แนวโน้มเศรษฐกิจที่คุณควรรู้ ปีนี้ “ไทย” ติดหล่มความเสี่ยงหรือไม่ ใต้โอกาสเติบโต 4%

  • 11
  •  
  •  
  •  
  •  

700

ช่วงนี้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยคึกคักเป็นพิเศษ จากการปรับเพื่อรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคและความนิยมในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เรื่องดังกล่าวอาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุค Disruption แต่ไม่ได้สะท้อนถึงภาพรวมเศรษฐกิจของไทยอย่างชัดเจน

เรื่องนี้ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจและการเติบโต โดยระบุว่า “EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง 4% ตามเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น”

ไทยเผชิญ 3 ความท้าทายทางเศรษฐกิจ ใต้แนวโน้มเติบโต 4%

EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2561 เติบโตต่อเนื่องที่ 4% ตามกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ขยายตัวดีและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น พื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าของไทยสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้ ด้วยมูลค่าการส่งออกในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 5% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 7.9% ขณะเดียวกัน การเติบโตอย่างต่อเนื่องในภาคการส่งออกได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป ภายใต้ความท้าทาย 3 ประการทางเศรษฐกิจ คือ การค้า บาทแข็ง และการเงินโลกผันผวน

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2561 อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมไม่มากนัก แต่บางสาขาธุรกิจควรเพิ่มความระมัดระวัง ประการแรก มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบางกลุ่มสินค้าของไทย ได้แก่ แผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็กและอะลูมิเนียม ตลอดจนสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน แม้ว่าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจะคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากในมูลค่าการส่งออกรวมของไทย โดยความเสี่ยงต่อภาพรวมการส่งออกจะเพิ่มขึ้นในกรณีที่มีมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าต่างๆ จนนำไปสู่สงครามการค้าในวงกว้าง

ส่วนการแข็งค่าและความผันผวนของค่าเงินบาท ที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจากภาคเกษตร และประการที่สาม ความผันผวนทางการเงินของโลกอันเป็นผลมาจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้าสู่สมดุล (Monetary Policy Normalization) ของเศรษฐกิจสำคัญนำโดยสหรัฐอเมริกาที่จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินของโลกลดน้อยลง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินทรัพย์และกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในบางประเทศได้ โดย EIC มองว่าเสถียรภาพของฐานะการเงินด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง และสภาพคล่องที่เพียงพอในระบบการเงินของไทย จะช่วยเป็นกันชนรองรับความผันผวนของภาวะการเงินโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยได้

1

2561 ปีแห่งการลงทุนทั้งรัฐและเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนในปี 2561 มีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะความชัดเจนของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) หลังพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกผ่านการอนุมัติให้เป็นกฎหมาย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนทั้งจากในและต่างประเทศ รวมถึงประเด็นความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวก็ลดลงหลังมีการผ่อนคลายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ทั้งจากการเลื่อนการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวรวมถึงการปรับลดบทลงโทษที่เกี่ยวข้อง

“จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเติบโตเพิ่มขึ้นพอสมควรเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโตเพียง 3% ดังนั้นการเติบโต 4% ในปีนี้จะถือเป็นการเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ย และถือเป็นโอกาสอันดีของภาคธุรกิจหากสามารถเจาะความต้องการสินค้าและบริการได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้ ปี 2561 จะถือเป็นปีที่มีความสดใสทางเศรษฐกิจอีกปีหนึ่งของไทย การลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนก็จะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโต ทำให้ช่วงนี้เป็นจังหวะดีในการลงทุนทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภครายย่อย โดยเลือกการลงทุนที่คุ้มค่าเพิ่มทักษะให้ตนเอง หรือสินค้าและบริการ และใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เพื่อรับประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นรอบนี้”

1B5A1023

คนรายได้กลาง-สูง กลับมาใช้จ่ายสะพัด

การใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มกระจุกตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์และที่อยู่อาศัย สะท้อนถึงความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลาง-สูง ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ระดับล่าง-กลาง ยังคงไม่ค่อยใช้จ่ายกับสินค้าไม่คงทนมากนัก อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมีนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะสั้น อาทิ การลดภาระค่าใช้จ่าย และการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ในระยะยาวนั้นทุกฝ่ายจำเป้นต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างผลิตภาพการผลิต (Productivity)

“ช่วงต้นปี 2561 ยอดขายรถยนต์นั่งที่เติบโตในระดับสูงสะท้อนถึงการจับจ่ายกลุ่มผู้มีรายได้สูง ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังคงมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวของภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ยังไม่ชัดเจน เห็นได้จากอัตราการว่างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.3% ในช่วงหลังและจำนวนการจ้างงานแบบล่วงเวลาลดลง สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ส่งผ่านถึงตลาดแรงงานมากนัก แรงงานไทยจึงควรปรับตัวเข้ากับยุคเทคโนโลยีซึ่งมีทั้งการดิสรัปชั่นและออโตเมชั่นเข้ามาใช้งานมากขึ้น จำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงในสายงานและเพิ่มทักษะรับการแข่งขัน ขณะเดียวกันรายได้เกษตรกรที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบราคาสินค้าเกษตรบางหมวดที่ลดต่ำลง เช่น ยางพารา น้ำตาล อ้อย ก็ส่งผลให้การบริโภคกลุ่มสินค้าไม่คงทนไม่คึกคัก”

ความเสี่ยงที่สำคัญของผู้บริโภค คือ การก่อหนี้และภาระหนี้ โดยปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนยังคงมีการเร่งตัวสูง ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2015 ถึงไตรมาสที่ 4/2560 อยู่ที่ 77.5% ของ GDP แม้จะมีภาวะการชะลอหนี้ลงบ้างแล้วแต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรพิจารณาควบคู่ความสามารถในการชำระหนี้ไปพร้อมๆ กับการใช้จ่าย และควรออมอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับก่อหนี้ที่สามารถเพิ่มทักษะความสามารถหรือการผลิตแก่ตนเองในอนาคตควบคู่กันไป เช่น ลงทุนเรียนภาษาเพิ่มเติม หรือพัฒนาเทคโนโลยี แพลทฟอร์มออนไลน์ เพื่อธุรกิจหรือบริการของตน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอาจช่วยสร้างโอกาสและรายได้มากขึ้น


  • 11
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน