โครงการคิดดีมีทุนให้ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ.

  • 29
  •  
  •  
  •  
  •  

[บทความนี้เป็น Advertorial]

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อความสุขที่ยั่งยืน

ERO_1

มารู้จัก “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” กัน

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นตาม “พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550” ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.  โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เป็นผู้บริหารจัดการ และเก็บรักษาเงิน โดยการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นไปเพื่อการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่เกิดผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า “เป็นกองทุนของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน มีธรรมาภิบาล ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าให้ได้รับความเจริญในด้านต่างๆ รวมถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้า และชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาจากไหน?

เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาได้จากหลายแหล่งกล่าวคือ

  • เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าจะมาจากเงินที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทใบอนุญาตผลิตไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นรายเดือน โดยคำนวณเงินที่นำส่งตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเพื่อจำหน่าย และใช้เอง  ดังนี้ ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้านำส่งในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี นับแต่วันเริ่มก่อสร้าง และในช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้า นำส่ง ตามพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในแต่ละเดือนตามประเภทเชื้อเพลิง  ได้แก่  ถ่านหิน ลิกไนต์ อัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า พลังหมุนเวียน ประเภทพลังน้ำ อัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า  น้ำมันเตา /ดีเซล อัตรา 1.5 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ อัตรา  1 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า พลังหมุนเวียนประเภทลมและแสงอาทิตย์ อัตรา 1 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า พลังหมุนเวียนประเภทอื่น เช่น ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล กากและเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชน และอื่นๆ อัตรา 1 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า ส่วนผู้รับใบอนุญาต ฯ รายปัจจุบัน จ่ายเฉพาะช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้า
  • เงินค่าปรับจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า และค่าปรับทางปกครอง
  • เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และ
  • ดอกผล หรือประโยชน์ใดๆที่เกิดจากเงิน หรือทรัพย์สินของกองทุน

กองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีทำไม และเพื่ออะไร? 

  • เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริการไฟฟ้าที่ยั่งยืน ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น
  • เพื่อชดเชยค่าใช้ไฟฟ้าที่ผู้ใช้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น จากการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในการผลิตไฟฟ้า
  • เพื่อพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า
  • เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
  • เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้าของชุมชน
  • เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

อะไรคือบทบาท และภารกิจหลักของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า?

กองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีวิสัยทัศน์การดำเนินงานคือ เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาไฟฟ้าของไทยให้ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม เสริมสร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีพันธกิจคือ ชดเชย และอุดหนุนให้มีการบริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ทั่วถึง เป็นธรรม พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และส่งเสริมประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า

มีเป้าประสงค์หลักคือ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า และเครือข่ายพันธมิตรมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน ระบบบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้  มีนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ผลการศึกษาวิจัย ส่งเสริม สาธิต และการพัฒนาโครงการต้นแบบด้านพลังงานหมุนเวียน เสริมสร้างความตระหนักรู้ และเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านไฟฟ้า  และมีการบริหารจัดการ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ  เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง มีความน่าเชื่อถือ และเป็นธรรม  บริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน  และเพื่อสร้างพันธมิตร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

ทั้งนี้ได้มีการกำหนดเงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ โดยต้องมีการแยกบัญชีตามกิจการที่ใช้จ่ายอย่างชัดเจน ดังนี้

มาตรา 97(1)  เพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้มีการบริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

มาตรา 97(2)  เพื่อการชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ากระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา 87 วรรคสอง

มาตรา 97(3)  เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

มาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

มาตรา 97(5) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า

มาตรา 97(6) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน กองทุนพัฒนาไฟฟ้ากับการสนับสนุน และช่วยเหลือชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

พื้นที่ใดที่เข้าข่ายได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า?

เพื่อให้การจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่ชุมชนอย่างทั่วถึง ได้มีการกำหนดพื้นที่ประกาศว่าชุมชนใด หรือพื้นที่ใดบ้างที่จะได้เข้ามาร่วมบริหารจัดการเงินกองทุน โดยพิจารณาจากแผนการผลิตไฟฟ้าของแต่ละโรงไฟฟ้าครอบคลุมถึงตำบลโดยรอบโรงไฟฟ้าที่อยู่ในรัศมีจากศูนย์กลางโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งเป็นระยะทางตั้งแต่ 1 กิโลเมตร 3 กิโลเมตร หรือ 5 กิโลเมตร

โดยการบริหารเงินกองทุน ฯ แบ่งการบริหารเงินกองทุนเป็น 3 ประเภท คือ กองทุนประเภท ก กองทุนประเภท ข และกองทุนประเภท ค  กล่าวคือ

กองทุนประเภท ก มีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 5,000 ล้านหน่วยต่อปี ปริมาณเงินที่ได้รับ มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี และมีรัศมีของพื้นที่ประกาศ (เฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่) 5 กิโลเมตร มีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า  (คพรฟ.) จำนวนไม่ต่ำกว่า 15 คน และไม่เกินกว่า 35 คน และมีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล จำนวน 17 คนขึ้นไป

กองทุนประเภท ข มีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 5,000 ล้านหน่วยต่อปี ปริมาณเงินที่ได้รับประมาณ 1-50 ล้านบาทต่อปี และมีรัศมีของพื้นที่ประกาศ (เฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่) 3 กิโลเมตร มีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จำนวนไม่ต่ำกว่า 15 คน และไม่เกินกว่า 35 คน

กองทุนประเภท ค มีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 100 ล้านหน่วยต่อปี ปริมาณเงินที่ได้รับไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี และมีรัศมีของพื้นที่ประกาศ (เฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่) 1 กิโลเมตร มีตัวแทน อบต. และเทศบาลจำนวน 3 คน

ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้ประโยชน์อะไร?

  • ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าสามารถคัดเลือกผู้แทนจากทุกหมู่บ้านเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนเพื่อบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นให้มีระบบการบริหารที่ โปร่งใส
  • ประชาชน/ชุมชนในพื้นที่จัดทำโครงการชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพชุมชน และเสริมสร้างระบบสวัสดิการของประชาชนเสนอรับการสนับสนุนจากกองทุน
  • มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน และกับหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ
  • มีการชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทั้งด้านสุขภาพ อาชีพ และสิ่งแวดล้อม
  • มีการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเฝ้าระวังทางสังคม สุขภาวะ สิ่งแวดล้อม

ประชาชน และชุมชนสามารถนำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้หลากหลายตรงกับความต้องการของชุมชน อาทิ

  • ด้านสุขภาพ และสุขภาวะ ได้แก่ การสร้างสาธารณสุข หรืออนามัยประจำชุมชน
  • ด้านอาชีพ เช่น การสร้างศูนย์ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาอาชีพชุมชน
  • ด้านการเกษตร เช่น การสร้างโรงสีชุมชน
  • ด้านคุณภาพชีวิต เช่น การสร้างศูนย์สุขภาพ หรือลานกีฬาให้กับเยาวชน
  • ด้านการศึกษา ศาสนา เช่น การสร้างห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรม
  • ด้านการพัฒนาชุมชนและองค์กรชุมชน อาทิ การสร้างหอประชุมประจำหมู่บ้าน
  • ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การจัดตั้งโรงแยกขยะในชุมชน
  • ด้านการช่วยเหลือชาวชุมชนที่ทุกข์ยากเดือดร้อน ได้แก่ การจัดตั้งอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

การพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุน เช่น การสร้างศูนย์รวมข่าวสาร การเรียนรู้ และมีส่วนร่วมของชุมชน

ERO_2

ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีอะไรบ้าง?

สำนักงาน กกพ. มีผลการดำเนินงานในหลายด้านดังนี้

(1)    กกพ. ได้อนุมัติแผนงานประจำปีให้แก่กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อดำเนินโครงการชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า  ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 – 2561  รวมทั้งสิ้น 40,822 โครงการ มูลค่ารวม 15,303.35 ล้านบาท แยกเป็นงบบริหารจัดการ 1,521.45 ล้านบาท และงบโครงการชุมชน 13,781.90 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินงานโครงการชุมชน ประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่  การส่งเสริมคุณภาพชีวิต สุขภาพ และสุขภาวะ  การพัฒนาอาชีพ  และเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต  การพัฒนาการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น  รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อาทิ

  • กองทุนพันธุ์ข้าวเพื่อชุมชน จ.ชัยภูมิ
  • โครงการโรงสีข้าวชุมชน บ้านซับหวาย จังหวัดนครราชสีมา
  • โครงการ Smart Classroom ห้องเรียนอัจฉริยะ  จังหวัดลำปาง
  • โครงการคลินิกทันตกรรมมาตรฐานเคลื่อนที่ (รถบัส) จังหวัดตาก
  •  โครงการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ กองทุนแม่ของแผ่นดิน ตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี
  • โครงการเพิ่มศักยภาพนักเรียนชั้น ม.6 ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย และ
  • โครงการถนนใต้ร่มพระบารมี จังหวัดระยอง เป็นต้น

การได้มาซึ่งโครงการชุมชนเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโดยประชาชนในพื้นที่ประกาศสามารถเข้าร่วมการบริหารงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในช่องทางต่างๆ ดังนี้

  • เข้าร่วมการประชาคมหมู่บ้านหรือชุมชน เพื่อเลือกตัวแทนหมู่บ้านเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
  • เข้าร่วมการประชาคมหมู่บ้านที่คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบ โรงไฟฟ้าจะจัดให้มีขึ้นในแต่ละพื้นที่เพื่อเสนอโครงการชุมชนในการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในการพัฒนาชุมชนนั้นๆ
  • เข้าร่วมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ และการใช้จ่ายเงินให้มีการดำเนินการตามระเบียบที่ กกพ. กำหนด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้

(2)    กกพ.ได้อนุมัติแผนงานประจำปีเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึง ความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยปีงบประมาณ 2560 รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ มูลค่ารวม 18.08  ล้านบาท  และในปีงบประมาณ 2561 ได้เตรียมงบประมาณรองรับการดำเนินงานดังกล่าวไว้ 1,050 ล้านบาท

(3)    กกพ. ได้อนุมัติแผนงานประจำปีเพื่อส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า  โดยปีงบประมาณ 2560 รวมทั้งสิ้น 15 โครงการ มูลค่ารวม 88.95 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 ได้เตรียมงบประมาณรองรับการดำเนินงานดังกล่าวไว้ 440 ล้านบาท

httpv://youtu.be/IZX1sTDbKhM

[บทความนี้เป็น Advertorial]


  • 29
  •  
  •  
  •  
  •