เมื่อโลกของเรากำลังประสบความยากลำบากเข้าไปทุกวันทั้งสึนามิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น หรือจะผลกระทบจากสภาพอากาศ ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ความต้องการกลับเพิ่มขึ้น ในขณะที่โลกมีความต้องการอาหารขึ้นอีกประมาณ 35% และน้ำเพิ่มขึ้น 40% ในปี 2583 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
นอกจากอุตสาหกรรม เช่น การก่อสร้างและการผลิต ที่กำลังเจอปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่ความต้องการประสิทธิภาพทางการผลิตเพิ่มขึ้น ในแง่ธุรกิจดูแลสุขภาพหลายประเทศทั่วโลก ก็กำลังเผชิญปัญหาการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย จำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการการดูแลสุขภาพ ที่มีคุณภาพและคุ้มค่า มากกว่าความต้องการบริการด้านการรักษาพยาบาล
การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) เพื่อมาคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่เป็นเทรนด์หรือทิศทางของโลก ถือเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพ และการลงทุนในธุรกิจที่มีการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อมาใช้ในการแก้ปัญหา หรืออำนวยความสะดวก ให้ชีวิตมีความเป็นอยู่หรือมีคุณภาพที่ดีขึ้น จะสามารถทำธุรกิจให้เติบโตแบบ Exponential มีขีดความสามารถการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่ง และให้ผลตอบแทนทางการเงินที่เหนือกว่าในระยะยาว
ครีเอทีฟเวนจอร์ (Creative Ventures) เป็นธุรกิจกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capitalist) ที่จัดตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 โดยสตาร์ทอัพคนไทยรุ่นใหม่ รวมทั้งนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ได้ประกาศความพร้อมจากการระดมทุนในไทย เพื่อนำเงินไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ในซิลิคอนวัลเลย์และประเทศที่มีสตาร์ทอัพชั้นนำ รวมทั้งมีแผนขยายบริษัท ไปยังอิสราเอล สิงคโปร์และไต้หวัน เนื่องจากมีนักลงทุนให้ความสนใจใน Creative Ventures อีกจำนวนมาก
คุณปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการหุ้นส่วน บริษัท ครีเอทีฟเวนจอร์ จำกัด กล่าวว่า กองทุนสองที่กำหนดเป้าไว้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 สามารถระดมทุนได้ครบก่อนกำหนดระยะเวลา ตอนนี้จึงสามารถดำเนินการคัดสรรสตาร์ทอัพที่น่าสนใจได้ทันที โดยเน้นที่กลุ่ม Deep Tech ระดับซีรีส์ ในระดับการลงทุน 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐขึ้นไป
สำหรับกองทุนร่วมลงทุนกองที่สอง มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,650 ล้านบาทนี้ ระดมได้จากนักธุรกิจของไทยและสิงคโปร์ โดยเฉพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่มองเห็นโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ที่เป็นเทรนด์ของโลก ให้การตอบรับเป็นอย่างดี และแม้ว่าขณะนี้ครีเอทีฟเวนจอร์ได้รับเงินลงทุนเพียงพอแล้ว ก็ยังมีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากไทยหรือสิงคโปร์
“แผนต่อไปเราจะนำเงินไปลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ ที่เป็นศูนย์รวมบริษัทที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็น Mega Trend ใน 3กลุ่มคือ ธุรกิจปัญหาเกษตรกรรมหรืออาหาร ที่ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ธุรกิจการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม และธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีสุขภาพ เพื่อดูแลประชากรผู้สูงอายุ” คุณแชมป์-ปุณยธร กล่าว
นอกจากนี้ครีเอทีฟเวนจอร์ ยังเตรียมเปิดออฟฟิศในอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่มากไปด้วยบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูง มีศักยภาพสูงเหมาะกับการลงทุน เช่น เรื่อง การเกษตร เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ และยังมีสิงคโปร์หรือไต้หวัน ที่ยังเป็นประตูในการเชื่อมเข้าสู่เอเชีย
กองทุนสองนี้คาดว่าจะมีผลตอบแทนภายใน 7-10 ปี โดยเน้นกำไรจากส่วนต่างของการขายหุ้นต่อ (capital gain) มากกว่าที่จะนำสตาร์ทอัพเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน ทั้งนี้ภายใน 4-5 ปีก็จะมีการเปิดกองทุนสามด้วยวงเงิน 250 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ส่วนกองแรกในวงเงิน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ดำเนินการลงทุนใน 14 บริษัทด้วยวงเงินครึ่งหนึ่ง อาทิ Dishcraft สตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ เพื่อเป้าหมายแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร รวมทั้งธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์ขนาดใหญ่ โดยเชื่อว่าหุ่นยนต์จะทดแทนแรงงานในห้องครัวได้สมบูรณ์แบบที่สุด
ทั้งนี้ครีเอทีฟเวนจอร์ยังได้เข้าลงทุนใน ALICE Technologies ที่เป็นระบบ AI ซอฟต์แวร์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการจัดการการก่อสร้างอาคารสูง สร้างประโยชน์ให้นักพัฒนาที่ดิน วงการบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะลดระยะเวลาก่อสร้างให้สั้นลง ลดต้นทุนก่อสร้างได้มาก ซึ่งในประเทศไทยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำอย่างบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) นำเอาเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมแล้ว
คนรุ่นใหม่แถวหน้าเมืองไทยร่วมลงขัน
ในช่วงที่ผ่านมาครีเอทีฟเวนจอร์มีการจัดทริป Innovation Tour นำกลุ่มผู้ที่สนใจเดินทางไปยังซิลิคอน วัลเลย์ เมืองซานฟรานซิสโกมาแล้ว เพื่อพบปะและศึกษาข้อมูลกับกลุ่มสตาร์ทอัพเป้าหมายของกองทุนร่วมลงทุนแล้ว ขณะที่สตาร์ทอัพไทยในมุมมองของนักลงทุน ถ้าจะทำให้ดึงดูดต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูง สเกลได้ รวมทั้งมีช่องทางเครือข่ายในระดับภูมิภาค อย่ามองเฉพาะตลาดในประเทศ
“ในส่วนของสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ครีเอทีฟเวนจอร์เข้าไปลงทุน สามารถจะเข้ามาเสริมธุรกิจของนักลงทุนไทย ถือเป็นการถ่ายโอนเทคโนโลยี ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยได้ รวมไปถึงเป็นการขยายความร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทยได้อีกทางหนึ่ง”
นอกจากคุณแชมป์-ปุณยธร ทายาทกรุงไทยการไฟฟ้า ที่เป็นหัวจักรหาทุนของครีเอทีฟเวนจอร์ในฐานะผู้จัดการหุ้นส่วนแล้ว ยังมีคุณเท็ด โปษะกฤษณะ ถิระพัฒน์ ทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนดำเนินการ คุณพิรชัย เบญจรงคกุล Investment Director บริษัท บีซีเอช เวนเจอร์ส จำกัด ในกลุ่มบริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง คุณทวันทว์ บุณยะวัฒน์ Investment and Management
คุณเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซน ไทย เอเยนต์ซีส์ และผู้ก่อตั้งกองทุนร่วมทุนวิชั่นนิตี้เวนเจอร์ คุณวรภัทร ชวนะนิกุล ผู้จัดการ Singha Ventures และคุณสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทายาทธุรกิจและเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่แถวหน้าของเมืองไทยร่วมงานกัน ในงานวันแถลงข่าวประกาศความพร้อมจากการระดมทุนในไทยของครีเอทีฟเวนจอร์อีกด้วย
ทั้งนี้ นักลงทุนที่เข้าร่วมลงทุนกองสองนี้ จะมีการลงทุนทั้งผ่านบริษัทและลงทุนในนามส่วนตัว อาทิ คุณ-ต็อบ เถ้าแก่น้อย อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์คุณภูริต ภิรมย์ภักดีประธานกรรมการบริหาร Singha Ventures กองทุน Moonshot Ventures คุณชานนท์ เรืองกฤตยา CEO อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์