จากที่กล่าวไปใน Episode 1 (เปิดปมวิกฤตการณ์ “ช่อง 3” รายได้ – กำไรลด เข้าสู่ภาวะขาดทุนในรอบ 4 ทศวรรษ!!) ว่าการเข้ามาของอุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ กับคลื่นความถี่ที่แรงและเร็วขึ้นอย่างมาก เป็นแรงหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมรายการทีวีของคนไทย กลายเป็นดูผ่านอุปกรณ์อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ได้ อีกทั้งยังเป็นยุคแห่งการไหลบ่าของคอนเทนต์ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับชมคอมเทนต์มากมายจากหลายแหล่ง
ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ ต้องเผชิญกับความท้าทายในการวางแผนพัฒนาคอนเทนต์ ซึ่งเทรนด์นี้เกิดกับหลายประเทศทั่วโลก จึงหลีกเลี่ยงได้ยาก
ไม่เพียงแค่นั้น สำหรับผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ในไทยหลายราย ยังต้องรับมือกับอีกปัญหาหนัก คือ ภาระค่าใช้จ่ายจากการประมูลใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล
ยิ่งเมื่อบวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังซบเซาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมที่ลดลง การจะเพิ่มรายได้ก็ไม่ง่าย การลดรายจ่ายก็ทำได้ยาก จึงถือเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก
ปัจจัยภายนอกเหล่านี้กระทบเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจสถานีโทรทัศน์ไทยแน่นอน !! อดีตช่องทีวีที่เคยรุ่งเรืองอย่าง “ช่อง 3” ก็หนีไม่พ้นเช่นกัน
ช่อง 3 กับความพยายามฝ่าวิกฤต
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ “กลุ่ม BEC World” ที่มี “ช่อง 3” เป็นเรือธงทำรายได้มากสุด จึงได้ปรับตัวครั้งใหญ่ในหลายด้าน ภายใต้โจทย์ใหญ่ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน เพิ่มรายได้ และลดต้นทุน โดยหลักๆ ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน มีดังนี้…
- การเสริมทัพผู้บริหารระดับสูง ด้วยผู้บริหารมืออาชีพในด้านต่างๆ จนกลายเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในปี 2560
- ไม่พึ่งพา “สื่อทีวี” เป็นหลักอย่างเดียว แต่มองหาช่องทางการกระจายคอนเทนต์ให้เข้าถึงฐานผู้ชมกลุ่มคนรุ่นใหม่ นั่นคือ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ทั้งการพัฒนาขึ้นเองอย่าง “Ch3Thailand” และ “Mello” พร้อมทั้งจับมือกับแพลตฟอร์มรายใหญ่ “LINE TV” และ “YouTube”
- สร้างโอกาสการเติบโตด้านรายได้ ในน่านน้ำใหม่นอกประเทศไทย ด้วยการพาคอนเทนต์ไปตลาดต่างประเทศ
- สร้างรายได้เพิ่มจากคอนเทนต์ และศิลปิน โดยคอนเทนต์ไหนที่ได้รับความนิยม กลายเป็นกระแส Talk of the town จะรีบต่อยอดสร้างรายได้จากคอนเทนต์นั้นทันที ดังที่ปรากฏให้เห็นแล้วกับกระแสละคร “นาคี” และ “บุพเพสันนิวาส”
ส่วนรายละเอียดแต่ละเรื่องจะเป็นอย่างไรนั้น มาเจาะลึกกัน
Timeline ย้อนรอยการปรับโครงสร้างช่อง 3 ด้วยกองทัพมืออาชีพ
- แต่ย้อนไปก่อนหน้านั้น ราวกลางเดือน พ.ย. 2559 ภายในองค์กรช่อง 3 เอง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ “คุณประวิทย์ มาลีนนท์” ที่คนช่อง 3 เรียกว่า “นาย” มาเป็นเวลานับสิบปี ได้ลาออกจากตำแหน่งบริหารและกรรมการทั้งหมดของกลุ่ม BEC และช่อง 3 หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยขายหุ้นที่กลุ่มครอบครัวของตนถือ จนปัจจุบันไม่เหลืออยู่แล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มี.ค. 2561)
- นำมาสู่มติแต่งตั้ง “คุณประชุม มาลีนนท์” น้องชายคนเล็กของตระกูล นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท (G-CEO) พร้อมกับแต่งตั้งพี่สาวคือ “คุณอัมพร มาลีนนท์” เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ (Chief Operation Officer) เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2560
