แม้จะไม่เหนือความคาดหมาย แต่ก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ประกันภัยไทย กับการสูญเสีย 2 บริษัทประกันภัยของคนไทย 100% อย่าง ไทยประกันภัย บริษัทประกันภัยแห่งแรกและอยู่คู่คนไทยมาถึง 84 ปี และน้องคนถัดมาอย่างอาคเนย์ประกันภัย ที่มีอายุ 76 ปี หลังวิกฤตโควิด-19 กระหน่ำจนหมดทางรักษา แม้จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อดูแลลูกค้าให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและแลนดิ้งจบแบบสวยงาม ขอยุติกิจการโดยสมัครใจ แต่แล้วก็ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและต้องปิดตัวลงเมื่อ 1 เมษายน 65
ย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา Covid-19 เป็นอุบัติการณ์โรคระบาดใหม่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งการใช้ชีวิตของผู้คนและการดำเนินธุรกิจ ไม่เว้นภาคธุรกิจประกันภัยที่รับหน้าที่แบ่งเบาความเสี่ยงให้คนไทยด้วยการออกกรมธรรม์ประกัน Covid ตามความร่วมมือที่ให้กับภาครัฐ เพื่อช่วยให้คนไทยมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดยังคงไม่แน่นอน และหากต้องโชคร้ายติดเชื้อ Covid-19 ก็ยังมีประกันนี้ช่วยบรรเทาทุกข์
ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยที่ระบาดครั้งใหญ่และต่อเนื่องแบบมองไม่เห็นฝั่งก่อให้เกิดผู้ติดเชื้อจำนวนมากมายแบบที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน ทำให้อาคเนย์ประกันภัย และ ไทยประกันภัย ที่แบกรับความเสี่ยงของลูกค้าไว้กว่า 1.8 ล้านกรมธรรม์ เกิดอาการโคม่าประหนึ่งติดโควิดเสียเอง ซ้ำด้วยการถูกถอดเครื่องช่วยหายใจอย่างเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ตามประกาศ “ห้ามยกเลิก” ของหน่วยงานกำกับฯ แม้ในสัญญาจะระบุไว้ชัดเจนว่ายกเลิกได้เมื่อเหตุแห่งความเสี่ยงเปลี่ยนไปก็ตาม
จากบุคลากรทางการแพทย์สู่ประชาชน
หากจะย้อนดูต้นกำเนิดของสถานการณ์ด้านประกันภัยที่เกิดขึ้น คงต้องย้อนกลับไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหม่ๆ ในช่วงที่ไม่มีใครรู้ว่า Covid-19 คืออะไร ส่งผลกระทบรุนแรงมากน้อยเพียงใด ต้องป้องกันอย่างไรและต้องรักษาอย่างไร แม้แต่ในวงการสาธารณสุขเองที่ถือเป็นแนวหน้าในการสู้รบกับ Covid-19 ก็ยังรู้อะไรไม่มาก แถมยังสร้างความกังวลให้กับบุคลากรทางการแพทย์
หากบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการสู้รบกับ Covid-19 ยังหวั่นกลัว การดูแลผู้ป่วยอาจทำได้ไม่ดีเต็มประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของกรมธรรม์ประกันภัย Covid-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” ที่มอบให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร หน่วยงานด่านหน้าต่างๆ ที่ต้องเสียสละเผชิญโรคเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย Covid-19
และในช่วงเวลาที่สังคมหวาดระแวงและสับสนกับสถานการณ์ Covid-19 ที่แม้แต่แค่ไอธรรมดาก็หวาดกลัวจนส่งผลกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์ และเพื่อต้องการคลายความกังวลให้กับประชาชนทั่วไป จึงได้ขยายรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัย Covid-19 แบบ“เจอ จ่าย จบ” ไปสู่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป้าหมายคลายความกังวลและเป็นหลักประกันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
“กลายพันธุ์” กลายเป็นหายนะ
ในช่วงที่หลายคนชะล่าใจกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลง มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น การใช้ชีวิตของผู้คนแบบไม่กังวลการติดเชื้อจึงกลับมา ประกอบกับมาตรการผ่อนคลายที่มีมากขึ้น ยิ่งกระตุ้นให้คนใช้ชีวิตแบบมีความเสี่ยงมากขึ้น ที่สำคัญที่สุด คือ การกลายพันธุ์ของเชื้อ Covid-19 สู่สายพันธุ์เดลต้า ที่ติดเชื้อง่ายขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ช่วงปลายปี 2563 ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 90% และเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จนช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ยอดผู้ติดเชื้อก็แตะระดับ 20,000 รายต่อวัน
ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนผู้เอาประกันที่อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยรับไว้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณภายในชั่วพริบตา แม้ว่าอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยจะระดมสรรพกำลังและเงินทุนต่างๆ เพื่อรองรับการดูแลผู้เอาประกัน แต่ด้วยสถานการณ์ที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทำให้อาคเนย์ประกันภัยดำเนินการจ่ายสินไหมไปกว่า 10,101 ล้านบาท ส่วนไทยประกันภัย จ่ายไป 2,600 ล้านบาท รวม 166,179 กรมธรรม์ จากกรมธรรม์ทั้งหมด 1.8 ล้านกรมธรรม์
ส่งผลให้ อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน แม้ว่าทางผู้บริหารของอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยจะพยายามอย่างสุดความสามารถ แต่สุดท้ายก็ตัดใจยอมเสีย 2 บริษัทที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ด้วยการขอปิดกิจการ พร้อมเร่งเสนอคืนเบี้ยประกัน Covid ให้ลูกค้าเต็มจำนวนโดยสมัครใจ โดยมีลูกค้าลงทะเบียนสำเร็จราว 387,000 ราย ส่งผลให้บริษัทฯ เหลือกรมธรรม์เจอจ่ายจบที่ต้องดูแลต่อไปอีก 1.4 ล้านกรมธรรม์
โอนลูกค้าประกันอื่นเพื่อดูแลต่อ
เพื่อให้การดูแลลูกค้ายังสามารถดูแลได้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุ สุขภาพ รถยนต์ อัคคีภัย เป็นต้น ทั้งอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย ได้ประสานกับบริษัทประกันภัย 31 แห่งที่ได้รับการอนุมัติจาก คปภ. ในการสร้างความคุ้มครองกรมธรรม์ที่เทียบเท่าของเดิม รวมถึงมีความพร้อมของระบบและกำลังคนในการรับโอนพอร์ตกว่า 6,000 ล้านบาท จากบริษัทได้ทันตามเวลา
โดยได้รับความสนใจจาก 12 บริษัท แต่มีเพียง ทิพยประกันภัย แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ และ อินทรประกันภัย ซึ่งสามารถตอบรับเงื่อนไขที่ต้องให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด และบริการแบบไร้รอยต่อได้ โดยสามารถเริ่มให้ความคุ้มครองที่บริษัทใหม่ตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งลูกค้าไม่ต้องยุ่งยากในการดำเนินการด้วยตัวเอง
ปิดตำนานบนความเสียดาย
แม้ว่าทั้งอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยจะผ่านร้อน ผ่านหนาว ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติธรรมชาติ อุบัติเหตุใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่นเกย์ถล่มในปี 2532 พิษต้มยำกุ้งในปี 2540 มหาวิบัติภัยสึนามิในปี 2546 อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 โดยในแต่ละครั้งใช้เม็ดเงินเยียวยาเป็นค่าสินไหมหลักพันล้านบาท ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ก็เข้าใจเพราะธุรกิจประกันภัยคือการแบ่งเบาความเสี่ยงจากภัยที่ไม่อาจคาดเดาได้
จนกระทั่งวิกฤต Covid-19 ซึ่งนับเป็นโรคอุบัติใหม่ในทุกรอบ 100 ปี ที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดของการแพร่ระบาด ทั้ง 2 บริษัทจึงมิอาจต้านทานความรุนแรงและความยาวนานของสถานการการณ์ในครั้งนี้ได้ จนเดินมาถึงสุดทางที่ต้องจากลาไปแบบเจ็บปวดกันทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริหารที่ต้องเสีย 2 บริษัทประกันของคนไทย ทีมงานที่มีความตั้งใจดูแลคนไทย สูญเสียพนักงานจากสาขาทั่วประเทศ ด้านลูกค้าก็สูญเสียความคุ้มครอง สูญเสียรายได้และความมั่นคง
บาดแผลของ อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย จะกลายเป็นบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของวงการประกันภัยไทยที่ต้องเจอกับวิกฤตที่ใหญ่หลวงที่ทางออกถูกปิด และหวังว่าจะไม่มีบริษัทประกันภัยแห่งใดต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้อีก ซึ่งทั้งหมดนี้อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยได้ทำทุกอย่าง เพื่อให้ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ในภาพรวมของอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด