ศูนย์วิจัยกสิกรเผย Food Delivery ปี 2566 ส่งสัญญาณชะลอตัว หดตัว 0.6% เหตุ ‘การแข่งขันสูง-คนเปลี่ยนพฤติกรรม’

  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  

 

​รายงานจาก ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า ความต้องการในการสั่งอาหารจัดส่งไปยังที่พัก หรือที่เรียกว่า Food Delivery ของผู้บริโภคที่ชะลอลงจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลังโควิด ประกอบกับค่าครองชีพที่สูง ส่งผลให้ผู้บริการแพลตฟอร์มยังคงต้องทำการตลาดอย่างเข้มข้นเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

 

ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับแนวโน้มและพฤติกรรมการใช้งานแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พักของผู้บริโภค สะท้อนว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะยังใช้งานแอปพลิเคชันสั่งอาหารต่อไป แต่ลดความถี่ในการใช้งานลง เมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของโควิด เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เปลี่ยนมารับประทานอาหารนอกบ้าน ซื้ออาหารกลับไปรับประทานหรือประกอบอาหารเองที่บ้านมากขึ้น ซึ่งการลดหรือหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารนี้ ยังเป็นผลมาจากปัญหาในด้านค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น อาหารที่ได้รับไม่ตรงปก ปริมาณไม่คุ้มราคา รวมถึงความล่าช้าในการส่งอาหาร เป็นต้น

 

ขณะเดียวกัน การแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery ยังส่งผลให้ผู้ใช้บริการสับเปลี่ยนการใช้แอปพลิเคชัน เพื่อเปรียบเทียบราคา ติดตามโปรโมชั่นหรือสิทธิพิเศษ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้บริการมากกว่า 1 แอปพลิเคชัน

 

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังต้องการให้แพลตฟอร์ม Food Delivery นำเสนอบริการที่ครอบคลุมความต้องการในชีวิตประจำวัน และสามารถตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายได้ในแอปพลิเคชันเดียว นอกเหนือจากคุณภาพของร้านอาหารและทางเลือกที่หลากหลาย รวมถึงระบบการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน และการนำเสนอร้านอาหาร/โปรโมชั่นที่ตรงความต้องการมากที่สุด

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารคงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการและตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มที่ย่อยลงไปอีก (Sub- Segment)  เช่น ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอ Customized loyalty program หรือโปรโมชั่นที่ดึงดูด เพื่อรักษายอดการใช้บริการของกลุ่ม Gen Y-X และเพิ่มรายได้จากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่าง Gen Z ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุน

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2566 มูลค่าตลาดของธุรกิจ Food Delivery น่าจะอยู่ที่ราว 8.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 0.6% จากปี 2565 โดยค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งคงปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery น่าจะหดตัวลง 11.3% จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยแวดล้อมของตลาดซึ่งอยู่ในช่วงของการปรับตัวจากฐานที่เคยเร่งตัวขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด  ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และรายได้ยังไม่กลับมาปกติ

 

ทั้งนี้ นอกจากตลาดที่จำกัดลงซึ่งทำให้การแข่งขันจะยิ่งเข้มข้นขึ้น ในระยะข้างหน้า ธุรกิจ Food Delivery ยังต้องเผชิญโจทย์ท้าทายทั้งในด้านต้นทุนในการดำเนินธุรกิจและต้นทุนทางการเงิน  ส่งผลให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฯ จำเป็นต้องเร่งปรับสมดุลทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

 

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

 

Source

https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/FOOD-DELIVERY-CIS3423-FB-21-07-2023.aspx


  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!