จับตา “เซ็นทรัล” ปั้นแบรนด์ “Go!” ค้าปลีกจากเวียดนามบุกไทย ลุยเปิด “go! WOW – go! Power” สู่ “go! Hotel”

  • 744
  •  
  •  
  •  
  •  

Central-Go!

ยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้ความเป็นยักษ์ใหญ่ Conglomerate จะขยายฐานธุรกิจครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกเซ็กเมนต์ เหมือนเช่น “เครือเซ็นทรัล” แต่ละกลุ่มธุรกิจ ทั้งธุรกิจค้าปลีก, ธุรกิจศูนย์การค้า และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจแบรนด์สินค้า จะปั้น Business Portfolio ของกลุ่มธุรกิจตัวเองภายใต้แบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ที่สร้างขึ้นเอง หรือเข้าซื้อกิจการ หรือร่วมทุนก็ตาม

เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของ Portfolio เจาะเข้าไปในทุกกลุ่มเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ตลาดระดับ Luxury – Premium ไปจนถึงตลาดระดับกลาง และแมส ซึ่งเป็นผู้บริโภคฐานใหญ่ของไทย และประเทศที่เป็น Emerging Market เช่น เวียดนาม ตลาดยุทธศาสตร์สำคัญไม่น้อยไปกว่าตลาดไทย

หนึ่งในแบรนด์ยุทธศาสตร์ที่ “กลุ่มเซ็นทรัล” พัฒนาขึ้น และน่าจับตามองคือ แบรนด์ Go!ซึ่งเดิมทีเป็นแบรนด์ค้าปลีกของเซ็นทรัลในตลาดเวียดนาม เวลานี้กลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือเซ็นทรัล เริ่มนำแบรนด์นี้ขยายเข้ามาสู่ตลาดไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” เปิดร้านจิปาถะ (Variety Store) go! WOWและร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า go! Power ขณะที่ล่าสุด “เซ็นทรัลพัฒนา” นำแบรนด์นี้ มาต่อยอดสู่ธุรกิจโรงแรมในชื่อ go! Hotel

Big C GO!
เปลี่ยนจากบิ๊กซี ในเวียดนาม เป็น GO!

 

ทำความรู้จักแบรนด์ “Go!” เชนศูนย์การค้า-ไฮเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม

ปฐมบทของ “กลุ่มเซ็นทรัล” ในตลาดเวียดนาม เริ่มต้นก่อตั้งบริษัทในปี 2554 ต่อมาปี 2556 นำธุรกิจซูเปอร์สปอร์ต ไปเปิดสาขาแรกที่กรุงฮานอย และปี 2557 เปิดธุรกิจห้างสรรพสินค้า ROBINS” (โรบินส์)

ในปี 2558 “เซ็นทรัล” ได้เข้าถือหุ้นใน “เหงียนคิม” ค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า กับ “ลานซี มาร์ท” ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลางถึงใหญ่ในเวียดนาม (ในปี 2562 ได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของเหงียนคิม)

จากนั้น “จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่” ของธุรกิจเซ็นทรัลในเวียดนาม เริ่มต้นขึ้นในปี 2559 เมื่อ “เซ็นทรัล” เข้าซื้อกิจการ “บิ๊กซี เวียดนาม” (Big C Vietnam) จากกลุ่มคาสิโน ฝรั่งเศส ที่ขายกิจการบิ๊กซี ทั้งในเวียดนาม และไทย ซึ่งในไทย “กลุ่มบีเจซี” (BJC) ได้ไป

แต่ด้วยความที่สิทธิชื่อแบรนด์ “บิ๊กซี” เป็นของบีเจซี และสัญญาสิทธิการใช้ชื่อบิ๊กซีในเวียดนามกำลังสิ้นสุดลง ด้วยเหตุนี้เอง เซ็นทรัลจึงพัฒนาแบรนด์ใหม่ขึ้นมาในชื่อ “GO!(โก) ซึ่งเป็นแบรนด์ภายใต้ “กลุ่มเซ็นทรัล” (Central Group) ที่กลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือ สามารถนำไปต่อยอดได้ โดยอยู่บนจุดยืนของความเป็น “Affordable Brand” หรือแบรนด์ที่เข้าถึงง่าย ตอบโจทย์ความคุ้มค่าคุ้มราคา (Value for money) และใช้ Color Branding เป็น “สีแดง” เพื่อสะท้อนถึงความสดใส เป็นกันเอง จริงใจ

GO!-go! logo
โลโก้ศูนย์การค้า GO!, ไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! และซูเปอร์มาร์เก็ต go! ในเวียดนาม

แนวคิดการดำเนินธุรกิจในเวียดนามของกลุ่มเซ็นทรัล ไม่ใช่แค่การยก Business Model ที่ประสบความสำเร็จในไทย ไปบุกตลาดที่นั่น แต่หลายอย่างเป็นการสร้างขึ้นใหม่สำหรับตลาดเวียดนาม และเริ่มต้นที่เวียดนามประเทศแรก แล้วจึงขยายมาประเทศไทย ดังเช่นแบรนด์ GO!

แบรนด์ “GO!” เปิดตัวครั้งแรกในปี 2561 เมื่อ “เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม” ในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินการปรับภาพลักษณ์ศูนย์การค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตบิ๊กซี เป็นศูนย์การค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! ซึ่งธุรกิจศูนย์การค้าจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก (Property) โดยมีพื้นที่พลาซ่า สำหรับให้บุคคลภายนอก และแบรนด์ค้าปลีกในเครือเซ็นทรัลเช่าพื้นที่เปิดร้าน ขณะเดียวกันมีธุรกิจ GO! ไฮเปอร์มาร์เก็ต จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบวงจร 

Big C GO!

ต่อมาเซ็นทรัลได้ขยายจากไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! สู่โมเดลใหม่คือ go!” (มินิ โก!) เป็นเชนซูเปอร์มาร์เก็ต ขนาด 2,500 – 3,500 ตารางเมตร เน้นขยายในจังหวัดรองของเวียดนามทำเลใกล้ชุมชนย่านที่พักอาศัยในเขตชนบทของเวียดนาม

รวมทั้งแตกแบรนด์ GO! Deli ฟู้ดคอร์ทจำหน่ายอาหารนานาชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่พลาซ่าของศูนย์การค้า GO! และพัฒนา “แอปพลิเคชัน GO! เพื่อต่อยอดสู่โมเดลแพลตฟอร์ม Omnichannnel เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

mini-go!
ซูเปอร์มาร์เก็ต go! ในเวียดนาม

ทั้งนี้นอกจากศูนย์การค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ต GO!, ซูเปอร์มาร์เก็ต go! “เซ็นทรัล รีเทล” ยังได้นำเชน “ท็อปส์ มาร์เก็ต” มาเปิดในเวียดนามด้วย รวมทั้งปรับแบรนด์ GO! บางสาขาในเมืองใหญ่ เป็นท็อปส์ มาร์เก็ต เพื่อยกระดับแบรนด์ และตอบโจทย์การขยายตัวของแนวโน้ม Urbanization ในเวียดนาม

ส่วนจำนวนสาขาซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้ง go!, ลานซี มาร์ท, ท็อปส์ มาร์เก็ต อยู่ที่ 32 สาขา และไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! 37 สาขา (ณ 31 ธันวาคม 2564)

ขณะที่แผนในปี 2565 เดินหน้ารุกกลุ่มธุรกิจฟู้ด ศูนย์การค้า และแพลตฟอร์ม Omnichannel หลังยอดขายผ่านแพลตฟอร์มในไตรมาสแรกของปี 2565 เติบโตแบบดับเบิ้ล อยู่ที่ 88% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งยังดันแอปพลิเคชัน GO! ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในแอปช้อปปิ้งยอดนิยมในเวียดนาม

พร้อมเร่งเครื่องขยายสาขาออฟไลน์ใหม่ๆ ตลอดทั้งปี ประกอบด้วย ศูนย์การค้า GO! และไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! สาขาซูเปอร์มาร์เก็ต mini go! และท็อปส์ 12 สาขา และร้านค้าน็อนฟู้ดอื่นๆ รวมอีก 70 สาขา โดยมุ่งเป้าสร้างฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ครอบคลุมทั้งตลาดกลางและล่าง ตอบรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเวียดนาม ที่คาดการณ์ว่า GDP ปี 2565 จะโตแตะ 6%

GO!

 

จากเวียดนาม ขยายสู่เชนค้าปลีก “go! WOW – go! Power” ในไทย

หลังจากปลุกปั้น “GO!” และ “go!” ในเวียดนามมาได้สักพัก บริษัทในเครือกลุ่มเซ็นทรัลได้นำแบรนด์นี้ ขยายเข้ามาทำตลาดในไทย โดยยังคงยืนอยู่บน positioning ของแบรนด์ นั่นคือ เป็นแบรนด์ที่เข้าถึงง่าย คุ้มค่าคุ้มราคา

“เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” นำแบรนด์ “go!” ต่อยอดสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ปัจจุบันประกอบด้วย

go! WOW” (โก! ว้า) เชนวาไรตี้สโตร์ จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด ของใช้ภายในบ้าน และของใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า 14,000 รายการ ในราคาเริ่มต้น 5 บาท ภายใต้การบริหารของบริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ชูกลยุทธ์ สินค้าราคาถูก เข้าถึงได้ง่าย เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยในราคาจับต้องได้

ปัจจุบัน go! WOW มีสาขากระจายทั่วประเทศแล้วกว่า 23 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล 9 สาขา และต่างจังหวัด 14 สาขา นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ยังมองหาทำเลศักยภาพใหม่ๆ เพื่อขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าขยายสาขาในปี 2565 ให้ได้ 70 สาขา

go! WOW

การเปิดสาขา go! WOW มีทั้งขยายไปตามศูนย์การค้าเซ็นทรัล และโรบินสัน ควบคู่กับการเปิดสาขารูปแบบ Stand Alone อย่างล่าสุดเปิดสาขาใหม่ “go! WOW สีคิ้ว โคราช” บนพื้นที่กว่า 700 ตารางเมตร  โดยมองเห็นทำเลและการสร้างโอกาสของพื้นที่อำเภอสีคิ้ว เมืองด่านหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นแหล่งชุมชมขนาดใหญ่มีจำนวนกว่า 18 หมู่บ้าน และ “go! WOW ทรัพย์พัฒนา จังหวัดสมุทรปราการ” บนพื้นที่กว่า 500 ตารางเมตร ทำเลศักยภาพอีกแห่งที่มีการขยายตัวของธุรกิจที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะโครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ไปสู่หัวเมืองชั้นนอกทำเลแห่งใหม่

go! WOW

กลยุทธ์หลักของ go! WOW ประกอบด้วย

1. ราคาสินค้าที่เข้าถึงได้ง่าย ตอบโจทย์ความคุ้มค่าคุ้มราคา

2. ความหลากหลายของสินค้า ว่า 14,000 รายการ

3. ทำเลที่เข้าถึงง่าย ตั้งอยู่ในแหล่งช้อปปิ้ง ศูนย์การค้า และแหล่งชุมชนที่เป็นทำเลศักยภาพ เดินทางสะดวก

4. การจัดทำ Cross Promotion ร่วมกับห้างพันธมิตร ลูกค้าสามารถนำใบสร็จเมื่อซื้อสินค้าจากห้างของพันธมิตรมาเป็นส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าที่ร้าน go! WOW รวมถึงการผนวกรวมฐานลูกค้าให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทั้ง 4 กลยุทธ์กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ แม้จะไม่ได้วางแผนล่วงหน้าเพื่อมาซื้อ แต่เมื่อเข้ามาเดินดู ก็มักจะได้ของติดไม้ติดมือกลับบ้านไปสักชิ้น สองชิ้น หรือมากกว่านั้น

go! WOW

go!Power (โก! เพาเวอร์) ภายใต้การบริหารของเพาเวอร์บาย (Power Buy) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ชูจุดขายเป็นศูนย์รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าครบครัน คุ้มค่าด้วยราคา ผ่อนน้อย อนุมัติไว เพื่อตอบความต้องการลูกค้าได้เข้าถึงการมีเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น โดยมีไลน์สินค้ามากกว่า 5,000 รายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า แอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

go! Power

ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว7 สาขา นำร่องในหัวเมืองตามต่างจังหวัดต่างๆ ได้แก่ สาขาหัวหิน (จ.ประจวบฯ), สาขากระนวน (จ.ขอนแก่น), สาขาศรีบุญเรือง (จ.หนองบัวลำภู) สาขาอมตะ (จ.ชลบุรี), สาขาชุมแพ (จ.ขอนแก่น) และสาขายูดีทาวน์   และสาขาบ้านผือ จ.อุดรธานี พร้อมเร่งขยายอย่างต่อเนื่องในปี 2565  ทั่วประเทศ

go! Power

 

“เซ็นทรัลพัฒนา” เตรียมเปิดgo! HotelPremium Budget ราคาเริ่มต้น 1 พันบาทต่อคืน

ด้วยวิสัยทัศน์ของ “เซ็นทรัลพัฒนา” มุ่งสร้าง Retail-led Mixed-use Development ผนึกกำลังทุกองค์ประกอบที่แข็งแกร่งของเซ็นทรัลพัฒนาเข้าด้วยกัน ทั้งศูนย์การค้า, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม โดยให้ “ศูนย์การค้า” เป็นธุรกิจหลัก ตั้งเป้าแผน 5 ปี (ปี 2565 – 2569) มีโครงการจากทุกธุรกิจรวมกันกว่า 180 โครงการใน 30 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ มูลค่างบลงทุนรวมกว่า 120,000 ล้านบาท

ล่าสุดเปิดแผน “ธุรกิจโรงแรม” ตั้งเป้า 5 ปี ขยายรวม 37 โครงการ รวมมากกว่า 4,000 ห้อง ใน 27 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง เมืองท่องเที่ยว และเมืองอุตสาหกรรม เช่น โคราช, อุบลราชธานี, อยุธยา, ระยอง, ศรีราชา, ชลบุรี, เชียงราย โดยจะพัฒนาโรงแรมติดศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล ทั้งเซ็นทรัลพัฒนา และเซ็นทรัล รีเทล

ด้วยงบลงทุนรวม 10,000 ล้านบาท (จากงบรวม 120,000 ล้านบาท) พร้อมทั้งปั้น Brand Portfolio กลุ่มธุรกิจโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนา ประกอบด้วย 3 แบรนด์

– Centara แบรนด์ระดับ Upscale เป็นรูปแบบ Full Service Hotel ราคาเริ่มต้นกว่า 2,000 บาท วางแผนเปิด 4 แห่ง

– Centara One แบรนด์ Lifestyle Midscale ราคาเริ่มต้น 1,700 บาท วางแผนเปิด 8 แห่ง

– Go! Hotel เป็นแบรนด์ Premium Budget ราคาเริ่มต้น 1,000 บาท ตอบโจทย์ความคุ้มค่าคุ้มราคา วางแผนเปิด 25 แห่ง ทุกแห่งมีจำนวน 79 ห้อง โดยสาขาแรกจะเปิดตัวภายในปี 2565 อยู่ในโซน EEC

go! Hotel
เซ็นทรัลพัฒนา เตรียมเปิด go! Hotel ภายในปี 2565

ทั้ง 3 แบรนด์ “เซ็นทรัลพัฒนา” จะเป็นผู้ลงทุนและสร้าง โดยให้ “เซ็นทารา” เป็นผู้บริหาร โดยมี 2 แบรนด์คือ Centara One และ go! Hotel เป็น Exclusive Brand เฉพาะของเซ็นทรัลพัฒนาเท่านั้น ขณะที่แบรนด์เซ็นทารา ยังเป็นสิทธิ์ของเครือเซ็นทารา

จะเห็นได้ว่าการนำแบรนด์ “go!” มาต่อยอดสู่ธุรกิจโรงแรม ยังคงยืนอยู่บนแก่นของแบรนด์ที่มีมาตั้งแต่เวียดนาม นั่นคือ เป็นแบรนด์เข้าถึงง่าย และ Value for money เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในวงกว้าง และหลากหลาย

“ในจำนวน 3 แบรนด์ธุรกิจโรงแรมที่เซ็นทรัลพัฒนาจะสร้าง ใช้งบลงทุนพอๆ กัน แต่ถ้าจำนวน Property แบรนด์ go! Hotel มากสุด ด้วยจำนวน 25 แห่ง ซึ่งแบรนด์ GO!/go! เป็นของเซ็นทรัลกรุ๊ป เร่ิมต้นจากในเวียดนามก่อน และธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัลนำมาต่อยอดในไทย

เซ็นทรัลพัฒนา สร้างเป็น go! Hotel โรงแรมระดับพรีเมียมแมส โดยหัวใจหลักของแบรนด์นี้คือ ความง่าย ไม่ว่าจะ Check-in, Check-out สะดวก สบาย ปลอดภัย ในระดับราคา 1,000 บาทต่อคืน” คุณภูมิ จิราธิวัฒน์ Head of Hotel Propery บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เล่าถึงการนำแบรนด์ go! มาพัฒนาเป็นเชนโรงแรมเซ็กเมนต์ Premium Budget

Central-Pattana-Hotel-Business

หลังจากเห็น go! WOW, go! Power ธุรกิจในเครือเซ็นทรัล รีเทล และล่าสุดคือ “go! Hotel” ที่จะมาเติมเต็ม Brand Portfolio ธุรกิจโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนา น่าจับตาต่อว่าอนาคตบริษัทในเครือกลุ่มเซ็นทรัลจะแนะนำคอนเซ็ปต์ใหม่ GO!/go! ในไทยเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าแบรนด์นี้ จะถูกพัฒนาออกมาในหลากหลายโมเดลธุรกิจ


  • 744
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