ใกล้ถึงศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำคนสำคัญที่สามารถกำหนดทิศทางของโลกใบนี้ได้ โดยครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่เพียงแค่การเลือกตั้งเท่านั้นที่ถูกจับตา การหาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้งก็ได้รับการจับตาเช่นกัน เพราะนั่นหมายถึงวิสัยทัศน์และมุมมองของว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ และย่อมมีผลต่อหลายเรื่องที่สำคัญของโลก
แต่ดูเหมือนกระแสร้อนแรงจะตกไปอยู่กับ Mark Zuckerberg ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Facebook Inc. เมื่อผู้ลงสมัครอย่าง Elizabeth Warren เขียนทวิตแสดงความเห็นเชิงนโยบายว่า เราจะสูญเสียความเป็นตัวตน ถ้าเราไม่แก้ไขระบบที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ผูกขาดการเข้าถึงความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคซึ่งผิดกฎหมาย
Warren ยังชี้ว่า มากกว่า 85% ของการรับส่งข้อมูลบนโซเชียลมีเดียทั้งหมด ต้องผ่านเว็บไซต์ที่ดำเนินการโดย Facebook นั่นทำให้ Facebook มีอำนาจมากและต้องเผชิญกับการแข่งขันหรือความรับผิดชอบน้อยลง การแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการเพื่อผลกำไร เป็นการละเมิดและทำลายรูปแบบการแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับคนอื่น ในขณะที่ ผู้สมัครเลือกตั้งหลายราย ก็มีการออกมาโจมตีลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ขณะที่ Mark Zuckerberg ก็ตอบโต้กลับในการกล่าวกับพนักงานว่า ถ้า Warren ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แน่นอนได้เลยว่าจะมีเรื่องข้อกฎหมายเข้ามาท้าทายการทำธุรกิจของเรา และมั่นใจได้ว่าเราจะชนะความท้าทายทางด้านกฎหมายเหล่านั้น หมายความว่า Facebook ไม่ต้องการให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับรัฐบาลอีกต่อไป
ด้วยจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 2 พันล้านรายต่อเดือน Facebook จึงต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลร่วมกัน และยังตกอยู่ในกระแสนโยบายในศึกการเลือกตั้ง รวมถึงยังเป็นข้อถกเถียงถึงกรณีการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2559 ที่ผ่านมาจนส่งผลให้ Donald Trump ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ต้องจับตาโลกโซเชียลให้ดีๆ เพราะดูเหมือนแม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์เองก็ไม่ค่อยพิศวาสโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook มากเท่าไหร่ และถ้าผู็นำสหรัฐฯ คนต่อไปไม่ใช่ทรัมป์ โลกโซเชียลจะปั่นป่วนแค่ไหน เพราะทุกวันนี้แค่ Facebook ปรับ Algorithm นักการตลาดยังต้องปรับตัว แบรนด์ต้องเรียนรู้ ผู้ใช้งานต้องศึกษา
Source: Reuters