเข้ามาเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจระยะใกล้ อาทิ การกีดกันทางการค้า, ปัญหาหนี้ครัวเรือน, ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน, ความไม่แน่นอนของราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น

1

การเงินไทยถึงยุคอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ

จากความสะดวกสบาย ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจหันมาใช้การชำระเงินด้วยรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking มากขึ้น จากข้อมูลปริมาณการทำธุรกรรมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนให้เห็นความนิยมในการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ซึ่งในปี 2560 มีจำนวนมากกว่า 900 ล้านรายการ ขณะที่รูปแบบการทำธุรกรรมที่มีจำนวนมากรองลงมา คือ บัตรเครดิต, Internet Banking และเช็ค

“ขณะที่ความนิยมของ Mobile Bankingเพิ่มขึ้น จำนวนสาขากลับลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากปี 2559 ซึ่งมีสาขารวมเกือบ 7,000 แห่ง แต่ปี 2560 กลับเหลือไม่ถึง 6,700 แห่ง ขณะที่จำนวนเอทีเอ็มกลับเพิ่มขึ้นจากราวๆ 56,000 ตู้ในปี 2559 เป็น 58,000 ตู้ในปี 2560″

3 โจทย์แห่งความท้าทาย

ท่ามกลางแนวโน้มการเติบโต ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความท้าทายหลายด้านที่รออยู่ 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการ National e-Paymentผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมคงชัดเจนมากขึ้นจากการเปิดตัว พร้อมเพย์ เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2560 โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานพร้อมเพย์แล้วกว่า 39.3 ล้านราย, เทคโนโลยีและการแข่งขัน อาทิ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีผลต่อรูปแบบการใช้บริการของลูกค้า ความหลากหลายของจำนวนและประเภทคู่แข่งที่มาจากต่างธุรกิจทำให้กระทบสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น, เกณฑ์ด้านมาตรฐานบัญชีและเงินกองทุนใหม่ อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านการตั้งสำรองฯ ยังอยู่ในระดับสูง น้ำหนักความเสี่ยงของสินเชื่อบางประเภทเพิ่มขึ้น ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อบางประเภทเพิ่มขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สมาคมธนาคารไทยได้กำหนดแนวทางดูแลนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าระบบการเงินไทยจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว อาทิ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล), ร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่…) พ.ศ. …, ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) และเกณฑ์เกี่ยวข้องกับ ICO โดย ก.ล.ต.

2

สานต่อแผนหลัก 5 ปี สมาคมธนาคารไทย

ตามแผนระยะยาว 5 ปี ของสมาคมธนาคารไทย ซึ่งปัจจุบันดำเนินการมาแล้วกว่า 2 ปี ถือว่าถึงเวลาต้องทบทวนและพัฒนาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาถึงเรื่องที่จะส่งกระทบและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคโดยตรง โดยแผนระยะ 5 ปี ของสมาคมธนาคารไทยนั้น ให้ความสำคัญกับ 5 เรื่อง ได้แก่

การเปลี่ยนรูปแบบสู่ดิจิทัลและโครงสร้างการชำระเงินใหม่ : เตรียมพร้อมสู่ RTP, การเพิ่มประสิทธิภาพพร้อมเพย์, Blockchain, Digital ID เป็นต้น

รวมระบบการเงินและสนับสนุนให้เกิด Real Economy : ส่งเสริม SME ร่วมกับภาครัฐ, สนับสนุน Basic Banking Account เพื่อเข้าถึงบริการออมเงินและธุรกรรมทางการเงิน

การตอบแทนสังคม : ขยายความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการโดยให้จิตอาสาของแต่ละธนาคารรวม 500 คน เข้าร่วมการอบรมเพื่อกระจายความรู้ทั้งการบริหารการเงิน การออม หรือรายละเอียดอื่นๆ ไปยังบุคคลรอบตัว สร้างความเข้าใจในวงกว้างและขยายไปอย่างต่อเนื่อง

การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC : ผลักดันให้เกิด QAB (Qualified ASEAN Banks)

กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ : ผลักดัน e-Document หรือออกกฎหมายข้อบังคับต่างๆ เพิ่มเติม

3

เมื่อไทยมี “พร้อมเพย์” และธนาคารประกาศ “ฟรีค่าธรรมเนียม” สิ่งที่เกิดขึ้น คือ…?

“การมาของพร้อมเพย์ รวมถึงการประกาศฟรีค่าธรรมเนียมที่ธนาคารต่างๆ ประกาศ จะทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับการใช้บริการผ่านสาขาที่จะลดลงต่อเนื่อง ระบบจำเป็นต้องมีความเสถียร ปลอดภัย และแม่นยำเพื่อรองรับการใช้งานจำนวนมหาศาลที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เปลี่ยนทั้งระบบและพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะสะดวกสบายและดีไวซ์อย่างสมาร์ทโฟนก็มีใช้งานกันแทบทุกคน แต่อีกสิ่งที่สำคัญก็คือรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารจะหายไป”

แม้วัตถุประสงค์ของระบบพร้อมเพย์ คือ การลดใช้เงินสด ขณะเดียวกันก็สามารถลดต้นทุนเวลา การจัดเตรียมเงินสดใส่ตู้เอทีเอ็ม หรือแม้แต่การพิมพ์ธนบัตร ถือเป็นการลดขั้นตอนและเวลาด้านซัพพลายเชน ซึ่งคาดว่าจะสามารถประหยัดงบประมาณไปได้นับแสนล้านบาท ส่วนรายได้ที่หายไปจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมนั้น เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ธนาคารต้องเลือกดำเนินการมากกว่าคำนึงถึงรายได้ที่มาจากส่วนดังกล่าว และหันไปสร้างรายได้ชดเชยจากช่องทางอื่นแม้จะมีสัดส่วนน้อยกว่าเดิมก็ตาม ซึ่งประเด็นการฟรีค่าธรรมเนียมนี้ เป็นเรื่องที่แต่ละธนาคารประกาศเองโดยสมัครใจ ไม่ใช่ระเบียบบังคับจากสมาคมฯ แต่อย่างใด

Banking Agent ไม่ใช่คู่แข่งในสายตา

สำหรับประเด็นที่หลายคนกังวลว่า Banking Agent (ตัวแทนธนาคารพาณิชย์) จะเข้ามาเป็นคู่แข่งของธุรกิจธนาคารนั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก Banking Agent สามารถให้บริการได้น้อยประเภทและต้องเสียค่าธรรมเนียมในการใช้งาน ดังนั้น จึงเป็นรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมกับพื้นที่ห่างไกล ต่างจังหวัด หรือพื้นที่ที่การใช้สมาร์ทโฟนยังไม่แพร่หลายเท่านั้น แต่ไม่เหมาะกับเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ เนื่องจากพฤติกรรมผู้ใช้งานชื่นชอบ Mobile Banking และการทำธุรกรรมออนไลน์อยู่แล้ว

“Blockchain จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ธนาคารหรือการเงินแต่เกิดขึ้นทุกอุตสาหกรรม แม้ช่วงนี้จะอยู่ระหว่างการปรับรูปแบบของธนาคารและลูกค้าก็ปรับพฤติกรรมไปพร้อมกัน แต่จะทำให้เด็กรุ่นใหม่รู้สึกว่าเขาไม่ต้องเดินไปธนาคาร สาขา หรือตู้เอทีเอ็มเพื่อทำธุรกรรมอีกต่อไป เพราะทำทุกอย่างได้ผ่านสมาร์ทโฟน เชื่อว่าภายใน 3 ปีจากนี้จะยิ่งเห็นภาพดังกล่าวชัดเจนขึ้น”

4

สถิติอื่นๆ ที่น่าสนใจ :

– มูลค่าการส่งออก จากค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 0.8% ในปี 2560 อยู่ที่ 9.7%

– การลงทุนภาคเอกชน ค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ -0.5% ในปี 2560 อยู่ที่ 1.7%

– จำนวนนักท่องเที่ยว ค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 26.5 ล้านคน ในปี 2560 อยู่ที่ 35.3 ล้านคน

– ตั้งแต่ปี 2560 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของสินเชื่อที่ 4.6% จากเดิม 2.4%ในปี 2559 และกลับมาเติบโตเป็น 4.8% ในปีนี้ จากอานิสงส์การเร่งตัวของการลงทุน

– หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับ GDPแม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะชะลอลง แต่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยมีสัญญาณดีจากการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่โตช้ากว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ

 

Copyright © MarketingOops.com


  • 40
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน