ถือเป็นต้นแบบตำนาน “วัยรุ่นพันล้าน” ที่นำแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” กับการก้าวสู่ปีที่ 20 แบรนด์ของทานเล่นที่สร้างมูลค่าสูง ซึ่งคงไม่ไปเล่าเรื่องราวของการสร้างแบรนด์ของ คุณต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จํากัด (มหาชน) เพราะอย่างที่สร้างการสร้างแบรนด์ที่ว่ายากแล้ว การยังคงรักษาแบรนด์ให้ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยิ่งยากกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเถ้าแก่น้อยต้องฝ่าฟันวิกฤติที่โลกนี้ยังไม่เคยพบพานอย่างวิกฤติโรคระบาด ซึ่งทำให้ร้านค้าอย่าง เถ้าแก่น้อยแลนด์ (Taokaenoi Land) ต้องปิดตัวเองไปในช่วงที่เกิดวิกฤติ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายประกอบกับสถานการณ์การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัว เถ้าแก่น้อยก็กลับมาเดินเกมรุกใหม่อีกครั้ง ภายใต้กลยุทธ์ 3GO ที่เน้นตลาดต่างประเทศที่มีโอกาสเติบโต
เปิดกลยุทธ์ 3GO บุกตลาดโลก
ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาด เถ้าแก่น้อยมีการเดินกลยุทธ์ GO แรกไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยเป็นกลยุทธ์ GO Firm ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะเน้นตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออก อย่างเช่น โรงงานผลิตที่มีการผลิตที่ซ้ำซ้อนก็ลดสายการผลิตเพียงที่เดียว หรือผลิตภัณฑ์ใดที่ไม่สามารถสร้างรายได้ก็ยุติการผลิต โดยมีเป้าหมายในการสร้างองค์กรให้ Lean ที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยให้การควบคุมดูแลทำได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

ขณะที่กลยุทธ์ GO Board ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในปีนี้ โดยจะเน้นการขยายตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์สาหร่ายทุกเซ็กเม้นท์ไปยังประเทศที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตสูงใน 10 ประเทศ โดยมี 5 ประเทศหลักที่จะเป็น Priority อย่าง สหรัฐฯ, จีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และ เวียดนาม รวมถึงการขยายตลาดในประเทศไทยให้ครอบคลุมและแข็งแรงมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เถ้าแก่น้อยหันมาบริหารจัดการด้านการกระจายสินค้าด้วยตัวเอง
“สำหรับในตลาดต่างประเทศจะเน้นใช้กลยุทธ์ที่เจาะเข้าถึงใกล้ชิดผูบริโภคให้มากที่สุดในรูปแบบ Personalize ผ่านการใช้ Data ซึ่งการเข้าถึงตลาดต่างประเทศจะไปในรูปแบบความร่วมมือกับพันธมิตรในท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้มี Data ของตลาดอยู่แล้ว รวมไปถึงการมองหา Data ที่สามารถซื้อได้ เพื่อนำมาใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ์ในแต่ละประเทศนั้นๆ”
โดยเมื่อช่วงต้นปีเถ้าแก่น้อยได้แต่งตั้งพันธมิตรศูนย์กระจายสินค้า 14 ราย เสริมความแข็งแกร่งด้านช่องทางเทรดดิชั่นเนลเทรดทั่วประเทศให้ลึกขึ้น ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ Go Global ที่จะเน้นให้เน้นการสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็น Global Brand มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวางจำหน่ายในช่องทางชั้นนำทั่วโลกอย่าง Hema, Ole, Walmart เป็นต้น รวมถึงการนำกลยุทธ์ด้าน ESG เข้ามาดำเนินการด้วย
คืนชีพ “เถ้าแก่น้อยแลนด์”
อย่างที่กล่าวไปแล้วช่วงต้น หลังเกิดวิกฤติโรคระบาดหนึ่งในธุรกิจของเถ้าแก่น้อยที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “เถ้าแก่น้อยแลนด์ (Taokaenoi Land)” เนื่องจากนักท่องเที่ยวในช่วงเวลานั้นเป็นศูนย์ ส่งผลให้เถ้าแก่น้อยแลนด์ไม่สามารถสร้างรายได้และนำมาสู่การปิดตัวลง จนกระทั่งสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย ตลาดการท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น
ส่งผลให้ภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยที่มีทิศทางการฟื้นตัวที่รวดเร็ว และการที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมาก ถือเป็นสัญญาณทางธุรกิจที่ดี ทำให้เถ้าแก่น้อยเริ่มกลับมาปัดฝุ่นธุรกิจและมีแผนการขยายเถ้าแก่น้อยแลนด์ อาณาจักรสาหร่ายเถ้าแก่น้อยในรูปแบบแบบ One Stop Shopping โดยจะกลับมาพร้อมกับ 2 รูปแบบ
