วิเคราะห์ตอนที่ 1 : เปิดปมวิกฤตการณ์ “ช่อง 3” รายได้ – กำไรลด เข้าสู่ภาวะขาดทุนในรอบ 4 ทศวรรษ!!

  • 4.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

หากย้อนกลับไปในยุค Analog ฟรีทีวียังมีแค่ 6 ช่อง คนยังใช้โทรศัพท์บ้าน/สำนักงาน และโทรศัพท์มือถือยังเป็นยุค 2G ในห้วงเวลานั้น “ช่อง 3” ถือเป็นกลุ่มธุรกิจหลักของกลุ่ม BEC World เป็น 1 ใน 2 สถานีโทรทัศน์ผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ของประเทศไทย โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของการสร้างฐานคนดูกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ยากที่ใครจะมาล้ม ในขณะที่ “ช่อง 7” สามารถออกอากาศครอบคลุมได้ทั่วประเทศ และวางกลยุทธ์เจาะ Mass Market จึงได้คนดูกลุ่มกว้าง

ใครเลยจะคิดว่า ความยิ่งใหญ่ของ “ช่อง 3” ในอดีต วันนี้กำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนัก !! และคู่แข่งที่ว่านี้ ไม่ได้อยู่แค่ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ที่ได้เปลี่ยนเป็น “ดิจิทัลทีวี” เท่านั้น หากแต่ยังเผชิญกับสึนามิ “Technology Disruption” ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตประจำวันผู้คนในสังคม และพฤติกรรมการรับคอนเทนต์

“Technology Disruption” ที่ว่านี้รุนแรง และท้าทาย “ช่อง 3” อย่างยิ่ง ซ้ำยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ และเหตุบ้านการเมืองต่างๆ ที่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาจาก Advertiser มีจำนวนเท่าเดิม หรือบางรายปรับลดลง ตามสภาวการณ์เศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภค

ไม่เพียงแต่เกิดการแย่งเม็ดเงินโฆษณาระหว่าง “สื่อทีวี” ด้วยกันเองแล้ว ขณะเดียวกันงบโฆษณาของ Advertiser ก็ไหลไปยัง “สื่อดิจิทัล” หรือ “สื่อออนไลน์” ที่ปัจจุบันกลายเป็นสื่อใหญ่อันดับ 2 รองจากสื่อทีวีไปแล้ว

Social Media
Photo Credit : REDPIXEL.PL / Shutterstock.com

 

ชำแหละชนวนเหตุที่ทำให้ “ช่อง 3” ต้องผ่าตัดองค์กรด่วน !!

 

ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นข่าวการโยกย้ายคนภายในองค์กร และดึงผู้บริหารมืออาชีพองค์กรขนาดใหญ่ เข้ามาบริหารเป็นจำนวนมาก

แต่อะไรคือ ชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ “กลุ่ม BEC World” ต้องเร่งผ่าตัดองค์กรด่วน มาติดตามดูกัน ?!?

1. แบกรับต้นทุน “ทีวีดิจิทัล” 3 ช่อง

ทันทีที่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กสทช.) เปิดประมูล เปิดประมูล “ทีวีดิจิทัล (Digital TV) เมื่อปี 2556 เวลานั้น ทั้งผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเดิม ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และผู้ที่เป็น Content Provider ที่เคยเช่าเวลา และผลิตรายการป้อนให้กับทีวีช่องต่างๆ ต่างแข่งกันทุ่มประมูลกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

โดยทุกคนวาดหวังว่าการเกิดขึ้นของ “ทีวีดิจิทัล” จะปลดล็อคอุตสาหกรรมสื่อทีวีในประเทศไทย จากที่เคยมี 6 ช่อง มาเป็น 24 ช่อง และเม็ดเงินโฆษณามูลค่ามหาศาลจะไหลเข้ามา

“กลุ่ม BEC” เป็นหนึ่งในกลุ่มทุนที่ไม่พลาดการประมูลทีวีดิจิทัลเช่นกัน โดยคว้าได้มากถึง 3 ช่อง คือ ช่อง 3HD (ช่อง 33) / ช่อง 3SD (ช่อง 28) / ช่องเด็ก 1 ช่องในชื่อช่อง 3 Family (ช่อง 13) รวมราคาประมูลทั้ง 3 ช่อง ไม่ต่ำกว่า 6,500 ล้านบาท

แต่แล้ว สิ่งที่วาดหวังนั้นกลับพังทลายลง นั่นเพราะ จำนวนสถานีที่เพิ่มขึ้นจาก 6 ช่อง มาเป็น 24 ช่อง “มากเกินไป” ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาจาก “Advertiser” มีเท่าเดิม

อีกทั้งการทำงานของ “กสทช.” ต่อการผลักดันทีวีดิจิทัลในประเทศไทย กลับล่าช้าในหลายประการ เช่น สร้างความรู้-ความเข้าใจให้แก่ประชาชน คุณภาพโครงข่ายสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล การจัดเรียงเลขช่องไม่ชัดเจน

ขณะเดียวกัน หลายช่องยังไม่มีความพร้อม ทั้งด้านคอนเทนต์ บุคลากร รวมไปถึง “เงินลงทุน” เพราะธุรกิจทีวี ได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจงบลงทุนสูง สำหรับใช้ในส่วนต่างๆ ทั้งการลงทุนเทคโนโลยี พนักงาน คอนเทนต์ ดังนั้นผู้ที่จะอยู่ในธุรกิจนี้ได้ ต้องมี “สายป่านยาว”

นอกจากนี้ยังเจอสภาวะเศรษฐกิจซบเซา และความผันผวนของเหตุบ้านการเมือง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ “รายได้-กำไร” ลดลงติดต่อกัน 4 ปี)

TV Camera

 

2. การเกิดขึ้นของ “ทีวีดิจิทัล” ในไทย มาผิดจังหวะ – ผิดช่วงเวลา

เพราะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากโลกยุค Analog เข้าสู่ยุค “Digital” เต็มรูปแบบ ประกอบกับระบบโทรคมนาคมในเมืองไทย เข้าสู่ยุค “3G” ซึ่งหลังการเกิดขึ้นของ 3G ไม่นาน ก็เข้าสู่ยุค “4G” และครัวเรือนไทย เข้าถึง “อินเทอร์เน็ต” ได้ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน “สมาร์ทโฟน” ราคาถูกลง เพราะมีผู้เล่นจากหลายค่าย หลายรุ่น โดยเฉพาะค่ายผู้ผลิตจีน ที่เปลี่ยน Landscape การแข่งขันสมาร์ทโฟนทั่วโลก ส่งผลให้คนไทยเข้าถึง “สมาร์ทโฟน” ได้ง่าย

กระทั่งเกิดพฤติกรรม “Mobile First” นั่นคือ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เริ่มต้นจากสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น จากในอดีต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องแรกของผู้บริโภค คือ คอมพิวเตอร์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นสมาร์ทโฟนไปแล้ว

เมื่อ “สังคมดิจิทัล” ในไทยพร้อมเช่นนี้ จึงทำให้ในช่วงเวลา 5 ปีมานี้ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” เติบโตอย่างมากในประเทศไทย ทั้ง Social Network, Application ต่างๆ เช่น แอปฯ สนทนา หรือแม้แต่ 2 – 3 ปีมานี้ “Online Streaming” เช่น LINE TV, Netflix, Viu ฯลฯ รวมถึงกลุ่ม Music Streaming เช่น JOOX, Spotify ฯลฯ ได้ก่อตัวขึ้นในเมืองไทย

Netflix
Photo Credit : wutzkohphoto / Shutterstock.com

ทั้งการเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ง่ายขึ้น ระบบโทรคมนาคมไทย อยู่ในยุค 4G และอีกไม่นานจะเปลี่ยนไปสู่ยุค 5G และการเติบโตอย่างรวดเร็วของ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” สิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง “พฤติกรรมการรับสื่อ” ของคนไทยไปอย่างสิ้นเชิง !!

นั่นหมายความว่า ในขณะที่ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ในอดีตยามพักผ่อน สมาชิกในบ้านจะมานั่งรวมตัวกัน เพื่อดูรายการจากสถานีโทรทัศน์ แต่ปัจจุบันภาพดังกล่าว แทบเลือนหายไป กลายเป็นทุกคนมีเวลา Prime Time ของตัวเอง ทุกคนมี Smart Device ของตัวเอง ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกับออนไลน์ได้ตลอดเวลา
เท่ากับว่า ในแต่ละวัน เวลาของผู้บริโภค ถูกแชร์ไปยังสื่อประเภทต่างๆ มากขึ้น และอยู่กับกิจกรรมนอกบ้านที่หลากหลาย

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเวลา Prime Time ประมาณ 20.00 – 22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่สามารถขายโฆษณาได้สูงสุด ที่ในอดีตคนจะมารอหน้าจอทีวี แต่ทุกวันนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้บริโภค โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ อาจกำลังรับประทานอาหารนอกบ้าน หรืออยู่ที่ทำงาน หรือถ้าอยู่บ้าน ถ้าไม่มี “คอนเทนต์” สื่อทีวีแรงจริง ก็กำลังใช้เวลาอยู่กับ Social Network หรือดูซีรีย์ผ่าน Online Streaming ก็เป็นไปได้

TV Watching

อีกทั้งในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ คู่แข่งช่องทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็น Major Player เช่น ช่อง Workpoint, Mono, One31 ฯลฯ มีการปรับกลยุทธ์ “คอนเทนต์” ทั้งด้านบันเทิง และรายการข่าว ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับคนดู

ในขณะที่ “ช่อง 3” บางรายการที่เคยเป็นผู้นำ อย่างรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” เมื่อครั้งที่นักเล่าข่าวชื่อดัง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ดำเนินรายการหลัก และเป็นหนึ่งใน Magnet หลักของวิกพระราม 4 สามารถทำให้ “ช่อง 3” ประสบความสำเร็จกับการสร้างช่วง “ข่าวเช้า” จนรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และช่วยให้ภาพลักษณ์คอนเทนต์รายการข่าวของช่อง 3 โดดเด่นขึ้น

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ข่าวสรยุทธ กับเงินค่าโฆษณาเมื่อครั้งผลิตรายการป้อนให้กับช่อง 9 ทำให้นักเล่าข่าวชื่อดังต้องยุติบทบาทการดำเนินรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ส่งผลกระทบโดยตรงกับ “ช่อง 3” ทันที ทั้งภาพลักษณ์ของสถานีฯ การถูกถอนโฆษณา และเรตติ้งในกลุ่มรายการข่าวเช้า ลดลงทันที นำไปสู่การปรับโฉม รูปแบบการนำเสนอ และผู้ดำเนินรายการครั้งใหญ่

Channel 3 News
Photo Credit : YouTube เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร

 

ย้อนหลัง “เม็ดเงินโฆษณาอุตสาหกรรมสื่อ” ยุคเฟื่องฟูของ “สื่อทีวี” ได้ผ่านไปแล้ว

 

ก่อนยุคดิจิทัล สื่อที่ทรงพลังมากสุดในเมืองไทย คือ “สื่อทีวี” ที่ Advertiser ต่างช่วงชิงจับจองเวลาโฆษณา โดยเฉพาะในช่วงเวลา Prime Time แต่ทุกวันนี้ แม้ “สื่อทีวี” ยังคงเป็นสื่ออันดับ 1 ในอุตสาหกรรมสื่อของเมืองไทย แต่กลับพบว่า เม็ดเงินโฆษณาบนสื่อกลุ่มนี้ กลับลดลด และแม้ในบางปีอยู่ในสถานการณ์เติบโต แต่เป็นการเติบโตไม่มากนัก เพราะฉะนั้นโอกาสที่เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวี จะกลับมาแตะระดับกว่า 70,000 – 80,000 ล้านบาทเหมือนเช่นในอดีต เป็นไปได้ยาก

“Media Intelligence” ฉายภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทย ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (2555 – 2562) เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนของ Advertiser ใช้เงินกับ “สื่อทีวี” ลดลง และกระจายไปใช้สื่อประเภทอื่นมากขึ้น เช่น สื่อนอกบ้าน, สื่อออนไลน์ เพื่อเจาะตรงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

เพราะอย่างสื่อนอกบ้าน (Out Of Home Media) สามารถ customize ตามโลเกชันได้ ขณะที่สื่อออนไลน์ ระบุได้ว่าต้องการให้แมสเสจแบรนด์-สินค้า เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มไหน ได้ทั้งระดับ Segmentation และ Personalization

และนี่คือ เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวี ในช่วง 8 ปีนี้

ปี 2555 : 72,841 ล้านบาท จากมูลค่าโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมสื่อ 115,367 ล้านบาท

ปี 2556 : 77,111 ล้านบาท จากมูลค่าโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมสื่อ 120,570 ล้านบาท

ปี 2557 : 73,595 ล้านบาท จากมูลค่าโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมสื่อ 114,479 ล้านบาท

ปี 2558 : 72,207 ล้านบาท จากมูลค่าโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมสื่อ 113,439 ล้านบาท

ปี 2559 : 59,502 ล้านบาท จากมูลค่าโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมสื่อ 100,352 ล้านบาท

ปี 2560 : 48,767 ล้านบาท จากมูลค่าโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมสื่อ 86,438 ล้านบาท

ปี 2561 : 47,781 ล้านบาท จากมูลค่าโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมสื่อ 87,109 ล้านบาท

ปี 2562 : 49,686 ล้านบาท จากมูลค่าโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมสื่อ 91,429 ล้านบาท (ตัวเลขคาดการณ์)

ในมุมของนักการตลาด – นักโฆษณาแล้ว “สื่อทีวี” ยังคงมีบทบาทในฐานะเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนเป็นวงกว้าง จึงถูกใช้เพื่อสร้าง Brand – Product Awareness เป็นหลัก

Media Spending

 

TV Studio Production

 

ต้นทุนพุ่งปรี้ดดด สวนทาง “รายได้ – กำไร” ลดลงติดต่อกัน ในที่สุดต้องประสบภาวะขาดทุน !!!

 

สถานการณ์ของ “กลุ่ม BEC World” ที่มี “ช่อง 3” เป็นเรือธงทำรายได้ให้กับองค์กร เริ่มส่อเค้าลางถดถอย นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นปีแรกที่ค่าใช้จ่ายจากการลงทุนขยาย “ช่องทีวีดิจิทัล” เริ่มถูกบันทึกเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายเต็มปี

ขณะที่ต้นทุนใบอนุญาตของช่องรายการใหม่ เริ่มถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายเต็มปี แต่ “BEC World” กลับยังไม่สามารถสร้างรายได้โฆษณามาชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ส่งผลให้ “รายได้ และ กำไร” ของกลุ่มฯ เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด

– ปี 2558 กำไรเหลืออยู่ที่ 2,982.7 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ถึงกว่า 31%

เมื่อพิจารณาด้านรายได้โฆษณา ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของของช่อง 3 ปรากฏว่ารายได้โฆษณาในปี 2558 เหลืออยู่ที่ 14,196.7 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ราว 6.27%

ขณะที่รายได้จากการให้ใช้สิทธิ และบริการอื่น และรายได้จากการขายสินค้า เพิ่มขึ้นจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์

“กลุ่ม BEC World” ให้เหตุผลหลักๆ ที่ผลประกอบการลดลงว่า มาจากการขยายงานโทรทัศน์ใหม่ ผ่านระดับดิจิทัล และกลุ่ม BEC World ยังไม่สามารถสร้างรายได้โฆษณาจาก “ช่อง 3” ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ให้ได้เท่ากับที่เคยทำได้ในปีก่อน จากการใช้นาทีโฆษณาที่ลดลง แต่กลับมีต้นทุนสูงขึ้น

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง ทำให้ผู้โฆษณารายใหญ่ใช้เงินโฆษณากับกลุ่ม BEC World น้อยลงกว่าในปีก่อน แต่ได้เปิดโอกาสให้ผู้โฆษณาขนาดกลาง และขนาดเล็กหลายราย เข้ามาใช้เงินโฆษณากับกลุ่มฯ

– ปี 2559 กำไรของกลุ่ม BEC World เหลือเพียง 1,218 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 เกือบ 60% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมโฆษณาหดตัวลง 12% เนื่องจากเหตุการณ์สูญเสียวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ประกอบกับความต้องการโฆษณาในช่วงเวลากลางวันลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรายได้โฆษณาปี 2559 ลดลงเหลือ 11,151.2 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนถึง 21.5%

ขณะที่รายได้จากการให้ใช้สิทธิและบริการอื่น และรายได้จากการขายสินค้า ก็ลดลงจากสถานการณ์ของปีนั้น
ในปี 2559 นี้เอง ที่กลุ่ม BEC World มีหนี้สินจากการกู้ยืมระยะสั้นเพิ่มขึ้น 1,050 ล้านบาท (จากเดิมเป็นบริษัทที่มีเงินสดเกิน) เนื่องจากการจ่ายค่าใบอนุญาตและการลงทุนช่องทีวีดิจิตอล ทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่าย) เพิ่มขึ้น

Channel 3
คุณประชุม มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด(มหาชน) / Photo Credit : www.ch3thailand.com

– ปี 2560 กลุ่ม BEC World มีกำไรสุทธิ 61 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายเวลาโฆษณาในปี 2560 อยู่ที่ 9,890.2 ล้านบาท ลดลง 11.3% จากปี 2559 ตามเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมของตลาดที่มีการหดตัว 6% จึงทำให้จำนวนนาทีโฆษณาของ “ช่อง 3” ที่ขายได้น้อยลงตามความซบเซาของตลาด

