ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว เกิดดีลประวัติศาสตร์ในอุตสาหกรรมค้าปลีกในไทย เมื่อ “บีเจซี” (BJC) บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ป (TCC Group) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซื้อกิจการ “บิ๊กซี” (BigC) จากกลุ่มคาสิโน เพื่อต่อจิ๊กซอว์ “ธุรกิจปลายน้ำ” นั่นคือ ค้าปลีก
หลังจากก่อนหน้านี้กลุ่มธุรกิจในเครือทีซีซี กรุ๊ป อยู่ในส่วน “ธุรกิจต้นน้ำ = การผลิต” และ “ธุรกิจกลางน้ำ = กระจายสินค้า” มาโดยตลอด แต่เป้าหมายใหญ่ของกลุ่มทีซีซี คือ การสร้าง Business Ecosystem ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ โดยทั้ง 3 ส่วนนี้จะผสานการทำงานร่วมกัน (Synergy)
ความสำคัญของการมี “ธุรกิจค้าปลีก” อยู่ในมือ โดยเฉพาะเป็นเชนค้าปลีกรายใหญ่ คือ พลังเครือข่ายสาขา และ Store Format ในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วประเทศ ทำให้ได้ “Big Data” ที่สามารถนำไปทำความเข้าใจพฤติกรรม-ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อย้อนกลับไปสู่กระบวนการต้นน้ำ นั่นคือ ผลิต หรือ Sourcing สินค้าให้ตรงกับ Demand ของตลาด และผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม
2 ปี กับความพยายามพลิกโฉม “บิ๊กซี” !!
เมื่อ “บิ๊กซี” มาอยู่ภายใต้อาณาจักรธุรกิจ “บีเจซี” ภารกิจที่ลงมือทำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีทั้งภารกิจหลากหลายด้านที่ต้องเร่งลงมือทำ ประกอบด้วย
– วางคอนเซ็ปต์แบรนด์ใหม่ ด้วยการชูแนวคิด “ห้างคนไทย หัวใจคือลูกค้า” เพื่อตอกย้ำว่าเวลานี้ “บิ๊กซี” ได้เปลี่ยนมือจากคาสิโน กรุ๊ป กลุ่มทุนค้าปลีกจากฝรั่งเศส มาเป็น “ค้าปลีกของคนไทย” แล้ว
โดยต้องการจะสร้าง Engagement เชิงลึกกับผู้บริโภคไทย ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งค้าปลีกเซ็กเมนต์ไฮเปอร์มาร์เก็ตเดียวกัน เพราะภาพจำของคนไทยมองว่าเชนค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตในไทย ล้วนแล้วแต่มาจากต่างประเทศ
– เติมเต็มสินค้ากลุ่ม “Food” โดยเฉพาะ “อาหารสด” เพราะ “อาหาร” เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร สถานการณ์บ้านเมืองจะมีทิศทางอย่างไร “อาหาร” ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็น Magnet ดึงลูกค้าเข้ามาเดินในสโตร์ อีกทั้ง “อาหารสด” ยังเป็นสินค้าที่สร้าง Store Loyalty เพราะทำให้ลูกค้ามาเดินที่สโตร์เป็นประจำ
– ผสานการทำงานร่วมกันระหว่าง “บีเจซี” กับ “บิ๊กซี” ปัจจุบัน “บีเจซี” ตั้งบริษัทลูกใน 8 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมาร์ สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และล่าสุดได้ตั้งสำนักงานในจีน ที่เมืองกวางโจว ซึ่งบริษัทลูกเหล่านี้ ทำหน้าที่จัดซื้อสินค้า หรือ Trading สินค้า นำเข้ามาจำหน่ายในบิ๊กซี
อย่างบริษัทลูกที่ประเทศจีน เน้นนำเข้าสินค้ากลุ่ม Non-food เป็นหลัก เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ซึ่งเหตุผลที่เลือกเข้าไปตั้งสำนักงานในจีน และเลือกโลเกชั่นเมืองกวางโจว เพราะเป็นเมืองค้าส่งใหญ่ และในจีนมีโรงงานผลิตจำนวนมาก จึงเหมาะกับ Sourcing สินค้าเข้ามาจำหน่ายในบิ๊กซี ประเทศไทย โดยปัจจุบันสินค้านำเข้าจากจีน อยู่ที่กว่า 3,000 รายการ
– สร้างพันธมิตรธุรกิจกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ SME เพื่อ Sourcing สินค้าท้องถิ่น วางจำหน่ายในบิ๊กซี เนื่องจากทุกวันนี้สินค้าแบรนด์ใหญ่ สามารถหาซื้อได้จากค้าปลีกสมัยใหม่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของเชนซูเปอร์มาร์เก็ต – ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้แต่เชนร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกันมี E-Commerce เข้ามาเป็นช่องทางจำหน่ายสำคัญสำหรับสินค้า FMCG ส่งผลให้ “สินค้าแบรนด์ใหญ่” ไม่มีความแตกต่างระหว่างเชนค้าปลีกสมัยใหม่ด้วยกันเอง
นี่จึงทำให้ “ค้าปลีกยักษ์ใหญ่” ต่างพยายามหา Differentiation ด้วยการสร้างพันธมิตรผู้ประกอบการ SME ที่แม้สินค้ากลุ่มนี้จะสร้าง Volume การขายน้อยกว่าสินค้าแบรนด์ใหญ่ก็ตาม แต่หัวใจสำคัญที่ดึงสินค้าท้องถิ่น หรือสินค้า SME มาจำหน่ายในสาขาเชนค้าปลีกสมัยใหม่ คือ การสร้างความแตกต่าง อันจะนำไปสู่ Store Loyalty
“บิ๊กซี” มองเห็นทิศทางการขยับของเชนค้าปลีกรายใหญ่ จึงได้ขยับตัวมายังแนวทางนี้เช่นกัน ประกอบกับภาครัฐสนับสนุนธุรกิจ SME – ชุมชน ขณะเดียวกันการเติมสินค้าท้องถิ่นมาจำหน่ายในสาขาบิ๊กซี ยังตอกย้ำถึงจุดยืน “ห้างคนไทย หัวใจคือลูกค้า”
– ขยายสาขา พร้อมเปิดตัว Store Format ใหม่ที่ปรับเข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค และเร่งพัฒนาช่องทาง E-Commerce ปัจจุบัน “บิ๊กซี” มี Store Format “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต กว่า 120 สาขา / “บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า” 15 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ / “บิ๊กซี มาร์เก็ต” วางกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง – ล่าง มีกว่า 60 สาขา / “มินิบิ๊กซี” เป็นร้านสะดวกซื้อ มีมากกว่า 600 สาขา / “ร้านขายยาเพรียว” กว่า 135 สาขา / ธุรกิจ E-Commerce และเปิดตัว Store Format ใหม่ “บิ๊กซี ฟู้ด เพลส” เน้นกลุ่มอาหาร เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เริ่มต้นสองสาขาที่สามย่าน มิตรทาวน์ และ เกตเวย์ บางซื่อ
ทุกปี “บิ๊กซี” มีแผนขยายสาขา โดยส่วนใหญ่เน้นรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต เปิดเพิ่มเฉลี่ย 8 – 10 สาขา และรูปแบบมินิบิ๊กซี เปิดสาขาใหม่โดยเฉลี่ยกว่า 200 – 300 สาขา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างหยุดการให้สิทธิ์แฟรนส์ชั่วคราว เพื่อพัฒนาระบบให้สมบูรณ์กว่านี้ ดังนั้นการเปิดสาขาของร้านสะดวกซื้อมินิ บิ๊กซีในขณะนี้ จึงเป็นของบริษัทดำเนินการเองขณะเดียวกันหันมาให้ความสำคัญกับช่องทาง E-Commerce มากขึ้น
– ขยายสู่ธุรกิจร้านกาแฟ “Bolaven Cafe” ปัจจุบันมี 10 สาขา และมีแผนขยายสาขาให้ครอบคลุมทุกสาขาของบิ๊กซี
ทีมผู้บริหารบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ นำทัพโดยคุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ เผยถึงการขยับตัวของบิ๊กซี ในช่วง 2 ปีนี้ว่า “จากคอมเมนต์ลูกค้า และซัพพลายเออร์ ในแง่สินค้าในร้านมีมากขึ้น เทียบกับเมื่อก่อนต้องเติมของในร้าน แต่เมื่อบีเจซีเข้ามา ทำให้มีสินค้าเติมเต็ม และสิ่งที่เห็นคือ Operation ดีขึ้น ทั้งคิวที่แคชเชียร์ และมีสินค้าโปรโมชันมากขึ้นขึ้น ทำให้ฐานลูกค้าของบิ๊กซี ประเทศไทยเติบโตจากกว่า 10 ล้านคน เป็น 16 ล้านคน”
ไม่ใช่แค่เมืองไทย! เป้าหมายใหญ่กางปีกคลุมทั้งตลาดอาเซียน
ตามที่กล่าวไปข้างต้น ภาพใหญ่ที่ “ทีซีซี กรุ๊ป” และ “บีเจซี” มองเอาไว้คือ การสร้าง Business Ecosystem ที่เชื่อมโยงระหว่างต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำในระดับภูมิภาคอาเซียน
แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศที่ “บีเจซี” เข้าไปปักหมุดลงทุน จะต้องยกโมเดลครบวงจรทั้ง 3 ส่วนไป เพราะต้องพิจารณาถึงศักยภาพความพร้อม และความเหมาะสมของแต่ละประเทศว่า ประเทศใดจะเข้าไปลงทุนส่วนการผลิต และระบบกระจายสินค้า ขณะที่ประเทศใดนำธุรกิจค้าปลีกเข้าไปบุกก่อน
หรือในบางประเทศ ที่มีความพร้อมรอบด้าน “บีเจซี” จะขยายให้ครบวงจรทั้ง 3 ส่วน เช่น เวียดนาม และประเทศไทย ถือเป็นตลาดยุทธศาสตร์สำคัญของบีเจซี ที่มีครบตั้งแต่ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ
เมื่อเจาะลึกในส่วน “ธุรกิจค้าปลีก” ในอาเซียน ที่ผ่านมา “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ” ใช้วิธีซื้อกิจการ เพื่อ short cut เข้าสู่ธุรกิจนี้ได้เร็วขึ้น โดยเวลานี้ธุรกิจค้าปลีก ภายใต้การบริหารของ “บีเจซี” เร่งขยายฐานธุรกิจนี้เข้าไปในแต่ละประเทศมากขึ้น ประกอบด้วย
– ไทย : บิ๊กซี รวมทุก Store Format และร้านขายยาเพรียว มากกว่า 900 สาขา และ ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส
– เวียดนาม : MM Mega Market (เป็นธุรกิจค้าส่งที่ซื้อกิจการมา จากเดิมชื่อ Metro Cash & Carry) 19 สาขา และ ร้านสะดวกซื้อ B’smart 144 สาขา
คุณแกรี่ ฮาร์ดี้ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ฝ่ายธุรกิจค้าปลีก เปิดเผยแผนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม ขณะนี้กำลังพิจารณา Repositioning “MM Mega Market” จากที่เป็น cash & carry ต่อไปอาจปรับโมเดลให้เป็น “Hybrid” เช่น มีทั้งค้าส่ง กับไฮเปอร์มาร์เก็ตในสาขาเดียวกัน และอาจเปลี่ยนชื่อ MM Mega Market เพราะหลังจาก “เซ็นทรัล กรุ๊ป” ซื้อกิจการบิ๊กซีในเวียดนาม และได้สิทธิใช้ชื่อ “บิ๊กซี” ดำเนินธุรกิจในเวียดนามในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่สิทธิดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ ทำให้ขณะนี้ “บีเจซี” กำลังศึกษาหลายทางเลือกสำหรับแบรนด์บิ๊กซี เพราะชื่อ “บิ๊กซี” เป็นแบรนด์ที่แข็งแรงในเวียดนาม
– ลาว : ร้านสะดวกซื้อ M Point Mart มี 46 สาขา และ เตรียมเปิดบิ๊กซี รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขาในปี 2562
– กัมพูชา : เตรียมเปิดบิ๊กซี รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขาในปี 2562
– กำลังพิจารณาขยายธุรกิจค้าปลีกไปยังมาเลเซีย และเมียนมาร์ โดยคาดว่าจะได้เห็นที่มาเลเซียก่อน เนื่องจากที่นั่น มีเครือข่ายฐานธุรกิจของ “ทีซีซี กรุ๊ป” อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น F&N ธุรกิจโรงแก้ว และโรงงานผลิตขนมที่ซื้อกิจการมาก่อนหน้านี้ อีกทั้งสินค้าเครื่องดื่มหลายตัวของกลุ่มไทยเบฟ อีกหนึ่งบริษัทในเครือเข้าไปเจาะตลาดมาเลเซียแล้ว
จึงมีความเป็นไปได้สูงว่านอกจากไทย และเวียดนามแล้ว อีกหนึ่งประเทศที่จะเป็นตลาดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่มี 3 กลุ่มธุรกิจครบตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ คือ มาเลเซีย
3 ยุทธศาสตร์ บุกหนักค้าปลีกไทย-อาเซียน
ทิศทาง “บิ๊กซี” รวมทั้งเชนค้าปลีกในเครือ “บีเจซี” นับจากนี้ ยังคงโฟกัสที่การพัฒนา “ระบบหลังบ้าน” ต่อเนื่อง เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของ “ธุรกิจค้าปลีก” ไม่ว่าจะเป็น
1. ระบบ Sourcing สินค้าที่ใช้ฐานบริษัทลูกใน 8 ประเทศ จัดซื้อสินค้า เพื่อผลักดันทั้งสินค้าไทย ออกสู่เชนค้าปลีกเครือบีเจซีในตลาดอาเซียน ขณะเดียวกันนำสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งจากอาเซียน และจีนเข้ามาจำหน่ายในบิ๊กซี ประเทศไทย
2. พัฒนาระบบ “Logistic” ให้แข็งแกร่งขึ้น ครอบคลุมที่ปัจจุบันมีทั้งระบบ Logistic ของบีเจซี และของบิ๊กซี มีความเป็นไปได้ว่าจะนำมา Synergy ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Logistic รายใหญ่
ในความหมายของ “Logistic” ครอบคลุมตั้งแต่จัดซื้อ-จัดหาวัตถุดิบ-สินค้า, จัดเก็บ, บริหารคลังสินค้า, ห้องเย็น, จัดการบรรจุหีบห่อ, บริหารจัดการช่องทางจำหน่าย, ระบบขนส่ง ไปจนถึงกระจายสินค้า ซึ่งในกระบวนการทั้งซัพพลายเชน “Logistic” ถือเป็นต้นทุนสูง เพราะฉะนั้นใครที่มีระบบ Logistic ดี นั่นหมายความว่าจะสามารถควบคุมและบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันมีผลต่อกำไรเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง ตามแผนของ “บีเจซี” ที่ต้องการขยายอาณาจักรค้าปลีกให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับระบบ Logistic ทั้งในประเทศ และเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน
“บีเจซี” มีระบบ Logistic ของตัวเอง สำหรับให้บริการกลุ่มธุรกิจในเครือบริษัทด้วยกันเอง และให้บริการแก่ลูกค้าภายนอก โดยมีคลังสินค้า 6 แห่ง พื้นที่จัดเก็บรวม 88,000 ตร.ม.และมีรายการสินค้ามากกว่า 16,000 รายการ และมีห้องเย็น พร้อมทั้งมีระบบขนส่ง ด้วยรถบริษัทเอง และรถเช่า
ในขณะที่ “บิ๊กซี” ที่ผ่านมามีการลงทุนด้าน Logistic เช่นกัน โดยตามรายงานประจำปี 2560 ระบุว่ามีศูนย์กระจายสินค้า 4 แห่ง โดย 2 แห่ง เป็นของบิ๊กซี และบริหารงานเอง (ศูนย์กระจายสินค้ามินิบิ๊กซีที่อำเภอธัญบุรี และศูนย์กระจายสินค้าอาหารสดที่เขตลาดกระบัง) สำหรับศูนย์กระจายสินค้าอีก 2 แห่ง บิ๊กซีเช่า และมอบหมายให้ผู้ประกอบการชั้นนำทางด้านการบริหารคลังสินค้าเป็นผู้ดำเนินการ (มีศูนย์กระจายสินค้าอาหารแห้งที่อำเภอวังน้อย และศูนย์กระจายสินค้าแบบ Cross Stock ที่อำเภอบางพลี)
นอกจากนี้ ในปี 2560 เริ่มสร้างศูนย์กระจายสินค้ามินิบิ๊กซีแห่งใหม่ เพื่อรองรับการขยายสาขา โดยศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่นี้ ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กระจายสินค้ามินิบิ๊กซีธัญบุรี ซึ่งจะสามารถรองรับสาขามินิบิ๊กซีได้ประมาณ 1,300 สาขา
3. พัฒนา Store Format ใหม่ ให้มีความหลากหลาย โดยไม่ยึดติดแค่ 3 รูปแบบที่ในอดีตเน้นขยายแต่ไฮเปอร์มาร์เก็ต (5,000 – 10,000 ตารางเมตร) – ขนาดกลาง (400 – 700 ตารางเมตร) – ขนาดเล็ก (100 – 300 ตารางเมตร) ซึ่งการสร้างหลายรูปแบบ จะทำให้มีความยืดหยุ่นในการขยายสาขา เพราะสามารถนำรูปแบบต่างๆ ไป Match เข้ากับโลเกชันแต่ละแห่งได้อย่างเหมาะสม และลงตัว