“ซีพี” ผนึกกลุ่มทุนไต้หวัน สร้างพอร์ตฯ ธุรกิจร้านอาหาร ต่อจิ๊กซอว์ “อาณาจักรครัวของโลก”

  • 1.9K
  •  
  •  
  •  
  •  

CP_cover

“ซีพีเอฟ” (CPF) บริษัทในเครือ “ซีพี” (CP) ได้ประกาศวิสัยทัศน์ต้องการเป็น “ครัวของโลก” แต่การจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ต้องทำทั้งกระบวนการ “Supply Chain” ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ

“ต้นน้ำ” ประกอบด้วย “ธุรกิจอาหารสัตว์” การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ และ “ธุรกิจเลี้ยงสัตว์” การเพาะพันธุ์สัตว์ และการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า

“กลางน้ำ” คือ ธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์ และการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า เพื่อให้ได้ออกมาเป็นเนื้อสัตว์แปรรูปขั้นพื้นฐาน

“ปลายน้ำ” ครอบคลุมทั้งธุรกิจอาหาร เป็นการนำเนื้อสัตว์แปรรูป มาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็น “ผลิตภัณฑ์อาหารปรุงสุก และอาหารพร้อมรับประทาน” และธุรกิจกิจการค้าปลีก – ธุรกิจร้านอาหาร เป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าในเครือซีพีเอฟ ปัจจุบันมี แฟรนไชส์ห้าดาว, ร้านอาหารเชสเตอร์, ร้านอาหารซีพี คิทเช่น, ร้านค้าปลีกซีพี เฟรชมาร์ท, ศูนย์อาหารซีพี ฟู้ดเวิลด์ และตู้เย็นชุมชน

ขณะเดียวกันใช้พลัง “Synergy” บริษัทในเครือป้อนวัตถุดิบการผลิตอาหาร เช่น “เจียไต๋” (Chia Tai) เป็นกลุ่มบริษัทด้านการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ธุรกิจปุ๋ย ไปจนถึงจำหน่ายผัก-ผลไม้สดเข้าสู่เชนค้าปลีกต่างๆ และยังป้อนวัตถุดิบให้กับบริษัทในเครือซีพี หรือวัตถุดิบข้าว มีบริษัทในเครืออย่าง “กลุ่มซี.พี. อินเตอร์เทรด” ทำธุรกิจข้าวครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ ส่งให้กับทั้งเครือซีพีด้วยกันเอง และสร้างแบรนด์ขายปลีกเอง ภายใต้แบรนด์ตราฉัตร

CPF supplychain (Cr.CPF)
ธุรกิจต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ ของซีพีเอฟ (Credit : ซีพีเอฟ)

 

5 เหตุผล “ซีพีเอฟ” บุกหนักธุรกิจร้านอาหาร

 

ยุทธศาสตร์จากนี้ไปของ “ซีพีเอฟ” ต้องการสร้างความแข็งแกร่ง “ธุรกิจปลายน้ำ” ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วน “ธุรกิจร้านอาหาร” ด้วยกลยุทธ์ Brand Portfolio และหนึ่งในวิธีเติมเต็ม Portfolio คือ ใช้โมเดล “Partnership” ผนึกกำลังกับทุนยักษ์ใหญ่ในธุรกิจร้านอาหารด้วยกัน

เหตุผลสำคัญที่ “ซีพีเอฟ” เห็นว่าได้เวลาต้องบุกธุรกิจร้านอาหาร นั่นเป็นเพราะ

1. ตอบโจทย์เทรนด์ “Dining Out” ที่ต่อไปคนในเมืองใหญ่จะบริโภคอาหารนอกบ้านมากขึ้น

2. ธุรกิจร้านอาหารในไทย ตลาดใหญ่ด้วยมูลค่ากว่า 400,000 ล้าน และเติบโตต่อเนื่อง รองรับทั้งความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ และคนต่างประเทศ เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยว และต่อไปธุรกิจร้านอาหารในไทย จะมีหลายเซ็กเมนต์ประเภทอาหารมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อโอกาสมหาศาลอยู่ตรงนี้ “ซีพีเอฟ” จึงไม่พลาดที่จะร่วมวงด้วย

3. เชนร้านอาหาร เป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง เพื่อทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ หรือพฤติกรรมผู้บริโภค กลายเป็น Big Data ย้อนกลับไปสู่การวางแผน และพัฒนากระบวนการต้นน้ำ – กลางน้ำ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงใจยิ่งขึ้น

4. ต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบโดยซีพีเอฟ และบริษัทอื่นในเครือซีพี

5. สร้างโอกาสการเติบโตในตลาดอาเซียน และภูมิภาคเอเชีย

ความเคลื่อนไหวล่าสุด “ซีพีเอฟ” ประกาศร่วมทุนกับ “HiLai Group” (ไห่หลาย กรุ๊ป) จากไต้หวัน เจ้าของร้านบุฟเฟต์ “HiLai Harbour Restaurant” จัดตั้งบริษัทในเครือชื่อ “บริษัท ซีพี ไห่หลาย ฮาร์เบอร์ จำกัด” ทุนจดทะเบียน 160 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจภัตตาคาร

เริ่มต้นด้วยการนำภัตตาคารบุฟเฟต์ “Harbour Restaurant” (ไห่หลาย ฮาร์เบอร์) เข้ามาเปิดสาขาแรกที่ ICON SIAM ด้วยงบลงทุน 130 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ความจุ 1,000 ที่นั่งต่อวัน หรือ 450 ที่นั่งต่อรอบ เปิดทุกวัน ในวันจันทร์ – ศุกร์ 2 รอบ มื้อกลางวัน 799 บาท / มื้อเย็น 899 บาท และ วันเสาร์-อาทิตย์เปิดทั้งวัน 1,099 บาท โดย “ซีพีเอฟ” มั่นใจว่าเป็นร้านบุฟเฟต์ใหญ่สุดในประเทศในขณะนี้ !!

CP Hilai Harbour Restaurant
ด้านหน้าของภัตตาคารบุฟเฟต์ Harbour
CP Hilai Harbour Restaurant
ภายในของภัตตาคาร Harbour รองรับ 1,000 ที่นั่งต่อวัน

CP Hilai Harbour Restaurant CP Hilai Harbour Restaurant_16 copy

 

จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ธุรกิจ “HiLai Group” เมื่อ “เจ้าสัวธนินท์” เป็นลูกค้า แล้วติดใจบริการ!

 

ชื่อ “HiLai Group” อาจไม่ได้รู้จักเป็นวงกว้างนักในเมืองไทย แต่ถ้าใครอยู่ในแวดวงธุรกิจอาหาร และที่เกี่ยวข้อง หรือใครที่ไปไต้หวันอาจคุ้นๆ หรือผ่านตามาบ้างแล้ว เพราะถือเป็นหนึ่งใน Major Player ธุรกิจบริการในไต้หวัน มีทั้งธุรกิจร้านอาหาร, โรงแรม, ธุรกิจรับจัดเลี้ยง มีรายได้ทั้งกรุ๊ป 4,400 ล้านเหรียญไต้หวัน ในจำนวนนี้ มาจาก “กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร” ที่บริหารโดย “Hi-Lai Food Inc.” เมื่อปีที่แล้วทำรายได้ 3,800 ล้านเหรียญไต้หวัน

นั่นหมายความว่า กลุ่มธุรกิจเรือธงของ HiLai Group คือ ธุรกิจร้านอาหาร ที่ปัจจุบันมี 15 แบรนด์ รวมกว่า 40 สาขา โดยแบรนด์หลัก คือ ร้านบุฟเฟต์นานาชาติ “Harbour Restaurant” ที่ทำรายได้มากถึง 50% ของทั้งพอร์ตโฟลิโอกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร มีสาขาในไต้หวัน จีน และล่าสุดที่ไทย

ที่มาของจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ระหว่าง “ซีพีเอฟ” กับ “HiLai Group” มาจาก “คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์” ได้เดินทางไปไต้หวัน และได้มีโอกาสไปรับประทานอาหารที่ HiLai Harbour Restaurant เกิดความประทับใจ จึงได้มีการพูดคุยเจรจา เพื่อต่อยอดธุรกิจร่วมกัน นำมาสู่การร่วมทุนในครั้งนี้ โดยเป็น Local Partner รายแรกของ “HiLai Group” ในการขยายสาขาออกสู่ตลาดต่างประเทศ (ที่จีน HiLai Group ลงทุนเอง)

คุณธนินท์ เจียรวนนท์  ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์
คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์
CP Hilai Harbour Restaurant
เปิดตัวภัตตาคารบุฟเฟต์ Harbour อย่างเป็นทางการ

 

ตั้งเป้าขยาย 5 สาขาใน 5 ปี – เล็งนำ “ร้านอาหารมังสวิรัติ” ในเครือ HiLai เปิดในไทย

 

“การขยายธุรกิจภัตตาคาร เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สู่ครัวโลกของซีพีเอฟ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอาหารคุณภาพในทุกระดับ ขณะที่ Harbour เป็นภัตตาคารบุฟเฟต์ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งไต้หวัน และจีน

เมื่อนำจุดเด่นของ Harbour คือ คุณภาพ – ความสดใหม่ และราคาสมเหตุสมผล มาผนวกับไลฟ์สไตล์การนิยมบริโภคอาหารนอกบ้านของคนไทย จึงเชื่อว่าจะได้การตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างดี และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จในธุรกิจภัตตาคารของซีพีเอฟ” คุณสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่(ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เล่าถึงความร่วมมือ

สำหรับยอดขายปีแรก ตั้งเป้าไว้ที่ 240 ล้านบาท และมีแผนขยายสู่หัวเมืองใหญ่หลายแห่งในไทย เช่น พัทยา ภูเก็ต ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยเป้าหมายการเปิด “Harbour” ในไทย ต้องการขยายให้ได้ 5 สาขาภายใน 5 ปี เงื่อนไขของการพิจารณาเลือกโลเกชันเพื่อลงทุนเปิดสาขา ต้องประกอบด้วย 2 ข้อสำคัญคือ

1. ความหนาแน่นของประชากรในละแวกสาขาตั้งอยู่ ต้องมีอย่างน้อย 1 ล้านคน
2. ขนาดพื้นที่ใหญ่เพียงพอที่จะรองรับการเปิดร้านขนาด 2,000 ตารางเมตร

นอกจากนี้ เล็งนำแบรนด์ร้านอาหารอื่นในเครือ HiLai Group มาเติมเต็ม Brand Portfolio กลุ่มธุรกิจร้านอาหารของซีพีเอฟ โดยร้านลำดับต่อไปที่จะเปิดต่อจากร้านบุฟเฟต์ Harbour จะเป็น “ร้านมังสวิรัติระดับห้าดาว” (คาดว่าจะเป็นแบรนด์ HiLai Vegetarian เปิดในไต้หวัน ปัจจุบันมี 7 สาขา) เพื่อตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ และกลุ่มผู้บริโภคที่รับประทาทนมังสวิรัติ ที่ปัจจุบันมีมากขึ้น

คุณธนินท์ เจียรวนนท์  ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ CP Hilai Harbour Restaurant_40copy

 

ร่วมทุนแล้ว “ซีพีเอฟ” กับ “HiLai” ได้อะไรกันบ้าง ?!

 

ภายใต้การร่วมทุนครั้งนี้ ทั้งสองฝ่าย win-win ด้วยกันทั้งคู่ โดยสิ่งที่ “ซีพีเอฟ” ได้ประโยชน์คือ

– “ซีพีเอฟ” ใช้จุดแข็งที่ตนเองมี คือ การเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ และด้าน Sourcing วัตถุดิบต่างๆ จากซัพพลายเออร์ ป้อนให้กับ Harbour ทั้งในไทย และต่างประเทศ เช่น ซีพีเอฟส่งวัตถุดิบ “กุ้ง” ไปให้กับ “Harbour” ที่ไต้หวัน

และกว่า 90% ของวัตถุดิบอาหารของ Harbour ในประเทศไทย มาจากซีพีเอฟ และบริษัทต่างๆ ในเครือซีพี รวมทั้งจากซัพพลายเออร์ของซีพี

– สร้างความแข็งแกร่งให้กับ Brand Portfolio กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็น “ภัตตาคาร”

– ได้องค์ความรู้ที่เป็นจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร “HiLai Group” คือ การบริหารจัดการร้านอาหาร ทั้งเรื่องบุคลากร ระบบงาน รวมไปถึงการบริหารประสบการณ์ลูกค้า นับตั้งแต่การจองคิว-จัดคิวที่ต้องเร็ว ไม่ปล่อยให้ลูกค้ารอนาน

– ต่อยอดการเปิดสาขาในไทย ขยายสู่ตลาดอาเซียน

CP Hilai Harbour Restaurant

ขณะที่ “HiLai Group” จะได้ประโยชน์จากการรวมทุน คือ

– เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “HiLai Group” เข้าไปขยายธุรกิจในอาเซียนได้เร็วขึ้น

– สร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ต่างๆ ในกลุ่มธุรกิจอาหาร ได้สยายปีกออกนอกไต้หวัน

– ได้พันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร และเนื้อสัตว์รายใหญ่ มาเป็นซัพพลายเออร์ป้อนสินค้าให้

“ธุรกิจร้านอาหารของไทย มีทิศทางการเติบโตที่ดีมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักเดินทางทั่วโลก มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ “ซีพีเอฟ” เป็นผู้นำธุรกิจอาหารของไทยและของโลก จึงมีความพร้อมในการเติบโต และสนับสนุนธุรกิจซึ่งกันและกัน” Mr. Liu Tzu-Ming ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซีพี ไห่หลาย ฮาร์เบอร์ จำกัด สรุปทิ้งท้ายถึงความผนึกกำลังกัน

CP Hilai Harbour Restaurant

CP Hilai Harbour Restaurant CP Hilai Harbour Restaurant CP Hilai Harbour Restaurant CP Hilai Harbour Restaurant CP Hilai Harbour Restaurant CP Hilai Harbour Restaurant CP Hilai Harbour Restaurant

CP Hilai Harbour Restaurant
คุณสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่(ร่วม) ซีพีเอฟ พร้อมด้วย Mr.Liu Tzu-Ming ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซีพี ไห่หลาย ฮาร์เบอร์ จำกัด

 

 


  • 1.9K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