จากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมดุเดือดอย่างไม่ต้องมีข้อสงสัย นี่ยังไม่รวมถึงความร้อนแรงในประเด็นการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยียุค Digital Transformation ซึ่งแทบทุกอุตสาหกรรมล้วนได้รับผลกระทบ แต่ประเด็นนี้ “dtac” ประกาศสวนกระแส ด้วยการตั้งเป้าจ้างงานตำแหน่งดิจิทัลเพิ่ม 200 ตำแหน่งภายในปี 2563 ภายใต้เป้าหมายบริหารขนาดองค์กรให้มีตำแหน่งประจำไม่เกิน 4,000 ตำแหน่ง!!!
“dtac มีการเติบโตด้านดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา เป็นไปตามแผนกลยุทธ์องค์กรสู่การเป็นแบรนด์ดิจิทัลในปี 2563 จากแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นและดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของไทย ทำให้บริษัทปรับตัวเองมุ่งสู่การเป็นแบรนด์ดิจิทัลที่ลูกค้าชื่นชอบภายในปี 2563 ภายใต้ตั้งเป้าหมายในการสร้างรายได้จากช่องทางดิจิทัลเป็น 35% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนแบบซิงเกิลดิจิหรือตัวเลขหลักเดียว รวมถึงงานบริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลเป็น 95% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเท่าตัว ขณะที่งบการตลาดก็จะถูกโยกไปยังช่องทางดิจิทัลถึง 65% หรือมากกว่าปัจจุบันราว 3 เท่าตัว” นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว
อย่างไรก็ตาม การทำการตลาดออนไลน์ผ่านนวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตลอดจนกระตุ้นการใช้งานและบริการให้ดีขึ้น ทั้งทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น ทำให้ปีที่ผ่านมาการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น dtac เพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การเพิ่มยอดขาย (upselling) จากแอป dtac มีสัดส่วนที่ 60% โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงความสำคัญในการพัฒนาช่องทางดิจิทัลให้ดีขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้งานในอนาคต ทำให้ dtac ต้องเพิ่มตำแหน่งงานด้านดิจิทัลอีกกว่า 200 ตำแหน่งในปี 2563 ขณะเดียวกัน ดีแทควางแผนที่จะปรับเพิ่มและลดการลงทุนในหลายด้าน ปรับรูปแบบการจัดการในองค์กร และลดความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการการทำงาน เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัวและพนักงานมีศักยภาพในการทำงานมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าหมายการบริหารขนาดขององค์กรให้มีตำแหน่งงานประจำจำกัดจำนวนไว้ไม่เกิน 4,000 คนในปี 2563
นอกจากนี้ dtac ยังได้ประกาศผลประกอบการปี 2560 โดยระบุว่า ณ สิ้นปี 2560 dtac มีฐานลูกค้า 22.7 ล้านราย โดย 98% ลงทะเบียนอยู่ภายใต้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือดีแทค และถือใบอนุญาตใช้คลื่น 2100 MHz จาก กสทช. โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการ 4G เพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ล้านราย ส่วนอัตราการใช้งานอุปกรณ์โทรศัพท์ที่รองรับเทคโนโลยี 4G เพิ่มขึ้นเป็น 51%
dtac ยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในการขยายโครงข่าย โดยเพิ่มจำนวนสถานีฐานภายใต้ระบบใบอนุญาตขึ้น 32% ในปี 2560 ครอบคลุม 94% ของจำนวนประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ dtac กำลังรอการอนุมัติเพื่อเปิดให้บริการไร้สายความเร็วสูงบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มจำนวนแบนด์วิดท์สำหรับบริการ 4G
ส่วนรายได้การให้บริการ (ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย) ในปี 2560 อยู่ที่ 64,800 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.2% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบริการข้อมูล สะท้อนถึงการขยายตัวและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยซึ่งยังคงขยายตัวและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน dtac ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้และก้าวขึ้นเป็นดิจิทัลแบรนด์อันดับ 1 ของประเทศไทยภายในปี 2563 ซึ่งเราจะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเข้าสู่รูปแบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาบริการให้ตรงความต้องการลูกค้า พร้อมกับลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการให้บริการผ่านหน้าร้านแบบเดิม เราคาดหวังว่าลูกค้าจะเพิ่มการยอมรับรูปแบบและช่องทางการให้บริการดิจิทัลของเรามากขึ้น
“ผลประกอบการในปี 2650 ค่อนข้างใกล้เคียงกับการคาดการณ์ เชื่อว่าปี 2561 จะเป็นปีที่สำคัญมากสำหรับ dtac เนื่องจากสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่จะสิ้นสุดลง เรามุ่งมั่นจะจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายในการให้บริการดิจิทัลที่ดีที่สุดให้ลูกค้า โดย dtac ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการร่วมปรึกษาหารือและให้คำแนะนำแก่ กสทช. และภาครัฐในการจัดการประมูลคลื่นความถี่จากสัญญาสัมปทานที่หมดลง ขณะเดียวกัน เราจะลงทุนในโครงข่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริการข้อมูล และสร้างคุณค่าสูงสุดให้แก่ลูกค้า พร้อมทั้งมุ่งเดินหน้าเพื่อก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยคาดว่าปี 2561 จะใช้งบประมาณลงทุนราว 15,000-18,000 ล้านบาท”.