องค์กรไทยควรทำ Digital Transformation อย่างไร? เมื่อทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกกำลังตื่นตัว

  • 30
  •  
  •  
  •  
  •  

ใครๆ ก็รู้ว่าความสำคัญของภาคธุรกิจยุคนี้ คือ การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ หากคิดจะ Digital Transformation คุณรู้วิธีปรับตัวที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณหรือยัง และมองเห็นโอกาสจากเทรนด์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

เรื่องนี้ ไมโครซอฟท์ และไอดีซี เอเชียแปซิฟิก ได้เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจกับ “รายงานปลดล็อคโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล” ถึงแม้คุณจะยังไม่เห็นความสำคัญของการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล แต่เรื่องราวเหล่านี้คือเทรนด์สำคัญที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรตกขบวน!

Retouch 8 re

“แม้คลาวด์จะเป็นเทคโนโลยีที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่ในหลายๆ ประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับบิ๊กดาต้ามากกว่า สะท้อนถึงความสำคัญของเทรนด์ดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทและตอบโจทย์ธุรกิจมากขึ้น” คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับรายงานปลดล็อคโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล เป็นการรวบรวมความเห็นจากผู้บริหารในองค์กรขนาดกลางและใหญ่ราว 1,560 ท่าน ใน 15 ประเทศและเขตการปกครองทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยข้อมูลสำคัญจากรายงานฉบับดังกล่าวได้สะท้อนว่า การทำ Digital Transformation ของภาคธุรกิจ จะสามารถเพิ่ม GDP ให้ประเทศไทยสูงกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.82 แสนล้านบาท) ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า และยังสามารถขับเคลื่อนการเติบโต GDP เฉลี่ย 0.4% ต่อปี นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่ากระบวนการ Digital Transformation ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้นในอนาคต ขณะที่ผลิตภัณฑ์และบริการที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งอุปกรณ์พกพาคลาวด์ IoT และปัญญาประดิษฐ์ AI สามารถสร้างมูลค่า GDP ให้ประเทศไทยได้ราว 4% เท่านั้น แต่คาดว่าจะกลายเป็น 40% ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า

ทั่วเอเชียแปซิฟิกตื่นตัวคว้าโอกาสเติบโต

จากรายงานวิจัยฉบับดังกล่าวพบว่า 82% ขององค์กรในไทยได้เริ่มเดินหน้า Digital Transformation แล้ว แต่หากมองภาพรวมระดับภูมิภาคกลับมีเพียงแค่ 7% ที่มีศักยภาพและกลยุทธ์เชิงดิจิทัลอยู่ในระดับผู้นำ และเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรในกลุ่มผู้ตาม พบว่าผู้นำเชิงดิจิทัลจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปธุรกิจมากกว่าองค์กรในกลุ่มผู้ตามประมาณ 1 เท่าตัว และช่องว่างดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มขึ้นในปี 2563

1

องค์กรระดับผู้นำและผู้ตาม แตกต่างกันอย่างไร…?

ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวยังระบุให้เห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างองค์กรในระดับผู้นำและผู้ตามเชิงดิจิทัล ได้แก่

– องค์กรกลุ่มผู้นำจะให้ความสนใจกับคู่แข่งและเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่า เนื่องจากระบบเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้เปิดทางให้กับคู่แข่งทางธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่เช่น AI ที่เข้ามาพลิกโฉมรูปแบบการทำธุรกิจในหลายมิติ

– ความคล่องตัวในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เรื่องนี้คือปัจจัยสำคัญสำหรับองค์กรในระดับผู้นำ ขณะที่กลุ่มผู้ตามมักมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและศักยภาพในการทำกำไร

– องค์กรหลายรายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเริ่มหันมาวัดผลการปฏิรูปธุรกิจดิจิทัลด้วยเกณฑ์วัดผล (KPI) ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ประสิทธิภาพของระบบงาน การใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์กับผลประกอบการ และการเสริมสร้างความผูกพันของลูกค้ากับองค์กร ซึ่งวัดได้ด้วยระบบคะแนน Net Promoter Score (NPS) เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว องค์กรในระดับผู้นำมีความสนใจในด้านการใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มรายได้ เสริมประสิทธิภาพการทำงาน และพลิกรูปแบบการทำธุรกิจมากกว่าองค์กรในกลุ่มผู้ตาม

– องค์กรในกลุ่มผู้นำเล็งเห็นถึงและเข้าใจในอุปสรรคบนเส้นทางการปฏิรูปธุรกิจมากกว่า นอกจากประเด็นปัญหาด้านการขาดทักษะและความปลอดภัยเชิงไซเบอร์แล้ว องค์กรระดับผู้นำยังตระหนักถึงความจำเป็นในการเสริมศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการแข่งขันในตลาด

– องค์กรระดับผู้นำต่างสนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยี AI และ IoT ในปีนี้ ทั้งยังมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนในด้านศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลสูงกว่าองค์กรในกลุ่มผู้ตามอีกด้วย

2

4 กฎเหล็กสู่ความสำเร็จแบบ Digital Transformation

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ยังแนะนำให้องค์กรต่างๆ เดินหน้าสู่ความเป็นผู้นำบนเส้นทาง Digital Transformation ภายใต้กลยุทธ์ที่สำคัญ 4 ข้อ ดังนี้…

1. วางรากฐานวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล

ต้องพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในอย่างแน่นแฟ้น ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและคู่ค้าหลากหลายราย โดยองค์กรสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจได้ในหลายด้าน จนทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งลูกค้าและคู่ค้าได้ดียิ่งขึ้น

2. พัฒนาระบบนิเวศเชิงข้อมูล

ในยุคดิจิทัลที่มีกระแสข้อมูลมากมายจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร สิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรก้าวสู่ความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัลก็คือการแปรรูปข้อมูลเหล่านี้ให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า และการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กรในรูปแบบที่เปิดกว้างและปลอดภัยควบคู่กันไป นอกจากนี้ การวางกลยุทธ์ด้านข้อมูลให้เหมาะสมกับแนวทางการปฏิบัติงานจะช่วยให้องค์กรสามารถเริ่มต้นพัฒนาระบบ AI ของตนเองได้ เพื่อเสริมศักยภาพในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ค้นหามุมมองและแนวทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ

3. เปลี่ยนแปลงจากเรื่องเล็ก ทบผลไปสู่เรื่องใหญ่

โดยส่วนใหญ่การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลไม่ได้เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กร แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจุดเล็กๆ จำนวนมากผ่านโครงการขนาดย่อมที่ใช้เวลาไม่นาน ทำประโยชน์ให้กับธุรกิจได้อย่างเห็นผล และสามารถต่อยอดหรือขยายตัวไปสู่การดำเนินนโยบายเชิงดิจิทัลในรูปแบบที่กว้างขวางและแปลกใหม่ยิ่งขึ้น

4. ปลูกฝังทักษะแห่งอนาคต ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร

องค์กรในปัจจุบันต้องหันมาพิจารณาแนวทางการพัฒนาบุคลากรและการปรับพื้นฐานทักษะของพนักงาน เพื่อให้บุคลากรมีความสามารถพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต เช่น การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การคิดวิเคราะห์ หรือความคิดสร้างสรรค์เชิงเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะเดียวกันก็ต้องปรับสมดุลเชิงบุคลากรเพื่อให้สามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความถนัดในเชิงดิจิทัล รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นของกลุ่มคนทำงานอิสระสำหรับความต้องการเฉพาะทางในบางโอกาส

จับภาพหน้าจอ 2561-02-20 เวลา 14.42.20

3 สกิลที่จำเป็นต่อยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ LinkedIn ยังได้สรุปผลงานวิจัยเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล เอาไว้ว่าบุคลากรที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตนั้น ต้องอาศัย 3 ทักษะ “ABC” คือ AI , Big Data , Cloud Computing

ประโยชน์จากการ Digital Transformation

ผู้บริหารองค์กรที่เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้เชื่อว่าการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล จะก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม 3 ประการ คือ โอกาสในการสร้างรายได้ส่วนบุคคล ผ่านทางงานอิสระและงานเชิงดิจิทัล , การเปิดตำแหน่งงานใหม่ที่มีรายได้สูงขึ้น และสังคมเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปลอดภัยขึ้น รองรับวิถีชีวิตที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น

โดยผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าตำแหน่งงานกว่า 95% จะมีเนื้องานหรือขอบเขตการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ ด้วยผลกระทบจากปรากฏการณ์ Digital Transformation ตำแหน่งงานถึง 65% จะมีมูลค่าและความต้องการด้านทักษะเพิ่มสูงขึ้นหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในทิศทางใหม่ เพื่อตอบรับความต้องการของสังคมยุคดิจิทัล.

 


  • 30
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน