การเติบโตของธุรกิจอาหารในประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ที่เริ่มมีการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยสนับสนุน
อย่างไรก็ตามปัญหาหลักเรื่องการจัดการลูกค้า และการหมุนเวียนของจำนวนลูกค้า ยังคงเป็น pain point ที่ธุรกิจอาหารประสบอยู่
Eatigo มองเห็นช่องว่างดังกล่าว แต่แนวทางของ Eatigo ไม่เหมือนกับสตาร์ทอัพทั่วไป ที่ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่การเติบโตของธุรกิจของตนว่า ทำอย่างไรให้ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว เรื่องขาดทุนกำไรไว้ว่ากันทีหลัง
เพราะ Eatigo มองว่าการเติบโต ควรต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
แอพพลิเคชั่น Eatigo ซึ่งเป็นแอพจองร้านอาหาร ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งธุรกิจร้านอาหารและลูกค้า
“การมองหาวิธีเติมเต็มโต๊ะที่ยังว่าง” เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ Eatigo ใช้ในการรันธุรกิจ
ทริปแอดไวเซอร์ (TripAdvisor) เว็บไซต์ท่องเที่ยวและเว็บจองออนไลน์ ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก สามารถวางแผนและจองทริปได้สมบูรณ์แบบ ด้วยสโลแกน รู้มากขึ้น จองง่ายขึ้น เที่ยวสนุกขึ้น เข้าลงทุนในสตาร์ทอัพอย่างอีททิโก (Eatigo) ซึ่งถึงตอนนี้รวมเงินลงทุนไปแล้วราว 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 800 ล้านบาท
“บางคนคิดว่าได้เงินก็จบแล้ว แต่บางทีได้เงินแล้วก็เจ๊งได้”
“เป็นธุรกิจที่เหมือนขี่อยู่บนหลังเสือ ได้เงินมา 800 กว่าล้าน ก็เหมือนแบกหนี้อยู่ 800 กว่าล้านเหมือนกัน” คุณภูมินทร์ ยุวจรัสกุล 1 ใน 4 ของผู้ก่อตั้ง Eatigo กล่าว
Founder ของ Eatigo ประกอบด้วยอินเดีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศสและประเทศไทย แต่คุณภูมินทร์ หรือคุณหลุยส์ ก็ยอมรับว่า ทริปแอดไวเซอร์ เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมากให้กับ Eatigo การจะเข้าสู่บริการรับจองทางออนไลน์ของคู่แข่ง จะต้องแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่างทริปแอดไวเซอร์แต่ไม่ใช่แข่งกับ Eatigo
แอพพลิเคชั่น Eatigo เป็นแอพจองร้านอาหารอันดับต้นๆ ของเอเชีย ส่วนทริปแอดไวเซอร์ก็มีพันธมิตรเป็นสายการบิน ผู้ให้บริการท่องเที่ยว รวมทั้งตัวแทนการจองทั่วโลก
จากบริการของทริปแอดไวเซอร์ ช่วยให้นักท่องเที่ยวมีข้อมูลการท่องเที่ยวทั่วโลก มีที่พักกว่า 7.7 ล้านแห่ง มีข้อมูลของสายการบิน สถานที่ท่องเที่ยว และร้านอาหารอยู่ทั่วโลก
ความคิดเห็นที่มีการแชร์กันในโลกโซเชียล จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกที่พัก เลือกสายการบิน มองหากิจกรรมที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือ เลือกร้านอาหาร
