ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมเบียร์ทั่วโลก รวมทั้งในไทย เมื่อเทียบกับช่วงเวลากว่า 10 ปีที่แล้ว กับเวลานี้ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน มาจากทั้งฝั่ง “Supply” ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเกิดผู้ผลิตหน้าใหม่ที่เป็นรายเล็กเข้ามา แม้ไม่ได้ท้าชนโดยตรงกับผู้ผลิตรายใหญ่ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เบียร์ใหม่เข้ามาเป็น “ทางเลือก” การดื่มของผู้บริโภค
ในขณะที่ฝั่ง “Demand” หลากหลาย สลับซับซ้อน ไม่ยึดติดแบรนด์เดิม หรือเบียร์ประเภทเดิมที่เคยดื่ม ชอบที่แสวงหาเบียร์รูปแบบใหม่
วันนี้ จึงเห็นพฤติกรรมคนที่ดื่มเบียร์แบรนด์ใหญ่ แต่บางโอกาสเขาก็เปลี่ยนไปดื่ม Craft Beer หรือเบียร์ต่างประเทศนำเข้า หรือในช่วงเวลาสังสรรค์ยามเย็น บนโต๊ะไม่ได้มีแต่ขวดเบียร์อย่างเดียว แต่ยังมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สายพันธุ์อื่นๆ วางอยู่ด้วย
ส่งผลให้ผู้ผลิตค่ายใหญ่ต้องปรับตัว เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น !!
หนึ่งใน 3 ค่ายผู้ผลิตรายใหญ่ในไทย “กลุ่มบริษัท ทีเอพี” หรือที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันว่าค่ายไฮเนเก้น ใช้จังหวะนี้ ตัดสินใจ Rebrand “เชียร์” ครั้งใหญ่ในรอบกว่า 1 ทศวรรษ ด้วยการสร้าง sub-brand “เชียร์ ซีเลคชั่น” (Cheers Selection) เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดเบียร์ เซ็กเมนต์ Mainstream
แต่เส้นทางกว่าที่แบรนด์ “เชียร์” จะมาถึงจุดลงตัวที่ “เชียร์ ซีเลคชั่น” ไม่ใช่เรื่องง่าย! เพราะจุดเริ่มต้นของเบียร์เชียร์ เกิดขึ้นมา เพื่อลุยตลาดเซ็กเมนต์ Mainstream ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของตลาดเบียร์ในไทย ด้วยมูลค่าตลาดกลุ่มนี้ 139,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องเจอกับสองพี่ใหญ่ที่อยู่มาก่อน และมีระบบ Distribution Channel ทรงพลัง
อีกทั้งยังต้องเจอกับกฎข้อห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ “เบียร์น้องใหม่” เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ต้องทำตลาดเงียบๆ เน้นขยายเข้าช่องทางจำหน่ายเป็นหลัก ส่งผลให้ Brand Awareness ไม่ได้เปรี้ยงปร้าง ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาด มีเพียง 0.5%
เราจึงอยากชวนมาถอดบทเรียนการตลาดของ “เชียร์” เบียร์สัญชาติไทยของค่ายไฮเนเก้น
“กลุ่มไฮเนเก้น” ผนึกกำลัง 3 แบรนด์หลัก บุกตลาดเบียร์ไทย
ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเบียร์ ทั้งค่ายยักษ์ใหญ่ระดับโลก และค่ายระดับภูมิภาค ล้วนเดินทัพบุกตลาดด้วย “Brand Portfolio Strategy” โดยมีทั้งปั้นแบรนด์ขึ้นเอง และใช้วิธีเข้าซื้อกิจการ เพื่อ Shortcut เข้าสู่ตลาดได้เร็ว ! พร้อมทั้งวางกลยุทธ์แบรนด์ แบ่ง 3 ระดับ คือ
“Global Brand” เป็นแบรนด์ใช้สำหรับทำตลาดทั่วโลก
ตามมาด้วย “Regional Brand” เป็นแบรนด์ใช้เจาะตลาดภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง
และ “Local Brand” แบรนด์ท้องถิ่น โฟกัสตลาดในประเทศนั้นๆ หรือรวมถึงแถบประเทศใกล้เคียง
ปัจจุบัน “Brand Portfolio Strategy” ยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้บริโภค Demanding สูง และ Lifestyle หลากหลาย อยู่ที่การผลักดัน “เบียร์” ที่มีอยู่ใน Portfolio เข้าไปอยู่ในทุก “โอกาสการดื่ม” ของผู้บริโภคมากกว่า จะดื่มกับเพื่อน ในช่วงเวลาสังสรรค์ หรือดื่มคนเดียวคนเดียวก็ตาม ไม่ว่าจะผ่านช่องทาง On Premise หรือ Off Premise
ขณะเดียวกันการดื่มในบางโอกาส เช่น ดื่มนอกบ้าน “เบียร์” ยังเป็นเครื่องสะท้อนภาพลักษณ์ของคนๆ นั้นอีกด้วย
หนึ่งในผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของโลกอย่าง “กลุ่มไฮเนเก้น” (Heineken) เมื่อเข้ามาทำตลาดในไทย อยู่ภายใต้
การดูแลและบริการโดย “กลุ่มบริษัท ทีเอพี” ที่ปัจจุบันมี 3 แบรนด์หลัก คือ
“ไฮเนเก้น” เป็น Global Brand ทำตลาดทั่วโลก โดยเริ่มผลิตและทำการตลาดในไทย ในปี 2538
“ไทเกอร์ เบียร์” เป็นแบรนด์ระดับ Regional เจาะภูมิภาคเอเชีย ผลิตและจำหน่ายในไทยเมื่อปี 2547
“เชียร์” เป็น Local Brand เกิดขึ้นในปี 2548 ถือเป็นแบรนด์แรก และ(ขณะนี้)ยังคงเป็นแบรนด์เดียวในพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มไฮเนเก้น ที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเจาะตลาดไทยโดยเฉพาะ
ย้อนรอยเส้นทาง “เชียร์” ถือกำเนิดขึ้น เพื่อภารกิจเจาะตลาดแมส
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่ค่ายไทยเบฟ ที่มีแบรนด์ “ช้าง” และค่ายสิงห์ ที่คลอด “ลีโอ” กำลังรัวหมัดซัดกันนัวในสมรภูมิเบียร์ตลาด Mass ทำให้ค่าย “ทีเอพี” หรือชื่อเดิมคือ ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ เป็นผู้นำตลาดในตลาดเบียร์ Premium ในประเทศไทย ด้วยแบรนด์ไฮเนเก้น ถือครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% ในกลุ่มนี้ เล็งเห็นโอกาสในตลาด Mass และเพื่อขยาย Brand Portfolio มีแบรนด์เข้าไปจับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน
ในปี 2548 จึงได้เปิดตัว “เชียร์” (Cheers) เป็นแบรนด์ที่กลุ่มทีเอพี ปลุกปั้นขึ้นมา สำหรับทำตลาดประเทศไทยโดยเฉพาะ วางตำแหน่งในตลาดเดียวกับ “ลีโอ” และ “ช้าง”
แต่ด้วยความที่เป็นน้องใหม่ และมีพี่ใหญ่เจ้าถิ่นแข็งแรงทำตลาดมาก่อน จึงทำให้เบียร์เชียร์ พยายามสร้างความแตกต่าง ตั้งแต่ชื่อเบียร์ ที่ไม่ใช้ชื่อสิงสาราสัตว์ มาเป็นชื่อแบรนด์ แต่ใช้เสียง “เชียร์” เวลาสังสรรค์ และในการสื่อสารเน้นความสุขในการใช้ชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของแบรนด์ พร้อมทั้งชูความเป็นเบียร์สัญชาติไทย มาตรฐานระดับโลก
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ตลาดของเบียร์เชียร์ เจอความท้าทายไม่น้อย ทั้งคู่แข่งเบอร์ใหญ่ ที่แข็งแกร่งทั้งกำลังการผลิต งบประมาณ ระบบจัดจำหน่าย และช่องทางจำหน่าย ที่ปูพรมทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ไปจนถึง Modern Trade
ประกอบกับธุรกิจเบียร์ในไทย ต้องเจอกับกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ที่ผ่านมา “เชียร์” ทั้งเชียร์ คลาสสิก (สีฟ้า) และ เชียร์ เอ็กซ์ตรา (สีแดง) แทบไม่ได้สื่อสารการตลาด และเน้นสร้างการเข้าถึง ผ่านช่องทาง Traditional Trade หรือโชห่วยเป็นหลัก
ถึงปัจจุบันเมื่อดูเฉพาะเซ็กเมนต์ Mainstream ของกลุ่มบริษัท ทีเอพี ทั้ง “เชียร์” ยังมีส่วนแบ่งการตลาดเพียงแค่ 0.5% ในขณะที่ “ไทเกอร์” มีส่วนแบ่ง 0.1% ของตลาด Mainstream โดยรวมกว่า 139,000 ล้านบาท จึงถือว่าเล็กมาก!
แต่ด้วยความที่ตลาดเบียร์ในประเทศไทย กลุ่ม Mainstream เป็นฐานใหญ่ “กลุ่มบริษัท ทีเอพี” จึงปรับวิสัยทัศน์หันมาโฟกัสเซ็กเมนต์นี้มากขึ้น เพื่อเข้าไปชิงเค้กในตลาดใหญ่ พร้อมทั้งตั้งเป้าภายใน 2 – 3 ปีนับจากนี้ ต้องเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด “เชียร์” ขยับขึ้นเป็น 1% ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ !!!
ปั้น “Cheers Selection” ตอบโจทย์ Insight ผู้บริโภคแสวงหาเบียร์สไตล์ใหม่
การหันมาลุยตลาดเบียร์ Mainstream มากขึ้น แต่จะใช้ “ผลิตภัณฑ์เดิม” ที่อยู่มากว่า 10 ปี ก็คงไม่สามารถสร้างความโดดเด่น ที่จะกระชากความสนใจผู้บริโภคได้ ดังนั้น ในปี 2559 “กลุ่มบริษัท ทีเอพี” จึงได้เปิดตัว sub-brand “เชียร์ ซีเล็คชั่น” (Cheer Selection) เพื่อ trade-up ไปเจาะตลาด “Upper Mainstream” ในขณะที่ให้เบียร์เชียร์ คลาสสิก – เอ็กซ์ตรา ยังคงอยู่ในตลาด Mainstream เช่นเดิม
การสร้าง sub-brand ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของ “เบียร์เชียร์” เช่นกัน เพราะถ้าสำเร็จ ย่อมทำให้ในภาพรวมของแบรนด์เชียร์ สามารถ “เดินต่อ” ไปได้ เพื่อสร้างการเติบโต แต่ถ้าไม่สำเร็จ เท่ากับแบรนด์เชียร์ ตกอยู่ในสถานการณ์ “หยุดนิ่ง” อยู่กับที่
เพราะฉะนั้น ภายใต้การสร้าง “เชียร์ ซีเล็คชั่น” จึงมี 5 วัตถุประสงค์ใหญ่ คือ
1. ตอบโจทย์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเบียร์ และพฤติกรรมผู้บริโภค ที่คนในยุคดิจิทัล เชื่อมต่อกับออนไลน์ตลอดเวลา และอัพเดทข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก ต้องการแสดงความเป็นตัวเอง แสวงหาประสบการณ์ใหม่ ไม่ยึดติดอยู่กับแบรนด์เดิมๆ สิ่งเดิมๆ แต่พร้อม “เปิดใจ” รับสิ่งใหม่ – แบรนด์ใหม่