ขณะที่รายได้หลักจากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่ม BEC World นั้น ยังคงเป็นรายได้ถึง 89.6% ส่วนรายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่นในปี 2560 อยู่ที่ 618.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.3% จากปี 2559 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสื่อใหม่

ส่วนรายได้จากการจัดคอนเสิร์ต และการแสดงนั้นก็มีรายได้ลดลงเล็กน้อย 3.4% ทั้งนี้ รายได้รวมของกลุ่ม BEC ในปี 2560 อยู่ที่ 11,035 ล้านบาท ลดลง 10% จากปี 2559

ค่าใช้จ่ายรวมส่วนใหญ่ มาจากค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการและต้นทุนการถ่ายทอดกีฬา โดยในปี 2560 ค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการและต้นทุนการถ่ายทอดกีฬาเพิ่มขึ้น 425.2 ล้านบาท หรือ 7.8%

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและการให้บริการรวมของกลุ่ม BEC อยู่ที่ 1,799.4 ล้านบาท ลดลง 9.3% ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการบริหารจากนโยบายการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรวมของกลุ่ม BEC ในปี 2560 อยู่ที่ 9,176.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 4.3%

Channel 3
รายการกีฬาทางช่อง 3 (credit : www.ch3thailand.com)

แต่ดูท่าว่าสถานการณ์ทางธุรกิจของ “กลุ่ม BEC World” ยังไม่ดีขึ้น สะท้อนได้จากผลประกอบการปี 2561 รายได้รวมของกลุ่ม BEC World อยู่ที่ 10,375.7 ล้านบาท ลดลง 6% และ ขาดทุนสุทธิที่ 330.2 ล้านบาท

โดยเกิดจากค่าใช้จ่ายรายการพิเศษ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Nonrecurring Items) ได้แก่

1. ค่าใช้จ่ายจากโครงการเกษียณอายุ และการปรับลดอัตรากำลังคนตามนโยบายการปรับโครงสร้างองค์กร จำนวน 140.6 ล้านบาท และ

2. ค่าใช้จ่ายสำรองผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงานตามร่าง พรบ. คุ้มครองแรงงานจำนวน 134.8 ล้านบาท
โดยรายการข้างต้นเมื่อสุทธิภาษีเงินได้และส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม จะคงเหลือเป็นจำนวน 232.1 ล้านบาท แต่หากตัดรายจ่ายพิเศษออก ผลการดำเนินงานปกติในส่วนที่เป็นของ BEC ในปี 2561 จะอยู่ที่ 98.1 ล้านบาท

สำหรับรายได้จากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่ม BEC World ปี 2561 อยู่ที่ 8,878.8 ล้านบาท ลดลง 10.2% ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาโดยรวมของตลาดมีการขยายตัวเล็กน้อยที่ 3.91%

ทั้งนี้รายได้หลักจากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่ม BEC นั้นยังคงเป็นรายได้หลักถึง 85.6% ซึ่งการลดลงของการขายเวลาโฆษณาของ“ช่อง 3” ธุรกิจหลักของกลุ่ม BEC นั้นลดลงตามสภาวะการแข่งขันในตลาดที่สูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ผู้ลงโฆษณาใช้เงินอย่างจำกัดกว่าในอดีต

ขณะที่รายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่นในปี 2561 อยู่ที่ 1,054.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.5% โดยรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจออนไลน์ที่ผ่านแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ของกลุ่ม BEC เช่น CH3Thailand และ Mello รวมถึงแพลตฟอร์มพันธมิตร และเพิ่มขึ้นจากการขายลิขสิทธิ์ละครไปยังต่างประเทศ (Global Content Licensing)
ส่วนรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและแสดงโชว์ในปี2561 อยู่ที่ 368.5 ล้านบาท ลดลง 18.9%

โดยในปี 2561 มีการจัดคอนเสิร์ตและแสดงโชว์ การจัดการประกวด Miss Thailand World 2018 และมีการรับจ้างจัดคอนเสิร์ต ทั้งนี้ ตั้งแต่ในครึ่งหลังของปี 2558 ได้มีโอนย้ายกิจกรรมการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศในประเทศไทยออกไปให้บริษัท ไลฟ์เนชั่น บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (บริษัทร่วม) ขณะที่รายได้จากการขายสินค้ารวม 73.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% ทั้งนี้มาจากรายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่นที่เพิ่มขึ้น

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมของกลุ่ม BEC ในปี 2561 อยู่ที่ 8,789.2 ล้านบาท ลดลง 4.2% ทั้งนี้การลดลงของค่าใช้จ่ายรวมของกลุ่ม BEC World ส่วนใหญ่มาจากต้นทุนขายและต้นทุนการให้บริการที่ลดลง 3.5% การลดลงของค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการที่ลดลง 4.8%

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่ลดลงยังมาจากค่าใช้จ่ายด้านเครือข่ายที่ลดลง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของ กสทช. อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปี 2561 กลุ่ม BEC World ได้มีโครงการเกษียณอายุและมีการปรับลดอัตรากำลังคนตามนโยบายการปรับโครงสร้างองค์กร โดยได้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษในงบการเงินรวมแล้วเป็นจำนวน 250.3 ล้านบาท นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการขายและการให้บริการรวมของกลุ่ม BEC ตลอดทั้งปีลดลง 0.2%

Channel 3
(Photo Credit : www.ch3thailand.com)

 

นักวิเคราะห์ฟันธง! “ช่อง 3” ต้องหารายได้ มาชดเชยค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

 

จากบทวิเคราะห์ของ บล.ธนชาต ระบุว่า ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมทั้งจากผู้ประกอบการทีวีและแพลตฟอร์มออนไลน์ (LineTV, Netflix และ Viu) จึงคาดการณ์ว่าอัตราค่าโฆษณาเฉลี่ยต่อนาทีของ BEC น่าจะลดลงจาก 200,000 บาท ปี 2557 (ก่อนมีทีวีดิจิทัล) มาเป็นอยู่ที่ 144,000 บาท/นาทีในปี 2561 และจะลดลงเหลือเพียง 136,000 บาท/นาที ในปีนี้ แต่ก็ยังแพงกว่าคู่แข่งหลายราย

อย่างไรก็ดี บริษัทมีความพยายามอย่างมากในการสร้างรายได้เพิ่มจากการให้ใช้สิทธิ์และบริการอื่น ได้แก่ การขายคอนเทนต์ไปต่างประเทศ และรายได้จากการรีรันรายการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันคิดสัดส่วนประมาณ 17% ของรายได้รวม ทั้งนี้ ความยั่งยืนของรายได้ในช่องทางนี้ขึ้นกับคุณภาพของคอนเทนต์ ขณะที่รายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและโชว์ ยังมีสัดส่วนเพียง 2%

ปัญหาอีกประการคือ “เรื่องค่าใช้จ่าย” ดังนั้น อีกแนวทางในการเพิ่มกำไรของ BEC คือ การลดค่าใช้จ่าย ซึ่งโครงการเกษียณอายุและปรับลดอัตรากำลังคน ก็เป็นหนึ่งมาตรการลดค่าใช้จ่ายได้ดี

ขณะที่ค่าใช้จ่ายอีกส่วนที่ลดลงอย่างมากในปี 2561 เป็นผลมาจากค่าเช่าโครงข่ายที่ลดลงอันเนื่องมาจากแผนเยียวยาของ กสทช. แต่ก็เป็นเพียงการสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายเป็นเงินครึ่งนึงของค่าเช่าฯ เป็นเวลาเพียง 2 ปี และเป็นเพียงการให้พักชำระหนี้ค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลได้ แต่ก็ไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 โดยมีดอกเบี้ยในการพักหนี้ 1.5% ดังนั้น เมื่อถึงปี 2564 บริษัทก็จะมีค่าใช้จ่ายกลับมาสูงมากเหมือนเดิม

ดังนั้น ในช่วง 2 ปีนี้ที่อยู่ระหว่างการพักชำระหนี้ โจทย์ของผู้บริหารสูงสุดของ BEC World จึงได้แก่ การเตรียมความพร้อมด้วยการหารายได้เพิ่มเติมเพื่อมาชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น และพยายามลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นให้ได้มากที่สุด

มหากาพย์ “ช่อง 3” ยังไม่จบเพียงเท่านี้…ใน Episode 2 “MarketingOops!” จะพาไปดูความพยายามในการเปลี่ยนผ่านองค์กรเข้าสู่ยุค Disruptive World และคำตอบว่าทำไมถึงต้องดึง “คุณอริยะ พนมยงค์” แม่ทัพใหญ่จาก LINE Thailand เข้ามาคุมทัพช่อง 3

BEC World

Source : ข้อมูลผลประกอบการกลุ่ม BEC World จากงบการเงินรายงานประจำปี


  • 4.4K
  •  
  •  
  •  
  •