แต่ไหนแต่ไรมา “ศูนย์การค้า” ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การพัฒนาของ บมจ.ซีพีเอ็น, บมจ.โรบินสัน หรือแม้แต่เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล (ผู้บริหารซูเปอร์มาร์เก็ตในกลุ่มท็อปส์ และพัฒนาศูนย์การค้าขนาดเล็ก ในเมืองรอง “ท็อปส์ พลาซ่า) เน้นพัฒนาในรูปแบบ “ศูนย์การค้าแบบปิด” หรือ “Close Mall” มาโดยตลอด
แต่แล้ว “กลุ่มเซ็นทรัล” (Central Group) ที่นอกจากเป็นบริษัทแม่แล้ว ยังทำหน้าที่เป็น Project Development เปรียบเป็น Lab พัฒนาโครงการศูนย์การค้ารูปแบบใหม่ ป้อนให้กับบริษัทในเครือเซ็นทรัล เช่น ที่ผ่านมาทดลองพัฒนาปั้นฟอร์แมต “ศูนย์การค้าท็อปส์ พลาซ่า” (Tops Plaza) สำหรับเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ยุทธศาสตร์ ในการขยายไปยังจังหวัดเล็ก
โดย “ท็อปส์ พลาซ่า” ช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการขยายโครงการศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลให้ครอบคลุมทั่วไทย จากก่อนหน้านี้ที่มี “ซีพีเอ็น” ผู้พัฒนา “เซ็นทรัลพลาซา” และ “เซ็นทรัพล เฟสติวัล” เจาะเมืองใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว ขณะเดียวกันมี “ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ มอลล์” เจาะเมืองรอง
ความเคลื่อนไหวล่าสุด “กลุ่มเซ็นทรัล” ปั้น “ศูนย์การค้าแบบเปิด” หรือ “Open Mall” แห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัล นำร่องจังหวัดภูเก็ต ภายใต้แบรนด์ใหม่ “ปอร์โต เดอ ภูเก็ต” เน้นกิน + ดื่มเป็นหลัก
“เซ็นทรัล” ยึดภูเก็ต เปิด 4 ศูนย์การค้า
“ภูเก็ต” เป็นหนึ่งในจังหวัดยุทธศาสตร์สำคัญของ “กลุ่มเซ็นทรัล” (Central Group) เพราะด้วยศักยภาพของจังหวัด ที่มีทั้งคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในฐานะที่กลายเป็น Tourist Destination ระดับบนของไทย นี่จึงทำให้ในจังหวัดเดียว “กลุ่มเซ็นทรัล” มีโครงการศูนย์การค้า 4 แห่ง คือ
“เซ็นทรัล ภูเก็ต” และ “เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า” (Central Phuket Floresta) โดยทั้ง 2 ศูนย์การค้าเปิดให้บริการแล้ว
ขณะที่อีก 2 ศูนย์การค้า เตรียมเปิดในปี 2562 คือ “เซ็นทรัล ป่าตอง” และแบรนด์-ฟอร์แมตใหม่ ในชื่อ “ปอร์โต เดอ ภูเก็ต” (Porto de Phuket) เป็น Open Lifestyle Mall โครงการแรกของกลุ่มเซ็นทรัล เน้น “กิน + ดื่ม” โดยเตรียมก่อสร้างปี 2562 และคาดว่าแล้วเสร็จช่วงไตรมาส 4 ของปีหน้า
เหตุผลสำคัญที่ “ภูเก็ต” เป็น Strategic Location สำหรับกลุ่มเซ็นทรัล มาจาก 5 ปัจจัยประกอบกัน ได้แก่
1. นโยบายภาครัฐ ส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยวภูเก็ต เพื่อผลักดัน “ภูเก็ต” เป็น “Smart City”
2. เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และกำลังซื้อสูง โดยในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวมากถึง 16.9 ล้านคน สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจกว่า 3.77 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2 – 3 ปีข้างหน้า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวภูเก็ตเพิ่มขึ้นเป็น 20 – 25 ล้านคน ยอดเงินสะพัดในจังหวัด ไม่ต่ำกว่า 5.55 แสนล้านบาท
กว่า 10 ปีที่แล้ว “ซีพีเอ็น” บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (ศูนย์การค้า) และเพื่อการอยู่อาศัยในเครือ Central Group ได้เข้าไปลงทุนสร้าง “เซ็นทรัล ภูเก็ต” และเมื่อไม่นานนี้ได้เปิดศูนย์การค้าแห่งที่ 2 คือ เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า จึงทำให้รู้จักตลาดภูเก็ต กลุ่มเป้าหมาย และพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
3. ภูเก็ต เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับไฮเอนท์ สะท้อนได้จากมีวิลล่าตลาดบน ประมาณ 4,500 – 5,000 ยูนิต
4. โครงการคอนโดมิเนียมหรู ปักหมุดพัฒนาในภูเก็ต ปัจจุบันรวมแล้วกว่า 13,000 ยูนิต
5. มีโรงแรมระดับบน กว่า 27,000 ห้อง
ทำไม “กลุ่มเซ็นทรัล” เลือกพัฒนา “Open Lifestyle Mall” แห่งแรกที่ “ภูเก็ต”
ภายใต้ Project Development ของกลุ่มเซ็นทรัล ล่าสุดได้พัฒนาแบรนด์ใหม่ ชื่อ “ปอร์โต เดอ ภูเก็ต” เป็นศูนย์การค้า รูปแบบ “Open Lifestyle Mall” โครงแรกของกลุ่มเซ็นทรัล จากที่ผ่านมาความถนัดของเซ็นทรัล พัฒน Close Mall มาตลอด
เหตุผลที่เลือกสร้าง “Open Lifestyle Mall” ที่ภูเก็ต เพราะนอกจากศักยภาพของจังหวัดแล้ว ในเชิงกายภาพของโลเกชั่นที่กลุ่มเซ็นทรัลซื้อที่ดินจำนวน 50 ไร่ อยู่ตรงบริเวณ “หาดบางเทา” และ “หาดสุรินทร์” ซึ่งใกล้กับลากูน่า ภูเก็ต เป็นโซนพักผ่อน-ท่องเที่ยว ที่ประกอบด้วยต้นไม้จำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว ที่ต้องการพักผ่อนชิลๆ สบายๆ
ดังนั้นจากกายภาพของทำเล จึงเหมาะกับการทดลองพัฒนารูปแบบใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่เป็นโครงการ “Open Lifestyle Mall” ซึ่งแตกต่างจากโซนในเมือง ที่มี 2 โครงการ (เซ็นทรัล ภูเก็ต – เซ็นทรัล ฟลอเรสต้า) ที่ลูกค้า มีทั้งคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว
“การเติบโตของกลุ่มเซ็นทรัล มาจากการขยายสาขาใหม่ ภายใต้แบรนด์ศูนย์การค้าที่เรามีอยู่ (Existing Store) บวกกับการสร้างโอกาสใหม่จากการเปิดสโตร์แนวคิดใหม่ (New Store Growth) ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์การค้าในเครือกลุ่มเซ็นทรัล เน้น Close Mall เนื่องจากเหมาะกับสภาพภูมิอากาศเมืองไทย ที่ออกแบบให้อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน และสร้างให้เป็น One Stop Shopping Destination เมื่อเข้าไปภายในศูนย์ฯ จะพบกับความครบวงจร
แต่สำหรับการพัฒนารูปแบบ “Open Lifestyle Mall” ถือเป็นโครงการแรกของกลุ่มเซ็นทรัล เพราะด้วยกายภาพของทำเลที่ท่ามกลางธรรมชาติ และลูกค้าที่เป็นคนต่างประเทศ จึงออกแบบให้มีพื้นที่นั่งชิล และมีต้นไม้ที่ทำให้อากาศภายนอกไม่ร้อน” คุณเลิศวิทย์ ภูมิพิทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ขยายความเพิ่มเติม
ทำความรู้จัก “ปอร์โต เดอ ภูเก็ต”
จากศักยภาพของจังหวัดภูเก็ต และกายภาพของทำเล เป็นที่มาของการพัฒนาโครงการ Open Lifestyle Mall แห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัล ในชื่อ “ปอร์โต เดอ ภูเก็ต” (Porto de Phuket) ภายใต้แนวคิด “ที่สุดแห่งประสบการณ์การใช้ชีวิตที่เหนือกว่า” (The Finest Living Experience) บนที่ดิน 50 ไร่
การพัฒนาโครงการแบ่งเป็น 2 เฟส โดยในเฟสแรก พัฒนา 20 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 48,000 ตารางเมตร ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 1,000 ล้านบาท (เฉพาะการพัฒนาโครงการ ไม่รวมราคาที่ดิน) ดีไซน์ด้วยแนวคิด “Warehouse Concept” คล้ายกับกล่อง จำนวน 5 – 6 กล่อง (ขนาด 2,000 – 3,000 ตาราเมตรต่อกล่อง) ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ประกอบด้วย 7 โซน
1. ภูเก็ตเที่ยน เมอร์คาโด้ (Phuketian Mercado) ฟู้ดเดสติเนชั่น ที่รวบรวมร้านอาหารชั้นนำ คาเฟ่ บาร์และร้านเครื่องดื่มหลากหลายรูปแบบ จากทั่วทุกมุมโลก มาให้บริการในที่เดียวภายใต้แนวคิด One Single Roof Concept รวมถึงร้านพลอย คาเฟ่ (Ploy’s Café) ร้านอาหารไทยของพลอย ณัฐณิชา บุญเลิศ หรือ พลอย จากรายการมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์
2. เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ (Central Food Hall) ครอบคลุมทั้ง 8 ประเภท ได้แก่ เนื้อสัตว์และซีฟู๊ดคุณภาพเยี่ยม,เบเกอรี่, ชีส, ไวน์เลิศรส, สินค้าอุปโภค-บริโภคจากทั้งในและต่างประเทศ,และผลิตภัณฑ์ความงาม
3. เรสเตอรองส์ แอนด์ คาเฟ่ โซน (Restaurant and Café Zone) แหล่งรวบรวมร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดภูเก็ต และกรุงเทพ เช่น ร้านตู้กับข้าว สุดยอดร้านอาหารพื้นเมืองของภูเก็ต , สไปซ์ เฮ้าส์ (Spice House) อาหารรัสเซียสูตรต้นตำรับ, ไท บาย เรด สแนปเปอร์ (Tai by Red Snapper) ร้านอาหารฟิวชั่นสไตล์ญี่ปุ่น , ร้านแฟล็กชิพสโตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของไวน์ คอนเนคชั่น (Wine Connection) และร้านอูบานี่ ทรัฟเฟิล บาร์ แอนด์ เรสเตอรองท์ (Urbani Truffle Bar & Restaurant) ร้านอิตาเลียนสุดหรูในธีมทรัฟเฟิล ที่เน้นการใช้วัตถุดิบชั้นดีมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีมุมที่จัดวางสินค้าจากทรัฟเฟิลให้เลือกช้อปกลับไปปรุงอาหารกัน เป็นต้น
4. มัลติดีไซน์ เฮ้าส์ (Multi Design House) รวบรวมของดีไซน์ จากหลากหลายดีไซเนอร์ชั้นนำ ทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าสุดเอ็กซ์คลูซีฟ จากกลุ่มธุรกิจหลักของเซ็นทรัล ที่คัดสรรสินค้าและบริการ ด้วยสเปเชียลตี้ สโตร์ (Specialty Store) ฟอร์แมทใหม่ เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง ซูเปอร์สปอร์ต, เพาเวอร์ บาย, บีทูเอส และแฟมิลี่มาร์ท เป็นต้น
5. Healthy Heaven นอกจากสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพื้นที่สีเขียว ยังมีบริการจากบิวตี้ สปา ซาลอนเสริมความงาม ฟิตเนส และมัทสึคิโยะ ร้านสุขภาพและความงามอันดับหนึ่งจากญี่ปุ่น เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรักสุขภาพ
6. Kid Learning Space พื้นที่สนามเด็กเล่นเอ้าท์ดอร์ กว่า 300 ตร.ม. พร้อมลานกิจกรรมสำหรับเด็กๆ อาทิ เลนจักรยาน, ตาข่ายใยแมงมุมเพื่อปีนป่าย และบ่อทราย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและเวิร์คช้อปต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา
7. Pet Friendly Zone ศูนย์การค้าแรกและศูนย์การค้าเดียวในภูเก็ตที่เอาใจคนรักสัตว์ ด้วย สนามหญ้าขนาดย่อมที่สามารถนำสัตว์เลี้ยงมาวิ่งเล่นได้ ร้านของของสำหรับสัตว์เลี้ยง และบริการกรูมมิ่งสัตว์เลี้ยง
ศูนย์การค้าแห่งอาหารการกินและเครื่องดื่ม – เฟส 2 เติมความครบวงจร เป็น “Mixed-use Development”
เมื่อดูในภาพรวมของพื้นที่รีเทลของ “ปอร์โต เดอ ภูเก็ต” สัดส่วนมากถึง 65 – 70% เป็น “Food & Beverage” ขณะที่อีก 30 – 35% เป็นกลุ่มสุขภาพ-ความงาม, ของตกแต่งบ้าน, พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้เด็ก และบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งแตกต่างจากศูนย์การค้าทั่วไป ที่สัดส่วน Food & Beverage อยู่ที่ 30 – 35% ของพื้นที่โดยรวม
เหตุผลที่โครงการ “ปอร์โต เดอ ภูเก็ต” เน้นกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มเป็นหลัก เพราะด้วยโลเกชั่น เป็นพื้นที่พักผ่อน-ท่องเที่ยว ดังนั้นอาหารการกินสามารถไปด้วยกันได้ดีกับการเป็นโซนพักผ่อน ขณะเดียวกัน อาหารการกินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และการสรรหาร้านอาหารอร่อย กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ไปแล้ว ดังนั้น ทางกลุ่มเซ็นทรัล จึงมองว่าหากโครงการนี้เน้น “Food & Beverage” จะสร้างความถี่ในการมาเดิน-พักผ่อน และใช้บริการร้านค้าในโครงการนี้มากขึ้น
โดยคาดการณ์ยอดคนมาเดิน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นวันธรรมดา 6,000 คนต่อวัน และวันหยุด 12,000 คนต่อวัน หรือประมาณ 3,000,000 คนต่อปี
ขณะที่ยอดใช้จ่ายอยู่ที่ 4,000 – 5,000 บาทต่อบิล สูงกว่ายอดใช้จ่ายในศูนย์การค้าทั่วไป ที่เฉลี่ย 3,000 บาทต่อบิล
สำหรับแผนการพัฒนาเฟส 2 เล็งเติมเต็มความครบวงจร เพื่อพัฒนาเป็น “Mixed-use Development” ที่ประกอบด้วยโรงแรม, ที่พักอาศัย รวมถึงมี Education Center และการให้บริการสปา
เชื่อว่าหากปั้นโครงการนี้ได้สำเร็จ จะเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาศูนย์การค้ารูปแบบเปิดโครงการต่อไปอย่างแน่นอน
บทความนี้ นำเสนอเป็นที่แรกบน MarketingOops.com