จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจของไทยได้ออกมาประเมินว่า ในปีนี้การส่งออกจะเติบโต 9.7% ขณะที่การท่องเที่ยวเติบโต11.6% และการลงทุนของภาครัฐเติบโต 12% ดูเหมือนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะสดใสขึ้นมาบ้าง ทว่าสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG ที่สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคกลับติดลบอยู่ 2.6%
ยงยุทธ องค์วัฒนะพัฒน์ Executive Director , Sales Effectiveness Lead บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้ภาครัฐจะมีการกระตุ้นการลงทุนต่าง ๆ แต่การลงทุนของภาคเอกชนยังไม่เพียงพอ บวกกับปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังสูงอยู่ การกระตุ้นดังกล่าวจึงยังไม่ส่งผลมาถึงกลุ่มผู้บริโภค ทำให้ตลาด FMCG ในไตรมาส 1 ของปีนี้ติดลบ 2.6%
นอกจากการติดลบของตลาดแล้ว ในปีนี้ยังมีความท้าทายที่ผู้ประกอบการในกลุ่ม FMCG ต้องจับตามองด้วย
1.ช่องทางการขายที่มีมากมาย โดยจากการรวบรวมข้อมูลของนีลเส็นพบว่า ร้านค้าในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 4 แสนกว่า ซึ่งเจ้าของกลุ่ม FMCG ไม่จำเป็นต้องนำสินค้าไปกระจายในร้านค้าหลายร้านมากเกินไป ขอเลือกร้านที่ใช่ และถูกโลเคชั่นก็จะประสบความสำเร็จ เพราะจากการวิจัยพบว่า 17% ของร้านค้าสามารถทำยอดขายของกลุ่ม FMCG ได้ถึง 50%
และนำสินค้าไปวางจำหน่ายในร้านค้าที่ตั้งอยู่ในโลเคชั่นที่มีประชากรอาศัยเป็นจำนวนมากนั้น ก็ไม่จำเป็นว่า จะสามารถสร้างยอดขายได้ดีที่สุด เนื่องจากข้อมูลจากการสำรวจพบว่า พื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ บางแค , บางเขน และสายไหม แต่พื้นที่ที่สร้างยอดขายให้กับกลุ่ม FMCG สูงสุด กลับเป็น บางพลี , สวนหลวง และบางบอน
2.การลอนช์ตัวสินค้าใหม่ที่มีมากขึ้น โดยพบว่า ปัจจุบันมีการลอนช์สินค้าเกินกว่า 2 หมื่นตัวต่อปี จนน่ากังวลว่า ชั้นวางสินค้าจะเพียงพอกับจำนวนสินค้าที่ออกมาหรือไม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเลือกสินค้าและบริหารจัดการสินค้าให้ดี บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องออกสินค้าใหม่ แต่อาจเป็นการรีลอนช์ เช่น ปรับแพ็กเกจ ฯลฯ หากทำได้จะเพิ่มยอดขายได้ถึง 3 เท่า
3. ราคา และโปรโมชั่น สองปัจจัยหลักในการตัดสินใจซ้อของผู้บริโภค ซึ่งจากการวิจัยของนีลเส็นพบว่า จากสินค้า 100 ยูนิตที่ขายไป 58 ยูนิตเกิดจากโปรโมชั่น ดังนั้นกลยุทธ์ด้านราคาและโปรโมชั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากความท้าทายดังกล่าวแล้ว นีลเส็นยังสะท้อนให้เห็นถึง 4 เทรนด์ ที่ผู้ประกอบการต้องจับตามอง
1. การซื้อสินค้าในกลุ่มพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นเห็นได้จากการเติบโตของ FMCG ในกลุ่มพรีเมียมเติบโต 4% นั่นหมายความว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงยังมีอำนาจการจับจ่ายอยู่ ดังนั้น ผู้ประกอบการสินค้า FMCG ควรหันมาโฟกัสกับกลุ่มสินค้าพรีเมียมมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด ส่วนการเติบโตของสินค้ากลุ่มนี้ แบ่งเป็น
– กลุ่ม Personal care มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 44% เติบโต 4.2%
– กลุ่ม Householdมีมาร์เก็ตแชร์ 41 % เติบโต 8.4%
– กลุ่ม Impulse มีมาร์เก็ตแชร์ 35 % เติบโต 8.1%
– กลุ่ม Beverage มีมาร์เก็ตแชร์ 33 % เติบโต 2.5%
2. เทรนด์ Urbanization การขยายของสังคมเมือง ทำให้สินค้าที่ตอบสนองคนกลุ่มนี้มีการเติบโตมากขึ้นทั้ง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว , ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ , วิตามิน ฯลฯ โดยจังหวัดที่พื้นที่เมืองขยายตัวสูง ได้แก่ กรุงเทพฯ , เชียงใหม่ , กระบี่ ,และ ระยอง
3.นักท่องเที่ยวจีน ไทยติดอันดับ 4 ที่นักท่องเที่ยวเดินทางมามากที่สุด รองลงฮ่องกง , ญี่ปุ่น และมาเก๊า ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่มักใช้จ่ายไปกับการชอปปิ้ง และ 65% ใช้จ่ายผ่าน Mobile Payment
4. ตลาดผู้สูงวัย กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่อาจมองข้ามได้สำหรับทุกสินค้า เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงแล้ว ยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีจำนวนมากที่สุดในขณะนี้ของไทย เนื่องจากไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มตัวแล้ว
ทั้งหมด เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดของกลุ่ม FMCG ต้องจับตามองและวางกลยุทธ์ให้สอดคล้อง เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและยอดขายที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
Copyright© MarketingOops.com