แม้ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายจะมีความกังวลต่อ “กฎหมายไซเบอร์” หรือ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอ์เน็ต รวมถึงการตีความและอำนาจดำเนินการแก่เจ้าหน้าที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ กระทั่งเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทั้งยังทำให้เกิด #พรบไซเบอร์ ติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมในประเทศไทยอีกด้วย
แต่ล่าสุด สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควร “ประกาศใช้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว” ด้วยคะแนนเสียงถึง 133 เสียง โดยมีงดออกเสียง 16 เสียง และไร้คะแนนเสียงไม่เห็นด้วย
สำหรับสาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมถึงนโยบายบริหารจัดการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งยังให้อำนาจแก่ คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ สามารถออกคำสั่งให้สำนักงานฯ ทำหน้าที่กำกับและดำเนินการในหลายกรณี โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเร่งด่วน, ระดับร้ายแรง และระดับวิกฤต
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีความคืบหน้าต่อ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกมา ก็ทำให้ #พรบไซเบอร์ กลับมาติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมบนทวิตเตอร์อีกครั้ง โดยมีผู้ใช้งานและแสดงความคิดเห็นผ่านแฮชแท็กดังกล่าวเกือบ 500,000 ครั้งแล้ว (ข้อมูลวันที่ 28 ก.พ.2562 เวลา 16.45 น.)