ในสายธุรกิจอื่นอาจต้องมีการปรับตัว เพื่อตั้งรับการมาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และปรับเปลี่ยนเพื่อเลี่ยงภาวะการหยุดชะงักทางธุรกิจ แต่สำหรับ dtac แล้ว ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่มีความท้าทายเกิดขึ้นหลายประการ ซึ่งถูกสะท้อนผ่านรายงานผลประกอบการประจำปี 2561
สิ้นปี 2561 dtac มีฐานลูกค้า 21.2 ล้านเลขหมาย ลดลง 1.5 ล้านเลขหมายจากเดิม
ลูกค้ารายเดือนเพิ่มขึ้น สวนทางลูกค้าเติมเงินหด!
จำนวนลูกค้าที่ปรับลดลง เป็นผลจากฐานลูกค้าระบบเติมเงิน (Prepaid) ลดลง แต่ฐานลูกค้าระบบรายเดือน (Postpaid) ยังคงมีการเติบโตอยู่บ้าง โดยสัดส่วนลูกค้าปัจจุบัน dtac มีลูกค้าในระบบเติมเงินรวม 15.1 ล้านเลขหมาย แม้จะลดลงจากเดิมถึง 1.9 ล้านเลขหมาย และมีลูกค้าระบบรายเดือน 6.1 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นราว 4 แสนเลขหมาย ภายใต้การลงทะเบียนกับ DTN (ดีแทค ไตรเน็ต) บริษัทในเครือ dtac
มั่นใจคุณภาพ เครือข่ายเพียงพอให้บริการ – ลูกค้าได้ประสบการณ์ดีขึ้น
ในแง่การพัฒนาเครือข่าย dtac แจ้งว่าการให้บริการ dtac-T Turbo ได้คืบหน้ากว่าแผนที่วางไว้โดยในปีที่ผ่านมา มีการติดตั้งสถานีฐานเสร็จสมบูรณ์ 12,700 สถานี เพิ่มขึ้นกว่า 7,900 สถานี ส่วนการพัฒนาโครงข่าย 2100 MHz ก็ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณและความจุโครงข่าย ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ 94% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม การทำตลาดในอนาคต dtac ยังมีความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ในการโรมมิ่งเพื่อให้บริการบนคลื่น 2300 MHz เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับ dtac หลังจากชนะการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ในปีที่ผ่านมา
ส่วนประเด็นคลื่นความถี่ในระบบสัมปทานที่สิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์เมื่อ 16 ธันวาคม 2561 นั้น dtac ยังคงเชื่อมั่นว่าจำนวนคลื่นความถี่ที่มีอยู่ รวมถึงความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทั้ง TOT และ CAT หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสัญญาเช่าใช้เสาสัญญาณและโครงสร้างพื้นที่ฐานสำหรับโครงข่ายในระยะยาวร่วมกัน โดยทั้งหมดนี้ dtac มั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มความจุโครงข่ายและปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าในปี 2562 ได้
ช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทาน กระทบรายได้!
สำหรับปี 2561 รายได้จากการให้บริการไม่รวม IC ลดลง 2.8% ขณะที่ EBITDA margin และ CAPEX อยู่ที่ 37.9% และ 1.95 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ การลดลงของรายได้จากการให้บริการมีผลจากความไม่แน่นอนในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการสิ้นสุดระบบสัมปทาน รวมถึง การลดลงของรายได้จากบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ (IDD) การจัดระเบียบการให้บริการ CPA เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
นอกจากนี้ EBITDA (ก่อนรายการอื่นๆ) ลดลง 6.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก OPEX ของโครงข่ายที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายโครงข่าย และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างต้นทุนหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน อาทิ ค่าโรมมิ่งของโครงข่าย 2300 MHz ร่วมกับ TOT ค่ามาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 15 ธันวาคม 2561 และค่าเช่าเสาสัญญาณ และโครงสร้างโครงข่ายพื้นฐานจาก CAT โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้บางส่วนได้ถูกชดเชย จากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการขาย การตลาด และการบริหารงานทั่วไป
ยอมรับ…ขาดทุน 4.4 พันล้านบาท
จากผลของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการบรรลุข้อตกลงระงับข้อพิพาทกับ CAT จำนวน 9.5 พันล้านบาท ได้ถูกชดเชยบางส่วนจากค่าใช้จ่ายจากการเสื่อมราคาและการตัดจำหน่ายที่ลดลงหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทำให้ผลประกอบการประจำปี 2561 มีผลขาดทุนจำนวน 4.4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดจากการดำเนินการ (EBITDA – CAPEX) ยังคงแข็งแกร่งโดยมีจำนวนอยู่ที่ 8.9 พันล้านบาทท่ามกลางการลงทุนอย่างมากในโครงข่าย นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ที่ 1.2x และมีเงินสดอยู่ที่ 1.41 หมื่นล้านบาท
คุณอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac อธิบายว่า ด้วยระบบสัมปทานที่สิ้นสุดลงและปีประวัติศาสตร์แห่งการลงทุนด้านโครงข่ายในการขยายพื้นที่การครอบคลุมสัญญาณ และความจุของโครงข่ายทั้งบนคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ที่ผ่านมา เราได้วางรากฐานที่ดีสำหรับการเติบโตในอนาคต และมีความมุ่งมั่นที่จะกลับไปสู่การเติบโตในปี 2562 โดยยังคงมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เราจะทำการปรับปรุงโครงข่าย และประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ดีแทคอย่างต่อเนื่อง
คุณดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน dtac กล่าวว่า โครงสร้างต้นทุนของบริษัทเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นค่าใช้จ่ายชั่วคราวจากมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 15 ธันวาคม 2561 ค่าธรรมเนียมและต้นทุนการดำเนินงาน Regulatory costs ได้ลดลงอย่างมากเนื่องจากการที่ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้ให้กับ CAT อีกต่อไป นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่งโครงข่ายบนคลื่น 2300 MHz ของ TOT และค่าเช่าเสาสัญญาณ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลเล็กน้อยต่อผลการดำเนินงานของดีแทคในปี 2561 และจะมีผลเต็มที่ในปี 2562 นี้