วิเคราะห์ความล้มเหลวของธุรกิจชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและประเทศของเรา

  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  

จากบทความ “CSR กับเศรษฐกิจชุมชน วันนี้พวกเราทำดีพอแล้วหรือยัง” เมื่อครั้งก่อน ที่เขียนขึ้นจากการที่เราได้มองเห็นถึงปัญหาของเศรษฐกิจชุมชนในบ้านเรา จากปัญหาค่าครองชีพกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหารายรับไม่พอกับค่าใช้จ่ายของครอบครัว  และการกล่าวถึงการช่วยเหลือจากบริษัทเล็กใหญ่ที่มุ่งให้ความสนใจในการทำ CSR เพื่อช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่กลับมองข้ามหรือไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำกำไรมากมาย ยังคงมีช่องว่างที่ทำให้ไม่ได้ทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาของธุรกิจชุมชนซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อน GDP ของไทย ก่อนที่จะลงมือช่วยเหลือหรือทำ CSR เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างแท้จริง

และเมื่อปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขในอันดับต้นๆ แต่ทำไมกลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะให้ความช่วยเหลือผ่านการทำ CSR หรือต่อยอดไปสู่การทำ CSV

หรือเพียงเพราะการทำ CSVจะเป็นการช่วยเหลือชุมชนได้มากกว่าการทำ CSR และน่าจะช่วยให้ชุมชนสามารถสร้างธุรกิจของพวกเขาเองได้

002-csv-1

CSVคืออะไร แตกต่างจากการทำ CSR อย่างไร

CSV มีความหมายมาจาก Creating Shared Value หรือ การแบ่งปันและเอื้อต่อกันเพื่อสร้างคุณค่าให้ทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจตลอดจนสังคมโดยรวมให้แข็งแกร่ง   สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ระหว่างชุมชนและผู้สนับสนุน

บางแบรนด์สินค้าที่มุ่งทำ CSV มองว่าเป็นการส่งเสริมความยั่งยืนของแบรนด์พร้อมกับการเอื้อประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคม

ในขณะที่ CSR เน้นเรื่องการเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร โดยบางองค์กรใช้ CSR เป็นรูปแบบหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ หรือบางองค์กรนำ CSR เป็นหลักในกระบวนการผลิตหรือบริหารจัดการ เช่น การผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ CSV จะลงลึกกว่า เพราะเน้นหนักที่การเสริมสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและชุมชนไปพร้อมๆ กัน  โดยองค์กรอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนดำเนินการ ให้แนวคิดการทำธุรกิจ เพื่อเป็นการแบ่งปันหรือเอื้อประโยชน์กันระหว่างองค์กรกับชุมชนในแบบได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ตัวอย่าง CSV จากโครงการ “ปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ลเอ ปลูกปัญญาโรงเรียนในชนบท”

โครงการนี้เป็นโครงการที่ทางดั๊บเบิ้ล เอ ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, ธนาคารกรุงไทย, บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ และบริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด เชิญชวนโรงเรียนในชนบทเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นทุนการศึกษาและลดโลกร้อนไปพร้อมๆ กัน

รูปแบบของโครงการ คือ ทางดั๊บเบิ้ล เอ จะมอบต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โรงเรียนละ 500 ต้น เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ว่างของโรงเรียนและดูแลรักษา เมื่อต้นไม้อายุครบ 3 ปี ทางดั๊บเบิ้ลเอจะรับซื้อไม้ในราคาต้นละ 30 บาท ซึ่งจะทำให้โรงเรียนมีรายได้เป็นทุนพัฒนาการศึกษาเป็นจำนวนเงินประมาณ 15,000 บาท หลังจากตัดฟันต้นกระดาษรอบแรกแล้ว ตอของต้นกระดาษยังสามารถแตกหน่อเป็นต้นไม้เพื่อสร้างรายได้ได้อีก 2-3 รอบ โดยไม่ต้องปลูกขึ้นใหม่ ดังนั้นหากโรงเรียนมีการปลูกและดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องก็จะมีทุนพัฒนาการศึกษาหมุนเวียนยั่งยืน ส่วนทางดั๊บเบิ้ล เอ ก็จะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย อาทิ กล้าไม้ การตัดฟันและขนส่งไม้สู่โรงงาน โครงการลักษณะนี้ ทางดั๊บเบิ้ล เอ ยังนำไปต่อยอดกับชาวนา เปลี่ยนคันนาให้เป็นเงินด้วยต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ อีกด้วย

002-doublea3

จะเห็นได้ว่าดั๊บเบิ้ล เอ ได้นำธุรกิจขององค์กรมาร่วมสร้างรายได้ให้กับชุมชนของทางโรงเรียน โดยใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ และทางโรงเรียนยังสามารถเพิ่มกิจกรรมการดูแลต้นไม้เหล่านั้นกับนักเรียนได้อีกด้วย การทำ CSV ของดั๊บเบิ้ล เอ ค่อนข้างตอบโจทย์ให้กับทุกฝ่ายและดูเป็นโครงการที่ทำออกมาได้ดี แต่หากวิเคราะห์กันตามตรง ดั๊บเบิ้ล เอ น่าจะสามารถเพิ่มมุมมองของการพัฒนาชุมชนได้อีกหลายมิติ และสิ่งที่ได้รับจากการเข้าไปช่วยเหลือควรอยู่นอกกรอบจากการหาสิ่งตอบแทนและค่านิยมร่วมกัน เพราะในความเป็นจริง ยังมีหลายองค์กรที่มีความต้องการทำ CSV ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย และที่แน่นอนคือต้องเอื้อประโยชน์ให้กับองค์กรโดยตรง เช่น โครงการที่จะทำนั้น ต้องตอบโจทย์องค์กรทั้งด้านการทำประชาสัมพันธ์ หรือการช่วยลดต้นทุนการผลิต เพราะหากมีผลประโยชน์ในลักษณะนี้ เชื่อว่าฝ่ายอนุมัติงบประมาณก็จะไฟเขียวโครงการได้ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น

ทำความเข้าใจกับปัญหาที่แท้จริงกับความล้มเหลวของธุรกิจชุมชน

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น กับองค์กรใหญ่ที่อาจมีการตั้งงบประมาณ เพื่อวางแผนช่วยเหลือสังคมผ่านการทำ CSR และ CSV ในทุกๆ ปี เพื่อให้ได้มาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร พร้อมๆ กับการช่วยเหลือชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือผู้ด้อยโอกาส   แต่จะมีกี่องค์กรที่เข้าใจถึงปัญหาจริงๆ ของธุรกิจชุมชนว่าในความจริงแล้ว ปัญหาของพวกเขาคืออะไร แท้จริงแล้วสิ่งใดคือสิ่งที่พวกเขาหรือชุมชนต้องการ หรือสิ่งใดที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ระยะยาวและยั่งยืนจริงๆ เพราะ ธุรกิจชุมชน คือ การจัดตั้งธุรกิจบนหลักความช่วยเหลือที่อาศัยการพึ่งพากันของสมาชิกในชุมชน ยึดถือความมีส่วนร่วมและสร้างศักยภาพในการพัฒนาตนเองของชุมชน โดยเอาชุมชนเป็นเป้าหมายที่จะกระจายรายได้และสร้างสวัสดิการร่วมกัน

002-csr-csv2

หัวใจของแนวคิดธุรกิจชุมชน คือ “แนวทางการพึ่งตนเองของชาวบ้าน”

โดยยึดหลักการสร้างตนเองจากการมีส่วนร่วมของสมาชิก และการสนับสนุนจากองค์กร ที่สามารถเข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ เข้าใจถึงปัญหา และมองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจให้กับชุมชน ด้วยการให้องค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางการดำเนินที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ องค์กรใหญ่ๆ ย่อมเคยผ่านความล้มเหลวและความสำเร็จมาแล้ว และมีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจมากกว่าชุมชน และหากองค์กรสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและให้การช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง ก็จะสามารถทำให้ชุมชนเข้าใจ และมองเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจด้วยตนเองในระยะยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาองค์กรตลอดไป

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของธุรกิจชุมชน

  • เงินลงทุน หรือความสามารถในการระดมทุน
  • ความเป็นผู้นำ และความรู้ของบุคลากร
  • ความรู้ในการดำเนินธุรกิจชุมชน
  • ความสามารถในการบริหารกิจการ
  • ความสามารถในการขยายกิจกรรม (สายงานการผลิตและการค้า) การดำเนินงาน การลดความเสี่ยง การลดต้นทุนการผลิต
  • การควบคุมคุณภาพการผลิต และการใช้กำลังการผลิตไม่คุ้มทุน
  • การขาดการจัดการสินค้าคงคลัง และการไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามเวลาและความต้องการ
  • การขาดการควบคุมเงินจม
  • การพึ่งพาภายนอกและการพึ่งตนเอง

ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ทุกๆ ธุรกิจชุมชนต้องเผชิญ และต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือองค์กรที่แข็งแรงกว่า มีประสบการณ์มากกว่า เข้ามาช่วยสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนมากกว่าการบริจาคเงิน พัฒนาสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งของที่สามารถถูกใช้ให้หมดไปในเวลาไม่นาน และไม่สามารถนำมาพึ่งพาได้ในระยะยาว

ดังนั้น แม้ว่าองค์กรใหญ่จะมีพัฒนาการให้ความช่วยเหลือ โดยเปลี่ยนจากการทำ CSRมาเป็น CSVก็ดี เราต้องยอมรับว่าทั้งสองวิธียังมีความท้าทายและข้อจำกัดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชนได้ดังนั้นหากองค์กรใหญ่ที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือชุมชน สามารถไตร่ตรองและนึกคิดกันดีๆ ถึงปัญหาที่แท้จริงของชุมชน เราเชื่อว่าพวกท่านจะมองเห็นถึงวิธีที่จะเข้าไปช่วยกันแก้ปัญหาอย่างแน่นอน เพราะการร่วมมือกันระหว่างองค์กรขนาดใหญ่กับชุมชนในสังคม สามารถเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ถึงปัญหา ทราบถึงปัจจัยความสำเร็จและปัจจัยที่อาจทำให้ธุรกิจชุมชนล้มเหลว บางทีองค์กรอาจจะเห็นแนวทางในการนำความรู้มาแบ่งปัน เพื่อช่วยเสริมสร้างธุรกิจชุมชนให้แข็งแกร่ง แชร์ประสบการณ์ความสำเร็จของธุรกิจ และร่วมกันลงมือด้วยกันอย่างไม่หวังผลประโยชน์ให้กับองค์กร ก็จะสามารถช่วยเหลือธุรกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืนจริงๆ และนับว่าเป็นการให้ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน


  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