เป็นที่ทราบกันดีว่า การตลาดดิจิทัลหรือ Digital Marketing ซึ่งเป็นช่องทางทำการตลาดบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไอจี เว็บไซต์ ฯลฯ ได้กลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคนี้ไปแล้ว ไม่ว่าธุรกิจประเภทใดก็จำเป็นต้องใช้ฟันเฟืองชิ้นนี้เพื่อรุกคืบเข้าสู่กลุ่มลูกค้าอย่างรวดเร็วและตรงเป้าหมาย รวมถึงธุรกิจสถาบันการศึกษาด้วย ดังเช่นแฟนเพจเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่กำลังจะมียอดผู้ติดตามแตะครึ่งล้านในไม่ช้า และล่าสุดยังสร้างปรากฏการณ์ให้กับแวดวงสถาบันการศึกษาไทย ด้วยการขึ้นแท่นอันดับ 3 เพจที่มียอด engagement สูงสุดของโลกในหมวดหมู่สถาบันการศึกษา เอาชนะมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในสหรัฐอเมริกาที่ครองอันดับ 4 ไปอย่างสง่าผ่าเผย จากการสำรวจของ Socialbakers เว็บไซต์ด้านการวิเคราะห์และจัดอันดับสื่อโซเชียลที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล น่าสนใจว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพทำได้อย่างไร? คำตอบนั้นน่าจะอยู่ที่อาจารย์กิตติคม ปล้องนิราศ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดดิจิทัลของมหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ จากการคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสื่อดิจิทัลเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ทำงานในสายงานนี้กับองค์กรชั้นนำมาโดยตลอด ทำให้เขาสั่งสมประสบการณ์ไว้เต็มกระเป๋า เมื่อก้าวเข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดดิจิทัลของมหาวิทยาลัยกรุงเทพราว 4 ปีก่อน ก็ได้บริหารจัดการแฟนเพจเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยจนประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด ซึ่งการผลักดันแฟนเพจให้ขึ้นสู่อันดับ 3 ของโลกได้นั้นก็นับเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขา “engagement หมายถึงความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนเพจ ไม่ว่าจะเป็นการกดติดตาม กดไลค์ กดแชร์ หรือคอมเมนต์” อาจารย์กิตติคมกล่าว “การจะมียอด engagement ที่สูงได้ก็ต้องอาศัยคอนเทนต์ที่ดีและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างถูกต้อง ดังนั้นบางคนอาจสงสัยว่า ทำไมบางเพจมียอดผู้ติดตามเยอะ แต่ทำไมถึงมียอดกดไลค์ กดแชร์ หรือคอมเมนต์น้อยกว่าที่ควรเป็น นั่นอาจเป็นเพราะผู้ดูแลเพจยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนเทคนิคในการโพสต์ที่ถูกต้อง” อาจารย์กิตติคมยังได้เผยว่า ปัจจัยเบื้องต้นที่นำไปสู่ความล้มเหลวในการทำการตลาดดิจิทัลมีอยู่ 5 ข้อ ได้แก่
- ขาดความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์อย่างถ่องแท้ จึงไม่สามารถดึงจุดเด่นมาทำเป็นคอนเทนต์ให้ผู้บริโภคสนใจหรือพึงพอใจได้
- ขาดความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ทำให้สื่อสารไม่ตรงทาร์เก็ต เช่น มีสินค้าซึ่งจับกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิง แต่กลับสื่อสารไปถึงผู้ชายมากกว่า ข้อนี้รวมไปถึงการขาดความเข้าใจระบบการทำงานของสื่อดิจิทัลที่เลือกใช้ด้วย
- ผู้ดูแลเพจอาจรู้จักจุดเด่นของตัวสินค้าเป็นอย่างดี แต่ไม่รู้จักวิธีนำเสนอคอนเทนต์ให้น่าสนใจ หรือพูดง่ายๆ ว่า “นำเสนอไม่เป็น”
- ไม่เข้าใจหลักการทำงานของแต่ละแพลตฟอร์ม เพราะแพลตฟอร์มที่ต่างกัน ย่อมใช้วิธีนำเสนอที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไอจี หรือยูทูบ หมายความว่าแม้จะเป็นสินค้าเดียวกัน ภาพเดียวกัน แต่วิธีการนำเสนอในแต่ละแพลตฟอร์มก็ต่างกัน
- ข้อนี้สำคัญมากคือ การโอ้อวดสินค้าเกินจริง ด้วยความที่โลกโซเชียลมีความเคลื่อนไหวรวดเร็ว อีกทั้งผู้ใช้งานก็ฉลาดและรู้เท่าทัน ทันทีที่นำเรื่องไม่จริงหรือเกินจริงมานำเสนอ ก็จะเกิดการโต้แย้งอย่างฉับไหว ส่งแรงกระเพื่อมต่อไปอย่างรุนแรงและรวดเร็วชนิดคาดไม่ถึง แม้จะมีคนแย้งเพียง 1 คน แต่ความน่าเชื่อถือก็อาจลดทอนลงไปมาก
ปัจจุบันอาจารย์กิตติคมยังสวมหมวกอีกใบคือ ผู้อำนวยการสาขาวิชาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันแรกของไทยที่เปิดสาขาวิชานี้ในระดับปริญญาตรี จึงนับเป็นโอกาสดีที่เด็กๆ จะได้เรียนอย่างลงลึกกับ “ตัวจริง” เช่นอาจารย์กิตติคมโดยตรง อีกทั้งยังจะได้เรียนกับคณาจารย์และวิทยากรพิเศษผู้มาจากแวดวงการตลาดดิจิทัล รวมถึงมีโอกาสฝึกงานกับบริษัทเอเจนซี่โฆษณาออนไลน์ที่ทางคณะเชิญมาบรรยาย อาทิ ADYIM Digital Agency, Rabbit’s Tale, BrandBaker, IPG Mediabrands ฯลฯ ความโดดเด่นอีกประการของสาขาวิชานี้ก็คือ เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาดูแลหลายดิจิทัลแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยเพื่อฝึกปรือฝีมือ และยังช่วยให้เข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักศึกษามากขึ้น และยังจะส่งไปฝึกงานกับบริษัทในวงการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 อันเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการลงสนามจริงในอนาคตและยังช่วยให้หารายได้เสริมระหว่างเรียน อีกทั้งเพิ่มสีสันในการเรียนการสอนมากขึ้นเพราะไม่ต้องนั่งเรียนแต่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากนักศึกษามีประสบการณ์เทียบเท่าคนทำงานมาแล้ว 4 ปี ย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดงานและมีโอกาสได้เงินเดือนสูงกว่าคนอื่น อาจารย์กิตติคมยังบอกด้วยว่า แนวโน้มการขยายตัวของของสื่อดิจิทัลมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นอันดับ 8 ของโลก ประกอบกับมีผลสำรวจจาก jobsDB.com ว่า อาชีพนักการตลาดดิจิทัลยังเป็นที่ขาดแคลน การเรียนจบมาโดยตรงพร้อมประสบการณ์เต็มเปี่ยมจึงยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำงานมากขึ้น ทั้งนี้คณะบริหารธุรกิจยังเปิดสอนหลักสูตร Digital Marketing Communication ในระดับปริญญาโทที่เข้มข้นไม่แพ้กันเพื่อให้คนทำงานติดอาวุธแก่ตนเองในยุคดิจิทัลด้วย นอกจากรักษาแชมป์ให้กับเพจมหาวิทยาลัยและพยายามไต่อันดับบนเวทีโลกให้สูงขึ้น ภารกิจหลักอีกอย่างของอาจารย์กิตติคมคงหนีไม่พ้นการปั้นนักศึกษาหลักสูตรการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้นำแห่งการผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์อนาคต ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และแข็งแกร่งในวิชาชีพไม่ต่างจากอาจารย์ผู้สอนนั่นเอง