บุคลากรรัฐต้องทักษะดิจิทัลแน่น ‘DE’ เล็งผุด Data Center ควบ Cyber Security ขับเคลื่อนประเทศ

  • 107
  •  
  •  
  •  
  •  

700

คำว่า Digital Transformation กลายเป็นคำที่องค์กรต่างๆ ต้องตื่นตัวและให้ความสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่ง ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้เน้นย้ำถึงประเด็นดังกล่าว ในงานการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล กุญแจสำคัญในการยกระดับทักษะดิจิทัลข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ที่จัดโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ว่า “ปีนี้จะเป็นปีแห่งการขับเคลื่อนดิจิทัลของไทย”

โดย ดร.พิเชฐ กล่าวถึงแนวคิดขับเคลื่อนดิจิทัลว่า จากที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ (TDGA : Thailand Digital Government Academy) เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ให้ผู้ที่ผ่านการอบรมเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐที่สามารถนำนวัตกรรมมาปรับปรุงการให้บริการหรือพัฒนา การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนอย่างเป็นระบบ รวมถึงสร้างคุณค่าจากข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

1

“เป้าหมายในการเป็นรัฐบาลดิจิทัลก็เพื่อยกระดับความสามารถเชิงดิจิทัลภาครัฐไทย บนพื้นฐาน 4 ด้าน คือ บูรณาการภาครัฐ ดำเนินงานแบบอัจฉริยะ ให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การเชื่อมโยงข้อมูล บริการ และดำเนินงานเพื่อประสิทธิภาพในการให้บริการและปฏิบัติงานของภาครัฐทั้งในระดับหน่วยงานย่อยไปจนถึงระดับกระทรวง ซึ่งแต่ละหน่วยงานจำเป็นต้องมีความเข้าใจเทคโนโลยีอย่างแท้จริงเพื่อสร้างประโยชน์ ซึ่งภายในปีนี้อาจมีการผลักดันให้เกิด Data Center ในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางดูแล Big Data จากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอาจไม่สามารถจัดเก็บหรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำ Data Center ของหน่วยงานตนเองได้”

หนุนไทยมี Cloud Service และ Cyber Security Agency

จากเป้าหมายที่กล่าวไปข้างต้นสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งหมายถึง Government Integration , Smart Operation , Citizen-centric Service , Transformation รวมถึง Data Center กระทรวง DE ยังต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยมี Cloud Service ที่มีความปลอดภัย รวมถึงการสร้าง Cyber Security Agency เพื่อดูแลความปลอดภัยข้อมูลในประเทศไทย พร้อมต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางอาเซียนในการฝึกอบรมบุคลากรด้านไซเบอร์

2561 ปีแห่งการขับเคลื่อนดิจิทัลของไทย

ภายใต้คำว่า Digital Thailand ประเทศไทยควรจะพัฒนาสู่ Digital ด้านอื่น อาทิ Digital Government , Smart City , Digital IoT เป็นต้น พร้อมด้วยเป้าหมายในการสนับสนุนโครงการเน็ตประชารัฐให้เข้าถึงหมู่บ้านต่างๆ ให้ครบ 30,000 แห่งและจัดอบรมทักษะดิจิทัลให้ประชาชนทั่วประเทศ 1 ล้านคน

2

ขณะที่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ EGA ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า TDGA ได้นำโปรแกรมการเปลี่ยนผ่านบริการภาครัฐสู่ยุคดิจิทัลซึ่งเป็นโปรแกรมอบรมเชิงปฏิบัติการที่นำโจทย์การบริการจริงมาปฏิบัติการค้นหาความต้องการของผู้บริโภคมาใช้หลักการแบบ Service Design และ Agile Development โดยมี 5 หน่วยงานนำร่องในโครงการ Digital Transformation อาทิ กรมสรรพากร , กรมการจัดหางาน , กรมพัฒนาธุรกิจการค้า , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ทั้งนี้ 5 หน่วยงานในโครงการนำร่อง Digital Transformation ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ดังนี้…

3

กรมสรรพากร : แอประบบบริจาคเงินผ่าน QR Code

สำหรับระบบเงินบริจาคผ่าน QR code ผ่านแอป e-donation QR Code จะทำให้ประชาชนที่ใช้บริการสามารถบริจาคเงินผ่าน Internet Banking ด้วยการกรอกรหัส เลือกบริจาคเงินผ่านศาสนสถาน สถานศึกษา โรงพยาบาล หรือ องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ต้องการ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการบริจาคเงินทั้งในส่วนของธนาคารและกรมสรรพากร เพื่อสะดวกในการนำมาใช้ลดหย่อนภาษี โดยขณะนี้มีการจัดนำร่องทดลองบริการด้วยการบริจาคให้วัดพระบาทน้ำพุผ่านธนาคารกรุงไทย

กรมการจัดหางาน : แอป Job Teen

จากความนิยมใช้งานสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์เป็นเครื่องมือหลักในการหางานของคนในปัจจุบัน กรมการจัดหางานจึงพัฒนาเครื่องมือเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในการจัดหางานแก่คนรุ่นใหม่ผ่านแอป Job Teen ด้วยแนวคิดหางานได้…สนุกไม่เครียด จากฟีเจอร์แจ้งผลว่า Resume ผ่านการคัดเลือกหรือไม่ ,​ หน่วยงานใดกำลังเปิดรับสมัครงาน พร้อมคำนวณค่าเดินทางแก่ผู้ใช้งาน , มีทีมพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในการจัดหางาน , อัพเดทระบบอยู่ตลอด , จัดเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัย โดยจะจัดส่งข้อมูลผู้สมัครให้เฉพาะนายจ้างที่แจ้งรายละเอียดตรงกับคุณสมบัติของผู้สมัครเท่านั้น โดยกรมการจัดหางานตั้งเป้าผู้ใช้งานหลังจากเปิดให้บริการปีแรก 1 แสนคน จากความรวดเร็วที่ทำให้ผู้สมัครงานได้งานเร็วขึ้น และผู้ประกอบการก็สามารถประหยัดต้นทุนในการสรรหาบุคลากรได้ด้วย

4

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า : แอป BizData ระบบคลังข้อมูลธุรกิจ

เนื่องจากบริการทางข้อมูลกลายเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในธุรกิจ และปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการขนาดเล็กก็ยังขาดความเชี่ยวชาญในการเข้าถึงฐานข้อมูลทางธุรกิจ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 97% (6.8 แสนราย) ของจำนวนนิติบุคคลทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย โดย BizData จะทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและแสดงผลให้ง่ายต่อความเข้าใจ เพื่อความสะดวกในการนำข้อมูลไปใช้และเข้าถึงข้อมูลทางธุรกิจแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งเป้ามีผู้ประกอบการรายย่อยราว 10% เข้ามาใช้บริการภายใน 1 ปีหลังเปิดตัว

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ : แอป UCMe ตรวจสอบสิทธิ์และเปลี่ยนหน่วยบริการ

ปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติราวๆ 48 ล้านคน ดังนั้นแอป UCMe จึงพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้สามารถตรวจสอบสิทธิ์ออนไลน์ เปลี่ยนโรงพยาบาล ตรวจสอบผลอนุมัติผ่านแอป พูดคุยกับแชทบอท ข่าวประกาศ บริการสายด่วน เป็นต้น และในอนาคตอาจขยายสู่การเพิ่มรายละเอียด การแพ้ยา , ประวัติการรักษา , ใบส่งตัว เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้สิทธิ์การรักษาแบบ 30 บาท

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน : อนุมัติให้การส่งเสริมแบบอัตโนมัติ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต้องการสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมแบบอัตโนมัติ โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งตามปกติอาจใช้เวลาตั้งแต่ 15-90 วัน สู่ขั้นตอนที่ถูกพัฒนาให้ง่ายขึ้น 3 รูปแบบ คือ เลือกประเภทเงื่อนไข พร้อมผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนด และออกบัตรส่งเสริม.


  • 107
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน