หลังจาก “MIT Sloan School of Management” (สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน) ประกาศเปิดตัวสถาบันด้านการบริหารธุรกิจนานาชาติ ภายใต้ชื่อ “สถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MIT Sloan Office for Southeast Asian Nations – MSAO)” เป็นแห่งที่ 2 นอกประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กรุงเทพฯ
ล่าสุดสำนักงาน MIT Sloan แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดประชุมครั้งแรกอย่างเป็นทางการ Marketing Oops! หนึ่งในสื่อที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณเดวิด คาโพดิลูโป ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโปรแกรมระดับโลกของสถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan” ซึ่งได้เดินทางมาไทยในครั้งนี้เช่นกัน ถึงเหตุผลการเลือกกรุงเทพฯ ตั้งสถาบันแห่งที่ 2 นอกสหรัฐฯ ต่อจากสถาบัน MIT Sloan ที่เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี พร้อมแนวทางและเป้าหมายมุ่งผลักดันอนาคตของภูมิภาคอาเซียน
เปิดเหตุผลตั้ง “สถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan” แห่งแรกในอาเซียนที่กรุงเทพฯ
คุณเดวิด เล่าว่าการเปิดสำนักงานสาขาของ MIT Sloan ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก จะเป็นกรณีพิเศษจริงๆ โดยสำนักงานสาขาแห่งนี้ นับเป็นแห่งที่ 2 ซึ่งไม่ใช่ครอบคลุมเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ครอบคลุมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่ผ่านมา MIT Sloan สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลาหลายปีแล้ว ซึ่ง MIT มีศิษย์เก่ากว่า 1,900 คนในภูมิภาคนี้ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงมาสู่การตั้งสถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan ในกรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชิงกลยุทธ์ในการขยายขอบเขตการดำเนินงานของสถาบันทั่วภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตและความแข็งแกร่งของเครือข่าย
“ทั้งศิษย์เก่า MIT ในไทยหลายคน ผู้ให้การสนับสนุนด้านทุน และสมาชิก MIT มีความประสงค์จัดตั้งสถาบัน MIT Sloan ในภูมิภาคนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงโลกให้ดียิ่งขึ้น จึงเริ่มต้นที่ไทยก่อน และในอนาคตอันใกล้อาจมีสำนักงานเครือข่ายที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียนที่อื่นๆ อีก”
มุ่งสร้างความร่วมมือพันธมิตรทุกภาคส่วน “ภาครัฐ – เอกชน – วิชาการ – ผู้ประกอบการ”
หนึ่งในปรัชญา MIT คือ ประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน เพื่อนำทฤษฎีจากชั้นเรียน ไปแปลงสู่การลงมือปฏิบัติจริง เพราะ MIT เชื่อว่าผลสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการประสานความร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุพันธกิจของ MIT นั่นคือ การปรับปรุงโลกนี้ให้น่าอยู่
“หนึ่งในเป้าหมายของ MIT Sloan คือ อยากให้คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิของ MIT ทำงานร่วมกับคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ตลอดจนพันธมิตรทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ ผู้ประกอบการ นักลงทุน ผู้มีความรู้ความสามารถ เพื่อมาร่วมกันแก้ปัญหาในอาเซียน
การตั้งสำนักงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงเทพฯ เราเชื่อว่าจะมีการพัฒนางานของเราให้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น และขยายโอกาสการพัฒนาความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ที่อาจจะยังไม่รู้จักเรามากนัก” คุณเดวิด ขยายความเพิ่มเติม
สำหรับแนวทางความร่วมมือและการสนับสนุนของสถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan เพื่อมุ่งผลักดันอนาคตของภูมิภาคอาเซียน มีดังนี้
– การผนึกกำลังอันแข็งแกร่ง สู่อนาคตที่ยั่งยืน
โอกาสในการเติบโตและความร่วมมือระหว่างสถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan กับผู้บริหารและองค์กรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน กว้างขวางและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Fund) ทั้งในรูปแบบการสมทบทุน และ/หรือเงินสนับสนุนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางด้านวิชาการและการวิจัยในภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคอาเซียนที่สนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในระยะยาวของสถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan ต่อภูมิภาคนี้
มากไปกว่านั้น ยังช่วยให้สถาบันสามารถสร้างการยอมรับและเป็นศูนย์กลางในการผนึกกำลังของสมาชิก พร้อมสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
– โครงการ MIT Sloan Action Learning
เป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรในภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และองค์กรต่างๆ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ พร้อมให้คำปรึกษาแก่บริษัทขนาดเล็ก ถึงขนาดกลางในภูมิภาค
ความร่วมมือเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเศรษฐกิจอาเซียน และยังช่วยให้เหล่าพันธมิตรได้เข้าใจทฤษฎีการจัดการ แนวทาง และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอนของสถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โครงการ MIT Sloan Action Learning ได้ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ในหลากหลายหัวข้อมากกว่า 600 โครงการ ครอบคลุม 5 ระดับหลักสูตรการศึกษา และได้ร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในประเทศกัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
– หลักสูตรทางด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Lab)
หลักสูตร ASEAN Lab ถือเป็นหลักสูตรแรกของสถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan ที่มุ่งเน้นทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองและการตลาดเชิงพลวัตในภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งนักศึกษายังจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรภายในประเทศในการรับมือกับความท้าทายด้านการบริหาร
ทั้งนี้หลักสูตรนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง MIT และมหาวิทยาลัย Harvard ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้
– หลักสูตร Thailand Summer Lab
เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศิษย์เก่า เพื่อมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาสถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan ได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงใช้เพื่อสนับสนุนโครงการในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง อาทิ ธุรกิจเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ธุรกิจบริการอาหาร ธุรกิจผู้ประกอบการ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
โดยหลักสูตรนี้จะประกอบไปด้วยนักศึกษาจากหลากหลายหลักสูตรปริญญาของสถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan และนักศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– การจัดสัมมนา
ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 สถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan ได้เคยร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพ เพื่อจัดการประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคในหัวข้อ “Building Resilient Cities for the Future” มุ่งเน้นด้านการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการเชิญคณาจารย์จากสถาบันเอ็มไอที และผู้นำในประเทศ มาร่วมกันนำเสนอแนวทางเชิงกลยุทธ์ การแสวงหาพันธมิตรร่วม และการเตรียมความพร้อมให้กับผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผ่านการปรับปรุงศูนย์กลางเมืองที่มีอยู่เดิมและเมืองใหม่ทั่วภูมิภาคอาเซียน
ชี้ 3 ประเด็นใหญ่ในอาเซียนที่ต้องเร่งพัฒนาปรับปรุง
นอกจากนี้ คุณเดวิด ยังได้ระบุถึงประเด็นใหญ่ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกควรพัฒนาปรับปรุงมากที่สุด ประกอบด้วย
1. ด้านสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร และการบริหารจัดการอุทกภัย
2. ด้านพลังงาน
3. ด้านการดูแลรักษาสุขภาพ
“ปัจจุบันบางเรื่องเราเริ่มดำเนินการทำงานแล้ว เช่น การปรับสภาพเมืองให้เป็นเมืองที่มีความยั่งยืน ด้านพลังงาน น้ำ และการดูแลรักษาสุขภาพ และแนวโน้มที่ทราบกันดี คือ AI, Data Analytics ซึ่งเราอยากมี Best practice ในภูมิภาคนี้ เพื่อให้ภูมิภาคอื่นของโลกสามารถนำไปปรับใช้” คุณเดวิด กล่าวทิ้งท้าย