ทริปแอดไวเซอร์มีระบบเปรียบเทียบราคา จากเว็บไซต์การจองโรงแรมมากกว่า 200 แห่ง ช่วยเสิร์ชโรงแรมในราคาที่ดีที่สุดได้ง่าย บริการของทริปแอดไวเซอร์มีอยู่ใน 49 ประเทศ มีผู้เข้าชมแพล็ตฟอร์มประมาณ 456 ล้านคนต่อเดือน รวมทั้งยังมีเว็บไซต์และธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ภายใต้แบรนด์อีกมากกว่า 20 เว็บไซต์ มีแบรนด์สื่อเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอื่นๆ อีก 24 แบรนด์ดำเนินการใน 48 ประเทศทั่วโลก
เจาะแนวคิดบริหารโต๊ะว่าง Eatigo
Eatigo เปิดบริษัทมาตั้งแต่ปี 2013 ให้บริการจองร้านอาหารพร้อมส่วนลด คอนเซ็ปต์ที่ทำให้ Eatigo มีความแตกต่างจากบริการรับจองรายอื่นคือ การบริหารรายได้ ได้ส่วนลดพิเศษจากการจอง เหมือนอโกด้าที่เป็นผู้ให้บริการสำรองห้องพักทางออนไลน์ ที่มีการแบ่งราคาเข้าพักแตกต่างกัน เช่น สุดสัปดาห์ที่มีดีมานด์มาก ราคาห้องพักจะสูงกว่าการเข้าพักวันธรรมดาที่มีคนน้อย
ร้านอาหารก็เช่นกัน ช่วงเวลาที่โต๊ะค่อนข้างว่างเช่น เวลา 11.00 น. 15.00 น. หรือ 20.00-21.00 น. ผู้ที่เข้าไปจองโต๊ะในช่วงนี้จะได้รับส่วนลดพิเศษ
เหมือนโรงแรมที่มีช่วงช่องเวลาว่าง รายได้จะเป็นศูนย์บาท แต่ถ้าได้รับส่วนลด มีผู้เข้าพัก แต่ได้กำไรแค่ 100 บาท ได้กำไรน้อยแต่ก็ดีกว่าสูญเปล่า ร้านอาหารที่มีโต๊ะว่าง ก็สามารถนำแนวคิดนี้มาบริหารได้เช่นกัน
เมื่อมีร้านอาหารเข้าร่วมแพล็ตฟอร์มกับ Eatigo ร้านก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ลูกค้าบางคนสามารถรอบุฟเฟ่ต์ได้ กับช่วงเวลาสามทุ่มแลกกับการมีส่วนลด แนวคิดการนำเสนอของ Eatigo มีเหตุผลค่อนข้างดี ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคได้
“ถ้าจะทำ ต้องเป็นเบอร์ 1 ของเอเชียนะ ผมพูดกับ Founder อย่างนี้ และควรทำที่ประเทศไทยและสิงคโปร์พร้อมๆ กัน ถ้าในไทยไปไม่ได้ ก็ไม่ใช่ว่าสิงคโปร์จะไม่เวิร์ค เพราะสิงคโปร์มีพฤติกรรมการจองร้านอาหารมานานแล้ว ถ้าในสิงคโปร์ไปได้ดี เราก็สามารถไปญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีได้ แต่ถ้าในประเทศไทยไปได้ นั่นหมายความว่า มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมทั้งอินโดนีเซีย ก็สามารถขยายไปได้ ”
หลังจาก Eatigo เข้าตลาดแล้วได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี ในปี 2016 ก็สามารถระดมทุนครั้งแรกจากนักลงทุนในประเทศ ปี 2017 ก็มีการสร้างกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง และในปีเดียวกันนี้ ทริปแอดไวเซอร์ก็มีความสนใจลงทุนใน Eatigo เป็นครั้งแรก
“ปัญหาของธุรกิจที่มีรีวิวคือ ไม่สามารถสร้างรายได้จากผู้เข้าใช้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลเพื่อให้มีคนเข้ามารีวิวค่อนข้างสูง เว็บไซค์ประเภทรีวิวที่มีการให้ข้อมูล ส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนเป็นบุ๊คกิ้ง ขายอาหารหรือทำเกี่ยวกับ Beauty มากขึ้น เพราะมีช่องทางให้เติบโต ขณะที่ Eatigo เป็นลักษณะบุ๊คกิ้งทำให้เราสามารถไปได้ในหลายๆ ประเทศ” คุณหลุยส์กล่าว
คุณหลุยส์ย้ายจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุ 11 ปี จนจบมหาวิทยาลัย UCL ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ในปี 2007
จากนั้นก็กลับมาประเทศไทยเริ่มต้นทำธุรกิจน้ำดื่ม Pi Water จากธุรกิจหลักที่ครอบครัวเคยทำด้านเท็กซ์ไทล์และโรงแรมมาก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลที่คุณหลุยส์มาทำสตาร์ทอัพบริการสำรองร้านอาหารทางออนไลน์ คล้ายกับอโกด้าที่ทำทางด้านสำรองห้องพัก เพราะคุณแม่ทำธุรกิจโรงแรมนั่นเอง
ส่วนตัวคุณหลุยส์มีพี่สาวทำแบรนด์เสื้อผ้า Milin ที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนการทำชุดราตรี ที่จะใช้ในการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2018 และเป็นตัวแทนไปประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018
ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Milin ก็คือ “มีมี่” คุณมิลิน ยุวจรัสกุล พี่สาวแท้ๆ ของคุณหลุยส์ ที่จบด้านแฟชั่นดีไซน์ที่เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ คอลเลจ ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสถาบันเทคโนโลยีแฟชั่น (FIT) สหรัฐอเมริกา และกลับมาสร้างสรรค์แบรนด์เสื้อผ้า “มิลิน” ในปี 2552 จนกลายเป็นแบรนด์ในใจเซเลบเมืองไทยในขณะนี้
เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพและทริปแอดไวเซอร์
การทำธุรกิจของคุณหลุยส์ในฐานะผู้บริหารเริ่มมาตั้งแต่อายุ 26-27 ปี จนปัจจุบันเขาอายุ 33 ปี ในฐานะสตาร์ทอัพผู้ปลุกปั้น Eatigo มาแล้ว 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับคนที่เติบโตมาในยุค Tech ไม่เด็กมาก แต่ก็ได้เปรียบคนที่เกิดและเติบโตมาก่อนยุค Tech เพราะจะได้ทั้งโลกเก่าและโลกใหม่ มีความรู้ความเข้าใจที่มากกว่า
ถ้าเป็นเมื่อก่อนคนในวัย 30 ปีจะมีความรู้ความสามารถเทียบกับคนที่มีอายุ 40 ปี ได้ยาก ในแง่ของประสบการณ์
แต่ปัจจุบันเป็นยุคของสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีก้าวกระโดด คนวัยทำงานอายุ 40 ปี ที่อยู่ในยุคคาบเกี่ยวกับ Tech จะเสียเปรียบเด็กวัย 30 ปี ที่เติบโตมากับยุค Tech มากกว่า “สตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถโตด้วยตัวเองได้ เป็นธุรกิจที่ต้องมีเงินทุนสนับสนุนตลอดเวลา เราพูดคุยกันว่าเมื่อไหร่จะได้เงินทุนมาสร้างการเติบโต สตาร์ทอัพปีหนึ่งๆ จะต้องเติบโต 6-7 เท่า ระยะเวลา 2 ปีก็ 30 กว่าเท่า ส่วนเอสเอ็มอีโตปีละ 1 เท่าก็ถือว่าเยอะแล้ว”
“เอสเอ็มอีเปิดในปีแรก หัวข้อพูดคุยคือ ทำยังไงให้มีกำไรให้เร็วที่สุด แต่ปีแรกของสตาร์ทอัพ จะคุยกันว่า ทำยังไงให้เติบโตได้ 6-7 เท่า เพราะฉนั้นสตาร์ทอัพจึงต้องมีเครื่องมืออะไรหลายๆ อย่างเข้ามาช่วย ให้มีประสิทธิภาพ ให้เร็วขึ้น ให้ใช้เวลาน้อยลงเรื่อยๆ อาจจะช้าเกินไปถ้านั่งตอบอีเมล์อย่างเดียว ซึ่งไม่พอ สตาร์ทอัพไม่อยากมีกำไรตอนมีลูกค้าแสนคน แต่เราอยากมีกำไรตอนที่มีฐานลูกค้า 50 ล้านคน”
“สตาร์ทอัพจึงเป็นธุรกิจที่จะต้องเหลือเพียงแค่รายสองราย สปีด ค่าแรงพนักงานสูงไปหมด ธุรกิจที่ทำก็ต้องเป็นธุรกิจเบอร์ 1 ประเทศอย่างต่ำ ในทางกลับกันถ้าเราเป็นผู้ลงทุน เราก็อยากลงทุนกับคนที่เป็นเบอร์ 1 ของประเทศ เป็นบริษัทเบอร์ 1 ของตลาด และก็ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทยประเทศเดียว ต้องไปได้ในหลายๆ ประเทศด้วย”
“ปัญหาของสตาร์ทอัพเมืองไทย ว่าทำไมออกไปนอกประเทศไม่ได้ ถ้าไม่ได้ในแต่ละปีจะมีกำไร 3-4 เท่าได้อย่างไร รายได้มากขึ้นได้อย่างไร เพราะฉนั้นต้องออกไปนอกประเทศให้ได้ ธุรกิจที่อยู่ในประเทศมีช่องทางน้อยกว่า ถ้าไม่เข้าตลาดฯ ก็ต้องมีคนซื้อไป อยู่แค่ในประเทศมีช่องทางน้อยมาก หรือหมายความว่าเราอาจไม่ใหญ่พอในตลาด หรือไม่ใหญ่พอที่คนจะมาซื้อ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมธุรกิจจึงต้องขยายไปเรื่อยๆ”
การเปลี่ยนแปลงทำให้ทริปแอดไวเซอร์เริ่มรู้ว่า ทำธุรกิจที่ทำเงินด้วยการรีวิวอย่างเดียวไม่สามารถสร้างการเติบโต ต้องเริ่มมาจับบริการบุ๊คกิ้งมาร์กมากขึ้น ทริปแอดไวเซอร์อาจจะเป็นบุ๊คกิ้งโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกไม่ได้ แต่ทริปแอดไวเซอร์อาจจะเป็นบุ๊คกิ้งร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาจจะได้ก็ได้
ทริปแอดไวเซอร์มีตัวเลือก 3-4 รายในเอเชีย แต่เลือกกามาที่ Eatigo หลังจากเข้าลงทุนในบริษัท TheFork ในยุโรป ซื้อกิจการบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย การเลือกเรือธงในเอชียก็คือ Eatigo
“โชคดีที่เขามาเลือกเรา เงินก้อนแรกที่เราได้รับมาในปลายปี 2016 ตอนนั้น Eatigo มีในประเทศไทยและสิงคโปร์ เราก็ใช้เงินไปเปิดที่มาเลเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ยกเว้นอินเดีย เราเป็นเบอร์ 1 ผู้ให้บริการจองร้านอาหารในทุกประเทศแล้ว และทุกๆ ประเทศที่เราไป เราจะต้องมีความตั้งใจที่จะตลาดเขามาให้ได้ เอาเบอร์ 1 มาให้ได้”