นี่เป็น Turning Point สำคัญที่พลิกโฉมตลาดเบียร์ทั่วโลก รวมทั้งไทย ทำให้มีเบียร์สไตล์ใหม่ๆ วางจำหน่ายมากมายในไทย ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของ “Craft Beer” (คลิ๊กอ่านเพิ่มเติม Craft Beer เบียร์อินดี้ เขย่าอุตสาหกรรมเบียร์โลก และไทย) รวมไปถึงเบียร์นำเข้า และการเพิ่มขึ้นพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เบียร์ สไตล์ใหม่ๆ
ทั้งใน Modern Trade ที่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต – ร้านสะดวกซื้อ จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับเบียร์ใหม่ จากในอดีต เวลาอยู่หน้าชั้นวางเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เราจะเห็นแต่แบรนด์เดิมๆ ที่เป็น Top 3 Brand แต่ปัจจุบัน จะเจอแบรนด์ใหม่ ที่บางแบรนด์ไม่เคยเห็นมาก่อน อีกทั้งยังมีการเปิดเพิ่มขึ้นของร้านประเภท Craft Bar
ผู้บริโภคกลุ่มที่เป็น Upper Mainstream โดยพฤติกรรมเป็นกลุ่มที่ดื่มเบียร์ Mainstream อยู่แล้ว และ ในบางโอกาส คนกลุ่มนี้ต้องการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิเศษ ที่แปลกใหม่จากที่เขาดื่มกันมา ดังนั้นการดื่มบางครั้ง ผู้บริโภคกลุ่มนี้เลือกดื่ม “Craft Beer” เพราะเขาต้องการประสบการณ์การดื่มแปลกใหม่จากเดิม
แต่ด้วยความที่ “Craft Beer” ในเมืองไทย ราคาจำหน่ายสูง เพราะมีทั้งเป็นเบียร์ของผู้ผลิตต่างประเทศ แล้วนำเข้ามาจำหน่ายในไทย และของผู้ผลิตไทย แต่ด้วยข้อกฎหมาย ไม่สามารถผลิตในไทยได้ จึงต้องผลิตจากโรงงานในต่างประเทศ แล้วส่งเข้ามาขายในไทย จึงกลายเป็น “สินค้านำเข้า” ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ ไม่สามารถดื่ม “Craft Beer” ได้ในทุกโอกาสการดื่ม
ด้วยพฤติกรรมดังกล่าว สะท้อนได้ว่า ผู้บริโภคปัจจุบันมี Brand Loyalty น้อยลง มีทางเลือกมากขึ้น และเปิดใจรับสิ่งใหม่ ย่อมเป็น “โอกาส” ที่แบรนด์ “เชียร์” จะเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ ด้วยการนำเสนอเบียร์สไตล์ใหม่ เพื่อเป็น “ทางเลือกการดื่ม”
2. เมื่อเดินเกมในตลาด Mass หรือ Mainstream ใหญ่แล้วไม่อาจฉีกหนีร่มเงาบรรดาแบรนด์พี่ใหญ่ได้ ก็ปรับกลยุทธ์ ขยายไปทำ “Niche Market” และรุกปักธงเป็นผู้นำในตลาดเบียร์ Mainstream สไตล์ใหม่
หลังจากประเดิมเปิดตัว “เชียร์ ซีเล็คชั่น ไรซ์เบอร์รี่” ต่อมาได้ส่ง Seasonal Product จำหน่ายเฉพาะช่วง “เชียร์ ซีเล็คชั่น โชกุล ออเรจน์” และ “เชียร์ ซีเล็คชั่น นอร์ทเทิร์น สตรอว์เบอร์รี่” เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวให้กับแบรนด์ และสร้างสีสันตลาด
3. ใช้ “เชียร์ ซีเล็คชั่น” เป็นทัพสำคัญในการขยายสินค้าเข้าสู่ช่องทางการขาย Modern Trade และ On Premise เช่น ร้านอาหาร, ผับบาร์ ร้าน Craft Beer พร้อมทั้งขยายฟอร์แมตการขายใหม่ เช่น จำหน่ายรูปแบบเบียร์สด
4. เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ดื่มหน้าใหม่ ที่เพิ่งเริ่มดื่มเบียร์ ช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป
5. ใช้ “กลุ่มซีเล็คชั่น” สร้าง Brand Awareness ทั้งแบรนด์ใหญ่ “เชียร์” และ sub-brand ซึ่งนอกจากทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าอีกหนึ่งทางเลือกการดื่มแล้ว ยังทำให้องค์รวมทั้งหมดของแบรนด์เชียร์ ดูทันสมัยขึ้น
“เราใช้เชียร์ ซีเล็คชั่น ไรซ์เบอร์รี่เป็นตัวบุกเบิก ซึ่งช่วงแรกที่ทำตลาด ด้วยความที่เราออกแบบแพคเกจจิ้งกระป๋องเป็นสีดำ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นเบียร์แอลกอฮอล์สูง หรือมีรสชาติเข้มหรือเปล่า และดูภายนอกยังไม่แตกต่างจากเชียร์ คลาสสิก และเชียร์ เอ็กซ์ตรา
ซึ่งไม่ถูกตาม Positioning ที่เราวางไว้สำหรับ sub-brand และสินค้าตัวนี้ จึงต้องแก้หลายจุด แต่เราพบว่าหลังจากผู้บริโภคได้ทดลองดื่ม เขาเห็นถึงความแตกต่างของวัตถุดิบที่นำมาผลิต และเปิดใจรับเบียร์นี้” คุณพชรชนก ศิลอุดม ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์เมนสตรีม กลุ่มบริษัททีเอพี เล่าถึงการทำตลาดเชียร์ ซีเล็คชั่นในช่วงแรก
ปัจจุบันสัดส่วนยอดขาย “เชียร์” มาจาก “เชียร์คลาสสิก” และ “เชียร์ เอ็กซ์ตรา” 84% ขณะที่ “เชียร์ ซีเล็คชั่น” 16% ซึ่งกลุ่มบริษัท ทีเอพี มองว่า “เชียร์ ซีเล็คชั่น” เป็น Strategic Brand ขับเคลื่อนการเติบโตให้กับ Portfolio กลุ่มเมนสตรีมโดยรวมของบริษัท
ปรับภาพลักษณ์ “ซีเล็คชั่น” – เกาะเทรนด์ Wheat Beer
หลังจากทำตลาด “กลุ่มเชียร์ ซีเล็คชั่น” มาได้ 3 ปี “กลุ่มบริษัท ทีเอพี” พบว่า เป็นกลยุทธ์ที่เดินมาถูกทาง เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ Brand Loyalty น้อยลง ในขณะที่ความหลากหลายของเบียร์เพิ่มขึ้น และคนไทยดื่มเบียร์แปลกใหม่ ในปีนี้ จึงได้ปรับภาพลักษณ์ใหม่ ให้มีลุค “Craft Beer” พร้อมชูความเป็นไทย และ Storytelling
เริ่มจากปรับดีไซน์แพคเกจจิ้ง “เชียร์ ซีเล็คชั่น ไรซ์เบอร์รี่” นำอัตลักษณ์ความเป็นไทยอย่าง “ไก่ฟ้าพญาลอ” ซึ่งเป็นพันธุ์นกที่กินข้างไรซ์เบอร์รี่เป็นอาหาร มาเป็นสัญลักษณ์บนแพคเกจจิ้งใหม่ เพื่อสื่อสารความเป็นไทย
ขณะเดียวกันเปิดตัว “เชียร์ ซีเล็คชั่น สยาม ไวเซ่น” (Cheers Selection Siam Weizen) เป็นเบียร์จัดอยู่ในกลุ่ม Wheat Beer ผลิตจากข้าวสาลี มอลต์ และฮอปส์ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่ม Wheat Beer ได้รับความนิยม ทั้งในไทย และต่างประเทศ เพราะดื่มง่ายรองจากเบียร์ประเภท Lager Beer ทำให้ “กลุ่มบริษัท ทีเอพี” มองว่าเบียร์กลุ่มนี้น่าสนใจ และน่าจะมีทิศทางการตอบรับที่ดีในผู้บริโภคกลุ่ม Upper Mainstream
“ถึงแม้ภาพรวมการแข่งขันของตลาด Mainstream จะค่อนข้างดุเดือด แต่เรามั่นใจว่าการเปิดตัวเชียร์ ซีเล็คชั่น สยาม ไวเซ่น และปรับดีไซน์แพคเกจจิ้งของเชียร์ ไรซ์ เบอร์รี่ พร้อมด้วยกลยุทธ์การสื่อสารแบบออนไลน์ ที่ตั้งเป้าหมายเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค Mainstream ทั่วประเทศ 17 ล้านคน จะสร้างการจดจำตราสินค้า
ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมการตลาด ของกลุ่มแบรนด์เชียร์หลัก ที่เน้นเจาะตลาดหัวเมืองต่างจังหวัด ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมคอนเสิร์ต ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้สินค้ากลุ่ม Mainstream ของกลุ่มบริษัท ทีเอพี เป็นไปตามแผนที่วางไว้”
การพยายามเจาะตลาด “Upper Mainstream” นอกจากเชียร์แล้ว ทางฝั่ง “สิงห์” และ “ไทยเบฟ” สนใจเซ็กเมนต์นี้เช่นกัน ด้วยการปั้นเบียร์แบรนด์ใหม่ ที่นำเสนอลุคแบบ “Craft Beer” ไม่มีภาพลักษณ์แบรนด์สิงห์ และช้างหลงเหลืออยู่แม้แต่น้อย
ไม่ว่าจะเป็น “Snowy Weizen by EST. 33” และ “KOPPER” ของค่ายสิงห์ ขณะที่ไทยเบฟ เมื่อปลายปีที่แล้วส่งเบียร์ใหม่สองแบรนด์ “HUNTSMAN” และ “BLACK DRAGON”
แม้ตลาด “Upper Mainstream” เป็นฐานเล็กมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มใหญ่อย่าง “Mainstream” แต่การเกิดขึ้นของเซ็กเมนต์นี้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมเบียร์ในไทย กลับมาคึกคัก และมีสีสัน หลังจากตลาดอยู่ในสภาวะเติบโตลดลง
ทั้งยังสะท้อนได้ว่า ผู้ผลิตค่ายใหญ่ต้องปรับตัว ด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่เร็วขึ้น – ถี่ขึ้น จากในอดีตสินค้าเดิม – แบรนด์เดียว และเน้นกระจายสินค้าให้ครอบคลุม แต่วันนี้สูตรสำเร็จดังกล่าว ใช้ไม่ได้สำหรับยุค Disruptive World อีกต่อไปแล้ว
เพราะเมื่อคนเชื่อมต่อดิจิทัล ย่อมอัพเดทเทรนด์ใหม่ได้ทั่วโลก ทำให้การดื่มเบียร์ของคนไทยในวันนี้จึงมีลักษณะ Personalization เลือกดื่มในสไตล์ที่ตนเองชอบ และแสวงหาประสบการณ์การดื่มรูปแบบใหม่เสมอ ไม่ยึดติดแต่กับสิ่งที่ตนเองคุ้นเคย หรือดื่มมานาน
“เชียร์” จึงคว้าจังหวะนี้ เพื่อผลักดันแบรนด์เข้าไปอยู่ในการรับรู้ นำไปสู่การทดลองดื่ม และขยายฐานผู้ดื่มไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ควบคู่กับการพัฒนาเบียร์สไตล์ใหม่ เพื่อในที่สุดต้องการทำให้ภาพลักษณ์ความเป็น “Innovative Beer” สัญชาติไทย เด่นชัดอยู่ในการจดจำของผู้บริโภค