ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ…. (ร่างพ.ร.บ.ดิจิทัล ไอดี) เพื่ออำนวยในการใช้บริการต่าง ๆ ของประชาชน และเพิ่มขีดแข่งขันของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทางกระทรวงการคลังได้เสนอมา ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ตลอดจนการกำหนดแนวทางการคุ้มครองประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลและผู้ใช้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
เพราะปัจจุบันการทำนิติกรรมสัญญาหลายประเภท จะต้องมีการพิสูจน์ตัวตนก่อนที่จะใช้บริการได้ โดยที่ผ่านมาต้องให้ผู้ใช้บริการไปแสดงตัวตนต่อผู้ให้บริการ มีการยื่นเอกสารหลายอย่าง
ดังนั้นร่างกฎหมายดังกล่าว จึงจะทำให้การทำนิติกรรมสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหากสามารถพิสูจน์ตัวตนในแบบดิจิทัลได้ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ พร้อมกับกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมกำกับดูแลการพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานกรรมการ
สำหรับคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเป็นการทั่วไป, ออกประกาศ คำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้ , กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการของบริษัทผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมถึงการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เนื่องจากการทำธุรกรรมหรือการทำนิติกรรมสัญญาหลายประเภทในระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ตัวตน การให้ความยินยอม การลงลายมือชื่อ หรือการแสดงเจตนาของผู้ทำธุรกรรมดังกล่าวและในอดีตที่ผ่านมา การพิสูจน์ตัวตนมักจะให้ผู้ใช้บริการ (ผู้ทำธุรกรรม) ต้องไปแสดงตนต่อผู้ให้บริการ เช่น หน่วยงานราชการ ธนาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล เป็นต้น พร้อมส่งเอกสารหลักฐานในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน จึงก่อให้เกิดความไม่สะดวก และเป็นภาระสำหรับผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบกับไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่มีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย
ดังนั้น หากการพิสูจน์และยืนยันตัวตนสามารถกระทำในรูปแบบดิจิทัลได้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยร่าง พ.ร.บ. Digital ID) มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ
- พัฒนาโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในการพัฒนาประเทศ
- กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมทั้งกำกับดูแลผู้ให้บริการ
3. ยกระดับการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