“เดือนที่แล้วเราได้เงินทุนก้อนที่ 2 มา รวมแล้วก็ประมาณ 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 800 กว่าล้านบาท เราก็ตั้งใจที่จะขยายตลาดต่อไป ถ้าเป็น B2C ถือว่า Eatigo เราก็น่าจะใหญ่ที่สุดแล้ว”คุณหลุยส์กล่าว
ตั้งเป้าเติบโตในเอเชีย
การลงทุนครั้งนี้จะเป็นสิ่งช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Eatigo ในฐานะผู้เล่นระดับโลกด้านการจองร้านอาหาร ส่งผลให้ Eatigo สามารถเติบโตในประเทศไทยและอาเซียนได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเติบโตด้านผลิตภัณฑ์และบุกเบิกนวตกรรมทางเทคโนโลยีด้วย
Eatigo เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการจอง บริการต่างๆ ด้านร้านอาหาร มีกิจกรรมและบริการด้านต่างๆ ที่จุดหมายปลายทางทั่วโลก มีพนักงาน 180 คนและกำลังขยายธุรกิจไปอย่างต่อเนื่อง
ไมเคิล คลูเซล ซีอีโอชาวฝรั่งเศสและผู้ร่วมก่อตั้ง Eatigo มองว่า ในฐานะธุรกิจที่ช่วยหาลูกค้าให้กับร้านอาหารต่างๆ ในเวลาไม่เร่งด่วน เพื่อแลกกับส่วนลดพิเศษ จากตัวเลขยอดขายของร้านอาหารในอาเซียนที่แตะในระดับ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015
ร้านอาหารที่เติบโตแข็งแกร่งมีอยู่เพียง 35% ของตลาด เฉพาะในสิงคโปร์ธุรกิจร้านอาหารอย่างเดียวอาจขาดทุนถึง 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี ทำให้ Eatigo ใช้ประโยชน์จากช่องว่างของตลาด นำเสนอบริการแก่ลูกค้าได้
ในส่วนของเงินลงทุนรอบใหม่ Eatigo จะโฟกัสตลาดในเอเชียเป็นหลัก ปัจุบัน Eatigo มีลูกค้ามากกว่า 4 ล้านรายใน 6 ตลาด ตัวเลขนี้รวมฮ่องกง อินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เพิ่งรุกเข้าไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมาด้วย
ในการบุกตลาดอินเดียของ Eatigo ได้มีการควบรวมกิจการกับแอพพลิเคชัน Ressy ที่เป็นสตาร์ทอัพด้านการจองร้านอาหารในอินเดียด้วย
การเข้าร่วมลงทุนของทริปแอดไวเซอร์ รวมทั้งเว็บไซต์การจองร้านอาหาร TheFork นอกจากช่วยด้านเงินทุน ยังช่วยเสริมความแกร่งกับ Eatigo ในเรื่องฐานข้อมูลที่ทริปแอดไวเซอร์มีรายชื่อร้านอาหารมากกว่า 4 ล้านแห่งและ TheFork มีมากกว่า 50,000 แห่งใน 11 ประเทศ
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แชร์ประสบการณ์การวางโครงสร้างองค์กร และแนวทางการร่วมมือกับภาคธุรกิจอีกด้วย
เส้นทางเดินของ Eatigo ที่มีผู้ร่วมลงทุนใหม่ เติบโตไปพร้อมกับคู่แข่งที่มากขึ้น ในระดับภูมิภาคก็จะมีทั้ง Offpeak ในมาเลเซีย ที่เป็นสตาร์ทอัพแนวใกล้เคียงกัน ซึ่งเน้นจองที่นั่งให้กับธุรกิจร้านอาหาร, Chope จากสิงคโปร์ สตาร์ทอัพด้านเดลิเวอรี่ ที่มีแนวคิดว่า แม้จะอยู่ที่บ้าน ก็สามารถรับประทานอาหารที่อร่อยๆ ได้
ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการเติบโตของ Eatigo อาจจะไปตกอยู่ที่ Chope เพราะ Eatigo สามารถขยายการเติบโตข้ามไปยังตลาดของ Chope ได้จากมุมมองของนักวิเคราะห์จาก ecommerceIQ แต่ทริปแอดไวเซอร์เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับ Chope อยู่แล้ว ผู้ใช้ทริปแอดไวเซอร์ในสิงคโปร์ จะถูกนำไปยังเว็บไซต์ของ Chope เมื่อต้องการจองร้านอาหาร ซึ่ง Eatigo จะได้รับประโยชน์เช่นเดียวกันกับ Chope จากการลงทุนครั้งนี้
เจาะใจ Eatigo
ในมุมมองของคุณหลุยส์ สตาร์ทอัพเป็นสิ่งที่ทำค่อนข้างยากมาก ไม่ได้แข่งขันกันแค่ในประเทศ แต่เป้าหมายจะต้องเป็นเบอร์ 1 ในเซาท์อีสต์เอเซียให้ได้ ซึ่งบางครั้งการได้รับทุนจากประเทศ ต้องมีความรู้มากพอที่จะนำไปสร้างการเติบโตได้ในระดับภูมิภาค
“ผู้ลงทุนไม่ต้องการได้เงินกำไรกลับไป เขาจะไม่รอ 10-20 ปีจากการปันผล แต่เขาอยากได้มูลค่าหุ้นกลับไป หน้าที่ของเราคือจะทำอย่างไรให้เขาได้เงินกลับไปเร็วที่สุด แน่นอนว่าเขาต้องเลือกบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด ซึ่งมีตัวเลือกเป็นสิบๆ บริษัท”
“บางคนมีความคิดว่า ได้เงินก็จบแล้ว แต่ได้เงินแล้วก็ยังเจ็งได้ ถ้าคนที่เอาเงินมาไม่มีประสิทธิภาพความรู้พอ บางทีแค่มีทฤษฏีอย่างเดียวไม่ค่อยพอ อย่าลืมว่าเราต้องเฟ้นหาบุคลากรที่มีความรู้ หาบุคลากรที่คุ้นชินกับธุรกิจเติบโตปีละ 6-7 เท่า ซึ่งจะมีสักกี่คน เพราะเป็นธุรกิจใหม่มาก Head Quarter จึงต้องเอาคนจากต่างประเทศ เอามาจากทุกส่วนของโลก”
“มันเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญมาก คู่แข่งต้องกระโดดเข้ามาชนกับแอดทริปไวเซอร์ไม่ใช่ Eatigo จากเมื่อก่อนมีเรามีใน 2 ประเทศ เราไม่มีประสบการณ์รันในลักษณะ Head Quarter ตอนนี้เรามี 6 ประเทศแล้วทริปแอดไวเซอร์เป็นที่ปรึกษาที่ดี นอกจากมีทุนมาให้ เราจะทำให้เขาโต เป็นการก่อร้างสร้างตัวในตลาดโดยที่ Eatigo ไม่ต้องกังวลคู่แข่ง”
“อโกด้า ที่มีธุรกิจออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ทำให้มียอดขายที่มากขึ้น ร้านอาหารมีรายได้มากขึ้น กำไรมากขึ้น นักชิมก็ได้ส่วนลด Eatigo ก็ได้ส่วนลด ธุรกิจการจองร้านอาหารที่ไม่มีส่วนลดจะได้รับผลกระทบ เพราะ Eatigo ให้ผลประโยชน์ต่อลูกค้าได้ดีกว่าอย่างแกร็บก็ไม่มีแท็กซี่ อโกด้าก็ไม่มีโรงแรม Eatigo ก็ไม่มีร้านอาหารเป็นของตัวเอง โลจิสติกส์มีแกร็บ อโกด้าก็มีโรงแรม ส่วน Eatigo เราก็แค่อยากยึดหัวหาดตรงที่มีร้านอาหาร”
“เราไปตรงกับกลยุทธ์ที่ทริปแอดไวเซอร์อยากเปลี่ยนจากเว็บไซต์รีวิวมาเป็นบุ๊คกิ้งมากกว่า วันนี้เราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด Eatigo ในอนาคตจะขายไหม เข้าตลาดฯ ไหม ยังบอกไม่ได้ หน้าที่วันนี้เราทำให้ดีที่สุด แล้วมาดูข้อเสนอ ดูว่าดีที่สุดของธุรกิจไหม ดีสำหรับตัวธุรกิจหรือเปล่า”
“เส้นทางการเติบโตของ Eatigo ยังสามารถขยายธุรกิจได้อีกมากมีการบริหารโต๊ะ มีตัวเซอร์วิสที่ไม่ใช่แค่ร้านอาหารอย่างเดียว คลีนิก สปา ที่มีช่วงเวลาเป็นช่องว่าง ในหลายประเทศที่เราต้องไป เรามีความเชี่ยวชาญในการหาลูกค้า เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า สิ่งที่จำเป็นที่สุด คือขยายไปต่างประเทศให้เร็วที่สุด หรือในประเทศไทยปริมณฑล เราก็ยังไม่ได้ไป ภูเก็ต เชียงใหม่ หัวหิน ก็ยังไม่ได้ไป ยังมีช่องทางในการโตอีกมาก”
“การทำให้ลูกค้าปัจจุบันเปลี่ยนพฤติกรรมการจองให้ถี่ขึ้น เปลี่ยนอารมณ์ผู้บริโภคให้ใช้บ่อยขึ้น เพิ่มฐานเพิ่มจำนวนลูกค้าให้ใช้บริการมากขึ้น ใช้ข้อมูล Big Data เข้ามาช่วย ใช้ตัวเลขเป็นที่ตั้ง ทุกอย่างเป็นตัวเลขหมด การวิเคราะห์คุณภาพของร้านอาหารหรือโปรโมชั่น”
คุณหลุยส์กล่าวว่า อาจจะต้องมีการใช้เงินเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้อัตราการเติบโตของบริษัทเป็นเส้นตรง
“สตาร์ทอัพมีระบบคิดที่ไม่ค่อยเหมือนธุรกิจปกติทั่วไปเท่าไหร่ มันกลับสลับด้านกันมากกว่า คนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญของสตาร์ทอัพมาก ทำธุรกิจเป็นเหมือนเอสเอ็มอี จะมีปัญหาไปไม่รอด มันยากมากจริงๆ”
“อยากจะฉายภาพ ต้องบอกว่าเป็นธุรกิจที่ต้องขึ้นหลังเสือ เป็นธุรกิจที่ไม่อยู่ได้ที่กำไร แต่อยู่ได้ที่การเติบโต อย่าลืมว่า ได้เงินมา 800 ล้านบาท บริษัทเราก็เป็นหนี้ 800 ล้านบาท ในขณะที่เจ้าหนี้บอกว่าต้อง Growth Growth แล้วก็ Growth! ทุกครั้ง ซึ่งกดดัน มีคนถามผมว่า เคยคิดไหมว่าบริษัทจะเติบโตมาได้ขนาดนี้ มันไม่มีทางเลือก ถ้าเป็นธุรกิจธรรมดา คนก็ไม่มาลงทุน”
“เราจะต้องเป็นเบอร์ 1 ของเอเซีย ไม่งั้นเขาก็ไม่มาลงทุน “จะต้อง” เป็นธุรกิจที่มรีอัตราเติบโตตลอดเวลา เราไม่ได้ทำเพื่อกำไร แต่เราทำเพื่ออัตราการเติบโตของบริษัท Eatigo ช่วยหาลูกค้าให้ร้านอาหารในเวลาที่ไม่เร่งด่วน ร้านไหนมีโต๊ะว่าง เราสามารถทำกำไรให้โต๊ะว่าง ทุกร้านต้องมีโต๊ะว่าง ทุกร้านมีค่าน้ำค่าไฟ มีค่าแรงงานต้องจ่าย โต๊ะว่างนี้สร้างกำไรให้คุณศูนย์บาท แต่ถ้าคุณรับโต๊ะว่างตัวนี้จะสร้างกำไรให้คุณได้ดีกว่าศูนย์บาทแน่นอน สิ้นเดือนคุณจะได้กำไรจากการทำกับ Eatigo แน่นอน”
Eatigo มีร้านอาหาร 4,000 แห่งใน 6 ประเทศ ส่งลูกค้าไปเกือบ 2 ล้านคนทั่วโลกต่อเดือน อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และอีกหลายประเทศภายในปีนี้
เป็นเจ้าของร้านอาหารใช่ไหม? เข้าร่วมกับเรา Eatigo