ศึก Bike Sharing จีน ofo vs. Mobike หวังตีตลาดครองหัวใจคนไทย เทียบฟอร์ม 2 ค่าย ใครแน่กว่ากัน!

  • 64
  •  
  •  
  •  
  •  

คำยอดฮิตช่วงนี้คงหนีไม่พ้น Disruption เพราะไม่ว่าปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็มักจะถูกมองว่ากำลังถูก Disruption นะ และจะต้องเร่งปรับตัวก่อนที่จะถูกทำให้หายไป

ไหนๆ ก็พูดเรื่องนี้แล้ว เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และธุรกิจที่เข้ามาทำการ Disruption กันน่าสนใจว่ากลายเป็นธุรกิจประเภท ‘Sharing’ ยกตัวอย่างเช่น Airbnb, Co-working space, Uber, Grab ฯลฯ และอีกหนึ่งธุรกิจที่มาแรงไม่แพ้กันได้แก่ Bike Sharing ซึ่งเติบโตอย่างมากในประเทศจีน

แต่อย่างที่ทุกท่านได้ติดตามข่าวกันว่าเมื่อเร็วๆ นี้ Bike Sharing รายใหญ่ทั้งสองเจ้าของจีน ตัดสินใจบุกตลาดไทยอย่างเต็มตัวชนิดที่เรียกว่าไม่ยอมกันเลยทีเดียว!! และน่าสนใจไปกว่านั้นคือ ทั้งสองค่ายยังมี Big Venture2 ยักษ์ใหญ่หนุนหลัง โดย Mobike มี Tecent เป็นแบ็คอัพรายใหญ่ ในขณะที่ ofo ได้ Alibaba เป็นพี่เบิ้มรายใหญ่คอยให้การสนับสนุน เราลองมาเทียบรายละเอียดระหว่าง Bike Sharing ทั้งสองค่ายกัน

ofomobike hili

Mobike

เปิดตัวเมื่อปี 2015 ระดมทุนครั้งล่าสุด อีก 215 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7,600 ล้านบาท ได้ผู้ร่วมทุนรายใหญ่ ได้แก่ Tencent , Warburg Pincus จนเมื่อปี 2016 ก็เริ่มออกนอกประเทศด้วยการไปที่ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ อิตาลี ญี่ปุ่น และมีจักรยานในสังกัดแล้วกว่า 7 ล้านคันใน 160 เมืองที่ให้บริการ

และเมื่อราวเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Mobike ก็ได้มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ประเทศไทย ได้พันธมิตรรายใหญ่ ได้แก่ AIS ที่นำเทคโนโลยี NB-IoT และ mPay เข้ามาใช้ และยังได้ CPN หรือเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มาเป็นสถานที่นำร่องในการเปิดให้บริการ

ofomobike2

ทั้งนี้ จุดขายที่สำคัญของ Mobike ได้แก่ การออกแบบตัวจักรยานที่แข็งแรง ซึ่งมาพร้อมระบบไร้โซ่ ยางไร้ลม ที่ไม่มีวันแบน เฟรมอลูมิเนียมกันสนิมน้ำหนักเบา ดิสก์เบรกที่มีประสิทธิภาพและทนทาน รวมถึงล้อแบบห้าแฉกที่ได้แรงบันดาลใจมาจากล้อรถยนต์ การออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นจักรยานที่ไม่ต้องมีการบำรุงรักษา โดยมีเป้าหมายอายุการใช้งานแต่ละคันอยู่ที่ 4 ปีโดยไม่ต้องซ่อม

ส่วนแผนการขั้นต่อไปจะเน้นให้บริการในสถานที่ที่มีผู้คนสัญจรมากขึ้น อาทิ สถานีรถไฟฟ้า มหาวิทยาลัย และแหล่งร้านค้า หากต้องการใช้บริการผู้ใช้เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Mobike ลงทะเบียน และสแกนคิวอาร์โค้ดบนตัวจักรยาน เทคโนโลยีล็อกอัจฉริยะจะปลดล็อกจักรยานโดยอัตโนมัติทันทีหลังเลิกใช้ โดยผู้ใช้เพียงแค่จอดจักรยานไว้ในบริเวณพื้นที่จอดจักรยานสาธารณะและล็อกจักรยานด้วยตนเองง่ายๆ แค่นี้

ofo

อ่านว่า โอโฟ่ เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2014 พร้อมเคลมว่าเป็นรายใหญ่ที่สุดโลก โอโฟเป็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัพ ที่ระดมทุนซีรีส์ E มีมูลค่ามากกว่า 700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมากที่สุดในบรรดาธุรกิจให้บริการแบ่งปันจักรยานที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยการระดมทุนดังกล่าว นำโดยกลุ่ม Alibaba, Hony Capital และ CITIC Private Equity ร่วมด้วยผู้ลงทุนรายใหม่อย่าง Didi Chuxing และ DST Global

ปัจจุบันมีจักรยานให้บริการรวมกว่า 10 ล้านคัน ครอบคลุมการให้บริการในเมืองใหญ่กว่า 170 เมืองใน 9 ประเทศ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ คาซัคสถาน มาเลเซีย ไทย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยในแต่ละวันมีจำนวนการใช้บริการสูงถึง 25 ล้านครั้งต่อวัน จนถึงปัจจุบันมีผู้ใช้งานจักรยาน ofo ร่วมแล้วกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก และมีจำนวนการใช้งานรวมแล้วกว่า 4 พันล้านครั้ง

ความพิเศษของจักรยาน ที่นำเข้ามาให้บริการในเมืองไทยในครั้งนี้ถือเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดใน ชื่อรุ่น Smart Lock ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในประเทศไทยโดยเฉพาะ ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นพิเศษ คือ ระบบล็อคอัจฉริยะ (Smart Lock) ที่ทำงานผ่านแอปด้วยระบบบลูทูธ เพียงสแกน QR Code บนจักรยานก็สามารถปลดล็อคได้ทันที และระบบ GPS ที่ติดตั้งในจักรยาน ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาและจอดจักรยานได้อย่างสะดวกและง่ายดายขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันเปิดให้ทดลองใช้ฟรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศสตร์ รังสิต จำนวน 1,000 คัน และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาร่วมมือกับ จ.ภูเก็ต โดยการเปิดให้บริการจักรยาน ofo เพื่อขานรับนโยบาย Phuket Smart City มีจักรยานให้บริการรวมกว่า 1,000 คัน

ofomobike3

คุณตั้ม-นพพล ตู้จินดา ผู้จัดการทั่วไป ofo ประเทศไทย กล่าวถึงการมาเปิดตลาดที่เมือไทยว่า ทาง ofo มองว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าเป็นภูมิภาคทางยุทศาสตร์ที่สำคัญ และปฏิเสธไปไม่ได้เลยว่าตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนก็คือ ประเทศไทย และเรามุ่งมั่นที่จะทำตลาดเมืองไทยอย่างจริงจัง ซึ่งไทยและจีนมีความคล้ายคลึงกันในแง่วัฒนธรรม ที่สำคัญคนไทยยังเป็นประชากรที่ค่อนข้าง Tech-Savvy ด้วย ทำให้เราเชื่อมั่นว่าเมืองไทยจะเป็นประเทศที่ใหญ่ของ ofo ได้เลยนอกจากเมืองจีน

“จากระยะเวลาเพียงแค่ 1 เดือนที่เราได้ทดลองเปิดให้ใช้ฟรีที่ มธ.รังสิต ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จนกราฟการตอบรับขึ้นเป็นสไปก์สูงในเวลาอันสั้น เรียกได้ว่าเป็นยอดการใช้งานที่ดีที่สุดรองจากเมืองจีนก็ว่าได้”

สำหรับกลยุทธ์ที่ทาง ofo จะใช้นั้น คุณนพพล กล่าวว่า ระยะแรกเราอยากเป็นพันธมิตรกับสถาบันการศึกษาและเมืองใหญ่ต่างๆ หัวเมืองใหญ่ Smart City สถานที่ราชการ สถาบันการศึกษา ที่เราอยากจะอำนวยความสะดวกให้ เช่น ให้นักศึกษาใช้ขี่จากคณะหนึ่งไปคณะหนึ่ง ถ้าเป็นหน่วยงานราชการก็ขี่จากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่ง เป็นกลยุทธ์เริ่มต้นที่เราจะได้ Early Adopters ก่อน หลังจากนั้นเราก็จะค่อยๆ ขยายออกไป เพราะสิ่งที่เราเล็งเห็นว่าสำคัญมากเลยคือการบริหารจัดการ

“สิ่งหนึ่งที่ ofo ใส่ใจมากๆ เลยก็คือ การบริหารจัดการ เราไม่อยากทำให้มีปัญหา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จักรยานถ้าดูแลไม่ดีมันจะเป็นภาระให้กับเมือง ofo เราไม่อยากทำแบบนั้น เรายืนหยัดเลยว่าเราอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมือง ดังนั้น ผมในฐานะคนไทยผมคงไม่เอา ofo เข้ามา ถ้ามันทำให้เมืองไทยไม่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำ คือการร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน หาจุดที่จอด ซึ่งจุดจอดเหล่านี้ก็ต้องเป็นประโยชน์กับผู้ให้ด้วย”

เป็นประโยชน์กับผู้ให้ ตรงจุดนี้ขยายความได้ง่ายๆ ว่า นอกจากจะทำให้ผู้ใช้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว เกิด Effect Network ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าเพิ่ม หรือการจ้างงานเพิ่ม เป็นต้น

แต่สิ่งที่ คุณนพพล ย้ำในเรื่องความเหนือกว่าคู่แข่งเขาบอกว่า มันคือความจริงจังในการทำตลาดเมืองไทย

“เราต้องการเป็นเบอร์ 1 เราต้องการเป็นพันธมิตรกับทุกฝ่าย ทั้งแรงสนับสนุนของผู้ลงทุนเรา ทิศทางของบริษัท ผมเชื่อว่าเราไม่แพ้ใคร พันธมิตรต่างๆ ที่เรามีและกำลังมี ผมว่าเราค่อนข้างแข็งแรงมาก เราอยากเป็นแบรนด์อันดับ 1 ด้าน Bike Sharing เราอยากให้คนเห็นว่า ถ้าเขาต้องเลือก Bike Sharing เจ้าใดเจ้าหนึ่ง ofo จะเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดของเขา เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเขา และที่สำคัญเรามาอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมรับคำแนะนำจากพันธมิตรที่ดีของเรา”

น่าจับตาว่าธุรกิจ Bike Sharing ของสองเจ้าใหญ่จากแดนมังกร รายไหนกันแน่ที่จะเข้ามาครองหัวใจคนไทยได้มากที่สุด แต่นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้วสิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ธุรกิจ Bike Sharing จะได้รับความนิยมในวงกว้างจากคนไทยหรือไม่ จะทำตลาดสำเร็จหรือไม่ เพราะจักรยานก็เป็นเรื่องที่คนไทยใช้มานาน แม้แต่ โครงการปั่นปั่น ที่ภาครัฐเคยทำก็ไม่ได้เปรี้ยงเอาซะเลย.

Copyright © MarketingOops.com


  • 64
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!