“แม้เบียร์จะเป็นธุรกิจหลักของเรา แต่สำหรับธุรกิจอาหารที่มี ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส เป็นบริษัทที่ขับเคลื่อน เราต้องใจเย็น เพราะเพิ่งเริ่มต้นได้เพียงปีกว่าๆ และยังเล็กมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ของสิงห์”
ปิติ ภิรมย์ภักดี ทายาทรุ่นที่ 4 ของกลุ่มสิงห์ คอร์เปอเรชั่น และแม่ทัพของ บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัด อัพเดทถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทนี้ ที่ถือเป็นจิ๊กซอว์ใหม่ในการสร้างการเติบโตให้กับทั้งกลุ่ม และเพื่อให้จิ๊กซอว์ใหม่นี้ เดินต่อได้อย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม ช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาจึงได้เริ่ม Reorganization กลุ่มธุรกิจอาหารที่มีอยู่ทั้งหมดในบริษัทฯ ให้มาอยู่ภายใต้พอร์ตของ ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ทั้งหมด
รวมถึงปรับโครงสร้างองค์กรในหลาย ๆ ส่วน อะไรที่เหมาะกับทิศทางที่กำลังไปในอนาคต ก็ลุยต่อ หากไม่ จำเป็นก็ต้องหยุด โดยปัจจุบัน ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส มีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหารอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก
- Food Retails หรือธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้การดูแลของ บริษัท เอสคอมพานี จำกัด ประกอบด้วย ร้าน Est.33 , ร้าน Farm Design และร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji
- Product & Production ซึ่งมีหลายบริษัทอยู่ในส่วนนี้ ได้แก่ ‘บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด’ และ ‘บริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด’ รับผิดชอบพัฒนาและผลิตโปรดักท์ออกสู่ตลาด ทั้งในรูปแบบ B2B และ B2C โดยมีลูกค้าเป็นแบรนด์ชั้นนำมากมาย อาทิ Made By TODD , Minor Food , King Power , Sodexo , ALDI, และ‘บริษัท ข้าวพันดี จำกัด’ จำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงตราข้าวพันดี และโปรดักท์ที่ทำมาจากข้าว เช่น ข้าวนึ่งเพื่อขายทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมี ‘Food Innovation Center’ ศูนย์นวัตกรรมและพัฒนาสินค้าด้านอาหาร รวมไปถึงควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตั้งอยู่ที่ จ.ปทุมธานี
“ตอนนี้ธุรกิจอาหารเป็น 1 ใน 6 เสาหลัก ที่ต้องโฟกัสและบุกเพื่อสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน ตามที่เราทราบกันว่า ธุรกิจอาหารยังไงก็โตเนื่องจากเป็น 1 ในปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตของคน ส่วนเสาหลักธุรกิจอื่นๆ ของเรามี 1. ธุรกิจเบียร์ น้ำดื่ม โซดา 2. บางกอกกล๊าส 3. Regional Business ภายใต้การดำเนินการของ สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง 4. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในชื่อ สิงห์ เอสเตท 5. ธุรกิจซัพพลายเชน บุญรอดซัพพลายเชน และ 6. ธุรกิจอาหาร ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส”
ประกาศเป็น ‘สตาร์ทอัพผู้มา Disrupt วงการธุรกิจอาหาร’
อีกประเด็นที่กลับมาโฟกัส คือ การวิเคราะห์ Core Business ของตัวเองว่า มีจุดแข็งและสามารถต่อยอดได้อย่างไร โดยสิ่งที่ค้นพบ คือ ต้องพัฒนานวัตกรรมสู่ระบบอุตสาหกรรม ซึ่ง Food Innovation Center จะทำหน้าที่พัฒนาและสร้างนวัตกรรมต่างๆ สำหรับตอบสนองเทรนด์ของตลาดและความต้องการของผู้บริโภค
ส่วนการพัฒนานวัตกรรมที่นำไปสู่ระบบอุตสาหกรรม ทาง บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และ บริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด ที่จากนี้จะต้องเริ่มโฟกัสในการสร้างโปรดักท์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองมากขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมา 90% เป็น OEM การรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่น อย่างปัจจุบันได้นำเมนูเด็ดและขึ้นชื่อของ Est.33 มาผลิตเป็นโปรดักท์ในรูปแบบ ready to eat และ ready to cook นำไปวางจำหน่ายในช่องทางต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และวางเป้าหมายจะพัฒนาแบรนด์ของตัวเองออกมาสู่ตลาดให้ได้ 2-3 แบรนด์ต่อจากนี้
ขณะเดียวกันในส่วนของ Food Retails จะมีการปรับกลยุทธ์ใหม่ในการวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมในการเลือกทำเลการเปิดร้านของแต่ละแบรนด์ที่มี พร้อมกับเตรียมเพิ่มแบรนด์ในพอร์ต
รวมถึงได้จัดตั้ง ‘Trade Factor’ ขึ้นมา สำหรับดูแลเรื่องช่องทางต่างๆ รวมถึงการกระจายสินค้า และสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า ฯลฯ เพื่อให้การทำงานทั้งหมดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส เป็นเหมือนสตาร์ทอัพ ที่ขนาดองค์กรไม่ใหญ่ แต่การมี back up ดี มีเน็ตเวิร์กแข็งแรง ทำให้เราเป็นสตาร์ทอัพที่มา Disrupt วงการธุรกิจอาหารให้เติบโตไปด้วยกัน เพราะเรามองว่า จะทำให้ทุกคนเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ไม่เพียงเท่านี้ ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จะลิงก์กับอีกบริษัทที่ผมดูแล คือ บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ ทำธุรกิจขนส่งในชื่อ BevChain Logistics เป็นส่วนสำคัญในการสร้าง Product Mix ให้มากขึ้น ช่วยบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น และช่วยต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจให้ครบวงจร คือ เราจะมีทั้งผู้ผลิตสินค้าและบริการ ไปถึงผู้ขนส่ง สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ดีขึ้นด้วย”
ตั้งเป้านำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
หลังจากจัดทัพและปรับยุทธ์ศาสตร์ใหม่ ทาง ปิติ ประกาศว่า ตอนนี้ฟู้ดส์ แฟคเตอร์สพร้อมลุย!! โดยตั้งเป้ารายได้ใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 จะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 8-15% ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ซึ่งนอกจากจะสร้างการเติบโตด้วยตัวเองแล้ว ประเด็นสำคัญ คือ การเน้นสร้างเน็ตเวิร์กให้แข็งแรงด้วยการหาพาร์ทเนอร์ เพื่อเติบโตไปพร้อมกัน โดยพาร์ทเนอร์ในที่นี้มีทั้งในลักษณะ ‘ร่วมมือ’ และ ‘ร่วมทุน’
นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนในโครงการ ‘Food Valley’ สร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรแห่งแรกของไทยและอาเซียน บนพื้นที่ 2,000 ไร่ ณ จ.อ่างทอง
“ระหว่างนี้เราจะทบทวนและปรับแผนตลอด อะไรที่เวิร์คก็จะลุยต่อ อะไรไม่ ก็ต้องกลับไปดู เนื่องจากเราต้องการให้รายได้ทะลุหลักหมื่นล้าน เพราะจริง ๆ เป้าหมายของเราคือ นำฟู้ด แฟ็คเตอร์ส เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์”
ส่วนจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น เป็นเรื่องที่น่าจับตามองไม่น้อย