หลังการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปีนี้ และปัจจัยลบอีกหลายประการ เช่น ภัยแล้ง พืชผลการเกษตรไม่ดี รวมถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่ายอดขายรถยนต์ในปีนี้ จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 720,000 – 760,000 คัน ในส่วนของกลุ่มรถยนต์ SUV ขนาดเล็ก (B-SUV) อีโคคาร์ และปิกอัพ 1 ตัน ยังเป็นกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเกื้อหนุนให้ทำตลาดได้ดีกว่ารถประเภทอื่น สำหรับ B-SUV ได้รับปัจจัยบวกจากผู้บริโภคโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ที่นิยมรถอเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น ส่วนรถอีโคคาร์ ได้แรงหนุนจากปัจจัยเรื่องราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลง และบางรุ่นในกลุ่มอีโคคาร์เฟส 2 มีการปรับราคาลง ส่วนรถปิกอัพ ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมถึงราคารถปิกอัพส่วนใหญ่ที่ไม่ปรับเพิ่มมาก
ส่วนรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์กลุ่มไลฟ์สไตล์ ขนาดความจุตั้งแต่ 126 ซีซีขึ้นไป มีแนวโน้มขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 หรือคิดเป็นยอดจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 222,000 คัน เติบโตต่อเนื่องจากปี 2558 ที่ขยายตัวราว 40% ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับปัจจัยบวกเกื้อหนุนให้ทำตลาดได้ดีกว่ารถจักรยานยนต์ประเภทอื่น โดยค่ายรถต่างนำเสนอรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ๆ ความจุกระบอกสูบสูง รูปลักษณ์ที่โดดเด่น ทันสมัย ราคาที่ถูกลง ส่งผลให้ผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงมากขึ้น เพื่อนำไปใช้งานอดิเรก การท่องเที่ยว และเข้าสังคม
ด้านนายทวี ธีระสุนทรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด บอกว่า ตลาดรถยนต์ในไตรมาสแรกปี 2559 ยังความเสี่ยงจากปัจจัยกดดันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ หนี้ครัวเรือนที่สะสมในระดับสูง ภาคการส่งออกที่ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อที่ยังคงดำเนินต่อ รวมถึงการชะลอตัวของยอดขายรถยนต์ที่มีผลจากการทยอยปรับราคารถยนต์ในปีนี้เพื่อรับกับอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ส่งผลให้ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของตลาดสินเชื่อเช่าซื้อจะมีแนวโน้มสดใสมากขึ้น โดยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 0-2% หากเศรษฐกิจมีการปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ ในส่วนตลาดสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วคาดว่าจะมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปีก่อน เนื่องจากราคารถใหม่มีราคาสูงขึ้น จึงส่งผลให้ราคารถมือสองไม่ต่ำมากนัก สำหรับตลาดรถแลกเงิน คาดว่ายังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากปี 2558
แม้ว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยจะเริ่มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ราว 5.2% จากค่าเฉลี่ยราว 13.5% ใน 5 ปีก่อนหน้านี้ แต่ต้องยอมรับว่าหนี้คงค้างที่อยู่ในระดับที่สูงกว่า 81.5% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน ยังคงกดดันต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนในระดับที่แตกต่างกันตามภาระหนี้ สำหรับกลุ่มที่ยังมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการซื้อสินค้าที่มีมูลค่า เช่น รถยนต์ หรือที่อยู่อาศัย จะเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท โดยคาดว่าในปี 2559 นี้ แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยน่าจะอยู่ในระดับ 83-84% ต่อจีดีพี
ส่วนผลประกอบการของ ลีสซิ่งกสิกรไทย สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 20,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 37.38% แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่เช่าซื้อและลีสซิ่ง 8,036 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.52% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floorplan) 12,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.18% สำหรับยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) มียอดรวม 88,193 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.52% ซึ่งสอดคล้องกับสภาพตลาดรถยนต์โดยรวมที่มียอดขายลดลงจากปี 2558 ทั้งนี้บริษัทมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.53% ส่งผลให้บริษัทมีกำไร 165 ล้านบาท เติบโต 68.84%
สำหรับ 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 2559 ลีสซิ่งกสิกรไทยยังคงมีทิศทางการทำตลาดในเชิงรุกกับหลากหลายเซ็กเมนต์ที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น กลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รวมถึงการร่วมมือทางการตลาดกับคู่ค้า พันธมิตร เพื่อเพิ่มช่องทางการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งด้วยการผนึกความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยและบริษัทของธนาคารกสิกรไทย ในการเปิดตัวแคมเปญและกิจกรรมการตลาดที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบทุกมิติ