จากอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตเมื่อถูกพัฒนาให้เร็วขึ้น และเมื่อความนิยมของสมาร์ทโฟนมีมากขึ้น ข้อมูลต่างๆ จะถูกจัดเก็บในระบบดิจิทัล กระแสของ Deep Tech Startup จึงมักถูกพูดถึงและได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงหลังๆ
เรามาฟังแนวคิดของทายาทกรุงไทยการไฟฟ้า คนไทยคนแรกตั้งฟันด์ร่วมลงทุนในสหรัฐฯ กับกระแส Deep Tech
ประกอบกับก่อนหน้านี้เราจะเห็นปัญหาต่างๆ ถูกจัดการด้วยเทคโนโลยี มีการค้นหาปัญหาและลดข้อติดขัดในการทำธุรกิจ การเดินทาง การใช้จ่าย การอยู่อาศัย ที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ใช้แพลพลิคชั่นในการเรียกรถสาธารณะ การโอนเงินรูปแบบต่างๆ การนำบล็อกเชนมาใช้ในการจัดการซัพพลายเชนสำหรับธุรกิจไทย เพื่อความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยด้วย Tech Startup ในหลายสาขาทั้ง Fin Tech Prop Tech หรือกระทั่งเรื่องของ Bio Tech
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็ว การแก้ปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ได้พัฒนาไปสู่การใช้ข้อมูลไปประมวลผลและใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาภาพกว้าง จนถึงปัญหาระดับโลก อาทิ การขาดแคลนอาหารและแรงงาน การแก้ปัญหาโลกร้อน เรื่องของสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งปัญหาสังคมในระดับต่างๆ ของโลก
รวมทั้งการเริ่มสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ผ่านเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการร่วมพัฒนานวัตกรรมสำหรับประเทศ
ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากพอที่สตาร์ทอัพจะหาแนวระดมทุนและสามารถทำกำไรได้
โดยเฉพาะในประเทศไทย ยังมีความท้าทายอยู่หลายส่วน สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้าน Deep Technology เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งกำลังรอให้มีการส่งเสริม และเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนานวตกรรม ให้กับประเทศในระยะยาว
แต่สำหรับประเทศที่เป็น Innovation Hub ของโลกอย่างสหรัฐฯ จีน หรือญี่ปุ่น ที่มีองค์ประกอบเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา รวมทั้ง Entrepreneur Mindset หรือความคิดแบบผู้ประกอบการของคนในประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรทางด้านเงินทุน ที่พร้อมมากกว่า
ระดมทุนใน Deep Tech Startup
คุณปุณยธร สุทธิพงศ์ชัย Managing Partner บริษัท ครีเอทีฟเวนเจอร์ ชายหนุ่มที่หาญกล้าปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยการตั้งธุรกิจกองทุนร่วมลงทุนหรือเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) ในซิลิคอนวัลเลย์ แหล่งผลิตสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในฐานะคนไทยคนแรก
คุณแชมป์-ปุณยธร เลือกลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) เพื่อช่วยให้มนุษย์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากปัญหาสำคัญๆ ที่เป็น Mega Trend ของโลก ทั้งเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น และปัญหาโลกร้อน ที่จะมาเกี่ยวข้องกับภาคการผลิต การเกษตร และการบริการดูแลสุขภาพ
“จากการมอนิเตอร์เราพบว่า สิ่งสำคัญที่เป็น Mega Trend จะเป็นปัญหาและขยายตัวอย่างมโหฬารในอนาคต และจะกลับมาสร้างปัญหาเยอะแยะมากมายซึ่งไม่สามารถถูกแก้ได้ด้วย Mobile Generation แต่ต้องแก้ด้วยเทคโนโลยีที่ deep science tech เช่น Healthcare จะเติบโตอย่างมหาศาล เพราะเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่หมอ พยาบาลไม่พอ เป็นสิ่งที่เรากังวลว่าจะทำยังไง ที่จะมาแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้” คุณแชมป์ กล่าว
การตั้ง Venture Fund แล้วเลือกลงทุนเฉพาะ Deep Tech Startup ในสหรัฐฯ และเปิดตลาดมาในแถบเซาท์อีสต์เอเชีย เพราะเขามองว่าเทคโนโลยีของ deep science tech ที่แอดวานซ์มากพอ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้
“ความจริงแล้วปัญหาพวกนี้มีมาเรื่อยๆ แต่แก้ไม่ได้สักที แถมยังหนักขึ้นเรื่อยๆ ความโชคดีก็คือ เทคโนโลยีหลายอันมีความอิ่มตัวมากพอ พร้อมที่จะนำมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดย AI จะเข้ามาเป็นตัวหลัก ก่อนหน้านี้เราอาจจะมีหุ่นยนต์ที่มีตา มีแขน แต่ทุกวันนี้มันมีสมองที่จะเอามาแก้ได้ ทำให้มีโอกาสมากขึ้นในการลงทุนในแอเรียเหล่านี้”
“ประการสำคัญ VC ในต่างประเทศยังไม่ค่อยให้ความสนใจเรียลเซ็กเตอร์ ที่ผ่านมาจะเน้นเรื่องของ software base, mobile phone, application เมนสตรีมหลักๆ อาจจะไม่มีแบล็คกราวความคุ้นเคยในเรื่องของเรียลเซ็กเตอร์ เราก็สามารถหาแอเรียที่กำลังเติบโต แอเรียที่มีปัญหา และมีเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไข โดยที่ราคายังไม่สูงนัก”
“ผมเชื่อว่าเรียลเซ็กเตอร์ เป็น Mega Trend ทุกวันนี้ในสหรัฐฯ มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 1 หมื่นคนทุกวัน ปีละ 3 ล้านคน ผ่านไป 10 ปีก็ 30 ล้านคน ที่เราต้องมาเทคแคร์ขณะที่พยาบาลก็ลดลง รีไทร์ออกไป คนรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่อยากเข้ามาทำงาน จำนวนคนไข้ต่อหมดจะเพิ่มขึ้นๆ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะไปลงทุน ช่วยทำยังไงที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของหมอ ทำยังไงให้ตรวจได้เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น นี่คือโอกาสที่เรามอง”
ภายในปี 2040 ประชากรบนโลกจะมีเพิ่มเป็น 9.4 พันล้านคน แต่เราต้องการพลังงานเพิ่มอีก 30% น้ำ 40% และอาหารเพิ่มอีก 50% ขณะที่การก่อสร้างจะเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล โดนเฉพาะในประเทศโลกที่ 2 ที่ 3 เพราะฉะนั้นจะมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งนั่นก็หมายถึงดีมานด์ แต่ทำยังไงจะ Unlock ซัพพลายต่างๆ ได้
“สิ่งที่เราพบคือ วิธีการเกษตรต้องเปลี่ยนไป เพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้ อาหารทะเลครึ่งหนึ่งต้องมาจากฟาร์ม ซึ่งประสบปัญหาในการเลี้ยง เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการฟาร์มให้รองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น มีวิธีบริหารจัดการทรัพยากรโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นอินดัสทรีที่กำลังเติบโต นี่คือคำตอบว่าทำไมต้องลงทุนในแอเรียเหล่านี้”
มอง DEEP TECH ในเรียลเซ็กเตอร์
จากประสบการณ์ที่ได้เคยเรียนรู้เรื่องการลงทุน เป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชน เคยทำงานในสตาร์ทอัพ ทำให้เขาก่อตั้งกองทุน VC ร่วมลงทุนในสหรัฐฯ ในนามบริษัท ครีเอทีฟเวนเจอร์ เมื่อปี 2559 มุ่งนำเงินไปลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่ตั้งอยู่ในซิลิคอนวัลเล่ย์ ลงทุนกันแบบพัมธมิตร ให้เงินสนับสนุน ให้คำปรึกษา รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาในการดำเนินงาน เพื่อให้เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง
เขาเป็นทายาทธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย อาณาจักรของชาร์ป-กรุงไทย หรือ กรุงไทยการไฟฟ้า ใหญ่มากพอที่เขาจะเป็นผู้สานต่อ แต่เขาไม่ได้เลือกโอกาสนี้ เขากลับเลือกที่จะหาโอกาสก้าวต่อไปให้กับธุรกิจของครอบครัว สิ่งที่ทำอยู่ก็เป็นการช่วยทางบ้านอีกทางหนึ่ง
หลังจากเรียนที่อัสสัมชัญ ครอบครัวก็ส่งไปเรียนที่ Dulwich International College จังหวัดภูเก็ต จบแล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าและปริญญาโทวิศวกรรมอุตสาหการที่ University of Michigan Ann Arbor จากนั้นก็ไปเรียน MBA ที่ University of California Berkeley-HAAS School of Business
“ถูกส่งไปโตต่างจังหวัด เพราะเป็นเด็กที่มีคำถามเยอะไป ตอนไปอยู่ที่ภูเก็ตก็ไปเริ่มโรงเรียนสตาร์ทอัพ เพราะทุกอย่างมันเพิ่งเริ่ม มันใหม่หมดเลย เห็นการเติบโต เห็นการเปลี่ยนแปลงตลอด 7 ปีของโรงเรียน มันเลยเป็นรากฐานของเรา ไปอยู่สหรัฐประมาณ 10 ปีก็เป็นสตาร์ทอัพ เรียนรู้เรื่องการลงทุน เลยเป็นอะไรที่ informal ผมมีพี่สาวคนเดียว ห่างกันสิบปี ผมเด็กไปภูเก็ตเขาไปต่างประเทศ ผมไปสหรัฐฯ เขากลับมา แทบไม่เจอเท่าไหร่”
จากวิศวกรไฟฟ้าและอุตสาหการ เข้าทำงานในบริษัทดีไซน์และเป็น Angel Investor ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพเกิดใหม่ ทำให้เขามองว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีเงินทุน มีลูกค้าคนแรกๆ มากพอ พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เป็น Eco System ที่สมบูรณ์แบบ
“ไม่งั้นมันไม่เกิด ตลาดที่นั่นจะมี Talent จากมหาวิทยาลัยดังๆ รวมทั้ง Technical Talent ดีไซน์เว็บ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง คอนเทนท์มาร์เก็ตติ้ง และเมื่อเทคโนโลยีแพร่หลาย ราคาไม่แรงก็จะวิ่งมาที่บ้านเราได้ เทรนด์ขาดแคลนแรงงาน ต้องวิ่งมาเมืองไทย เทรนด์โลกร้อน ที่ทำให้การผลิตอาหาร ปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ สังคมสูงอายุ เรื่องพวกนี้ใกล้ตัวเรามาก”
“สตาร์ทอัพปัจจุบัน จะหาได้ทั่วไป ไม่ต้องมีเทคโนโลยีมากก็คิดค้นได้ เช่น แอพพลิเคชั่นมือถือ อาจจะหายาก แต่หาได้ แต่ Deep Tech เป็นเทคโนโลยีที่ล้ำไปอีก ไม่ใช่อะไรที่ใครก็ทำได้ เช่น การสร้างตึก 20 ชั้นมีวิธีทำได้ 4 ล้านแบบ แต่ AI จะรู้ว่าวิธีไหนใช้เวลาน้อย คนน้อย ใช้เงินน้อยที่สุด จากใช้เวลา 3-4 อาทิตย์ ทำได้ใน 4 นาที ไม่ใช่ว่าแค่ต้องมีไอเดีย แต่ Deep Tech จะต้องรู้ด้าน AI และเรื่องก่อสร้างด้วย มันเฉพาะเจาะจงมาก”
Deep Tech จะทำให้อัลตร้าซาวด์ ลดราคาลงจาก 5 หมื่น- 250,000 ดอลลาร์ เหลือไม่มีพันดอลลาร์ AI จะเข้ามาช่วยแพทย์ทำงานได้ง่าย เช่น อ่านค่าผลตรวจได้ โดยไม่ต้องส่งกลับไปที่ห้องแลป รถไร้คนขับจะต้องมี LiDAR ตัวละ 20,000 ดอลลาร์ติดตั้งบนรถ แต่มีบริษัทที่ทำราคาลดลงเหลือ 200 ดอลลาร์ได้
“จะไปเกิดที่ไหนก็ตาม แต่มันจะมา ผมจะลงทุนใน LiDAR เดี๋ยวก็มีคนมาซื้อ เน้นเล่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้ เล่นกับ Mass Market อันนี้เป็นสิ่งที่เรามอง แอพพลิเคชั่น เกิดมาบนพื้นฐานของ Deep Tech แต่อยู่บนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันไป ถึงจุดหนึ่งก็อิ่มตัวเป็น Red Ocean ซึ่งเราก็เห็น Uber กับ Grab ซึ่งเป็น Case Study ชั้นดีของโลกคอนซูเมอร์ แข่งขันด้านมาร์เก็ตติ้ง ตัดราคา สุดท้ายก็ควบรวมกัน ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้”
“ผมก็ไปหาแพลตฟอร์มแบบนี้เหมือนกัน แต่ลงไปตั้งแต่ต้น ใน level ที่เร็วกว่านี้ เช่น Robot และ Ultrasound”
เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก?
ประโยคที่เราคุ้นเคยกันว่า เทคโนโลยีจะมาเปลี่ยนโลก?
“เชื่อว่ามันมาแล้วจะเปลี่ยนได้ แต่ต้องดูเรื่อง Timingด้วย ถ้าเทคโนโลยีมา แต่คนยังไม่เดือดร้อน ก็ยังไม่มีใครซื้อ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกจะเวิร์คได้ ต้องมีเหตุผลว่า คนต้องซื้อ แพงแค่ไหนก็ต้องซื้อ เพราะประสบกับความลำบากแล้ว เข้าตาจนแล้ว เช่น ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถึงเวลาส่งงานลูกค้าแล้วก็ต้องซื้อ ปัญหาโลกร้อนคนต้องกินต้องอยู่ ผลิตไม่ทัน ขาดแคลน ราคาขึ้น แพงก็ยอมจ่าย สังคมสูงอายุ อนาคตคนไม่อยากตาย หลายคนไม่ยอมให้พ่อแม่เป็นอะไรง่ายๆ ก็ต้องซื้อ”
“ประชากรเพิ่มขึ้น แต่ Working Age ลดลง คนยุค Baby Boomer แก่แล้วไม่ทำงานเยอะมากขึ้น จุดที่เราจะดูคือ ดูในงานที่คนไม่อยากทำ เช่น การเก็บเกี่ยวพืชผลผลิตในฟาร์ม งานนี้คนไม่ยอมทำ พอคนไม่ทำ หาคนมาทำก็แพง เทคโนโลยีก็เข้ามาแทนที่ได้”
ในต่างประเทศคนทำงาน จะหารายได้ที่ตนพอใจ พอแค่นี้ ไม่ทำไปมากกว่านี้ เวลาที่เหลือก็ท่องเที่ยว หรือแรงงานต่างด้าว จะเปลี่ยนไปหางานที่สบายกว่า เงินน้อยลงก็ได้ อันนี้คือปัญหาที่คุณแชมป์มอง แล้วหาวิธีการแก้ และกลับมาสู่ Deep Tech ที่บริษัท ครีเอทีฟเวนเจอร์ เลือกออกมา
“เราเป็นฟันด์หรือเป็นกองทุน ที่มีวิธีทดสอบที่ดีที่สุดคือ ไปลงทุน แล้วดูว่าเป็นยังไง ต้องลงทุนในการทดสอบ ลงทุนแล้วจะได้ Asset ในเรื่องข้อมูล จากนั้นก็ไปดู ติดตามผลงาน ต้องลงทุนด้วยการทดสอบ ซึ่ง Caproate Venture Fund เงินมากกว่า 90% จะไปลงในต่างประเทศ”
คุณแชมป์มองว่า สตาร์ทอัพเป็นการลงทุนที่จะต้องสร้างให้เกิด Monopoly เช่น กูเกิลเป็น Monopoly ของการเสิร์ช เฟสบุ๊คเป็น Monopoly ของโซเชียลมีเดีย Uber กับ Grab เป็น Monopoly แท็กซี่ โลจิสติกส์ ซิสเต็ม เป็นเกมของสตาร์ทอัพ ถ้าไม่ใช่ Monopoly ก็ไม่คุ้มค่ากับการเสี่ยง แต่ไม่ใช่แนวทางของ ครีเอทีฟเวนเจอร์ ที่เป็นการลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูง
“สิ่งที่ผมอยากได้คือ เทคโนโลยีขั้นสูงที่สร้างความผูกขาด โดยการแก้ปัญหาที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน และทำมันในตลาดที่มีกำลังซื้อชัดเจน”
“จังหวะในการลงทุน จะดู 2 อย่างว่าสิ่งที่จะลงทุนมีความต้องการที่ขับเคลื่อนมาจาก Mega Trend เหล่านี้หรือเปล่า และ Mega Trend ก็จะไปสร้างให้เกิดโอกาสย่อยๆ ในแต่ละตลาด เมื่อเทคโนโลยีมา คนจะไม่อยากใช้เพราะว่าต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานเยอะ แต่เมื่อมี Pain Point ไม่สบาย หมดทางเลือกแล้ว และรู้ว่ามันดี เป็นเทคโนโลยีที่ต้องแก้ปัญหา เขาก็ต้องจ่าย”
โตต่อด้วยฟันด์ที่ 3 250 ล้านดอลลาร์
ครีเอทีฟเวนเจอร์ ก่อตั้งในเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2559 กองทุนแรกเริ่มระดมทุนได้ 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 300-400 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของคุณแชมป์และครอบครัว ฟันด์ที่ 2 ตั้งเป้าไว้ 50 ล้านดอลลาร์ และการระดมทุนกองทุนที่ 3 จะอยู่ที่ 250 ล้านดอลลาร์
เขาบอกว่า การระดมทุนครั้งแรกมีความเสี่ยง จึงไม่อยากดึงคนอื่นมาเสี่ยงด้วย กองทุนต่อไปผู้ที่สนใจ ก็จะเป็นคนสายพันธุ์เดียวกัน อาทิ คุณโก้ ชานนท์ เรืองกฤตยา นักธุรกิจหมื่นล้านจาก อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ คุณต๊อบ-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ นักธุรกิจชาวไทย ผู้ก่อตั้งบริษัท เถ่าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
คนเหล่านี้คือ กลุ่มคนอายุ 30-40 ปี และเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 ที่จะต้องรับภาระสืบทอดธุรกิจต่อไป
“แล้วเขาก็มองหาอะไรสักอย่างที่ช่วยให้ไปต่อได้ เหมือนผม บ้านเป็นชาร์ป เรามารวมพลังแล้วไปด้วยกัน ทุกคนมองหาจุดต่อไปของธุรกิจเ ผมก็หาเหมือนกัน เลยชวนกันว่า ไปหาด้วยกันไหม ถ้าหาก็ลงด้วยกัน ทุกคนคือ Story เดียวกัน คลิกกันเร็วมาก Dynamic เหมือนกัน”
“เป็นอารมณ์แบบสุดท้ายเคมีเหมือนกัน ผมไปลงกับสตาร์ทอัพก็เหมือนกัน คือ ทำงานต้องสนุก มีความสุข ที่เชื่อในความเป็นเด็ก Berkeley ดิบๆ นิดๆ แบบ informal เอาคนที่ชอบ คุยแล้วจริงใจ เพราะว่าผมไม่ได้ขาย mass” คุณแชมป์กล่าว
แก้ Pain Pont ทายาทธุรกิจ
เมื่อถามถึงทีมครีเอทีฟเวนเจอร์ ได้คำตอบว่า 70-80% ของ founder เป็นด็อกเตอร์ แต่ไม่ใช่อาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย
“ทุกคนในทีมเก่งกว่าผม เราเป็นฟันด์ประหลาด เราไม่ใช่ General Fund เหมือนหลายๆ ฟันด์ ที่พาร์ทเนอร์คนหนึ่งจะทำหน้าที่ทุกอย่าง ทุกคนทำทุกอย่าง หาเงิน ดีล พรีเซนต์ ลงทุน และติดตาม ทุกคนทำทุกอย่างหมดเลย แต่ Workflow ของผม คนนี้ถนัดหาเงิน คนนี้หาดีลได้-เลือกดีลเก่ง ก็เลือกมา คนไหนเจรจาธุรกิจได้ก็ทำไป”
คุณแชมป์บอกว่า เป้าหมายไม่ได้ต้องการเงินทองมากมาย
“ผมโชคดี ที่เกิดมาในครอบครัวที่ดี เกิดมาแล้ว มีกินมีใช้ สบายไม่เดือดร้อน ถ้ามาทำตรงนี้ แล้วถ้ามีกินมีใช้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลงนิดหน่อย ก็ไม่ซีเรียส ที่สำคัญคือ สุขภาพจิต และครอบครัว”
“ผมมาทำเพราะอยากทำ ชอบ ผมเข้าใจ Pain Point ของทายาทธุรกิจในไทย หรือทายาทในเซาท์อีสท์เอเชีย เข้าใจว่าเขาต้องการหาอะไรอยู่ ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น เราสามารถทำตรงนี้ได้ทั้งธุรกิจครอบครัว และการลงทุนพร้อมกันได้เลย ผมเป็นเพียงแค่ออฟชั่นหนึ่ง”
“แต่ผมไม่ควรเป็น The Only Option นะ ใครจะไปรู้ มันเป็นความเสี่ยงสูง การันตีอะไรไม่ได้ สิ่งที่ผมทำได้ก็คือ ถ้าพี่เสีย ผมก็เสียด้วยกัน ก็มาเสียด้วยกัน แต่ผมการันตีว่า ถ้าผมทำได้ ทุกคนในโลกก็จะมาลงกับผม”
จากวิศวกรไฟฟ้าและอุตสาหการ คุณแชมป์เคยเข้าทำงานในบริษัทดีไซน์ เป็น Angel Investor ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพเกิดใหม่ เขาถนัดงานทางด้านอุตสาหกรรม จบวิศวกรรม ปริญญาตรีไฟฟ้าอุตสาหกรรม เคยทำงานโรงงาน แต่ที่ชอบที่สุด กลับไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี
“ผมชอบคน ชอบที่เขาแตกต่างด้วยความเป็นตัวของตัวเอง แตกต่างได้ดีที่สุดคือ เขาหาตัวเองเจอ เพราะเขารู้ว่า จุดที่เขาจะยืนอยู่บนโลกนี้ แล้วเขาก็ยืน โดยยืนกรานว่าจะทำตรงนี้ แล้วก็ battle ไปกับความแตกต่างตรงนั้น ซึ่งจะเวิร์คหรือไม่เวิร์ค ไม่รู้ แต่ผมชอบคนประเภทนั้น นั่นคือเหตุผลที่ผมมาทำ”
“ไม่ว่าจะเป็น Investor ของเรา หรือ Founder ของเรา ทุกคนแตกต่างด้วยความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครตามกระแส ทุกคนเป็น Pioneer”
วิธีหาผู้ร่วมลงทุนของเขาคือ
“วิธีที่ผมคิด ผมเดินเข้าไปหาพี่ๆ ทุกคน แล้วบอกว่า ผมจะสร้าง Star Ship Enterprise แล้ววิ่งไปโลกที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อน พี่ก็น่าจะรู้ว่า ในนี้มันน่าจะมีโลกที่ดีอยู่หลายๆ อย่าง และมันมีทั้งโลกไม่ดี ผมจะนั่งไปก่อน พี่จ่ายเงินให้ผม ให้เรือลำนี้ มีอาหาร มีแก๊ส มีทุกอย่างแล้วผมนั่งไป แล้วเอาตัวรอดกลับให้ได้ แล้วมาบอกว่าใน 10 โลกนี้พี่อยากจะไปโลกไหน คนที่ยอมไปกับผมต้องเป็น Pioneer เพราะฉะนั้นคนที่จะไป ต้องแตกต่างด้วยความเป็นตัวของตัวเอง”
การเปรียบเปรยดังกล่าว น่าจะสะท้อนแนวทางคนกลุ่มดังกล่าวนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเข้าใจ และไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายใดๆ อีก ทั้งในแง่จุดประสงค์ ความคิด และวิธีการของ Star Ship Enterprise ลำนี้
“เป็นผู้นำต้องเสี่ยง คนเดินออกไปต้องกล้า Fail แล้วถ้าเขาจะ Fail คำถามก็คือ เขาจะลุกขึ้นมากี่ครั้ง ถ้าถึงจุดหนึ่งบางคนก็ยอมแพ้นะ แต่คนประเภทนี้ เมื่อล้มแล้วก็จะเด้งกลับมา ล้มเจ็ด ลุกแปด เป็นสุภาษิตญี่ปุ่นซึ่งความสำคัญอยู่ตรงนี้มากกว่า ถ้าเราไม่ทำ เราก็ต้องตามเขาไปทั้งชีวิต”
“เป้าหมายเราก็จะโตต่อไป เราอยากจะเป็นฟันด์ที่มีกลไกที่ทำให้เกิดบนความสำเร็จซ้ำๆ ต่อไปได้ ไม่อยากให้ตายไปกับ Partner หรือ Founder ถ้าวันหนึ่งที่ผมไม่ได้ทำ องค์ความรู้ วิธีการ ควรจะอยู่ข้างในองค์กร ต่อให้ไม่มีผม ก็ไปต่อได้ อยู่ที่ Process ไม่ได้ติดอยู่ที่คน” คุณแชมป์-ปุณยธร กล่าวทิ้งท้าย