ทำความรู้จัก “BYD” ยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก ทัพหน้าดัน “จีน” ทะยานขึ้นผู้นำยานยนต์โลกยุค EV

  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •  

BYD
Photo Credit : รูปรถยนต์จาก Facebook BYD

สังเกตไหมว่า…ทุกวันนี้รอบๆ ตัวเราทุกคน ไม่ว่าจะคนในครอบครัว หรือเพื่อน อย่างน้อยต้องมี “ของใช้” หนึ่งอย่างที่เป็น “แบรนด์จีน” สะท้อนให้เห็นว่า วิสัยทัศน์ของรัฐบาลจีนที่เปิดประเทศ และค่อยๆ พลิกโฉมจาก “ประเทศรับจ้างผลิต” (OEM : Origianl Equipment Manufacturer) ให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลก ไปสู่ประเทศ “ODM” (Original Design Manufacturer) และ “OBM” (Original Brand Manufacturer) เป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศที่เดินมาถูกทาง !!

โดยใช้ความได้เปรียบจากการสั่งสมองค์ความรู้ในยุคที่จีน ยังเป็นประเทศ OEM ได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีน นำไปต่อยอดพัฒนาเป็น “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ของแบรนด์จีน ทำให้ทุกวันนี้ “แบรนด์จีน” ในหลายอุตสาหกรรม สามารถยกระดับจากแบรนด์ระดับประเทศ ไปสู่การเป็น “Global Brand”

ในวันนี้ เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ในหลายกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น “สมาร์ทโฟน” ในจำนวน Top 5 Global Brand มีถึง 3 แบรนด์ที่เป็น “แบรนด์จีน” นำโดย “Huawei” ล้ม “Apple” ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจาก “Samsung” ได้สำเร็จ พร้อมประกาศจะขึ้นเป็นผู้นำในปี 2020 !! ขณะที่อีกสองแบรนด์ คือ “Xiaomi” และ “OPPO” หรือในอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ หรือที่เรียกว่า “โดรน” หนึ่งในยักษ์ใหญ่ระดับโลก คือ “DJI” ของจีน มีบริษัทแม่ตั้งอยู่ในเซินเจิ้น ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลจีนให้การส่งเสริม และต้องการผลักดันให้เป็นเมืองนี้เป็น “Silicon Valley of Asia”

Huawei Marketshare Q2 2018_2

 

เมื่อโลกเปลี่ยนสู่ยุค “ยานยนต์ไฟฟ้า” โอกาสของจีนก้าวเป็น “ผู้นำยานยนต์โลก”

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีน ต้องการปักธงผู้นำระดับโลก คือ “ยานยนต์” ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้ บรรดา Major Player เป็นแบรนด์ที่มาจากญี่ปุ่น, ยุโรป และอเมริกา ขณะที่ยานยนต์สัญชาติจีน มีแบรนด์ท้องถิ่นมากมาย ส่วนใหญ่ใช้กันแต่ในจีน ขณะที่ชื่อเสียงก็ยังไม่เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดโลก

อย่างไรก็ตามเมื่อจีนต้องการเป็น “ผู้นำ” โลกยุคใหม่ ที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยนโยบาย “Made in China 2025” ได้กำหนด 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของจีน หนึ่งในนั้นคือ “อุตสาหกรรมยานยนต์ประหยัดพลังงาน และยานยนต์พลังงานใหม่”

เนื่องจากรัฐบาลจีนเล็งเห็นว่าในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก จะเปลี่ยนผ่านจากยุค “รถเครื่องยนต์สันดาป” สู่ยุค “ยานยนต์ไฟฟ้า” และต้องการลดมลภาวะ ลดการใช้พลังงาน ขณะเดียวกันจีนรับรู้เป็นอย่างดีว่า ถ้าอุตสาหกรรมยานยนต์จีน ยังคงพัฒนายานยนต์เครื่องสันดาปต่อไป ถึงอย่างไรก็ตามไม่ทันผู้ผลิตจากญี่ปุ่น, อเมริกา และยุโรปที่อยู่ในตลาดมายาวนาน

ดังนั้น จีนใช้จังหวะนี้ เร่งปักธงการเป็น “ผู้นำยานยนต์โลกในยุค EV” ด้วยการออกนโยบายสนับสนุน และ Subsidize ทั้งในฝั่งผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติจีน ให้หันมาผลิต “ยานยนต์ไฟฟ้า” และฝั่งผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิต และการใช้จริง ทั้งในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และรถยนต์ส่วนบุคคลในจีน

BYD_02
Photo Credit : moonfish8 / Shutterstock.com

จะเห็นได้ว่าในขณะที่กลุ่มทุนจีน เดินหน้าซื้อกิจการ และเข้าถือหุ้นในบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลกจากฝั่งยุโรป เช่นกรณี “Geely Holding Group” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน ได้ซื้อกิจการ “Volvo” และเมื่อช่วงต้นปีนี้ ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ใน “Daimler” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ short cut ของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่ต้องการขยายฐานในตลาดโลกได้เร็ว และนอกจากใช้เงินทุ่มซื้อกิจการ หรือซื้อหุ้นแล้ว ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตแบรนด์ยานยนต์สัญชาติจีน ก็เดินหน้าสร้างแบรนด์-นวัตกรรม-ดีไซน์ของตนเองให้เป็นที่ยอมรับในตลาดสากลควบคู่กันไป

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ฉายภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกว่า ปัจจุบันทั่วโลกมียานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรุ่น Plug-in Hybrid และรุ่นไฟฟ้า 100% รวมกันกว่า 3 ล้านคัน โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, บางประเทศในยุโรป และจีน

“การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในจีน มีตัวเลขที่น่าสนใจมาก โดยในปี 2017 รถยนต์กลุ่ม plug-in hybrid และรถยนต์ไฟฟ้า 100% รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 582,000 คัน มีการเติบโตประมาณ 67.6% เทียบกับปีก่อน

รัฐบาลจีนวางแผนมานานแล้วว่า จะผลักดันให้จีนเป็นผู้นำยานยนต์โลก และรถยนต์ไฟฟ้าเป็นโอกาสที่จะทำให้จีนไปถึงเป้าหมายนั้นได้ สำหรับตลาดในประเทศจีน ได้กำหนดว่าในปี 2019 ยานยนต์ไฟฟ้าต้องมีส่วนแบ่งการตลาด 10% ของตลาดรวมยานยนต์ในจีน ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นแบรนด์จีน มีมากกว่า 100 แบรนด์ แต่มี 20 – 30 แบรนด์ที่ขายดี โดยมี “BYD” ครองส่วนแบ่งการตลาดในตลาดรวมยานยนต์ไฟฟ้าในจีนมากสุด อยู่ที่ 17% และถือเป็น Global Brand”

จากตัวเลขยอดขาย และการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในจีน ตอกย้ำให้เห็นว่าทุกวันนี้ “จีน” เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก และทำให้ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายราย สนใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตในจีน เพื่อรองรับ Demand มหาศาล

Chinese Car Brands
Photo Credit : Stanislaw Mikulski / Shutterstock.com

 

“BYD” จากแบรนด์จีน ผงาดสู่แบรนด์โลก

หนึ่งในผู้ผลิตที่ถือเป็น “ทัพหน้า” นำพาอุตสาหกรรมยานยนต์จีน ก้าวไปสู่ระดับ “World-class” ในยุคยานยนต์ไฟฟ้า คือ “BYD” ย่อมาจาก “Build Your Dream” ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 220,000 คน และเมื่อปี 2017 มีรายได้ 1.67 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และยังสามารถทำยอดขายเป็นอันดับ 1 ของตลาดโลก

“BYD” ยอดขาย 113,669 คัน ขณะที่ในปี 2018 “BYD” ตั้งเป้ายอดขายแตะ 200,000 คัน
“BAIC” ยอดขาย 103,199 คัน (อีกหนึ่งผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน)
“Tesla” ยอดขาย 103,122 คัน
“BMW” ยอดขาย 97,057 คัน
“Chevrolet” ยอดขาย 54,380 คัน

ปัจจุบันธุรกิจของ “BYD” ครอบคลุมทั้งยานยนต์ไฟฟ้า, พลังงานทดแทน, โมโนเรล หรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยว และเครื่องใช้ไฟฟ้า

BYD_06 (Cr.Facebook BYD Thailand)
Photo Credit : Facebook BYD Thailand

เส้นทางกว่าจะมาเป็น “BYD” ที่เป็นผู้ผลิต-แบรนด์ยักษ์ใหญ่ยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกได้นั้น จุดเริ่มต้นมาจากการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่มาก่อน โดยก่อตั้งบริษัทในปี 1995 ด้วยทุนจดทะเบียน 2.5 ล้านหยวน พนักงาน 20 คน ต่อมาในปี 1998 ได้ตั้งบริษัทลูกในยุโรป

จากนั้นปี 2000 สร้างโรงงานที่ Kuichong เมือง และได้เซ็นสัญญาเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ lithium-ion ให้กับโทรศัพท์มือถือโมโตโรล่า และในปี 2002 เซ็นสัญญาเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ lithium-ion ให้กับโนเกีย

เมื่อ “BYD” เติบโต และต้องการขยายธุรกิจไปได้เร็ว และไกล จึงได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ต่อมาได้เข้าซื้อกิจการผลิตรถยนต์ “Tsinchuan” จากนั้นปี 2005 ได้ออก Compact Car รุ่น “BYD F3” ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ “BYD” ในการขยายธุรกิจจากผลิตแบตเตอรี่ เข้าสู่ตลาดยานยนต์ ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นการผลิตรถยนต์แบบใช้น้ำมัน

กระทั่งในปี 2008 ได้เริ่มต้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid รุ่น “BYD F3DM” โดยใช้ความชำนาญของการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่มาก่อน มาพัฒนาต่อยอด

BYD Factory (Cr.Facebook BYD Thailand)
Photo Credit : Facebook BYD Thailand

นอกจากผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลแล้ว ยังได้ขยายไปยังกลุ่มรถสาธารณะ โดยเริ่มจากเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) ที่ตั้งของบริษัทแม่ ได้เปิดตัวรถแท็กซี่ไฟฟ้าในปี 2010 และปีถัดมาเปิดตัวรถประจำทางไฟฟ้าที่เมืองเซินเจิ้น โดยในปี 2017 จำนวนรถประจำทางไฟฟ้า BYD ที่เมืองเซินเจิ้นอยู่ที่ 16,000 คัน

ขณะเดียวกันที่เมืองไท่หยวน (Taiyuan) ได้นำรถแท็กซี่ไฟฟ้า BYD มาแทนที่รถแท็กซี่แบบใช้น้ำมัน โดยถือเป็นเองแรกของโลกที่รถแท็กซี่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้ที่เมืองหางโจว (Hangzhou) นำรถประจำทางไฟฟ้า BYD มาแทนที่รถบัสรุ่นเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล

ปัจจุบัน “BYD” กลายเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่ครบวงจร โดยใช้กลยุทธ์ “7 + 4” คำว่า “7” หมายถึงการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าใน 7 ประเภท ได้แก่ รถโค้ช, แท็กซี่, รถโลจิสติกส์, รถก่อสร้าง (ขนปูน), รถบัส หรือรถโดยสารประจำทาง, รถยนต์ส่วนบุคคล, รถทำความสะอาดถนน ขณะที่ “4” คือ การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า สำหรับใช้ในพื้นที่เฉพาะ เช่น รถใช้ในเหมือง, รถถ่ายโอนสินค้าทางเรือ, รถในคลังสินค้า, รถบัสในสนามบิน

BYD_03 (Cr.Facebook BYD Thailand)
Photo Credit : Facebook BYD Thailand
BYD_03
Photo Credit : J. Lekavicius / Shutterstock.com

 

เจาะตลาด 200 เมือง 50 ประเทศ 6 ทวีป

นอกจากตลาดในจีนแล้ว “BYD” ยังขยายอาณาจักรธุรกิจไปยังต่างประเทศ ครอบคลุมทั้งในเอเชียด้วยกันเอง เช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ออสเตรเลีย และบุกตลาดยุโรป ทั้งเนเธอร์แลนด์, อิตาลี, อังกฤษ นอกจากนี้ยังรุกไปยังอเมริกาเหนือ, ลาตินอเมริกา เช่น บราซิล, โคลัมเบีย, เอกวาดอร์ ครอบคลุมมากกว่า 200 เมือง กว่า 50 ประเทศใน 6 ทวีป

ล่าสุด “ประเทศไทย” นำเข้าโดย “บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด” เริ่มต้นตลาดประเทศไทยด้วยรุ่น “BYD e6” พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับ “บริษัท อีวี โซไซตี้ จำกัด” ผู้บริหารกิจการแท็กซี่ในสนามบินสุวรรณภูมิ และ “กรมการขนส่งทางบก” นำรถรุ่นดังกล่าวไปทำ “EV Taxi VIP” จำนวน 101 คัน รวมทั้งลงนามความร่วมมือกับ BYD Auto จากประเทศจีน เพื่อส่งเสริมการใช้ BYD ในไทยให้ถึง 1,000 คันภายใน 2 ปีข้างหน้านี้

ถ้าธุรกิจของ BYD ในประเทศไทย แตะหลัก 1,000 คันเมื่อไร และแนวโน้มตลาด EV ในไทยไปได้ดี มีความเป็นไปได้สูงว่า “BYD” บริษัทแม่จากจีนจะเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิต และประกอบในไทย หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้การเสียภาษีสรรพสามิตลดลง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการขายลดลง และมีผลให้ราคาขายในประเทศถูกลง

BYD EV Taxi VIP

ทั้งนี้ ในประเทศจีน “BYD” เจาะตลาดยานยนต์ครบทุกเซ็กเมนต์ แต่สำหรับกลยุทธ์การลงทุนและทำตลาดของ “BYD” นอกประเทศจีน ใช้โมเดลให้ “License” กับพันธมิตรธุรกิจในประเทศนั้นๆ โดยมุ่งไปที่ยานยนต์กลุ่ม “รถสาธารณะ” และ “รถใช้ภายในองค์กร” เป็นหลัก ยังไม่ได้เข้าตลาดรถยนต์ส่วนบุคคล

เช่น ในอังกฤษ “BYD” เข้าไปเป็นรถโดยสารสาธารณะ 2 ชั้นที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำประเทศอังกฤษ ขณะที่สหรัฐ “BYD” ได้ลูกค้าใหญ่คือ Facebook และมหาวิทยาลัย Standford นำรถบัสไฟฟ้าไปใช้รับ-ส่งพนักงาน

BYD_05 (Cr.Facebook BYD Thailand)
Photo Credit : Facebook BYD Thailand

คุณอภิชาติ ลีนุตพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด ให้เหตุผลว่าทำไม BYD ถึงเข้าตลาดต่างประเทศ ด้วยการเจาะกลุ่มขนส่งมวลชนสาธารณะ มากกว่าจะเจาะตลาดผู้บริโภคโดยตรง ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ดังนั้นจึงมีราคาสูง แต่ค่า Maintenance และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำ เพราะฉะนั้นยิ่งวิ่งเยอะ ยิ่งคุ้ม ซึ่งรถสาธารณะเฉลี่ยวิ่งวันละ 500 กิโลเมตร ในขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคล วิ่งเฉลี่ย 40 – 50 กิโลเมตรต่อวัน

ประกอบกับการเริ่มต้นเข้าตลาดต่างประเทศ ด้วยการเป็น “รถสาธารณะ” ช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ “ความคงทน” เพราะภาพลักษณ์ และตำแหน่งทางการตลาดของ “BYD” ไม่ได้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าระดับ Premium หรือ Luxury แต่เป็นยานยนต์เน้นเจาะตลาดแมส เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย และชูจุดขายด้านคุณภาพ ความเสถียรของรถ ประหยัดพลังงาน ใช้งานได้จริง และรักษาสิ่งแวดล้อม

BYD_08 (Cr.Facebook BYD Thailand)
Photo Credit : Facebook BYD Thailand

“รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของจีน และผู้บริโภค เนื่องจากทางการจีนรู้ว่าถ้าพัฒนารถยนต์เครื่องสันดาป ไม่สามารถตามทันกลุ่มแบรนด์ที่อยู่ในตลาดมานานก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจีน จึงหันไปสนับสนุน ยานยนต์ไฟฟ้า โดย Subsidize โรงงานผลิต มีเงินสนับสนุนด้าน R&D ขณะที่ในมุมของผู้บริโภค มีการสนับสนุนกฎระเบียบต่างๆ ทั้งทางตรง และทางอ้อม

สำหรับการนำรถยนต์ส่วนบุคคล BYD เข้ามาทำตลาดในไทย คุณอภิชาติ เผยว่า มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่รุ่น e6 ต้องเป็นโมเดลใหม่ที่แบตเตอรี่เล็กลง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากขึ้น หน้าตารถทันสมัยใหม่ขึ้น ถึงวันนั้น BYD พร้อมจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล

BYD_10 (Cr.Facebook BYD Thailand)
Photo Credit : Facebook BYD Thailand

 

5 ปัจจัยดัน “EV” แทนที่ยานยนต์ยุคเก่า

ในขณะที่ทั่วโลกมียานยนต์ไฟฟ้า 3 ล้านคัน ประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่กว่า 10,000 คัน โดยส่วนใหญ่เป็นแบบ plug-in hybrid ในขณะที่แบบไฟฟ้า 100% มีไม่ถึง 100 คัน อย่างไรก็ตามภาครัฐไทย ตั้งเป้าให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคน ภายในปี 2579 เพื่อเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ตามแผนแม่บทการอนุรักษ์พลังงาน

คุณอภิชาติ ขยายความว่า ปัจจัยที่จะทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 5 เรื่องสำคัญ คือ

1. คุณภาพ และความปลอดภัย

2. บริการหลังการขาย

3. ผู้บริโภคต้องเข้าใจเทคโนโลยี เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้า เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ผู้ผลิตและภาครัฐต้องร่วมกันสร้างความรู้-ความเข้าใจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการใช้งาน การชาร์จแบตเตอรี่ การวางแผนการเดินทาง เพื่อให้มีแบตเตอรี่เพียงพอกับระยะทาง

4. เมื่อยานยนต์ไฟฟ้าแข่งขันมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อราคาปรับลง ทำให้เข้าถึงง่ายขึ้น และสามารถแข่งกับรถยนต์เครื่องสันดาปได้ ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

5. การสนับสนุนเชิงนโยบายจากทางภาครัฐ ในหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่รัฐบาล และหน่วยงานรัฐให้การสนับสนุน เช่น เงินอุดหนุน ทั้งทางตรงและทางอ้อม, ความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ ซึ่งช่วยผลักดันการใช้ยานยนต์แพร่หลายมากขึ้น

BYD_01
Photo Credit : moonfish8 / Shutterstock.com

ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในตลาดโลก และยิ่งในไทย ยังคงเป็น Niche Market ที่มีผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม แต่ทิศทางอนาคตมีแนวโน้มขยายตัวแน่นอน โดยเฉพาะประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุน พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ขณะเดียวกันเมื่อเกิดการแข่งขันมากขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อตลาดโดยรวมเพราะทำให้มีความหลากหลายของระดับราคา – รุ่น – แบรนด์ และดีไซน์ ที่จะทำให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ยิ่งในประเทศจีน เริ่มเข้ามาแทนที่ยานยนต์ยุคเก่าบางส่วนแล้ว ตามแรงสนับสนุนของรัฐบาลจีน ขณะเดียวกันจีนต้องการผลักดันแบรนด์จีน ผงาดในตลาดโลก หากทำได้สำเร็จ เราคงได้เห็นภาพยานยนต์สัญชาติจีน ครองตลาดโลก เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในหลายอุตสาหกรรมเทคโนโลยี 

และเมื่อนั้น “ยานยนต์ไฟฟ้า” จะกลายเป็น “New Normal” ที่เปลี่ยนจากครั้งหนึ่งเคยเป็น “สิ่งใหม่” เข้ามา Disrupt อุตสาหกรรมยานยนต์โลก แต่ต่อไปเมื่อการใช้ EV ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมเปลี่ยนจาก Niche Market เป็น Mass Market จนเป็น “สิ่งปกติ” ที่เข้าไปแทนที่ยานยนต์ยุคเก่า

BYD_02 (Cr.Facebook BYD Thailand)
Photo Credit : Facebook BYD Thailand
BYD_04 (Cr.Facebook BYD Thailand)
Photo Credit : Facebook BYD Thailand

ยอดขาย2015 ยอดขาย2016 ยอดขาย2017

 

Source : ประวัติ BYD


  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