COVID-19 และการวางแผนอนาคตของซัพพลายเชน

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสังคม ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะความใส่ใจในเรื่องความสะอาดมากขึ้น หรือแม้แต่การให้ความสำคัญกับการตรวจสอบที่มาของอาหาร โดยที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารโลกอย่างเนสท์เล่ คาร์ฟูร์ หรือแม้แต่วอลมาร์ทก็ได้เริ่มมีการนำบล็อกเชนมาใช้กับระบบซัพพลายเชนของอาหารตั้งแต่ฟาร์มจนถึงผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย และเราคงจะได้เห็นความเคลื่อนไหวดังกล่าวในประเทศไทยในเร็วๆ นี้

แต่หากมองในมุมธุรกิจ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดนกระทบหนักคงหนีไม่พ้นการผลิตที่ชะลอตัวครั้งใหญ่ และยังส่งผลให้ซัพพลายเชนของหลายบริษัททั่วโลกต้องหยุดชะงัก

แม้ระบบซัพพลายเชนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในช่วงของการรับมือโรคระบาดใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงการต่อสู้กับความกลัวและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการขาดแคลน และการประเมินผลกระทบโดยรวมจากโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับซัพพลายเชนและส่วนปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ แต่หากมองถึงค่าใช้จ่ายที่สูงมากซึ่งธุรกิจหลายแห่งกำลังเผชิญอยู่ คงถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจต่างๆ จะเริ่มวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มองถึงการดำเนินการที่จำเป็นในระยะฟื้นตัวของธุรกิจ และวางแผนรับมือกับดิสรัปชันในอนาคต

คุณปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถคาดการณ์อนาคตได้ แต่เราสามารถปรับปรุงซัพพลายเชนทั่วโลกให้ชาญฉลาดและแข็งแกร่งขึ้นโดยการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่นๆ เพื่อช่วยให้บริษัทต่างๆ ยังคงรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น จากรายงานของ IBM Institute for Business Value ที่ชื่อ “COVID-19 and Shattered Supply Chains” ระบุว่า ซัพพลายเชนควรมีการปรับตัว ตอบสนอง และเชื่อมโยงกับระบบนิเวศและกระบวนการต่างๆ ขององค์กร การดำเนินการนี้จำเป็นต้องอาศัยการมองเห็นภาพครบวงจร ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ และการดำเนินการที่เด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ส่งผลในวงกว้าง

ประสิทธิภาพการคาดการณ์ของ AI

การใช้ AI ทำให้องค์กรต่างๆ สามารถเปลี่ยนข้อมูลเรียลไทม์ที่ไม่มีโครงสร้าง ให้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงพลิกผันและความไม่แน่นอนได้ รวมทั้งสามารถมองเห็นภาพในระยะสั้น ในส่วนของซัพพลายเชนของ IBM System เอง ก็ได้มีการพัฒนา Cognitive Control Tower ขึ้น ที่ใช้เทคโนโลยีช่วยในการแจ้งเตือนแต่เนิ่นๆ โดยอาศัยข้อมูลภายนอก อาทิ สื่อสังคมออนไลน์และข้อมูลเชิงลึกจาก The Weather Company เพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากสมาร์ทโฟนและนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อให้พวกเขาสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและหันไปโฟกัสที่กิจกรรมที่มีมูลค่าสูง เช่น การสื่อสารกับลูกค้า ซัพพลายเออร์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ แทนที่จะต้องมาไล่ดูข้อมูลและรายงานเกี่ยวกับสถานะต่างๆ

AI ช่วยให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนสามารถปรับปรุงยอดสั่งซื้ออย่างเหมาะสมโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การจัดสรรสินค้าคงคลังใหม่ และการจัดลำดับความสำคัญ วิธีนี้จะช่วยให้ทีมงานสามารถตอบสนองได้เร็วขึ้นและลดชั่วโมงแรงงานที่เคยต้องใช้ไปกับการจัดเก็บข้อมูลลงได้หลายร้อยชั่วโมง เพื่อให้พนักงานสามารถหันไปเน้นที่งานที่มีมูลค่าสูงขึ้น

ซัพพลายเชนได้พัฒนาจนเป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วยซัพพลายเออร์ ผู้รับจ้างรายย่อย และศูนย์จัดจำหน่าย รวมกันทั้งสิ้นหลายร้อยรายที่กระจายอยู่ทั่วโลก แม้แต่ความเสียหายเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างผลกระทบอย่างมากและส่งผลต่อๆ กันไปในเครือข่ายการจัดหาสินค้าและบริการทั่วโลก

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรหลายแห่งได้รับผลกระทบจากปัญหาสำคัญๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดแรงกระเพื่อมทั่วทั้งซัพพลายเชนทั่วโลก อาทิ การปะทุของภูเขาไฟ Eyjafjallajökull ในไอซ์แลนด์ เมื่อปี 2553 เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่ญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 หรือเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ ไม่มีบริษัทไหนจะสามารถแบกรับความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นตามมาจากการไม่มีกลยุทธ์ด้านการจัดหาสินค้าและบริการที่ครอบคลุมหลายมิติและมีพลวัต เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันได้

ในขณะที่องค์กรต่างๆ กำลังก้าวสู่การเป็นซัพพลายเชนที่มีระบบอัจฉริยะและสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ด้วยตนเอง ก็มีกลยุทธ์สามแบบให้พิจารณา นั่นคือ

ประเมินเกี่ยวกับกลยุทธ์การจัดหาวัตถุดิบ และออกแบบเครือข่ายซัพพลายเออร์ใหม่: รักษาสมดุลระหว่างระดับความเสี่ยงที่องค์กรสามารถยอมรับได้ กับระดับความยืดหยุ่นในการดำเนินงานที่องค์กรต้องการจะมี ใช้ AI เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อพัฒนาระบบการแจ้งเตือนที่จะช่วยในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และช่องโหว่ต่างๆ และทำให้มองเห็นภาพและมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขที่แนะนำ

ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ Master Lock Company ผู้ผลิตระดับโลกรายใหญ่ที่สุดและเป็นผู้เปิดตลาดอุปกรณ์ล็อกและตู้เซฟส่วนตัว ได้เปิดตัวคู่ค้าระดับโลกจำนวนมาก ได้ตัดสินใจย้ายระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) ของตนไปไว้บนระบบคลาวด์ที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อให้การผนวกรวมกับหุ้นส่วนทางการค้าเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สร้างแบบจำลองซัพพลายเชนและการวิเคราะห์สถานการณ์สมมติที่ชาญฉลาดขึ้น: ด้วยการใช้ดิจิทัลทวินส์ (Digital Twins) ที่อาศัยเทคโนโลยีอนาไลติกส์ AI และ virtualization เราจึงสามารถสร้างแบบจำลองซัพพลายเชนเพื่อประเมินศักยภาพในแง่การปฏิบัติการและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้  ตัวอย่างเช่นในยุโรป องค์กรแห่งหนึ่งได้เริ่มมีการทำ heat Map ขึ้นสำหรับซัพพลายเออร์ เพื่อให้ทราบว่าโรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขาที่ตั้งอยู่ที่ใดบ้าง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจได้แบบเรียลไทม์และทำการเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อได้ในทันที

จัดทำแพลตฟอร์มการแชร์ข้อมูล: เปิดโอกาสให้คู่ค้าสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจถึงผลกระทบของดิสรัปชัน โดยใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อการวางแผนจากสถานการณ์ที่จำลองขึ้นอย่างรวดเร็วและปลดล็อกข้อมูลเชิงลึกที่ซ่อนอยู่ ซึ่งจะส่งเสริมขีดความสามารถในการวางแผนของซัพพลายเชนในการสำรวจทางเลือกต่างๆ และลงมือดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเร็วๆ นี้ ไอบีเอ็มได้ทำงานร่วมกับ Lenovo ในโครงการ Watson™ Supply Chain Fast Start โดยภายในระยะเวลาห้าสัปดาห์ ทีมงานไอบีเอ็มได้ช่วยให้ Lenovo สามารถวิเคราะห์ use case ที่ใช้ AI จำนวน 3 เคส โดยใช้ข้อมูลซัพพลายเชนจากระบบการผลิตของ Lenovo เอง

แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายและจะยังคงทำงานท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ในช่วงระยะเวลาของการระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ คงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องหันมาเรียนรู้วิธีที่ดีขึ้นในการจัดการ คาดการณ์ และจำกัดความรุนแรงของดิสรัปชันในครั้งนี้ โดยการสร้างขีดความสามารถที่จำเป็นเพื่อตอบสนองเหตุการณ์ในอนาคตด้วยความรวดเร็วและความแม่นยำ


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •