“การที่เราเป็น tech สตาร์ทอัพ จึงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีก่อน ยิ่งเริ่มจากศูนย์ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงสูงมาก ยิ่งกำไรไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็นช่วงลงทุน ที่เราพลาด คือ ไม่โฟกัสเรื่อง Salesforce และไม่ได้ทำงานร่วมกับสื่อต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งเราจะปรับปรุงเรื่องนี้ในการดำเนินงานครั้งหน้า ส่วนเรื่องการจ่ายเงินให้ผู้เล่นเกม เราจะจัดการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด”
นี่เป็นสิ่งที่ ‘Geir Z. Windsvoll’ ซีอีโอ ‘บริษัท ซันโตร่า นากามะ (ประเทศไทย) จำกัด’ เจ้าของแอปพลิเคชั่นเกม ‘Panya’ ได้ให้สัมภาษณ์กับ Marketing Oops!
หลังจากเดินทางมาได้ 1 ปี Panya ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ซันโตร่า นากามะ (ประเทศไทย) จำกัด ทำเอาคนเล่นเกมโชว์ไลฟ์ของ Panya ช็อคไปทั้งชุมชน เพราะเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ซีอีโอ Geir Z. Windsvoll ออกจดหมายด่วน แจ้งบรรดาแฟนพันธุ์แท้ว่า
“Panya” ขอยุติเกมโชว์ไลฟ์ของตัวเองชั่วคราว โดยในวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นการออกอากาศครั้งสุดท้าย พร้อมกับขอเวลาอีก 2 สัปดาห์จากนี้ เพื่อแก้ปัญหาภายใน โดยเฉพาะการหาโซลูชั่นในการบริหารงานด้านการเงิน โดยจะเจรจาและหาข้อสรุปกับผู้บริหารรายอื่น ๆ และนักลงทุนในการจ่ายเงินแก่ผู้เล่นเกมที่ยังค้างชำระอยู่จำนวนมาก ก่อนกลับมาลุยตลาดใหม่และยิ่งใหญ่กว่าเดิม
Panya แค่ขอพักเบรคชั่วคราว
ซีอีโอ Windsvoll ให้สัมภาษณ์กับ MarketingOops! ว่า Panya จำเป็นต้องยุติเกมโชว์ชั่วคราว เนื่องจากปัญหาหลักและเรื้อรังมานานหลายเดือนคือเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน มีการค้างจ่ายเงินให้กับผู้ชนะจำนวนมาก
ทั้งนี้ Windsvoll ยอมรับว่า นี่เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในการบริหารงานด้านการเงินที่ทาง Panya จะต้องนำไปเป็นบทเรียนในการดำเนินธุรกิจในช่วงหลังการระดมทุนครั้งหน้า
ส่วนปัญหาอื่น ๆ ยังรวมถึง การขาดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจให้เติบโต การขาดการทำการตลาดและการขายที่ดีจนทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้กับรายจ่ายห่างกันเกินไป และความหลงใหลได้ปลื้มในตัวเลขบางตัว ทำให้การดำเนินงานของ Panya เกิดข้อผิดพลาด และทำให้เกิดการประกาศยุติเกมโชว์ไลฟ์ครั้งนี้เป็นการชั่วคราว
บทเรียนราคาแพงจากตัวเลขบางตัว
Windsvoll บอกว่า “Panya เป็นแอปพลิเคชั่นที่ออกตัวได้ดีโดยเฉพาะในช่วง Incubation ในช่วงระยะเวลาเพียง 7 เดือนแรกหลังเปิดตัว มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกว่า 20 ล้านดาวน์โหลด ทั้งบน iOS และ Android โดยกว่า 60% เป็นผู้ใช้จากกรุงเทพ”
ยิ่งเป็น Tech สตาร์ทอัพด้วยแล้ว การออกตัวได้เร็ว และยอดดาวน์โหลดจำนวนมหาศาล ยิ่งทำให้ Windsvoll มองว่า นี่เป็นความสำเร็จ โดยหารู้ไม่ว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้สะท้อนถึงความสำเร็จที่แท้จริง เพราะจำนวนดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นไม่ได้การันตีว่า จะมีผู้ใช้จริง ๆ กี่คน และจะมีสปอนเซอร์เข้ามาเยอะแยะมากมาย
“เรายังอ่อนประสบการณ์ไป” Windsvoll ยอมรับ
ทั้งนี้ ซันโตร่า นากามะ (ประเทศไทย) ได้ระดมทุนเพื่อลงทุนใน Panya ราว 720,000 เหรียญสหรัฐ โดยเงินทุนหลัก ๆ มาจากสิงคโปร์และเวียดนาม เช่น 500 Tuk Tuk, 500 Startup Vietnam และ Antler เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงเปิดตัวแรก ๆ ได้นำเงินทุนส่วนใหญ่ไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ และรองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายพนักงานและอื่น ๆ ในออฟฟิศ บางส่วนที่รวมกับงบจากสปอนเซอร์ได้นำไปจ่ายเป็นเงินรางวัลให้กับผู้เล่นเกมที่ขอเบิกถอน
แม้จะยังขาดทุนในช่วงแรก เพราะเป็นช่วงลงทุน แต่ก็ต้องมีแผนในการคืนทุนและทำกำไร Windsvoll บอกว่า กลยุทธ์ในการคืนทุนและทำกำไรของ Panya คือการหาสปอนเซอร์ ส่วนหนึ่งเราต้องหารายได้จากการร่วมงานกับ Media Agency และ Media Buyers เพื่อขาย engagement ผ่านคอนเทนท์ของ Panya ที่ผ่านมา Panya มีสปอนเซอร์หลักอยู่ 3 ราย ได้แก่ Kaidee.com, แบรนด์ เจน ยู และ iFlix (แอพพลิเคชันใช้ดูหนัง) แต่ก็ยังต้องหาเพิ่มเพราะรายจ่ายก็ยังมี โดย Panya ตั้งเป้าว่า ต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปีจึงจะมีรายได้จากการโฆษณาผ่านการสร้าง engagement ให้กับแบรนด์ของสปอนเซอร์
ปิดชั่วคราว ปิดไปไหน ปิดไปทำอะไร
ในช่วงที่ Panya ยังอยู่ในภาวะที่กำลังเคลียร์ปัญหาภายในนี้ Windsvoll เผยว่า Panya ยังเป็นธุรกิจหลักของ ซันโตร่า นากามะ (ประเทศไทย) เมื่อปิดกิจการชั่วคราวพนักงานบางส่วนจึงถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะทีมคอนเทนท์ เพราะไม่มีอะไรที่ต้องต่อยอดในเวลานี้ ให้เหลือไว้เพียงพนักงานในส่วนของโปรดักชันที่ต้องอยู่เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแอปพลิเคชั่นและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาและมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ในอนาคต
Windsvoll บอกว่า พนักงานที่ถูกเลิกจ้างเป็นทาเลนท์ขององค์กรและเป็นพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และเมื่อธุรกิจพร้อมที่จะเดินหน้าในเฟสต่อไป ทางบริษัทยินดีจะรับพนักงานเหล่านี้กลับมาร่วมงานกันอีก
แม้ Panya ยังเป็นธุรกิจที่ให้การโฟกัสเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม บริษัทมีหลายโปรเจ็คในสตาร์ทอัพสตูดิโอ แต่ตอนนี้ก็มีแค่ชื่อโปรเจ็คเท่านั้น ส่วนโปรเจ็คที่บริษัทให้ความสำคัญและลงมือทำในตอนนี้คือ Virtual Reality ที่ช่วยสนับสนุนฟีทเจอร์บนแอปพลิเคชัน Panya ด้วย Virtual Studio ที่จะช่วยให้คอนเทนท์มีสีสันมากขึ้น”
เบื้องลึกเบื้องหลังข่าวลือขายแอปฯ Panya
ความสั่นคลอนในการดำเนินงานของ Panya มีสัญญานออกมาให้คนภายนอกได้เห็นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เมื่อผู้บริหารออกหนังสือขอโทษที่มีการจ่ายเงินให้กับผู้เล่นเกมล่าช้า โดยครั้งถัดมาก็ขอเลื่อนการชำระเงินอีกเป็นเดือนธันวาคม จนกระทั่งถึงวันที่ประกาศปิดชั่วคราว ผู้เล่นเกมบางรายก็ยังไม่ได้รับเงิน
มีข่าวลือออกมาเป็นระลอกว่า มีการเจรจาขายแอปพลิเคชั่น Panya ให้กับนักลงทุนรายใหม่ ด้วยความเข้าใจและทัศนคติของใครหลาย ๆ คนต่อการดำเนินกิจการในแบบสตาร์ทอัพที่ถูกสร้างมาเพียงหวังให้ขายต่อได้ และมองว่าทีมเดิมไม่สามารถสร้างการเติบโตได้อีก ซึ่ง Windsvoll ปฏิเสธข่าวลือนี้และบอกว่า
“Panya เป็นลูกรักของผม และที่จริง บริษัทได้ทำการเจรจากับสื่อยักษ์ใหญ่รายหนึ่งเพื่อเป็นพาร์ทเนอร์กับแอปพลิเคชั่น Panya อันเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทางบริษัทต้องทำอยู่แล้ว และตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ดังนั้น เรื่องการขายต่อ แอปพลิเคชั่น Panya ให้คนอื่นจึงไม่มีทางเป็นไปได้”
โอกาสของ Panya บนความท้าทายแบบสตาร์ทอัพ
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นการทดสอบตลาดของ Panya นอกจากการตลาดที่ยังอ่อนและความเพิกเฉยต่อการทำรายได้ เพราะคิดว่า มีทราฟฟิคมาก ๆ เดี๋ยวสปอนเซอร์ก็มาเอง ในความผิดพลาดนี้ Windsvoll ก็ยังมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจเกมโชว์ไลฟ์แบบ Interactive โดยผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ดำเนินรายการบนแอปพลิเคชั่นโดยตรง
“เรียกได้ว่า เราเป็นเจ้าแรกในการทำคอนเทนท์แบบ Interactive ในเมืองไทยก็ว่าได้ เพราะปกติแล้ว เราจะเห็นเกมโชว์แบบนี้บนทีวี ผู้เล่นก็คือแขกของรายการเป็นหลัก แต่ของเรา เป็นแพลตฟอร์มที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้จำนวนมากผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือโดยตรง ทุกอย่างเป็นเรื่องของเทคโนโลยีล้วน ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีแอปพลิเคชั่นไหนที่เน้นคอนเทนท์เกมเพื่อการศึกษาและให้ความรู้กับผู้ใช้แบบนี้”
ในแง่ของความท้าทายในแบบสตาร์ทอัพ คือการทำอะไรต้องไปเร็ว พนักงานบางรายยังคุ้นชินกับการทำงานแบบ Corporate ที่มีวัฒนธรรมและโครงสร้างที่แตกต่างมาก่อน ก็อาจจะยิ่งช็อคกับการทำงานแบบสตาร์ทอัพ
Windsvoll เล่าเสริมว่า ในส่วนของคู่แข่ง 1010 เคยเป็นคู่แข่งของ Panya โดยใช้แพลตฟอร์มของ Line แต่ตอนนี้หายไปแล้ว ส่วน Facebook ก็ออกเพิ่ง Confetti ที่คล้าย ๆ กัน ส่วนในอนาคตจะมีผู้เล่นรายอื่น ๆ เข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยแน่นอน ซึ่งจะไม่เป็นแอปพลิเคชั่นเพื่อเกมโชว์ไลฟ์อย่างเดียว แต่จะเป็นแอปพลิเคชั่นที่ผสมเกมโชว์ไลฟ์ และผนวกกับการเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับคอนซูมเมอร์ เช่น เน้นเป็นอี-คอมเมิร์ซไปด้วยในตัว
ย้ำ Panya ไม่ได้หายไปไหน ขอเวลาวางแผนคืนตลาดอีกครั้ง
ในอนาคต Panya จะเน้นให้ผู้ใช้สร้างคอนเทนท์ของตัวเองบนแพล็ตฟอร์มของ Panya และฐานผู้ใช้จะไม่รั่วไหลไปที่อื่น ดังนั้น นักสร้างคอนเทนท์เก่ง ๆ ก็จะมีฐานผู้ใช้บนแอปพลิเคชั่น Panya อยู่แล้ว ซึ่งเมตทริกซ์ที่สำคัญที่สุดคือการรักษาฐานผู้ใช้ให้อยู่กับแอปพลิเคชั่นได้นานที่สุด ผู้เล่นอี-คอมเมิร์ซสามารถสร้างคอนเทนท์ของตัวเองก็ได้ ส่วนสื่อต่าง ๆ ก็สามารถใช้ฐานผู้ใช้ตรงนี้ในการหาสปอนเซอร์โดยการการันตี engagement ได้ด้วย
ดังนั้น Panya เวอร์ชั่นนี้จึงเป็นแค่สเต็ปแรก เพื่อการสร้างฐานลูกค้า และในอนาคต Panya จะพัฒนาไปอีกสเต็ปโดย integrate คอนเทนท์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเข้ากับแอปพลิเคชั่นคอนซูมเมอร์ เช่น สื่อที่มีไลเซนส์พรีเมียร์ลีกที่อยากจะสร้างเกมโชว์ไลฟ์โดยเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับพรีเมียร์ลีก ก็สามารถทำผ่านแอปพลิเคชั่น Panya ในช่วงครึ่งแรกของการแข่งขัน และขาย engagement ระดับพรีเมียมนี้ให้กับสปอนเซอร์ได้เลย
สุดท้าย ซีอีโอ ของ Panya ย้ำว่า Panya ไม่ได้หายไปไหน เพียงอยู่ระหว่างการวางแผนจะกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม เพราะเตรียมระดมทุนในรอบถัดไปแล้วถึง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีการพูดคุยกันแล้วกับนักลงทุน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อนักลงทุนได้ เพราะอยู่ในช่วงเจราจาเพิ่มเติม โดยบอกเพียงแค่ว่า เงินทุนรอบต่อไปจะมาจากฮ่องกง สิงคโปร์ และ Angel Investors อื่น ๆ
Copyright @ Marketing Oops!
เรื่อง : วณิชชา สุมานัส