โดยรูปแบบแรกจะเป็นร้านในรูปแบบเดิม แต่จะเน้นขายสินค้าของเภ้าแก่น้อยเป็นหลัก โดยคุณต๊อบมองว่า สินค้าอื่นๆ ที่เคยนำมาขายในร้านสามารถหาซื้อได้ที่ร้านสะดวกซื้อทั่วไป ไม่จำเป็นต้องนำมาเข้ามาขายในเถ้าแก่น้อยแลนด์และยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ GO Firm จะกลับมาเปิดอย่างเป็นทางการที่แรกในเอเชียทีค ขณะที่รูปแบบที่ 2 จะเป็นแบบ Corner โดยเล็งเปิดในพื้นที่ดอนเมือง โดยคาดการณ์ว่าสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูงถึง 30 ล้านคนในปี 2566
พัฒนาต่อเนื่องตอบความต้องการ
สำหรับในด้านกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เถ้าแก่น้อยยังคงเน้นการสร้างสินค้าที่เกี่ยวกับสาหร่ายใหม่ๆ ทั้งในเรื่องของรสชาติและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์และผลักดันตลาดให้เติบโตต่อเนื่องในฐานะเป็นผู้นำตลาด เช่น การออกสาหร่ายย่างแนวแผ่นหยักรายแรกในตลาดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ “เถ้าแก่น้อย Wave” โดยเฉพาะในปีนี้ที่ผลิตภัณฑ์รูปแบบ “อบ” จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดมีความต้องการสูง
ซึ่งเถ้าแก่น้อยได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์สาหร่ายอบแผ่นยาวแนวใหม่ ภายใต้ชื่อ “เถ้าแก่น้อย Long Sheet” ที่มาเสริมตลาดอบให้เติบโตยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเถ้าแก่น้อยยังให้ความสำคัญกับเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Organization) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานตามแผน ESG (Environment, Social และ Governance) ทั้งด้านวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในอนาคต
นอกจากนี้เถ้าแก่น้อยยังมีแผนการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ GO Firm ตั้งแต่เรื่องการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในโรงงานผลิตทั้งหมดเพื่อลดการใช้พลังงานหลัก และยังมีการจับมือร่วมกับ SCG Chemical ในการค้นคว้าวิจัยพัฒนาการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ดีขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมเรื่องการปลูกสาหร่ายในเกาหลีที่จัดว่าเป็นพืชน้ำที่ดีต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและช่วยเติมออกซิเจนให้กับน้ำได้เป็นอย่างดี เป็นต้น
เดินหน้ารุก Event ผ่าน Idol Marketing
เรียกได้ว่า อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เถ้าแก่น้อยทำมาโดยตลอด นั่นคือ Idol Marketing เพื่อสร้างการจดจำและสร้างรับรู้ในวงกว้างผ่านแบรนด์แอมบาสเดอร์ โดยเน้นรูปแบบการเป็น Trend Setter ในกระแสเสมอและการจับกระแส Trend Catcher หรือการจับกระแสความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคอยู่เสมอ พร้อมสร้างสรรค์กิจกรรมนำเสนอสิ่งที่สนุกเข้ากับกระแสและเทรนด์ของผู้บริโภคเพื่อให้แบรนด์ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ
โดยล่าสุดเถ้าแก่น้อยได้รวมตัว 3 แบรนด์แอมบาสเดอร์อย่าง “กลัฟ คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์, ซี พฤกษ์ พานิช และ นุนิว ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์” ซึ่งทั้ง 3 คนมีคาแรคเตอร์ที่เข้ากับแบรนด์ทั้งในเรื่องภาพลักษณ์ ความเป็นที่นิยมต่อกลุ่มเป้าหมายและความแปลกใหม่ สามารถเป็นตัวแทนแบรนด์ได้อย่างเหมาะสม และทำงานร่วมกันได้อย่างสนุกสนาน พร้อมสร้างประสบการณ์และส่งมอบความสุขให้กับผู้บริโภคอยู่เสมอ
ที่สำคัญ เถ้าแก่น้อยยังได้ทุ่มงบจัดอีเวนต์ใหญ่ใจกลางเมือง เพื่อนำเสนอเรื่องราวการเดินทางของเถ้าแก่น้อยจากสาหร่ายแบรนด์ไทยที่ขยับขยายสู่หลายประเทศทั่วโลก พร้อมสร้างความมั่นใจในเรื่องคุณภาพและความอร่อย ความแปลกใหม่ และการสร้างความสุขให้กับผู้บริโภคเสมอ เน้นสร้างสีสันให้กับชีวิตผ่านการใช้ชีวิตในไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งเข้ากับ Brand Essence ของเถ้าแก่น้อย ที่เน้น Live Deliciously ใช้ชีวิตอย่างมีรสชาติและตอกย้ำคุณภาพและผู้นำสาหร่าย พร้อมเปิดประสบการณ์ร่วมสนุกกับแบรนด์แอมบาสเดอร์
สำหรับผลิตภัณฑ์สาหร่ายยังคงเป็นกลุ่มสินค้าหลักของเถ้าแก่น้อย โดยสัดส่วนสินค้าประเภทสาหร่ายแบ่งเป็น สาหร่ายทอดมีสัดส่วน 55% ของตลาด ขณะที่สาหร่ายอบมีสัดส่วน 30% และสาหร่ายย่างมีสัดส่วน 13% พร้อมผลักดันตลาดสาหร่ายอบให้โตต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าความเป็นผู้นำตลาดในทุกเซ็กเม้นท์ นอกจากนี้ยังเตรียมแผนพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมใหม่เพื่อตอกย้ำการทำการตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ เล็งเป้าเติบโตตลาดรวมสาหร่ายในประเทศไทยไว้ที่ 20% และการเติบโตของธุรกิจในภาพรวมที่ 15%