คาเฟ่อเมซอน (Cafe Amazon) กำลังมีประเด็นที่ถูกกล่าวถึงกันอีกครั้ง เป็นการเกิดขึ้นหลังจาก “กรณ์ จาติกวณิช ” สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาบอกว่า การขยายธุรกิจของคาเฟ่อเมซอน ภายใต้การดำเนินการของ ปตท. (PTT) อาจไม่ค่อยถูกต้องนัก ทั้งในแง่ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และความเหมาะสม
คุณกรณ์บอกว่า หากคาเฟ่อเมซอน เปิดแค่ในสถานีบริการน้ำมัน ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่พอมาเปิดตามศูนย์การค้าต่างๆ และมีรูปแบบ Stand Alone ด้วย
การขยายธุรกิจกาแฟของ ปตท.แบบนี้ อาจผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 75 ที่ห้ามรัฐต้องไม่ประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับ เอกชน เว้นแต่เป็นกรณีที่มีความจำเป็น ยิ่งโดยเฉพาะเอกชนที่เป็น “ชาวบ้าน” ไม่มีทางจะสู้ได้ด้วยกำลังเงินทุน ซึ่งแตกต่างกันฟ้ากับดิน
พลันที่คุณกรณ์ออกมาพูดเรื่องนี้ “เทวินทร์ วงศ์วานิช” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของปตท. และเพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2561 ได้เข้ามาตอบใน Facebook ของ “คุณกรณ์” ทันที
และพอสรุปใจความเกี่ยวกับคาเฟ่อเมซอนได้ว่า ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนนั้นกว่า 90% ของผู้ลงทุนคือ “รายย่อย” ไม่ใช่ ปตท.ลงทุน เข้าใจว่า เรื่องของคาเฟ่อเมซอน ตามความคิดของคุณกรณ์ คงยังไม่จบง่ายๆ และน่าจะมีการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ขณะที่ปตท. เอง ก็คงมีแนวทางการรับมือ หรือตอบคำถามเอาไว้อยู่แล้ว สำหรับเรื่องวุ่นๆ เกี่ยวกับคาเฟ่อเมซอนครั้งนี้ ทาง MarketingOops! คงจะไม่เข้าไปยุ่งอะไร แต่วันนี้จะมานำเสนอข้อมูลทั่วๆ ไปเกี่ยวกับคาเฟ่อเมซอน กันอีกครั้ง
กำเนิดคาเฟ่อเมซอน
ร้านกาแฟ Cafe Amazon กำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 2545 เพราะ ปตท. ต้องการเพิ่มศักยภาพทางการตลาด ของสถานีบริการน้ำมัน และให้กาแฟเป็นธุรกิจหนึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับสถานีฯ และรองรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและคนเดินทาง ได้มากขึ้น
การสร้างแบรนด์ Café Amazon เริ่มต้นจากแนวความคิดที่ว่า ประเทศบราซิลซึ่งเป็นต้นตำรับกาแฟ และดินแดนแห่งนี้มีป่า Amazon เป็นสุดยอดแห่งป่าดงดิบธรรมชาติของโลก แนวความคิดนี้ จึงถูกนำมาเพื่อสร้างสรรค์เป็นร้านกาแฟ ที่มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย ด้วยร่มไม้และน้ำล้อมรอบ รูปแบบการตกแต่งด้วยโทนสีเขียว นำเสนอภาพลักษณ์แนวธรรมชาติ โดยใช้สวนหย่อมและน้ำพุ เพื่อสร้างบรรยากาศ ร่มรื่น เย็นสบาย ความรู้สึกผ่อนคลาย จึงกลายมาเป็นสโลแกนที่ว่า Taste of Nature
ปัจจุบัน คาเฟ่อเมซอน ดำเนินกิจการภายใต้ “บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)” มีชื่อย่อว่า PTTOR โดย PTTOR มี ปตท.ถือหุ้นใหญ่อยู่
PTTOR อยู่ระหว่างการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงปลายปีนี้ หรืออย่างช้าช่วงต้นปี 2562
ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2561
- คาเฟ่อเมซอน ในประเทศ มีจำนวน 2,260 สาขา แบ่งเป็น จำนวนร้านในสถานีบริการ 1,579 สาขา และจำนวนร้านนอกสถานีบริการ ทั้งที่อยู่ในศูนย์การค้า และสแตน อโลน จำนวน 682 สาขา
- ส่วนต่างประเทศ มีอยู่ประมาณ 140 สาขา ในหลายประเทศ ย่านเอเชีย
ในจำนวนร้านคาเฟ่อเมซอนทั้งหมดนั้น เป็นของ ปตท. เพียง 10% เท่านั้น หรือราวๆ 230 สาขา และที่เหลือ จะบริหารในรูปแบบของ“แฟรนส์ไชส์”
เปิดร้านอเมซอนใช้งบเท่าไหร่
เรามาดูกันว่า หากใครจะเปิดร้านคาเฟ่อเมซอนได้นั้น ต้องใช้เงินเริ่มต้นจำนวนเท่าไหร่กัน จากข้อมูลของคาเฟ่อเมซอน บอกว่า ร้านนั้นจะมี 2 รูปแบบ คือ
- ในอาคาร (Shop)
- และนอกอาคาร (Stand Alone)
แน่นอนว่า เงินลงทุนที่ใช้ในการเปิดร้านคาเฟ่อเมซอนทั้ง 2 รูปแบบ แตกต่างกันมาก
หากเป็นในอาคารที่มีขนาด (ร้าน) 40 ตารางเมตรขึ้นไป มีการคำนวณค่าใช้จ่ายออกมา จะต้องใช้เงินระหว่าง 2,389,000 – 3,729,000 บาท ส่วนหากเป็นนอกอาคาร ค่าใช้จ่ายจะอยู่ระหว่าง 2,689,000 – 4,229,000 บาท
เงินที่ต้องจ่ายของสาขาทั้ง 2 รูปแบบนี้ ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง งานตกแต่ง งานระบบ ค่าออกแบบ อุปกรณ์ภายในร้าน และยังมีค่าประกันแบรนด์ ค่า Franchise Fee หลังการเปิดร้านแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายทางด้าน ค่า Royalty Fee + ค่า Marketing Fee 3% + 3% ของยอดขายต่อเดือน ค่าเช่าเครื่อง Point of Sale (Pos) 24,000 บาทต่อปี และมีอายุสัญญา 6 ปี Renovate ร้านทุก 3 ปี
ดูจากตัวเลขเงินลงทุนทั้งหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ง่ายเลย กับการที่จะได้เป็นแฟรนส์ไชส์ของคาเฟ่อเมซอนสักร้าน
แม้ว่าตัวเลขเงินลงทุนอาจจะค่อนข้างสูงไปซักหน่อย เมื่อเทียบกับร้านกาแฟธรรมดาที่มีอยู่ทั่วไป แต่ก็ยังไม่มีข่าวว่า มีสาขาแห่งไหนที่มีปัญหาด้านยอดขาย
ผ่านมาถึงตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อเมซอน” เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ หรือเป็น “เรือธง” ของกลุ่ม ปตท. เลยก็ว่าได้ ที่ผ่านมา ปตท. เองนั้น มีสัดส่วนรายได้ระหว่าง ธุรกิจน้ำมัน และไม่ได้มาจากน้ำมัน (Non-Oil) มีสัดส่วนใกล้เคียงกันมาก จะเห็นได้จาก ปตท. ตั้งเป้าหมายทางการตลาด ของธุรกิจนอนออยล์ และธุรกิจน้ำมันว่า จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 50 : 50 จากล่าสุด ณ 30 มิถุนายน 2561 อยู่ที่ 30 : 70 โดยรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 50% มีเป้าหมายจะทำให้ได้ภายในปี 2565 และคาเฟ่อเมซอน จะสามารถสร้างรายได้คิดเป็นเกือบ 60% ของรายได้จากธุรกิจนอนออยล์ของ ปตท. ผ่านมาถึงวันนี้ คาเฟ่อเมซอนเติบใหญ่อย่างมาก
รายได้คาเฟ่อเมซอน
เราจะพาไปดูตัวเลขรายได้ของคาเฟ่อเมซอน (กันอีกครั้ง) ว่า มีจำนวนเท่าไหร่ และแนวโน้มเป็นอย่างไร
- ปี 2557 มีรายได้รวม 3,500 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้เพิ่มเป็น 5,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.28%
- ปี 2559 รายได้ 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.14%
- และปี 2560 รายได้ขึ้นมาเป็น 10,256 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28%
ส่วนแผนงานปี 2561 ปตท. ตั้งเป้ายอดขายกาแฟ คาเฟ่อเมซอน ว่าจะเติบโตขึ้นอีก 25% คิดเป็นรายได้ 12,820 ล้านบาท จากยอดขายกว่า 180 ล้านแก้ว ในปี 2560
ปตท. ยังตั้งเป้าหมายด้วยว่าจะมีสาขาคาเฟ่อเมซอนเพิ่มขึ้นเป็น 2,300 แห่ง ในปี 2561 และ 4,000 แห่ง ภายในปี 2565
คาเฟ่เมซอน (น่าจะ) ครองอันดับ 1 ต่อไป
ปตท. บอกว่า การเติบโตของคาเฟ่อเมซอน จะช่วยสร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรของไทยด้วย เพราะกาแฟที่นำมาขาย มาจากเกษตรกรของไทย นี่ยังไม่รวมสินค้า ขนมอื่นๆ ที่วางขายในร้านกาแฟ ที่มาจากผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี แน่นอนว่า ณ วันนี้ คาเฟ่อเมซอน คือร้านกาแฟที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทยไปแล้ว และมีส่วนแบ่งการตลาด แซงแบรนด์กาแฟระดับโลกอย่าง “สตาร์บัคส์” มาตั้งแต่ปี 2558 เลยมาจนถึงปี 2561 และน่าจะยังคงครองอันดับ 1 ไว้ได้ต่อไป