อันที่จริง คุณประชุมถือเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ส่วนสำคัญในการดูแลสายธุรกิจสื่อโฆษณาและธุรกิจ New Media ให้กับช่อง 3 และกลุ่ม BEC มาก่อน
หลังนั่งเก้าอี้ G-CEO ไม่นาน “คุณประชุม” ก็เริ่มระดม “ผู้บริหารมือพระกาฬ” เข้ามาเสริมทัพ
- เริ่มจากวันที่ 27 เม.ย. 2560 มีการแต่งตั้ง “คุณสมประสงค์ บุญยะชัย” อดีต CEO ของกลุ่ม AIS และประธานกรรมการบริหารกลุ่มอินทัช โฮลดิ้ง มานั่งเก้าอี้ “ประธานคณะกรรมการบริหาร BEC World”
ต้องยอมรับว่า ในช่วงนั้น แค่เห็นหน้าคุณสมประสงค์ในข่าวการจัดทัพของช่อง 3 ก็ทำให้นักลงทุนและคนในวงการสื่อเริ่มมีความหวังว่าจะเห็น “เรือนาวีช่อง 3” ฝ่ามรสุมไปยืนขี่คลื่นความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลและสื่อออนไลน์ได้ แต่ที่ทำให้หลายคนมั่นใจยิ่งขึ้นคือ คุณสมประสงค์ไม่ได้มาคนเดียว แต่ยังพา “ขุนศึกฝีมือดี” ติดตามมาอีก 2 คน
ได้แก่ “คุณอาภัททรา ศฤงคารินกุล” อดีตแม่ทัพด้านไอทีจาก AIS มาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารสายงานเทคโนโลยีและธุรกิจสื่อใหม่ (Chief Technology & New Media Officer) และ “คุณภัทรศักดิ์ อุตตมะโยธิน” อดีตผู้บริหารระดับสูงด้าน HR จาก AIS มาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารสายงานทรัพยากรบุคคล (Chief HR Officer)
ในวาระเดียวกันนี้ คุณประชุมยังได้ดันคนในอย่าง “คุณนพดล เขมะโยธิน” อดีตผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการลงทุนของ BEC World มาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการลงทุน (Chief Investment Officer)
ครึ่งหลัง ปี ’60 “มืออาชีพ” ตบเท้าเข้าช่อง 3 เป็นระลอก
การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้เรียกได้ว่า เป็นก้าวสำคัญก้าวแรกในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของช่อง 3 เพราะมีการดึงบุคคลภายนอกเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรพร้อมกันหลายตำแหน่ง โดยหลังจากนั้น ยังมีการดึงผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาอีกเรื่อยๆ
• ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560 มีการแต่งตั้ง “คุณน้ำทิพย์ พรมเชื้อ” อดีตผู้บริหารจากกลุ่มอินทัชฯ เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลยุทธ์ (Chief Strategy Planning Officer)
ต่อด้วย “คุณรณพงศ์ คำนวณทิพย์” อดีตผู้บริหารจาก “ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค” มาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ (Chief Commercial Officer)
ตามมาด้วย “คุณวรุณเทพ วัชราภรณ์” อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการจาก AIS มานั่งเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด (Chief Marketing Officer)
• ในเดือนตุลาคม 2560 มีการแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ในกลุ่ม C-Level อีกระลอก เริ่มจาก “คุณชาคริต ดิเรกวัฒนชัย” นักการตลาดมือฉมังจากเทสโก้ โลตัส มาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร (Chief Corporate Affair Officer)
ตามมาด้วยการแต่งตั้ง “คุณอรนา ตั๋นเจริญ” มาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารสายการวิจัย (Chief Research Officer) พร้อมกันนี้ ยังมีการดันลูกหม้ออย่าง “คุณสมรักษ์ ณรงค์วิชัย” เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารสายการผลิตรายการ (Chief Production Officer)
• ต้นเดือนพฤศจิกายน มีมติแต่งตั้ง “คุณธงชัย ชั้นเสวิกุล” อดีตนักโฆษณาและนักสร้างแบรนด์ ผู้คร่ำหวอดในวงการโฆษณาและวงการโทรทัศน์กว่า 30 ปี มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารสายงานความคิดสร้างสรรค์ (Chief Creative Officer)
• วันที่ 19 มกราคม 2561 มีมติแต่งตั้ง คุณพิริยดิส ชูพึ่งอาตม์ อดีต CFO จากกลุ่มยูนิไทยเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารสายงานการเงิน (CFO) แทน “คุณรัตนา มาลีนนท์” ที่ลาออกจากตำแหน่ง แต่ยังคงถือหุ้น BEC
ปี ’61 ผู้บริหารคนนอกทยอยลาออกราวฟ้าผ่า
ปี 2561 อาจเรียกว่าเป็นปีแห่งการสูญเสีย (การทรงตัว) ไม่น้อยสำหรับกลุ่ม BEC World เพราะมีการลาออกของผู้บริหารและกรรมการเกือบจะตลอดทั้งปี
โดยหลังจากเปิดปีใหม่มาเพียง 18 วัน คุณรัตนา ก็ลาออกจากตำแหน่ง CFO จากนั้นไม่ถึงเดือน “คุณกวิน กาญจนพาสน์” ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอิสระมาไม่ถึง 4 เดือน ก็ขอลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่างานยุ่ง
• แต่การลาออกที่น่าจะส่งผลให้กลุ่ม BEC เสียหลักมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของ “คุณสมประสงค์” ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ทำให้เขาทำงานให้กับ BEC ได้ไม่ถึง 1 ปี แต่ทั้งนี้ ยังคงเป็นกรรมการบริษัทและกรรมการอิสระต่อไป
• จากนั้น วันที่ 1 กรกฎาคม “คุณอาภัททรา” ขุนศึกที่ติดตามมาพร้อมกับคุณสมประสงค์ก็ลาออกจากตำแหน่ง CTNO โดยทำงานให้ BEC เพียง 1 ปีกับ 2 เดือน
ตามมาด้วยการลาออกจากอยู่ในตำแหน่ง CHRO ของคุณภัทรศักดิ์ ผู้ติดตามมาจาก AIS อีกคน รวมเป็นเวลาทำงานที่ BEC เพียง 1 ปี 5 เดือน
• วันที่ 1 พฤศจิกายน คุณธงชัย ลาออกจากตำแหน่ง CCO ลาออกหลังทำงานครบ 1 ปี ส่งท้ายปีด้วยการลาออกจากตำแหน่ง CRO ของคุณอรนา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม รวมเวลาทำงานเพียง 1 ปี 2 เดือน
ในเดือนธันวาคม 2561 กลุ่มผู้บริหาร BEC มีการปรับโครงสร้างภายใน โดยให้ย้าย “คุณสำราญ ฉัตรโท” รองกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการฝ่ายข่าว ไปเป็นที่ปรึกษา “คุณอัมพร มาลีนนท์” (ในฐานะ COO) และให้ฝ่ายข่าวรายงานตรงต่อคุณอัมพร ขณะเดียวกันก็ย้ายคุณวรุณเทพไปเป็นที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด และให้ส่วนงานขายทั้งหมดรายงานขึ้นตรงกับ “คุณรัชนี นิพัทธกุศล” (มาลีนนท์)
การลาออกครั้งล่าสุด เกิดหลังจากเปิดปี 2562 มาได้เพียงเดือนเดียว คุณวรุณเทพ ได้ลาออกจากตำแหน่ง CMO หลังจากทำงานในตำแหน่งนี้ไม่ถึงปีครึ่ง
เรียกได้ว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ผังผู้บริหารของกลุ่ม BEC World มีการขยับปรับเปลี่ยนเปลี่ยนมากสุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษของดำเนินธุรกิจมา
สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลของตัวเอง “Ch3Thailand – Mello” และจับมือ “LINE TV – YouTube” ดักคนดูออนไลน์
“ช่อง 3” เรียนรู้แล้วว่า การจะอยู่รอดในยุคสื่อโทรทัศน์ถูก Technology Disrupt อย่างรุนแรง หัวใจสำคัญต้อง Re-learn ไม่ยึดติดกับวิธีคิดแบบเดิมๆ ที่พึ่งพา “สื่อทีวี” เป็นหลัก ถึงแม้เป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มคนดูในวงกว้างก็ตาม
แต่ทุกวันนี้ Advertiser มองว่าไม่ใช่ทุกแคมเปญ หรือทุกการสื่อสารการตลาดต้องใช้ “สื่อทีวี” เสมอไป แต่ต้องเลือกใช้ “มีเดีย” ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของแคมเปญ หรือสินค้า-บริการนั้นๆ
ยิ่งปัจจุบันเป็นยุค Segmentation และนับวันจะลงลึกในระดับ Personalization มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น สื่อที่วัดผลได้จริง และสามารถเจาะตรงถึงกลุ่มเป้าหมายอย่าง “แพลตฟอร์มดิจิทัล” จึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ Advertiser เลือกใช้ ประกอบกับพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคทุกวันนี้ เป็น Multi-screen ไม่ได้อยู่กับสื่อประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นหลัก
ด้วยเหตุนี้เอง “กลุ่ม BEC World” จึงได้พัฒนาทั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลของตัวเองขึ้นมา
1. “Ch3Thailand” เว็บไซต์ และแอปพลิเคชันดูทีวีออนไลน์แบบคู่ขนานกับหน้าจอทีวี (Simulcast) ของช่อง 3 ตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งช่อง 33HD ช่อง 28SD และช่อง 13Family
2. “Mello” แอปพลิเคชันวิดีโอคอนเทนต์ ที่ช่อง 3 ต้องการสร้างเป็นแบรนด์ใหม่ ที่ฉีกออกจากความเป็นแบรนด์ช่อง 3 เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ที่ไม่สามารถรับชมคอนเทนต์ได้ในเวลาออกอากาศบนช่องทีวี ก็มาดูย้อนหลังได้ โดยละครตอนใหม่จะรีรันตั้งแต่เที่ยงคืนของทุกตอนที่เพิ่งฉายผ่านทีวี
เหตุผลหลักของการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลของตัวเอง ทั้ง “Ch3Thailand” และ “Mello” เป็นการขยาย Business Ecosystem ของ “ช่อง 3” จากสื่อออฟไลน์ ไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล เพราะต้องการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ และคนบนออนไลน์
ตรงนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า การทำธุรกิจทุกวันนี้ ถ้าแบรนด์อยากได้ฐานลูกค้า ต้องไม่รอให้ผู้บริโภคเข้าหาฝ่ายเดียวเหมือนเช่นในอดีต แต่ต้อง “เข้าหา” ผู้บริโภคก่อน ด้วยการไปอยู่ในที่ๆ ผู้บริโภคอยู่ ที่ๆ ผู้บริโภคใช้ชีวิต เพราะจากการมี “ตัวเลือก” คอนเทนต์มากมาย ผู้บริโภคยุคนี้ยังเป็นผู้เลือกเอง-ตัดสินใจเอง ดังนั้นใครเข้าถึงผู้บริโภคได้ก่อน และนำเสนอคอนเทนต์ได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย ย่อมได้เปรียบ
เพราะฉะนั้นการมีแพลตฟอร์มดิจิทัลของตัวเอง จึงเป็นการเพิ่ม “ช่องทาง” กระจายคอนเทนต์ของช่อง 3 ให้ไปสู่ฐานคนดูกลุ่มใหม่
ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางที่จะทำให้ “ช่อง 3” ได้ฐานข้อมูลคนดู หรือ Big Data ที่เกิดขึ้นจากการที่เข้ามา Interact กับแพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าว เช่น กดดูรายการ-ละครอะไร, แชร์คอนเทนต์ประเภทไหน
ร่วมกับการเก็บข้อมูลบน Social Network เพื่อนำไปวิเคราะห์ และทำความเข้าใจ Consumer Insight สำหรับนำไปวางแผนด้านคอนเทนต์ และทำงานร่วมกับลูกค้า และเอเยนซีโฆษณา
นอกจากนี้ ยังจับมือกับพันธมิตร 2 ราย คือ “LINE TV” ที่วางตำแหน่งเป็นทีวีออนไลน์ โดยเมื่อไม่นานนี้ LINE TV ได้เผยข้อมูลว่ามียอดการเข้าชม 60% จากฐานผู้ชมโทรทัศน์ปกติ 55 ล้านคน และใช้เวลารับชมต่อเนื่องกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน และ “YouTube” แพลตฟอร์มวิดีโอใหญ่สุดของไทย ด้วยฐานคนดูไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน
สะท้อนให้เห็นว่านับจากนี้ “คนดู” อยู่ที่ไหน “ช่อง 3” พยายามจะไปอยู่ที่นั่น !! และยิ่งมีแพลตฟอร์มเข้าถึงคนดูได้มากขึ้นเท่าไร ทั้ง Offline อย่างสื่อทีวี และ Online อย่างช่องทางดิจิทัลตามที่กล่าวมานั้น ย่อมเพิ่มโอกาสสร้างรายได้จาก “โฆษณา” ได้มากขึ้น
สอดคล้องกับที่ “คุณประชุม มาลีนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท BEC World เคยให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ไว้ว่า
เมื่อก่อน “ช่อง 3” ใส่คอนเทนต์อะไรลงไป ก็ประสบความสำเร็จ เพราะคนคุ้นชินกับช่อง แต่ปัจจุบันเมื่อพฤติกรรมคนดูเปิดรับคอนเทนต์จากหลายจอ ดังนั้น “ช่อง 3” ต้องศึกษาและทำความเข้าใจคนดู เช่น คนดู ดูอะไร ดูอย่างไร พูดถึงช่องอย่างไร พูดถึงคู่แข่งในแง่มุมไหน ซึ่งต้องวิเคราะห์จากข้อมูลหลายส่วน
ขณะเดียวกัน สถานีฯ ต้องทำงานร่วมกับเอเยนซีโฆษณา และเจ้าของสินค้ามากขึ้น เนื่องจากการตัดสินใจลงโฆษณาของสินค้าบนสื่อทีวี ไม่ได้พิจารณาแค่เรตติ้ง หรือเชิงประชากรศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมองลึกถึงไลฟ์สไตล์ผู้ชม เพื่อทำให้การวางแผนลงโฆษณา สอดรับกับไลฟ์สไตล์คนดู
ละครไทยโกอินเตอร์ “ตลาดต่างประเทศ” คือแหล่งรายได้ใหม่ของ “ช่อง 3”
หนทางหนึ่งของการเพิ่มรายได้ให้กับ “ช่อง 3” คือ การนำคอนเทนต์ “ละครไทย” ออกสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อขยายฐานคนดูกลุ่มใหม่ และเป็นโมเดลการทำรายได้เพิ่มทางใหม่ๆ ไม่พึ่งพาเฉพาะตลาดในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น
เพราะถ้าสามารถสร้างฐานผู้ชมตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ ย่อมนำไปสู่การต่อยอดโมเดลสร้างรายได้หลากหลายรูปแบบตามมา เช่น ยกทัพศิลปินนักแสดงละครเรื่องนั้นๆ จัดกิจกรรม Meeting กับแฟนคลับต่างประเทศ
การนำคอนเทนต์ออกสู่ตลาดต่างประเทศ “BEC World” จับมือกับ “JKN Global Media” (บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)
ได้บรรลุข้อตกลงให้ JKN เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายงานลิขสิทธิ์ละครช่อง 3 ครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก ที่คอนเทนต์ช่อง 3 ยังไม่เคยจำหน่าย ยกเว้นประเทศจีน ฮ่องกง มาเก๊า กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ เนื่องจากเป็นตลาดที่ช่อง 3 มีตลาดละครออกอากาศอยู่แล้ว
สำหรับตลาดจีน “ช่อง 3” เป็นพาร์ทเนอร์กับ “Tencent” ได้เริ่มทดลองใช้โมเดลออกอากาศคู่ขนาน (Simulcast) ละครในวันและเวลาเดียวกันไปยังแพลตฟอร์ม OTT ของ Tencent ถ้าการออกอากาศแบบคู่ขนานได้ผลดี “ช่อง 3” จะนำไปดังกล่าว เป็นแนวทางการทำตลาดต่อไปในต่างประเทศ
คุณประชุม มาลีนนท์ เคยกล่าวไว้ในวันลงนามทำข้อตกลงกับ JKN ว่า “คอนเทนต์เป็นสิ่งที่ดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาเข้ามา และคอนเทนต์ที่ดี ยังเป็นสิ่งที่ตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศต้องการ โดยเราเชื่อว่าจะเป็นการเปิดตลาดละครไทยให้กว้างไกลไปอีกหลายประเทศ
ทำให้ขยายฐานผู้ชมต่างประเทศ ซึ่งบางคนก็เป็นแฟนละครไทยอยู่แล้ว และจะได้ฐานผู้ชมกลุ่มใหม่ ทำให้ละครไทยโกอินเตอร์ สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินรายได้ก้อนใหม่อีกด้วย”
“นาคี – บุพเพสันนิวาส” ปรากฏการณ์ละครไทย ต่อยอดสู่โมเดลหารายได้รูปแบบใหม่
คอนเทนต์ที่เป็นจุดแข็งสร้างชื่อให้กับ “ช่อง 3” มายาวนาน คือ “ละคร” ซึ่งก่อนที่จะเป็นโลกดิจิทัลเต็มรูปแบบอย่างทุกวันนี้ ในยุค “คุณประวิทย์ มาลีนนท์” เป็นนายใหญ่ “ช่อง 3” เคยสร้าง “ปรากฏการณ์ใหม่” ให้กับอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ และวงการละครไทยมาแล้ว เมื่อครั้งรวมตัว 4 ผู้จัดละครของสถานี มาร่วมกันผลิตซีรีย์ “4 หัวใจแห่งขุนเขา” (จากนวนิยายชุดบ้านไร่ปลายฝัน) ใช้ 4 ผู้กำกับ 4 ผู้เขียนบท และ 4 ผู้จัดละคร เพื่อผลิตออกมาเป็น 4 เรื่อง ออกอากาศปี 2553
นอกจากเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการละครทีวีไทยแล้ว โมเดลการผลิตคอนเทนต์ละครรูปแบบใหม่ ยังแจ้งเกิด “นักแสดงรุ่นใหม่” ที่ปัจจุบันกลายเป็นนักแสดงหลักของสถานี
ทั้ง “นักแสดง” และ “ผู้จัดละคร” ที่ช่อง 3 เปิดโอกาสให้คนที่เคยเป็นนักแสดง สามารถขยับจากการเป็นดารา มาเป็นผู้จัดละคร บุคลากรทั้งสองส่วนนี้ จึงถือเป็น Asset สำคัญของ “ช่อง 3” ที่ทำให้ยังมีแต้มต่อในการแข่งขัน และสามารถรักษาฐานคนดูไว้ได้
หลังจากประสบความสำเร็จกับโมเดลการทำละครรูปแบบใหม่แล้ว “ช่อง 3” ต่อยอดโมเดลการนำนวนิยายชุดอื่นๆ มาผลิตเป็นละครอีกมากมาย
กระทั่งในปี 2559 เกิดปรากฏการณ์ละคร “นาคี ฟีเวอร์” ของค่ายแอคอาร์ต (อ๊อฟ – พงษ์พัฒน์ และแดง – ธัญญา) สร้างกระแส Talk of the town ในความครบเครื่อง ทั้งบทละคร ฉาก นักแสดง เพลงประกอบละคร “คู่คอง” ร้องโดยก้อง ห้วยไร่ กลายเป็นเพลงที่มียอดวิวบน YouTube หลักร้อยกว่าล้านวิว ประกอบกับเป็นยุค Social Media ยิ่งกระพือกระแสละครเรื่องนี้ให้เป็นที่พูดถึงมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
จากความสำเร็จของละครนาคี ถูกต่อยอดเป็น “ภาพยนตร์นาคี 2” เข้าโรงฉายในปี 2561 มีทั้งนักแสดงชุดเดิม “แต้ว ณฐพร – เคน ภูภูมิ” และเพิ่มสองนักแสดงชุดใหม่ “ญาญ่า – ณเดชน์” โดยมี “คุณประวิทย์ มาลีนนท์” เป็นผู้อำนวยการสร้าง และผลิตโดยค่าย “ดู เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” ของอ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ และ “เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” จัดจำหน่ายโดยเอ็ม พิคเจอร์ส
ด้วยความดังของ “ละครนาคี” เป็นแรงส่งให้ “ภาพยนตร์นาคี 2” ได้การตอบรับอย่างดีจากผู้ชมทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนที่เคยดูละครนาคีมาก่อน ประกอบได้นักแสดงนำทั้ง 4 คน ซึ่งมีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น ที่พร้อมสนับสนุนผลงาน และช่วยกันกระจายข่าวผลงานของนักแสดงที่ตนเองชื่นชอบ ไปบน Social Network ยิ่งจุดติดกระแสให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้เร็ว ร่วมกับกลยุทธ์การตลาด และการผลักดันภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายได้ทั่วประเทศ ทำให้ภาพยนตร์นาคี 2 กลายเป็นหนังไทยทำเงินสูงสุดในปี 2561 ด้วยสถิติรายได้ 417.55 ล้านบาท
“นาคี 2” เป็นภาพสะท้อนหนึ่งถึงความพยายามของช่อง 3 ในการนำคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จแล้ว มาต่อยอดเพื่อสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับคอนเทนต์ และนักแสดงช่อง 3 ให้มากกว่าการเป็น “ละคร” บนหน้าจอทีวี
เช่นเดียวกับ “บุพเพสันนิวาส” ถือเป็นละครดังแห่งชาติ ที่สร้างกระแส “ออเจ้า” และ “แม่หญิงการะเกด” คนพูดถึงกันทั่วประเทศ และทำให้ “สื่อทีวี” และ “ละครไทย” ที่ดูเงียบเหงา กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ละครเรื่องนี้ สร้าง Impact เชิงบวกมหาศาลให้กับทั้ง “ช่อง 3” และ “บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น” ที่โกยรายได้มหาศาลจากโฆษณา ทั้งบนสื่อทีวี สื่อออนไลน์ และอีเว้นท์อีกนับไม่ถ้วน
รวมทั้งยังเกิดโมเดลการทำงานรูปแบบใหม่ของวงการละครไทย คือ “Co-creation” โดยร่วมกับ “AIS” ร่วมกันผลิตสื่อโฆษณา ที่ใช้ทั้งนักแสดง และพลอตของเรื่องนี้มาเป็นธีมในการนำเสนอ รวมทั้งจัดอีเว้นท์ส่งท้ายกระแสละครเรื่องนี้ เปิดโรงภาพยนตร์สยามภาวลัย ให้แฟนๆ ชมตอนจบแบบจุใจ ไม่มีโฆษณาคั่น
โมเดล Co-creation ทำให้ win-win ทั้งสองฝ่าย ทั้งฝั่งแบรนด์ สามารถใช้ประโยชน์จากกระแสความดังละครเรื่องนี้ ต่อยอดไปสู่การทำ Real-time Marketing ให้เกิดประโยชน์ต่อแบรนด์ โดยเฉพาะการสร้าง Brand Talk และ Brand Engagement ขณะที่ฝั่ง “ช่อง 3” กลายเป็นอีกหนึ่งโมเดลสร้างรายได้เข้ามาอีกทาง
เมื่อข่าวลือเรื่องการทาบทามผู้บริหาร LINE กลายเป็นข่าวจริง
ส่วนความเคลื่อนไหวล่าสุดของการพยายามกอบกู้สถานการณ์ “ช่อง 3” ที่ประชุมบอร์ดมีมติแต่งตั้งคุณอริยะ พนมยงค์ เป็นกรรมการแทนคุณวรวรรธน์ มาลีนนท์ และเป็น “กรรมการผู้อำนวยการ (President)” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 นี้ พร้อมกันนี้ยังได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยนับจากวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 นี้คุณประชุมจะย้ายไปนั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร ทำหน้าที่ดูแลงานด้านนโยบายและควบคุมประสานงานกับกรรมการผู้อำนวยการ และผู้บริหารท่านอื่น
