อุตสาหกรรมดนตรี เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ท้าทายอย่างมากในเมืองไทย เราเคยผ่านทั้งจุดที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด เฟื่องฟูไปด้วยศิลปินและการเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรี มาจนถึงจุดที่เกือบจะวิกฤตด้วยปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่บ้านเราค่อนข้างแก้ยากมากๆ จนถึงขนาดที่มีบางค่ายไปต่อไม่ได้เลยก็มี
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล การมาของสตรีมมิ่งและคอนเทนต์ออนไลน์ได้พลิกโฉมวงการดนตรีไปแล้ว ตั้งแต่การแจ้งเกิดของศิลปินใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดค่าย หรือค่ายอินดี้เล็กๆ ที่มีผลงานดังในระดับประเทศก็มีเพิ่มขึ้นมากในยุคนี้ ดังนั้น ด้วยก้าวจังหวะใหม่ของธุรกิจดนตรีที่เข้าสู่ Digital Transformation ทำให้ศิลปินหลายคนตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นศิลปินอิสระมากขึ้น ขณะที่ค่ายเพลงต่างๆ เองก็ต้องปรับตัว หลุดหนีการ Disruption และวางกลยุทธ์ใหม่เพื่อรับมือกับการรุกเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มตัว
และอีกหนึ่งค่ายเพลงที่เรียกได้ว่าแจ้งเกิดเพราะถือกำเนิดในยุคสตรีมมิ่ง และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินดังๆ มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าให้เอ่ยชื่อศิลปินที่อยู่ในการดูแล อาทิ “YOUNGOHM” (ยังโอม), UrboyTJ (ยัวร์บอยทีเจ), ลิปตา, Saran แร็ปเปอร์สายเลือดใหม่ เป็นต้น ที่สำคัญเป็นบริษัทเพลงที่ทำงานโดยอาศัยความได้เปรียบของแพล็ตฟอร์มดิจิทัลและช่องทางออนไลน์อย่างมีศักยภาพ รวมไปถึงยังมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ ทั้ง Data และ AI มาช่วยศิลปินในการสร้างความสำเร็จในยุคดิจิทัลได้อย่างเชี่ยวชาญ ได้แก่ Believe Digital Thailand พร้อมกับขอโอกาสจาก คุณสมวลี ลิมป์รัชตามร Country Director, Believe ประเทศไทย ที่จะมาเล่าถึงการที่ Digital Disruption สร้างผลกระทบอย่างไรกับธุรกิจดนตรีทั่วโลกและประเทศไทยอย่างไร
วิวัฒนาการของวงการเพลง ก้าวสู่ยุคดิจิทัลโอกาสของคนตัวเล็ก
คุณสมวลี เล่าถึงภาพรวมอุตสาหกรรมดนตรีในอดีตจนถึงปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายว่า วงการเพลงเมืองไทย เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย หากมองย้อนกลับไปในอดีต เราเคยอยู่ในยุคที่ค่ายใหญ่แข่งกันกันไม่กี่ค่าย และมีสื่อในมือกันค่อนข้างมาก ดังนั้น ในสมัยก่อนศิลปินต่างๆ ก็จำเป็นที่จะต้องสังกัดค่ายเพลงถึงจะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนฟังได้ และตลาดดนตรีเมืองไทยบ้านเราก็เน้นไปเรื่องของการแสดง หรือ Live Performanceค่อนข้างมาก นั่นคือในอดีตประมาณ 20 ปีที่แล้ว
แต่ต่อมาก็เกิดยุคสมัยที่เรียกว่า เทปผีซีดีเถื่อน เกิดการก็อปปี้เพลงกันโดยไม่เคารพเรื่องของลิขสิทธิ์ใดๆ เลย ส่งผลกระทบทำให้ค่ายเพลงปิดตัวกันไปเยอะมาก เหลือเฉพาะค่ายที่ใหญ่จริงๆ เท่านั้นที่อยู่ต่อได้ ศิลปินเองก็ตกงานไม่มีงานทำกัน จนเรียกว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของวงการที่ค่อนข้างรุนแรง ก่อนที่จะค่อยๆ ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ก็มีสิ่งที่เรียกกันว่า “สตรีมมิ่ง” พร้อมๆ กับที่ “สื่อโซเชียลีเดีย” เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นกับชีวิตผู้คน ในขณะที่สื่อดั้งเดิม (Traditional Media) ก็ค่อยๆ ลดถอนความสำคัญลงไปทีละนิด
เพราะฉะนั้นแล้วในยุคที่ “สตรีมมิ่ง” และ “โซเชียลมีเดีย” มาเจอกัน กับกลายเป็นว่าเกิดเป็นโอกาสต่างๆ มากมายให้กับศิลปินอิสระและค่ายเพลงเล็กๆ ทำให้สามารถเข้าถึงคนฟังได้เป็นจำนวนมาก จะเป็นศิลปินอินดี้ คนธรรมดา หรืออดีตศิลปินที่ไม่มีสังกัด ไม่ว่าใครก็สามารถทำคอนเทนต์ คัฟเวอร์เพลงขึ้นสตรีมมิ่งได้ หรือค่ายเล็กๆ ก็สามารถอยู่ได้โดย โดยไม่ต้องมีเงินทุนไม่ต้องมีสื่อมากนักก็มีโอกาสที่จะสร้างผลงานผ่านแพล็ตฟอร์มต่างๆ ได้ว่าจะเป็น Youtube, Spotify, Apple Music, Joox ฯลฯ ดังนั้น อาจเรียกได้ว่า ยุคเป็น “เวฟที่ 2”ขอวงการดนตรี (เวฟแรกคือมีค่ายใหญ่ดูแล) ซึ่งเป็นยุคที่มีทั้งค่ายเพลงและศิลปินอิสระเกิดขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งธุรกิจดนตรีก็หันหัวเรือเปลี่ยนทิศไปแล้วเช่นกัน
การเติบโตของ ‘สตรีมมิ่ง’ ระบบนิเวศใหม่ของวงการเพลง
เมื่อโลกดิจิทัลทำให้เกิดบริการสตรีมมิ่งเพลง ปรากฏว่าสร้างรายได้อย่างงดงามให้ยุคใหม่ คุณสมวลีแชร์ว่า ปัจจุบันตัวเลขของรายได้วงการดนตรีโลก 100% เกิดจากสตรีมมิ่ง 70-80% ซึ่งต่างประเทศเขาไปไกลมากแล้วในเรื่องนี้ แต่สำหรับตลาดเมืองไทยยังไม่ได้โฟกัสที่สตรีมมิ่ง เมืองไทยยังเป็น 30:70 (สตรีมมิ่ง 30%) นั่นแปลว่า โอกาสที่จะเล่นบนเกมสตรีมมิ่งของตลาดเมืองไทยยังมีมากอยู่ ยังมีรูมให้เล่นได้อีกมากมาย ขณะที่ศิลปินไทยเองก็มีศักยภาพสูง มีความสามารถในการแต่งเพลงที่สามารถรวบรวมทำเป็นแคตตาล็อกได้สร้างผลงานที่ได้หลากหลายได้ ขณะที่ผู้ฟังหรือผู้บริโภคคนไทยเองก็มีความหลากหลาย เปิดใจรับฟังเพลงกว้างมากขึ้น ดังนั้น มันไม่ใช่แค่ผลงานแต่เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งเป็นเศรษฐกิจก้าวหน้าที่จะสร้างโอกาสให้วงการมันโตไปได้อีกถ้าเราปรับตัวกับมันให้เป็น
“มันคือแหล่งรายได้ใหม่ที่หล่อเลี้ยงวงการให้กลับมาได้อีกครั้ง เป็นระบบนิเวศใหม่ให้กับศิลปินและค่ายอิสระ แม้แต่ในช่วงโควิด ที่ศิลปินไม่มีโชว์ไม่มีงาน ช่วงนั้นศิลปินทำอะไรไม่ได้ ได้แต่แต่งเพลง บันทึกเสียง แล้วก็อัปโหลดเข้าสตรีมมิ่ง เกิดเป็นรายได้ บริหารกลุ่มฐานแฟนเพลงตัวเองบนทางโซเชียลมีเดีย จุดนี้เองที่ทำให้ศิลปินและค่ายเพลงตระหนักรู้ว่า รายได้จากสตรีมมิ่งแพล็ตฟอร์มมันใหญ่และสร้างการเติบโตได้จริง”
ตอนนี้แม้แต่บริษัทเพลงใหญ่ๆ ก็เริ่มมองกันแล้วว่ารายได้ในฝั่ง Digital revenue มันใหญ่จริง หลายแห่งจากเดิมที่มีสัดส่วนรายได้ 80:20 (Live : Streaming) ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนทิศทาง โดยมุ่งไปที่ 50:50 (Live : Streaming) แล้ว เพราะว่างาน Live มันแปลผันไปตามสภาพเศรษฐกิจที่มีขึ้นมีลงอยู่ตลอด
พัฒนาการที่ก้าวกระโดดของวงการเพลงไทย ตลาดที่ร้อนแรง
คุณสมวลี เล่าถึงจุดกำเนิดของ Believe Digital ว่า การเข้ามาของ Believe Digital เกิดมาในช่วงหลังมีสตรีมมิ่งได้สัก 3 ปี ซึ่งเรามองเห็นโอกาสใหม่ๆ มากมายผ่านการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลแพล็ตฟอร์ม ปัจจุบันเราดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด 54 ประเทศ สำหรับประเทศไทยเรามองเห็นการเติบโตมากมาย และเป็นประเทศลำดับที่ 10 ที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก
“คนฟังในประเทศไทยมีวิวัฒนาการสูงมาก เปิดรับเพลงค่อนข้างหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ป๊อปแมสเหมือนในอดีต ยกตัวอย่าง ฮิปฮอปในไทยถือเป็นเมนสตรีมไปแล้วไม่ใช่เพลงที่ฟังกันเฉพาะกลุ่ม ขณะที่วงการอินดี้ป๊อปของไทยก็เติบโตขึ้นมาก มีฐานคนฟังเยอะ มีปริมาณวงเยอะ ค่ายอิสระในไทยก็เติบโต ศิลปินต่างๆ ก็รวมตัวกันเหนียวแน่นซึ่งบางกลุ่มไม่ได้สังกัดค่ายเพลงแต่รวมกลุ่มกันเรียกว่า Artist Collective เพื่อช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ หรือแม้แต่เพลงลูกทุ่งเองก็พัฒนาตัวเองอย่างก้าวไปไกลมาก เป็น Hyper local ที่มีเพลงพื้นถิ่นของตัวเองแล้ว ทั้งหมดนี้มันสะท้อนวิวัฒนาการขอวงการเพลงบ้านเรา เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ถูกจับตามอง”
จุดแข็งสำคัญของ Believe Digital
ในการแข่งขันที่สูงมากของอุตสาหกรรมเพลงเมืองไทย สิ่งที่ Believe Digital คิดว่าเป็นจุดแข็งที่มีมากกว่าผู้เล่นรายอื่นๆ ในวงการได้คืออะไร คุณสมวลี ระบุเลยว่า นอกจากการที่เราเติบโตมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของสตรีมมิ่งซึ่งทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของสตรีมมิ่งได้ดีกว่าคนอื่นแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือ เราเป็น Tech Company โดยสายเลือด ดังนั้น ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยงานค่ายหรือศิลปิน เราถนัดและมีเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก และสุดท้ายซึ่งสำคัญมากก็คือ จาก 2 เหตุผลแรก ทำให้เราใส่ใจในการสร้าง Audience Development คือการสร้างฐานคนฟังให้กับศิลปินและกลุ่มศิลปินที่ร่วมงานกับเราโดยใช้เทคโนโลยีทั้ง AI & Data ในการขับเคลื่อน
มากไปกว่านั้นคือสิ่งที่ทำให้ศิลปินทำงานกับเราได้ยาวๆ คือ เราไม่ได้ถือลิขสิทธิ์ เราไม่ยุ่งกับมิวสิคโปรดักชัน เราจะไม่ก้าวล่วงในการผลิตผลงานความคิดสร้างสรรค์ หรือไปปรับจูนไดเร็คชั่นของเขาเลย ถามว่าตรงนี้เป็นผลดีอย่างไร เพราะว่ามันจะเป็นการกระตุ้นให้ศิลปินหรือค่ายเพลงมีแรงจูงใจที่จะผลิตงานออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ผลงานที่ได้มามันจะกลายเป็นทรัพย์สินที่สร้างรายได้ให้กับเขาเอง
“ย้อนไปในอดีต มีศิลปินหรือนักแต่งเพลงมากมายที่แต่งเพลงแล้วสิทธิ์ไปตกกับบริษัทเพลง สุดท้ายเมื่อแยกกันเขาไม่ได้อะไรจากตรงนั้นเลย แต่การที่ศิลปินมีเพลงฮิตสักเพลงหรือหลายเพลง เมื่อเพลงถูกสตรีมบ่อยๆ นอกจากมันจะทำรายได้ต่อไปเรื่อยๆ แล้ว เมื่อถึงวันหนึ่งวันที่คุณไม่สามารถขึ้นแสดงบนเวทีได้ แต่เพลงพวกนี้ยังทำงานอยู่ ดังนั้น มันก็จะทำเงินให้กับเขาไปเรื่อยๆ เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับการที่เรามีบ้านพร้อมที่ดินที่เมื่อเราปล่อยเช่ามันก็จะสร้างรายได้ให้เราไปเรื่อยๆ เป็น Passive income ให้กับเรา”
อันนี้คือจุดแตกต่างของเราที่ทำให้ศิลปินและค่ายยอมรับและร่วมงานกับเราเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ เราจะกระตุ้นให้ศิลปินและค่ายคิดในวิธีนี้ พยายามให้เพิ่มปริมาณผลงาน เพราะสัดส่วนรายได้ที่มาจากการสตรีมมิ่งจะทำให้เขาสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากในส่วนนี้ได้
ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI & Data Driven
อีกจุดแข็งสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยสำหรับ Believe Digital ที่ประกาศตัวว่าเขาคือ Tech Company โดยสายเลือดจึงมีความเชี่ยวชาญในการใช้ AI & Data มาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจดนตรีให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
คุณสมวลี ขยายความเรื่องการใช้เทคโนโลยีว่า บางคนอาจจะไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ว AI อยู่กับเราในชีวิตประจำวัน อยู่รอบตัวเรา ถามว่าทำไม YouTube ถึงสามารถส่งเพลงที่เราชอบขึ้นฟีดของเราได้ ทั้งๆ ที่บางเพลงไม่เคยฟังมาก่อนเลย นั่นก็เพราะว่า AI สามารถจับความสนใจจับความต้องการของเราได้ ทั้งนี้ ในการทำงานมาร์เก็ตติ้งของ Believe Digital เราไม่ได้ทำการตลาดโปรโมทแบบทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่เราทำคือ การหาวิธีที่จะทริกเกอร์อัลกอริทึ่มเพื่อที่จะทำให้ AI พาคนฟังไปพบกับเพลงของเรา
“เรามีระบบที่เรียกว่า Smart Discovery คือระบบที่ทำให้แพล็ตฟอร์มสตรีมมิ่ง ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Spotify, Apple Music ฯลฯ ค้นพบเพลงของเราแล้วแนะนำให้กับผู้ใช้งานที่สนใจในเพลงสไตล์นั้นๆ ได้ ซึ่งมันจะช่วยเพิ่มยอดสตรีมมิ่งให้ศิลปินในบริษัทของเราให้สูงขึ้น ซึ่งมันจะแปรผันไปที่รายได้ของศิลปินด้วย”
ยกตัวอย่าง เช่นเพลงหนึ่งอาจจะมียอดสตรีมมิ่ง 1 ล้านครั้งใน 1 สัปดาห ซึ่งถ้าเขาไม่ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ AI ค้นเจอ ตัวเลขก็จะไม่ขยับไปไหน แต่ถ้าได้ทำงานกับเราที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ยอดสตรีมมิ่ง 1 ล้านครั้งก็จะพุ่งพรวดไปอีก 300% เป็นอย่างน้อยภายในเวลารวดเร็ว ซึ่งยิ่งสตรีมมิ่งสูงมากก็จะเป็นรายได้ที่ศิลปินได้รับเพิ่มขึ้นนั่นเอง
