ธุรกิจร้านอาหาร ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความร้อนแรงอยู่เสมอ ทั้งการเติบโต การเข้ามาของรายใหม่ และการรุกเพิ่มสาขาของรายเดิม ซึ่งปีนี้ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2561 จะอยู่ที่ 411,000-415,000 ล้านบาท มีการเติบโต 4-5%
การเติบโตดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันของต้นทุน โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่ในทำเลศักยภาพ และต้นทุนค่าแรง ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องตั้งราคาอาหารในระดับสูง เพื่อให้ครอบคลุมภาระต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น และการที่อัตราค่าเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับสูง น่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้ในปี 2561
ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ หันมาให้ความสำคัญกับการขยายสาขาในรูปแบบ Stand Alone มากขึ้น โดยนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนค่าเช่าแล้ว การขยายสาขาในรูปแบบนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่น ทั้งเวลาการให้บริการ การตกแต่งร้านอาหารอย่างมีเอกลักษณ์ ที่จะให้เป็นที่จดจำสำหรับลูกค้าได้ง่ายขึ้น
ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant) ที่ยังเปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นหลัก น่าจะลดขนาดพื้นที่สาขาใหม่ลง ควบคู่ไปกับขยายบริการในรูปแบบไดร์ฟทรูในสถานีบริการน้ำมันมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบของผู้คนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ภาพการขยายตัวของจำนวนคาเฟ่ ร้านกาแฟ และ Coworking Space ได้สะท้อนเทรนด์การใช้จ่ายด้านขนมและเครื่องดื่ม รวมถึงทางเลือกในการรับประทานอาหารในกลุ่ม Street Food ที่กลับมาได้รับความนิยม ส่งผลให้เม็ดเงินการใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้านของคนไทยกระจายตัวไปยังผู้ประกอบการกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น จากเดิมจะกระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการร้านอาหารเป็นหลัก
ขณะที่การใช้บริการร้านอาหารทั่วไป ที่มุ่งตอบโจทย์การรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน อย่างร้านอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง น่าจะยังคงทรงตัว โดยร้านอาหารในกลุ่มนี้ จะยังคงมีรายได้หลักจากการให้บริการผู้คนทั่วไป ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการรับประทานอาหารในช่วงวันธรรมดา
ทั้งหมด นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องอยู่ในภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและต้องช่วงชิงเม็ดเงินการใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้านในปี 2561