หากย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมีมติแต่งตั้งออกมา ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากการลาออกของผู้บริหารคนนอกที่อยู่ในกลุ่ม C-Level ทางกลุ่ม BEC World กลับไม่ได้หาผู้บริหารใหม่เข้ามาแทนในตำแหน่งเดิม หรือนี่อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า การปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการนำผู้บริหารภายนอกเข้ามาเสริมทัพผู้บริหารช่อง 3 อาจไม่ใช่หนทางของช่อง 3 (หรือไม่?) เพราะผู้บริหารลูกหม้อหรือคนในอาจมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนี้มากกว่าและมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมองค์กรดีกว่า จึงอยู่ได้นานกว่า
อย่างไรก็ดี แนวคิดที่ว่า “คุณประชุม” ยกเลิกที่จะสรรหาผู้บริหารมืออาชีพคนนอกเข้ามารับตำแหน่ง คงไม่จริงสำหรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร BEC World เพราะอันที่จริง หลังจากคุณสมประสงค์ลาออกไม่นาน ก็เริ่มมีการจับตาว่าคุณประชุมจะหาใครเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการบริหารฯ แทน ทั้งนี้เป็นเพราะคณสมประสงค์เองก็ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดผู้บริหารแถวหน้าของเมืองไทยคนหนึ่ง ดังนั้นคุณสมบัติของคนที่มาแทนย่อมต้องไม่น้อยหน้า
กระทั่งกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสข่าวลือว่า มีการทาบทามผู้บริหารจาก Tech Company แถวหน้าของไทย อย่าง “คุณอริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้จัดการ จาก LINE ประเทศไทย มาเป็น “แม่ทัพ” คนใหม่ของช่อง 3 ต่อมาข่าวลือนี้ก็ถูกรับรองว่าเป็นเรื่องจริงผ่านหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ของกลุ่ม BEC World เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา
จับตาการทำหน้าที่ President กลุ่มช่อง 3 ของ “อริยะ”
ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้บริหารหนุ่มจาก “LINE Thailand” และเติบโตมากับองค์กรธุรกิจโทรคมนาคม และเทคโนโลยีมาโดยตลอด ยิ่งสองบริษัทหลังที่ “คุณอริยะ” ทำงานด้วย คือ Google Thailand ในตำแหน่ง Country Head เข้ามาร่วมงานในปี 2554 จากนั้นได้ย้ายไปเป็น “กรรมการผู้จัดการ LINE Thailand” คนแรกในปี 2558
แม้จะให้บริการคนละอย่าง แต่ทั้ง Google และ LINE ต่างเป็น “Tech Company” ด้วยกันทั้งคู่ ด้วยโครงสร้างองค์กร และสไตล์การทำงานของ “Tech Company” เน้นรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า “Agility” เน้นความคล่องตัว กระชับ ฉับไว ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกใช้ในวงการ Startup และ Tech Company มาก่อน
ในขณะที่อายุคนทำงานโดยเฉลี่ยขององค์กรรุ่นใหม่ อยู่ในวัย Gen Y และ Gen Millennials เป็นกลุ่มใหญ่ อย่าง LINE Thailand อายุเฉลี่ยของพนักงานอยู่ที่ 30-31 ปี และจำนวนพนักงานเพียงกว่า 300 คน ทั้งยังมีความเป็นอิสระในการบริหารและการตัดสินใจค่อนข้างสูง
แตกต่างจากองค์กรใหญ่ ที่มีบุคลากรกว่า 1,000 คน และพบว่าหลายองค์กรที่เกิดและเติบโตในยุค Analog จะมีระบบการทำงานแบบ Hierarchy Model ค่อนข้างสูง
อย่างกลุ่มช่อง BEC World มีพนักงานจำนวนมาก บวกกับวัฒนธรรมองค์กรของช่อง 3 ที่ค่อนข้างมีความเป็นธุรกิจครอบครัวสูง โดยปัจจุบัน สัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ราว 40% ยังเป็นของตระกูลมาลีนนท์ ขณะที่คนในตระกูลเองก็เข้ามาเป็นกรรมการบริหารและกรรมการบริษัทอยู่หลายคน
ดังนั้น การก้าวออกจาก “Tech Company” มาอยู่กับ “ธุรกิจสื่อ” ที่มีอายุกว่า 40 ปี จึงเป็นความท้าทายใหญ่อันดับแรกของ “คุณอริยะ” เพราะอาจทำให้การบริหารและการตัดสินใจไม่คล่องตัว และรวดเร็วฉับไวได้เหมือนที่องค์กรเก่า ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวทั้งทางฝั่งของ “เจ้าบ้าน” และ “ผู้บริหารใหม่”
นี่นับเป็นอีกครั้งที่นักลงทุนและคนในวงการสื่อต่างก็จับตามอง และต่างเฝ้ายคอยติดตามดูว่านับจากวันที่ 2 พ.ค. 2562 นี้ “ช่อง 3” จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และ “แม่ทัพใหม่” ที่เป็นคนหนุ่มไฟแรงจะนำเอาประสบการณ์จากองค์กรแบบ Tech Startup และความเชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์และแพลตฟอร์มของสื่อใหม่ มาประยุกต์ใช้กับองค์กรเก่าแก่อายุร่วมครึ่งศตวรรษอย่าง “ช่อง 3” อย่างได้ผลมากน้อยแค่ไหน
เมื่อคนจาก “Tech Company” กำลังเป็นที่หมายปองขององค์กรใหญ่ที่อยากทรานส์ฟอร์ม
จะสังเกตได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายองค์กรที่เติบโตมากับยุค Analog และอยู่มานาน ต้องการคนจาก “Tech Company” เข้าไปทำงานมากขึ้น
เช่น Network Agency ที่มีเครือข่ายทั่วโลกอย่าง “Ogilvy” ที่ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ ให้ความสำคัญ 3 ส่วน คือ “Data – Creativity – Technology” เพื่อนำเสนอ “Seamless Solution” และ “More Personalization” ให้กับธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย
ยักษ์ใหญ่เอเยนซี จึงได้เปิดรับ บุคลากรจาก “วงการเทคโนโลยี” และ “สายดาต้า” เข้ามาผสมผสานกับคนครีเอทีฟ และปัจจุบัน “Ogilvy ประเทศไทย” ได้ตั้งส่วนงานเทคโนโลยีขึ้นมาโดยเฉพาะ ขณะนี้มีบุคลากรด้านนี้ 10 คน เป็นคนมีประสบการณ์จากวงการเทคโนโลยี และดาต้า เช่น จาก Agoda, Grab
หรือเมื่อไม่นานนี้ “KBTG” หน่วยงานที่ดูแลการพัฒนาเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย ได้ “คุณกระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล” เจ้าพ่อ Startup และหนึ่งในผู้ก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks มารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ KBTG เพื่อผลักดันให้ “KBTG” เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพราะคุณกระทิง เชื่อมั่นว่า ถ้าทำได้ตามเป้าหมายดังกล่าว ต่อไปประเทศไทยจะกลายเป็นแหล่งรวมเหล่า Startup ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศที่มากที่สุด ชนิดที่คุณกระทิงเรียกว่า K-Valley น้องๆ Silicon Valley
ความเคลื่อนไหวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม BEC World ดึง “คุณอริยะ” มาคุมทัพ หรือ KBTG ได้ “คุณกระทิง” มาเป็นแม่ทัพ หรือแม้แต่องค์กรขนาดใหญ่ ที่ในอดีตแทบไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ในวันนี้เปิดรับคนเทคโนโลยี และดาต้าเข้ามาร่วมงาน พร้อมทั้งจัดตั้งแผนกด้านนี้โดยเฉพาะ
สะท้อนให้เห็นว่าต่อไป “เทคโนโลยี” จะเป็นแกนกลางสำคัญของธุรกิจ ที่องค์กรจะหันมาทุ่มงบประมาณในส่วนนี้มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีทีว่านี้ ยังรวมถึง “แพลตฟอร์ม” แต่แพลตฟอร์มที่สมบูรณ์นั้น ต้องไม่มีเส้นแบ่งระหว่าง Offline และ Online
แต่ต้องผสานเข้าด้วยกันได้แบบ Seamless เพราะโดยพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่ได้สนใจว่านี่คือ Offline หรือนี่คือ Online แต่ผู้บริโภคสนใจ “ความสะดวกสบาย” เป็นที่ตั้ง ดังนั้น นับจากนี้จะเห็นธุรกิจประเภทต่างๆ มาอยู่บนแพลตฟอร์ในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น เพื่อเข้าไปอยู่กับชีวิตผู้บริโภคในทุกๆ ที่
คาดว่าการที่ “กลุ่ม BEC World” ได้ “คุณอริยะ” เข้ามาร่วมงานครั้งนี้ เพราะต้องการประสบการณ์ และองค์ความรู้ที่เคยทำงานกับ Tech Company มา Transform องค์กรช่อง 3 ครั้งใหญ่ ไม่ยึดติดอยู่กับธุรกิจสื่อทีวีอย่างในอดีตที่เคยเป็นมา
แต่จะใช้ “เทคโนโลยี” เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น เพื่อสร้าง “รายได้” จากหลากหลายแหล่งที่มีโอกาส พร้อมทั้งผลักดันให้ “ช่อง 3” อยู่บน “แพลตฟอร์ม” ที่ผสานทั้งสื่อทีวี และดิจิทัล เข้าเป็นหนึ่งเดียว
ใครพลาดตอนแรก ตามอ่านได้ที่: Episode 1 (เปิดปมวิกฤตการณ์ “ช่อง 3” รายได้ – กำไรลด เข้าสู่ภาวะขาดทุนในรอบ 4 ทศวรรษ!!)