“ดังนั้น การที่ใช้ประโยชน์จาก AI & Data มันคือพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจดนตรียุคใหม่อย่างแท้จริง การทำงานร่วมกับ Believe Digital สามารถช่วยคุณตรงนี้ได้ เราคือผู้ที่ทำหน้าที่ให้เกิดการทวีคูณของการสตรีมมิ่งที่มากที่สุด เพื่อส่วนแบ่งรายได้ที่ดีที่สุดของศิลปินในยุคดิจิทัล”
การบริหารจัดการดูแลศิลปินในทุก Stage of career
อีกความน่าสนใจของ Believe Digital ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นการทลายรูปแบบการทำงานร่วมกับศิลปินในอดีต คือการจัดระดับความสามารถของศิลปินหรือกลุ่มศิลปินที่เข้ามาผ่านข้อมูลและสถิติ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและการสนับสนุนในด้านต่างๆ ซึ่งมีบริการอยู่ 3 ระดับ ดังนี้
- Tunecore ซึ่งเป็น DIY Platform สำหรับ Entry Level Artist คือศิลปินที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานเพลง เป็นสเตจแรกของวิชาชีพนี้ ซึ่งอาจจะเป็นคนที่นั่งแต่งเพลงอยู่ที่บ้าน หรืออยู่กับบ้านคัฟเวอร์เพลงต่างๆ แต่ก็มีคนติดตามอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งความสามารถของเขาคือเป็นนักร้องและนักแต่งเพลงที่ดี แต่จะเพิ่งเข้าวงการ ดังนั้น ก็จะเหมาะกับเซอร์วิสของ Tunecore ที่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง
- Distribution Service เป็นบริการ สำหรับ ศิลปินที่แอดวานซ์ขึ้นมาระดับหนึ่ง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดังนั้น เซอร์วิสที่ให้บริการคือ การทำหน้าที่ Distribution คือการที่นำเพลงไปวางให้บนแพล็ตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Spotify, Apple music ฯลฯ
- Artist services บริการสำหรับศิลปินระดับกลางไปจนถึงศิลปินที่มีฐานคนฟังกลุ่มใหญ่ โดยมีทีมงานชุดใหญ่ดูแลทั้งการนำเพลงส่งขึ้นขายบนแพล็ตฟอร์ม และงานการตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง, พีอาร์โปรโมท หรือแม้แต่ออกอีเวนท์ ทำงานร่วมกับแบรนด์ ฯลฯ
ทั้ง 3 เลเวลนี้ ทาง Believe Digital จะพิจารณาผ่านข้อมูลและดาต้าที่รวบรวมได้มา ในการตัดสินว่าศิลปินแบบนี้จะเหมาะกับเซอร์วิสรูปแบบใด นั่นหมายความว่า Believe Digital มีเซอร์วิสให้กับศิลปินในทุกๆ เลเวล คือตั้งแต่ระดับท็อปของประเทศไปจนถึงคนที่เพิ่งเริ่ม มีชื่อเสียง คือมีในทุกๆ เสตจของสายอาชีพเลยทีเดียว
การร่วมงานกับแบรนด์-นักการตลาดในการเป็นพาร์ทเนอร์ชิพ
ที่กล่าวไปเป็นการฉายภาพในการดูแลของฝั่งศิลปินในแง่มุมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในพาร์ทของการทำงานร่วมกับแบรนด์และนักการตลาด เพื่อทำแคมเปญด้านทางการตลาด Believe Digital ก็มีเซอร์วิสที่เรียกว่า Non digital service ด้วยเช่นกัน โดยหลักๆ คือการจัดอีเวนต์ในแบบ Brand partnership ไม่ว่าจะเป็น การจัดคอนเสิร์ต การ Live การไปร่วมในงาน Music festival หรือการไปโชว์ในงานเปิดตัวสินค้าแบรนด์ ฯลฯ เป็นอีกพาร์ทที่เราสามารถพาศิลปินไปทำงานร่วมกันกับแบรนด์ต่างๆ ได้ หรือแม้กระทั่งหากแบรนด์หรือนักการตลาด สนใจที่จะดึงศิลปินไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็สามารถติดต่อเราได้เช่นกัน
ข้อดีของศิลปินที่อยู่กับ Believe Digital ส่วนใหญ่เป็นศิลปินที่หน้าไม่ช้ำ และแต่ละคนก็มีเอกลักษณ์ มีอัตลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง ซึ่งตรงกับผู้บริโภคปัจจุบันที่มีความชอบที่หลากหลายและกระจายตัวมากกว่าเดิม
วิชั่นและก้าวต่อไปของ Believe Digital
เมื่อถามถึงทิศทางต่อไปของ Believe Digital กับอนาคตของอุตสาหกรรมดนตรีเมืองไทย คุณสมวลี กล่าวว่า สำหรับ Believe Digital เราจะยังคงยืนยันเรื่องการให้บริการที่ช่วยสนับสนุนศิลปินอย่างรอบด้านให้มากขึ้น โดยมุ่งไปพัฒนาในด้าน Digital Streaming เป็นหลักให้มีความเข้มแข็ง เพราะว่าเรายังมีความเชื่ออย่างลึกซึ้งเลยว่า สตรีมมิ่งจะยังคงเป็นรายได้หลักให้กับศิลปินได้ และเป็นสิ่งที่ทำให้วงการเพลงเจริญเติบโตต่อไปในอนาคตข้างหน้าได้ด้วย
ที่สำคัญ เรายังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและสร้างความแตกต่างให้กับศิลปิน ศิลปินสามารถเติบโตได้ในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง เราจะไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงเขาเลย อะไรคืออัตลักษณ์ของคุณเราจะดึงมันให้ไชนนิ่งและนำไปใช้ประโยชน์ในการขยายฐานคนฟังให้มากขึ้น
สุดท้ายสิ่งที่เราอยากจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเพลงของไทยให้ก้าวต่อไปในอนาคตคือ การสร้างระบบนิเวศของวงการดนตรีใหม่ ผ่าน Generative AI และสิ่งต่างๆ ที่จะเป็นอนาคตนับจากนี้ ซึ่งทาง Believe Digital เราพร้อมที่จะก้าวไปข้างและทำงานอย่างใกล้ชิดกับแพล็ตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เป็น Digital Store Partner (DSP) ทุกเจ้า ไม่ว่าจะเป็น YouTube Spotify Apple music ฯลฯ เพื่อพัฒนาวงการเพลงไทยไปในระดับสากลมากขึ้น
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ จุดยืนของเราคือการยืนหยัดเพื่อปกป้องสิทธิด้านลิขสิทธิ์ของศิลปินและค่ายที่ทำงานร่วมกับเรา ในยุคที่ Generative AI กำลังเติบโต และสิทธิ์ของศิลปินกำลังถูกละเมิดไม่ใช่แค่กับมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันแล้ว แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วกับวงการภาพวาดหรือภาพถ่าย ดังนั้น สิ่งเหล่านี้แม้เป็นความก้าวหน้า แต่ก็สำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องปกป้องสิทธิ์ของศิลปินด้วยเช่นกัน นี่คือหนึ่งในก้าวต่อไปที่สำคัญของ Believe Digital”